ทิศทางของตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมาสู่ทิศทางของการพักตัวลงอีกครั้ง โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลง 3.88% โดยมีตลาดหุ้นยุโรป และสหรัฐ ที่ปรับตัวลง 5.14% และ 4.15% ตามลำดับเป็นตัวฉุดที่สำคัญ โดยทั้งหมดถูกกดดันจากประเด็นยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในสหรัฐ และยุโรปที่กลับมาเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ จนหลายประเทศในยุโรปซึ่งรวมถึงฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ประกาศใช้มาตรการคุมเข้มครั้งใหม่
โดยฝรั่งเศสประกาศเคอร์ฟิวในภูมิภาคส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-06.00 น. เป็นเวลาถึง 6 สัปดาห์ ขณะที่อิตาลีจำกัดเวลาการเปิดบริการของร้านอาหารและผับบาร์ไปจนถึงวันที่ 24 พ.ย. 2563 และสเปนประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 15 วัน ขณะที่เยอรมนีออกมาประกาศ Lockdown คุมเข้มอีกรอบหลังไวรัส COVID-19 ระบาดหนักขึ้น โดยรัฐบาลเยอรมนีได้ตกลงที่จะปิดบาร์และร้านอาหารตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 2563 เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด
ในส่วนของเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปแทบไม่มีตัวช่วยอะไรใหม่ๆ ออกมา หลังธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และวงเงินในการซื้อพันธบัตร รวมทั้งยืนยันว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับปัจจุบันหรืออาจลดต่ำกว่า จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นใกล้ๆ 2%
อย่างไรก็ดี ECB ส่งสัญญาณที่จะผ่อนคลายนโยบายมากขึ้นในการประชุมเดือน ธ.ค. 2563 ขณะที่ในส่วนของสหรัฐถึงเวลานี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐจะสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย. 2563 หลังจากประธานาธิบดี Donald Trump ได้ออกมายอมรับเองว่าสหรัฐจะสามารถดำเนินการได้ทันวันที่ 3 พ.ย. 2563
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าประเด็นดังกล่าวเป็นปัจจัยลบที่หนักมากของตลาดหุ้นสหรัฐแน่นอน แม้ว่าล่าสุดตัวเลข GDP ของสหรัฐในไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวถึง 33.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และขยายตัวได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 32% โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
ขณะที่ตัวเลข Initial Jobless Claim ปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยลดลงสู่ระดับ 751,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 778,000 ราย อย่างไรก็ดีทั้ง 2 ตัวเลขก็เป็นการขยับขึ้นจากฐานที่แย่มากในช่วงไตรมาสที่ 2
ปัจจัยในและนอกกดดันตลาดหุ้นไทย ! ทั้งนี้แนวโน้มการคุมเข้มข้อจำกัดมากขึ้นเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในยุโรปนั้น ทำให้นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะหลังจากที่ Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ส่งสัญญาณว่ากำลังจะสู้กับการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ใน Wave 2 ไม่ไหว และได้ออกมาประกาศว่าจะทำการล็อกดาวน์ประเทศอังกฤษแบบทั่วประเทศเป็นครั้งที่ 2 เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน หลังยอดผู้ติดเชื้อทั่วประเทศดีดตัวขึ้นเกิน 1 ล้านคนแล้ว โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 5 พ.ย. เป็นต้นไป
ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นโลก ส่งผลให้ดัชนี ขณะที่ VIX Index หรือดัชนีความกลัว ที่สะท้อนความผันผวนของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงปรับตัวขึ้น 42.90%, 33.17% และ 26.53% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 0.46% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 35.29%
ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 2.19% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 35.29% ทั้งนี้ “นายหมูบิน” มองว่าทิศทางของตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นโลก หลังจากที่ประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐสั่งระงับสิทธิพิเศษทางการค้า GSP กับไทยเป็นมูลค่าสูงกว่า 25,000 ล้านบาท เพราะไทยไม่ยอมเปิดตลาดนำเข้าหมูให้สหรัฐ
การตัดสิทธิ์ครั้งนี้ทำให้สินค้าไทยบางรายการของต้องเสียภาษีมากขึ้นหากจะส่งออกไปยังสหรัฐต่อไป โดยคำสั่งจะมีผลบังคับใช้เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2563 และประเมินว่าสินค้าที่จะโดนกระทบมีกว่า 200 รายการประกอบไปด้วยเช่น ชื้นส่วนอะไหล่ยานยนต์, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท, เครื่องครัวที่ทำมาจากอะลูมิเนียม และอาหารอบแห้งบางชนิด เป็นต้น
ดังนั้นในทางเทคนิคระยะสั้น “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันมุมมองเดิมว่าสำหรับตลาดหุ้นไทย ตราบใดก็ตามที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิด เพื่อสร้างฐานในกรอบ 1,270-1,300 จุดได้ การดีดตัวขึ้นช่วงสั้นยังคงมองว่าเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น และยังคงไม่สามารถยืนยันการปรับตัวขึ้นต่ออย่างจริงจังได้ ในทางตรงกันข้ามโอกาสที่ SET จะลงไปที่เป้าหมายการปรับตัวลงที่ระดับ Fid Node บริเวณ 1,150 จุดมีโอกาสมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อบริเวณดังกล่าวเป็นเป้าหมายการปรับตัวลงตามรูปแบบ Descending Triangle ที่เกิดขึ้นหลังจาก SET หลุด Support Line บริเวณ 1,300 จุดลงมาด้วย
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังกลับไปยืนเหนือ 1,300 จุด (+/-) ไม่ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club
Comments