top of page
312345.jpg

ตลาดไม่เชื่อว่าเฟดจะคุมเงินเฟ้ออยู่



ตลาดหุ้นโลกเข้าสู่แนวโน้มขาลงเต็มตัวนะครับ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลก ปรับตัวลง 2.36% โดยส่วนใหญ่เคลื่อนไหวไปทางทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นสหรัฐ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% สู่ระดับ 0.75%-1.00% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมกันนี้ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า

นอกเหนือจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เฟดยังได้เปิดเผยแผนทยอยปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 เฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดีนักลงทุนยังคงมีความกังวลว่าการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา อาจไม่มากพอที่จะสกัดเงินเฟ้อได้ และมีแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง 0.75% ในการประชุมเดือนหน้า แม้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด จะส่งสัญญาณว่า เฟดยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงขนาดนั้นก็ตาม

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 75% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. 65 เพิ่มขึ้นจากระดับ 19% เมื่อเดือน เม.ย. 65 ที่ผ่านมา อีกทั้งนักลงทุนยังคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมมากกว่า 2.00% ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแตะระดับ 2.85% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว เกิดขึ้นมาในภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง โดยเฉพาะในภาคแรงงานที่ล่าสุด กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 19,000 ราย สู่ระดับ 200,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 65 และเป็นตัวเลขการเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 64

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐดิ่งลง 7.5% ในไตรมาส 1/65 ถือเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2490 หลังจากขยายตัว 6.3% ในไตรมาส 4/64 ขณะที่ในฝั่งยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.00% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี และเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด เพื่อเป็นการสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อที่พุ่งแตะ 7% ในเดือน มี.ค. 65 ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี และสูงกว่าเป้าหมายของ BoE มากกว่า 3 เท่า หลังจากราคาอาหารและพลังงานต่างพุ่งขึ้นจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน นอกจากนี้ Momentum ขาลงของตลาดหุ้นโลก ยังคงได้รับการสนับสนุนจากทิศทางของดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกง ที่เพิ่มขึ้น 4.03%, 4.75% และ 5.49% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ที่ 26.9% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish อยู่ที่ 52.9%

น้ำมัน+รัสเซีสและยูเครน+จีน คือปัจจัยความเสี่ยงร่วม ! ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ล่าสุดการที่ราคาพลังงานทั่วโลกปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับตัวสูงขึ้นไปอีกจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และราคาก๊าซธรรมชาติที่ไต่ระดับขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่สหภาพยุโรป (EU) ประกาศแผนการลดการซื้อพลังงานจากรัสเซียออกมา ซึ่ง EU จะระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียภายในเวลา 6 เดือน และระงับนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นจากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งขณะนี้ต้องผ่านการรับรองจาก 27 ประเทศในกลุ่ม EU ก่อน จึงจะมีผลบังคับใช้ อีกทั้งยังได้แรงหนุนเพิ่มเติม หลังจากที่ประชุม OPEC+ ที่มีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมในการกำหนดนโยบายการผลิตสำหรับเดือน มิ.ย. 65 โดยจะยังคงเพิ่มกำลังการผลิต 432,000 บาร์เรล/วัน

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เห็นพ้องกับชาติตะวันตกในการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอย่างมาก เพื่อลดภาวะตึงตัวของอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ก็จะสร้างความขัดแย้งกับรัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกโอเปกพลัสเช่นกัน และอาจนำไปสู่การล่มสลายขององค์กรดังกล่าว สำหรับสถานการณ์สู้รบระหว่างยูเครนและรัสเซีย ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญของการลงทุนในตลาดการเงินโลก หลังจากที่ล่าสุดกองทัพรัสเซียได้ยิงขีปนาวุธโจมตีสถานที่และป้อมปราการหลายแห่งในยูเครน รวมถึงสังหารกองกำลังฝ่ายยูเครนไปกว่า 600 คน และรัสเซียยังได้ขู่โจมตียานพาหนะของนาโตที่ลำเลียงอาวุธให้ยูเครนอีกด้วย ทั้งนี้ มีการประเมินว่า พลเรือนชาวยูเครนได้เสียชีวิตหลายพันคน และต้องอพยพหนีการสู้รบมากกว่า 5 ล้านคน ขณะที่คาดว่าทหารรัสเซียเสียชีวิตอย่างน้อย 10,000 นาย นับตั้งแต่ที่กองทัพรัสเซียบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ. 65

ในส่วนของจีนก็น่ากังวล หลังมาตรการล็อกดาวน์ในปักกิ่งมีแนวโน้มที่เข้มงวดขึ้น หลังจากทางการจีนประกาศล็อกดาน์หลายสถานที่ในปักกิ่ง เช่น โรงยิม โรงภาพยนตร์ และศูนย์การค้า ขณะที่จีนเปิดเผยผลกระทบทางเศรษฐกิจว่า ภาคการผลิตในจีนหดตัวลงมากกว่าคาดในเดือน เม.ย. 65 เนื่องจากการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานของทั้งจีน และโลกอย่างชัดเจน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,664 จุดได้ เน้น “Wait-and-See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)


Source: Wealth Hunters Club

14 views
bottom of page