top of page
379208.jpg

ความเปราะบางของการดีดตัวขึ้นมีเยอะมาก...ดอกเบี้ยขาขึ้นเต็มตัว!


แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกยังคงมีความเปราะบางมากๆ นะครับ เนื่องจากนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน หลังจากที่มีความกังวลอยู่แล้วเกี่ยวกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐ โดยเฉพาะจากการที่ล่าสุดสหรัฐออกมาเตือนว่ารัสเซียมีกำลังทหารเพียงพอที่จะเปิดฉากบุกโจมตียูเครน และการที่ นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ เตือนให้ชาวอเมริกันออกจากประเทศยูเครนทันที พร้อมกับคาดการณ์ถึงเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นหากรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน

ทั้งนี้ รัสเซียได้สั่งสมกำลังทหารมากกว่า 100,000 นายใกล้พรมแดนติดกับยูเครนและในเบลารุสมาเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งคล้ายคลึงกับยุทธศาสตร์ที่เคยใช้เมื่อปี 2557 ที่รัสเซียเข้าผนวกดินแดนไครเมียโดยมิชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้เกิดกระแสต่อต้านจากนานาชาติ และรัสเซียถูกคว่ำบาตร

ขณะที่ประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่พุ่งขึ้น 7.5% ในเดือน ม.ค. 65 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายปีมากที่สุดในรอบ 40 ปี โดยเฉพาะหลังจากที่ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 1% ภายในเดือน ก.ค. 65 ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย ทำให้ตอนนี้เริ่มมีนักลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ยอมรับโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในเดือน มี.ค. 65 และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วง 1.75-2.00% ภายในสิ้นปีนี้ สะท้อนออกมาจากผลสำรวจของ FedWatch Tool ของ CME Group ที่ระบุว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 88% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน มี.ค. 65 จากเดิมที่เคยให้น้ำหนักเพียง 14%

นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 95% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1.00% ภายในเดือน มิ.ย. 65 สอดคล้องกับสำนักวิจัยโกลด์แมน แซคส์ที่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้ง ทั้งนี้หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ หมายความว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทั้ง 7 ครั้งที่เหลือในปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดพุ่งแตะ 1.75-2.00% ในปลายปีนี้ จากปัจจุบันที่ระดับ 0.00-0.25% ซึ่งมุมมองของโกลด์แมน แซคส์ เป็นไปในทางเดียวกับแบงก์ออฟอเมริกา ที่คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้เช่นกัน โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25%

ความกังวลทั้งหมดดังกล่าว สะท้อนออกมาในผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 61.7 ในเดือน ก.พ. 65 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2554 จากระดับ 67.2 ในเดือน ม.ค. 65 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 67.5 และดัชนี VIX Index หรือ CBOE Volatility Index ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่สิ้นเดือน ม.ค. 65

ลุ้นปัจจัยในประเทศจะแข็งแกร่งพอหรือไม่ ! จากปัจจัยที่กล่าวข้างต้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวเหนือระดับ 2% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากที่ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แสดงความเห็นส่วนตัวว่าเฟดยังคงสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ย “ได้อีกมาก” โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน หลังตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจของเฟดชี้ชัดไปทางนั้น โดยเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคของสหรัฐ ที่พุ่งขึ้น 7.5% ในเดือน ม.ค. 65 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 25 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.2% จากระดับ 7.0% ในเดือน ธ.ค. 64

ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.0% ในเดือน ม.ค. 65 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 25 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% จากระดับ 5.5% ในเดือน ธ.ค. 64 ขณะที่ภาคแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่งตามที่ประธานเฟดว่า สะท้อนออกมาจากการที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 467,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. 65 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน พ.ย. 64 โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 647,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 249,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน ธ.ค. 65 โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 510,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 199,000 ตำแหน่ง ในส่วนของแรงกดดันจากประเด็นของอัตราเงินเฟ้อจะยังคงมีอยู่ต่อไป หลังจากที่ล่าสุดสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งขึ้นเหนือระดับ 91 ดอลลาร์อีกครั้ง หลังจากที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่าตลาดน้ำมันยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว

ขณะที่ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศคงต้องจับตาผลจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะได้ผลเป็นรูปธรรมต่อเนื่องเพียงใด หลังจากที่ล่าสุดได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้างเมื่อกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี 2565 ซึ่งประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ที่เปิดให้ประชาชนใช้จ่ายวันแรกเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 10 ก.พ. 65 มีผู้ใช้สิทธิ์ทุกโครงการรวม 34.42 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวมทั้งหมด 23,032.55 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีประเด็นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นความเสี่ยงอีกครั้ง หลังธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ระบุว่า ธปท.เตรียมจะพิจารณาปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของปี 2565 จากที่เคยคาดไว้ในระดับ 1.7% หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือน ม.ค. 65 ปรับเพิ่มมาที่ 3.23%

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,630 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,630 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club



22 views

Comments


bottom of page