top of page
312345.jpg

ยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกให้ตลาดกลับขึ้นไปได้


อัตราเงินเฟ้อเอาไม่อยู่ !

ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงเดินหน้าเข้าสู่ตลาดหมี หรือ Bear Market ต่อไป หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน พ.ค. 65 พุ่งขึ้น +8.6%YoY ซึ่งเป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ +8.3%YoY โดยตัวเลขดัชนี CPI ดังกล่าวสูงกว่าระดับ 8.3% ในเดือน เม.ย. 65 และสูงกว่าระดับ 8.5% ที่ทำไว้ในเดือน มี.ค. 65 (ซึ่งเป็นระดับสูงสุดและคาดการณ์หวังกันว่านี่คือตัวเลขเงินเฟ้อที่เป็นจุดพีกแล้ว) แต่เงินเฟ้อกลับสูงขึ้นอีก เมื่อหากเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ประจำเดือน พ.ค. 65 เพิ่มขึ้น +1.0% MoM สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ +0.7% MoM

ขณะเดียวกัน ดัชนี Core CPI ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.0%YoY สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัวขึ้น 0.6%MoM ในเดือน พ.ค. 65 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.5%MoM

การเพิ่มขึ้นของดัชนี CPI ดังกล่าว เป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนในตลาดหุ้นโลก ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย สอดคล้องกับเฟดสาขาแอตแลนตาที่ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า แบบจำลอง GDPNow Tracker บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งจะเข้าเกณฑ์การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ GDP Now Tracker บ่งชี้ว่า ตัวเลข GDP ของสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวเพียง +0.9% ในไตรมาส 2 หลังจากหดตัวลง -1.5% ในไตรมาส 1 ทำให้สหรัฐมีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจจะหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งจากประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั้ง 3 ตัวของสหรัฐร่วงลงในสัปดาห์ที่ผ่านมาหนักที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 ม.ค. 65 โดยในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วง -4.58%, ดัชนี S&P500 ร่วง -5.06% และดัชนี Nasdaq ร่วง -5.60% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.057% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2551 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี พุ่งแตะ 3.178% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา

หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด ทำให้ Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนได้เพิ่มการให้น้ำหนักเป็น 76% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. 65 นอกจากนี้การที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐซึ่งเพิ่มขึ้น 27,000 ราย สู่ระดับ 229,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 65 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 210,000 ราย ยิ่งทำให้ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยมีมากขึ้นไปอีก

เงินเฟ้อเป็นต้นตอของปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ! ทั้งนี้ Momentum ขาลงของตลาดหุ้นสหรัฐชัดเจนขึ้นมาอีก หลังจากที่ดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นเหนือระดับ 26 จุดเป็นครั้งแรกในเดือนนี้ นอกจากนี้ทิศทางของตลาดหุ้นโลก ยังมีปัจจัยจากฝั่งยุโรปเข้ามากดดันด้วย หลังผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ออกมาส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย +0.25% ในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และอาจขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า +0.25% ในเดือน ก.ย. 65 กรณีที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ ECB ยังประกาศยุติการทำ QE โดยระบุว่า ทางธนาคารจะยุติการซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ Asset Purchase Programme (APP) ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. 65 นี้ ซึ่งเร็วกว่าที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นการปูทางสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. 65 เพื่อสกัดเงินเฟ้อในยูโรโซนที่พุ่งแตะระดับ 8.1% ในเดือน พ.ค. 65 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และสูงกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ระดับ 2% ทั้งนี้ ECB คาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะ 6.8% ในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ระดับ 3.5% และ 2.1% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

ก่อนหน้านี้ ECB คาดว่าเงินเฟ้อจะดีดตัวแตะ 5.1% ในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ระดับ 2.1% และ 1.9% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ECB คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะมีการขยายตัว +2.8% ในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.1% ทั้งในปี 2566 และ 2567 เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.7% ในปีนี้

ขณะที่ในส่วนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียมีแนวโน้มที่แย่ลงไปอีก หลังสื่อทางการรัสเซีย RIA รายงานว่า ศาลในพื้นที่ของกองกำลังสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์ (กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย) ตัดสินโทษประหารชีวิต 3 ทหารอาสาสมัครชาวอังกฤษและชาวโมร็อกโกที่ร่วมรบกับฝั่งยูเครน เนื่องจากมีความผิดฐานใช้ความรุนแรงเพื่อหวังยึดอำนาจ มีพฤติกรรมเป็นทหารรับจ้าง และการก่อการร้าย ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต และทั้งสามคนมีเวลาหนึ่งเดือนในการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกทรงตัวในระดับสูงต่อไป ซึ่งจะส่งกระทบให้อัตราเงินเฟ้อโลกปรับตัวลงไปยากแน่นอน และน่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกในระยะต่อไป

ล่าสุดธนาคารโลก หรือ World Bank คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการขยายตัวเพียง 2.6% ในปีนี้ และชะลอตัวสู่ 2.2% ในปีหน้า หลังจากพุ่งแตะ 5.1% ในปีที่แล้ว ส่วนเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่จะมีการขยายตัว 3.4% ในปีนี้ หลังจากพุ่งแตะ 6.6% ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจของยูเครนจะหดตัว 45.1% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจรัสเซียหดตัว 8.9%

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,664 จุดได้ เน้น “Wait-and-See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

12 views
bottom of page