top of page
312345.jpg

ไม่ลงต่อ-ต้องหนี 1,660 จุดแบบขาดลอย


แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในขาลงนะครับ โดยปัจจัยกดดันสำคัญยังคงอยู่ที่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัสเซียและยูเครนรอบที่ 4 ประสบความล้มเหลว ประกอบกับตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมดัชนี MSCI ACWI ซึ่งเป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวลดลง 2.83% นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และญี่ปุ่นที่ปรับตัวลดลง 2.38%, 2.34% และ 2.75% ตามลำดับ

การประกาศคว่ำบาตรรัสเซียขณะนี้เริ่มเห็นเสียงแตกในส่วนของสหภาพยุโรป หรือ EU โดยเฉพาะในส่วนของการซื้อสินค้าพลังงานจากรัสเซีย เนื่องจากก่อนหน้านี้สหรัฐและอังกฤษประกาศงดการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย โดยสหรัฐมีการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากรัสเซียคิดเป็น 8% แต่ปราศจากความร่วมมือจากพันธมิตรอื่นในยุโรป ยกตัวอย่างเช่นเยอรมันได้ประกาศว่าจะยังนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย แม้ก่อนหน้านี้เยอรมันจะประกาศหยุดการรับรองโครงการก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 ซึ่งถ้าหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจทำให้โลกกำลังเปลี่ยนไปเป็นการแยกเป็น 2 ขั้วที่ชัดเจนขึ้น

ขณะที่ในส่วนของปัจจัยกดดันจากสถานการณ์เงินเฟ้อ พบว่าล่าสุดสหรัฐประกาศตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ประจำเดือน ก.พ.2565 พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับ +7.9% YoY จาก+7.5% ในเดือน ม.ค.2565 โดยพบว่าแรงขับเคลื่อนหลักของเงินเฟ้อสหรัฐในเดือนที่ผ่านมา มาจากราคาพลังงาน (+3.5% MoM) , ราคาค่าบริการขนส่ง (+1.4% MoM) ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวสู่ระดับเหนือ 2.0% อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อจะยังคงปรับตัวขึ้นแต่ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดยังคงส่งสัญญาณว่าจะทำตามแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในต่อเนื่องในปีนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น แม้ว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียจะมีแนวโน้มยืดเยื้อ อีกทั้งยังมีปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากตัวเลข Initial Jobless Claim ที่เพิ่มขึ้น 11,000 ตำแหน่งสู่ระดับ 227,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้าและสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 217,000 ราย

ทั้งนี้ Jerome Powell ยังระบุว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งละ 0.25%สอดคล้องกับในฝั่งของยุโรปที่ล่าสุดในการประชุมธนาคารกลางของยูโรโซนหรือ ECB ในวันที่ 10 มี.ค.2565 ได้ประกาศแผนลดการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ในไตรมาส 3 ปีนี้ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดยจะเป็นการปูทางสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น 5.8% ในเดือน ก.พ.2565 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ระดับ 2%

ขณะเดียวกัน ECB ระบุว่าจะยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) วงเงิน 1.85 ล้านล้านยูโรในสิ้นเดือน มี.ค.2565 และจะลดการซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ Asset Purchase Programme (APP) สู่ระดับ 4 หมื่นล้านยูโรในเดือน เม.ย.2565 , 3 หมื่นล้านยูโรในเดือน พ.ค.2565 และ 2 หมื่นล้านยูโรในเดือน มิ.ย.2565 ส่วนการซื้อพันธบัตรหลังจากนั้นจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่ ECB ได้รับเพิ่มเติม

ความเชื่อมั่นยังดำดิ่งต่อเนื่อง ! จากสถานการณ์ความไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่สูงขึ้นของการลงทุนในตลาดหุ้นโลกส่งผลกระทบให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนตกต่ำลงไปมาก สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้นหรือ Bullish ลดลง 6.4% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 24.0% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลงหรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาขึ้นมาอยู่ที่ 45.8%

ทั้งนี้แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกเข้ามาบ้างจากการที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ลดลง 8.23% หลังจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE ประกาศสนับสนุนการผลิตน้ำมันเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และให้คำมั่นว่าจะผลักดันให้กลุ่มโอเปกพิจารณาเพิ่มการผลิตน้ำมัน เพื่อบรรเทาภาวะอุปทานขาดแคลนอันเนื่องมาจากรัสเซียถูกนานาประเทศคว่ำบาตร ฐานใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน แต่ปัจจัยบวกดังกล่าวจะไม่คงอยู่อีกต่อไปหลังจากที่ล่าสุด UAE ได้ออกมายืนยันว่าจะไม่เพิ่มการผลิตน้ำมันโดยพลการดังที่ได้กล่าวก่อนหน้านี้และยึดมติโอเปกพลัส ขณะที่ในเชิงเทคนิคถ้าเราเอารูปแบบของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือ Moving Average (MA) มาเป็นเครื่องมือที่ใช้บ่งบอกความคงอยู่ของแนวโน้มของตลาดหุ้นโลกในปัจจุบัน การที่ล่าสุดดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลก ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า EMA 75 วันที่สะท้อนความคงอยู่ของแนวโน้มราย 3 เดือน ก็สามารถระบุได้เลยว่าแนวโน้มขาลงในระยะ 3 เดือนของตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ ขณะที่ในส่วนของแนวโน้มตลาดหุ้นไทย กรณีที่ SET ไม่สามารถทะลุเส้น Uptrend Line เดิม ซึ่งตอนนี้อยู่ 1,660 จุดขึ้นไปได้แบบขาดลอยในทางเทคนิคจะเป็นสัญญาณการปรับตัวลงต่อ หรือ Sell Signal อีกครั้งแบบที่เรียกกันว่า "Pullback" ซึ่งการลงแบบนี้ถ้าเกิดขึ้นจะฟื้นยากนะครับ เพราะเมื่อคนส่วนใหญ่สูญเสียความมั่นใจต่อตลาดเป็นครั้งที่ 2 มหกรรมยิ่งดีดยิ่งโดนทุบมีโอกาสเกิดขึ้นสูงนะครับ

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,630 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,630 จุดเป็นจุดหมุนและจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจากนายหมูบินได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club



17 views
bottom of page