top of page
312345.jpg

แรงกดดันที่แท้จริงจะเกิดขึ้นหลังจากนี้...ตลาดหุ้นยืนได้แค่ระยะสั้น !



ความผันผวนในตลาดตราสารหนี้สหรัฐยังคงเป็นประเด็นหลักของตลาดการเงินโลกในปัจจุบัน หลังจากที่ปิดไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้สหรัฐทำผลตอบแทนรายไตรมาสห่วย หรือติดลบมากที่สุดในรอบ 40 ปี หรือตั้งแต่ปี 1973 หลังธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับจากปี 2018 และจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุม FOMC ทุกครั้งในปีนี้จนถึงต้นปีหน้า เพื่อกดอัตราเงินเฟ้อที่ขึ้นมาสู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 41 ปี ให้กลับมาอยู่ในระดับควบคุมได้อีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นโลก และเอเชียในระยะสั้นน่าจะได้ประโยชน์ จาก Hot Money ที่หนีตายออกมาจากตลาดตราสารหนี้สหรัฐ ในฐานะที่เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในตลาดการเงินโลก ซึ่งไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล แค่ดูตลาดหุ้นไทยก็ชัดเจนว่ายังไม่ไหลลงไปแรงมากนัก จากคุณสมบัติของตลาดหุ้นในการเป็น “Better Inflation Hedge” แต่ไม่มีอะไรการันตีนะครับ ว่าตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นไทยจะยืนได้อีกนานแค่ไหน ตรงกันข้ามผมอยากให้มองว่าเป็นภาพลวงตาด้วย เพราะถ้าสถานการณ์ในตลาดตราสารหนี้สหรัฐ และในระยะต่อไปคือตลาดตราสารหนี้ยุโรปนิ่งขึ้น ตลาดหุ้นอาจเป็นเป้าต่อไปในการถูกถล่มก็ได้จากปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอลงและปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจากสถิติ 95 ปีที่ผ่านมา ที่สหรัฐเข้าสู่ช่วงเงินเฟ้อขาขึ้นจริงจัง หรือ Inflation Regime มาแล้ว 8 ครั้ง ในแต่ละช่วงของ Inflation Regime ของสหรัฐ ตลาดหุ้นเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนห่วยที่สุดรั้งท้ายมาตลอด

ทั้งนี้จากงานวิจัยที่มีข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ Performance ของสินทรัพย์ลงทุนในสหรัฐ, ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งผมมองว่าสามารถเป็นตัวแทน หรือ Proxy ของการลงทุนโลกได้ ในช่วงเงินเฟ้อในสหรัฐพบว่าในช่วง 95 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1926 สหรัฐเจอกับยุคเงินเฟ้อ หรือ Inflationary Regimes คืออัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 5% มาแล้ว 8 ครั้ง (ไม่นับครั้งนี้) โดยเฉลี่ยแล้วตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนแย่ หรือติดลบมากที่สุด ติดลบมากกว่าตลาดตราสารหนี้ด้วยซ้ำ ขณะที่ราคาน้ำมัน และพวกสินค้าโภคภัณฑ์ทำผลงานได้ดีเยี่ยมอย่างชัดเจนในยุคเงินเฟ้อของสหรัฐ รองลงมาคือพวก Alternative Investment อย่างงานศิลปะ และไวน์ ที่ตอนนี้ในกระแสการลงทุนโลก มีการพูดถึงกันมาก ในการกระจายการลงทุน

เหตุผลหลักๆ ที่ผมอยากเตือนคือการที่ระบุว่าตลาดหุ้นเป็น “Better Inflation Hedge” จริงๆ จะเป็นในช่วงที่เกิดสถานการณ์เงินเฟ้อปกติมากกว่า แต่ในภาวะที่เงินเฟ้อปรับขึ้นมาอยู่ในระดับสูงอย่างรวดเร็ว จะทำให้การส่งผ่านเงินเฟ้อไปยังความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีประสิทธิภาพน้อยลงมาก เพราะแม้ยอดขายจะมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ไม่สามารถ Fully reflect inflation ขณะที่การขยับขึ้นของต้นทุนการผลิตที่มากกว่า ทั้งจากราคาวัตถุดิบ และค่าแรงงาน จะส่งผลให้ Profit Margin ของบริษัทลดต่ำลง

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อมูลนี้แล้ว ก็ยิ่งต้องระมัดระวังนะครับว่าการที่ตลาดหุ้นยังไม่ลงในช่วงเวลานี้ เป็นภาพลวงตาในระยะสั้นๆ เพราะถ้าสถานการณ์ในตลาดบอนด์สหรัฐนิ่งขึ้น ตลาดหุ้นอาจเป็นเป้าต่อไปในการถูกถล่มก็ได้ จากปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอลง และปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

ความกังวลเพิ่มขึ้นกับโอกาสเกิด Recession ในสหรัฐ ! ความเสี่ยงในระยะต่อไปที่ต้องตามอย่างใกล้ชิดคือความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ของสหรัฐเพราะปัจจัยหลายอย่างมันชวนให้คิดแบบนั้นได้ เบื้องต้นคือสัญญาณที่มาจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐ หรือ Consumer Sentiment Index หรือ CSI จาก University of Michigan ที่ล่าสุดประกาศตัวเลขเดือน มี.ค. 65 ออกมาที่ 59.4 คือลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 62.8 ในเดือน ก.พ. 65 บนความกังวลกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการลดลงของ CSI อันนี้ไม่ต้องตีความมากเพราะเป็นปัจจัยลบชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อดัชนี CSI ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ หรือ Leading Economic Index ของสหรัฐด้วย และที่สำคัญคือเมื่อไปพิจารณาสถิติก่อนการเกิด Recession ในสหรัฐ 6 ครั้งหลังสุดตั้งแต่ปี 1969 เป็นต้นมา จนถึงครั้งล่าสุดที่จบปี 2020 พบว่าก่อนการเกิด Recession ในสหรัฐ ดัชนี CSI ของสหรัฐทิ้งดิ่งนำหน้ามาก่อนทุกครั้ง

แต่ที่น่าสนใจคือมีการพูดถึง ฟองสบู่ ในตลาดแรงงานสหรัฐมากขึ้น อันนี้น่าสนใจมาก เพราะตามสถิติพบว่า Recession ในสหรัฐจะเกิดขึ้นหลังจากที่ตลาดแรงงานสหรัฐแข็งแกร่งสุดๆ เกือบทุกครั้ง ขณะที่ล่าสุดตัวเลขผู้ขอเข้ารับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐ หรือ Initial Jobless Claim ที่ลดลงมาที่ 1.87 แสนตำแหน่ง ถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1969 ขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐ หรือ Unemployment Rate อยู่ที่ระดับต่ำเพียง 3.8% ขณะที่ในระยะสั้นการที่เฟดส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนนำไปสู่การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ตอนนี้ 10 ปีทะลุ 2.7% ไปแล้ว และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยของสหรัฐ ที่อายุ 30 ปีตอนนี้ทะลุ 5.0% ไปแล้ว อันนี้กระทบเต็มๆ ต่อเศรษฐกิจสหรัฐแน่ๆ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยของสหรัฐมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีก หลังจากที่ล่าสุดสหรัฐประกาศตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป หรือ Headline Inflation เดือน มี.ค. 65 ออกมาเพิ่มขึ้น 8.5% YoY ตามคาดครับ สูงสุดในรอบ 41 ปี ซึ่งผมมองว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะทรงตัวในระดับสูงเหนือ 7% สำหรับ Headline Inflation ไปอีกระยะหนึ่ง โดยอาจไป Peak ในช่วงกลางปี และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะยังไม่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในระยะสั้นนี้ เพราะแม้ราคาน้ำมันจะเริ่มชะลอตัวลงมาแล้ว แต่ราคาอาหารของโลก และค่าแรงในสหรัฐยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นชัดเจน

ขณะที่ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดสาขานิวยอร์ก ออกรายงานเดือน มี.ค. 65 คาดการณ์ Headline Inflation สหรัฐในระยะ 1 ปีข้างหน้า ว่าจะอยู่ที่ 6.6% เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ในเดือน ก.พ. 65 ที่ 6.0% อย่างมาก แม้ว่าจะปรับลดคาดการณ์ Headline Inflation สหรัฐในระยะ 3 ปีข้างหน้า มาอยู่ที่ 3.7% จากการคาดการณ์ในเดือน ก.พ. 65 ที่ 3.8% แต่ก็สะท้อนมุมมองต่อทิศทางขาขึ้นของเงินเฟ้อสหรัฐในระยะสั้นได้ค่อนข้างดี

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,667 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,667 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

23 views
bottom of page