top of page
312345.jpg

Momentum ของตลาดหุ้นไทยยังไปต่อได้



ผมคิดว่าปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นโลก และไทยจะได้รับประโยชน์จากประเด็นของ “January Effect” หรือการที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในเดือน ม.ค. ของแต่ละปี

ทั้งนี้ถ้ามาพิจารณาจากสถิติจริงของตลาดหุ้นโลก, ตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2555-2564) จะพบว่าในตลาดหุ้นโลก, ตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นไทยนั้น มีสถิติการเกิด “January Effect” หรือการที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในเดือน ม.ค. ของแต่ละปีที่ชัดเจนมาก

ในส่วนของตลาดหุ้นโลก (ดัชนี MSCI ACWI) โดย 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยปรับตัวขึ้นในเดือน ม.ค. ของแต่ละปี ราว +1.48% ด้วยระดับ Winner Percentage ที่ 50% (ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น 5 ปี และลง 5 ปี) ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐ (ดัชนี S&P500) โดยเฉลี่ยปรับตัวขึ้นในเดือน ม.ค. ของแต่ละปี ราว +1.50% ด้วยระดับ Winner Percentage ที่ 50% (ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น 5 ปี และลง 5 ปี) เช่นกัน

ขณะที่ตลาดหุ้นไทย (ดัชนี SET) โดยเฉลี่ยปรับตัวขึ้น ด้วยระดับ Winner Percentage ที่ 50% (ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น 5 ปี และลง 5 ปี) ถึง +1.69% ด้วยระดับ Winner Percentage สูงถึง 80% (ขึ้น 8 ปี และลง 2 ปี)

สำหรับผมมองว่าโอกาสที่จะเกิด “January Effect” อีกครั้งในปีนี้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย ตราบใดที่ SET ยังคงยืนเหนือ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,624 จุด) ได้ แนวโน้มใหญ่ในราย 3 เดือนที่เป็นขาขึ้นจะยังคงอยู่ โดยมีเป้าหมายระยะสั้นอยู่ที่ Fib Node 1.382 และ 1.618 บริเวณ 1,714 และ 1,748 จุดตามลำดับ ซึ่ง Momentum ขาขึ้นของตลาดหุ้นโลกดังกล่าว สะท้อนออกมาจากทิศทางของดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรป ที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 19.32% และ 11.61% ลำดับ

สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง +8.10% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 37.70% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง -3.40% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 30.50% ส่งผลให้ล่าสุดตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน หลังผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตและต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้รัฐบาลของหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ขณะที่เจพีมอร์แกน เชส ออกมาประเมินว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังคงมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ เนื่องจากไวรัสโอไมครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ และคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐจะยังคงเพิ่มขึ้น รวมทั้งคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยุติลง โดยสายพันธุ์โอไมครอนจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้โควิด-19 กลายเป็นเพียงโรคประจำฤดูกาล

ปัจจัยภายในยังหนุนตลาดหุ้นไปต่อได้ ! ในส่วนของตลาดหุ้นไทย นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในส่วนของอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. 64 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 2.17% แต่ลดลงจากเดือน พ.ย. 64 -0.38% ส่งผลให้ทั้งปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ 1.23% เท่านั้น ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค. 64 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.29% และเพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. 0.05% ส่งผลให้ทั้งปี 2564 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ยอยู่ที่ 0.23% สะท้อนให้เห็นว่าแม้ในประเทศจะมีสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน แต่ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อปี 2565

ขณะที่ในส่วนของภาวะเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ประกอบกับการดำเนินมาตรการด้านการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.9% ในปี 2564 และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 ที่ 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะทยอยกลับมามากขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การจ้างงานและรายได้แรงงานยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด รวมทั้งเห็นว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจกระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้แม้ว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยอาจถูกจำกัดการปรับตัวขึ้นบนปัจจัยด้าน Sentiment หลังจากการที่ล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมสำหรับจัดการกับสายพันธุ์โอไมครอนที่มีการระบาดอย่างรวดเร็ว แต่ผมประเมินว่าสถานการณ์จะไม่กระทบทิศทางของตลาดหุ้นโลก และไทยในปีนี้ที่ยังคงเป็นขาขึ้น หลังจากที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน จึงทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการเบากว่าไวรัสสายพันธุ์ก่อน ๆ ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนพุ่งสูงขึ้นมาก และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,600 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,600 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)


Source: Wealth Hunters Club

12 views
bottom of page