ทิศทางของตลาดหุ้นโลกในช่วงสุดท้ายของปี 2564 ยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นนะครับ ในสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคมที่ผ่านมาพบว่าดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้น 3.24% โดยตลาดหุ้นที่เป็นผู้นำในการปรับตัวขึ้น หรือ Outperform ได้แก่ตลาดหุ้นสหรัฐ และญี่ปุ่นที่ปรับตัวขึ้น 4.17% และ 3.38% ตามลำดับ
Sentiment ของตลาดหุ้นโลก ได้รับปัจจัยหนุนจากการคลายความกังวลเรื่องเชื้อไวรัสโอไมครอน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากข่าวเรื่องวัคซีนเข็ม 3 จะมีความสามารถช่วยเพิ่มภูมิต้านทานเพื่อต่อสู้กับต่อสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ รวมถึงมีการเปิดเผยข้อมูลการศึกษาเบื้องต้นว่าเชื้อไวรัสโอไมครอนไม่ได้ทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรง มากไปกว่านี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อในยุโรปแสดงให้เห็นถึงการลดลง ถึงอย่างนั้นวัคซีนเข็ม 3 ก็ยังให้ผลป้องกันประมาณ 58% ซึ่งยังไม่สูงมาก รวมถึงประมาณวัคซีนที่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาจจะทำให้เกิดปัญหาความไม่พอใจประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอาจจะทำให้การระบาดอาจจะสามารถเพิ่มขึ้นได้อีกครั้ง หากเป็นอย่างนั้นในบางประเทศที่เกิดการระบาดอาจจะมีการออกมาตรการควบคุมเพิ่มเติมออกมา อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นโลกยังคงได้รับปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคแรงงานที่ล่าสุดตัวเลข Initial Jobless Claim ออกมาที่ 1.84 แสนรายต่ำกว่าที่คาดว่าจะออกมาที่ 2.28 แสนราย และลดลงจากตัวเลขที่ 2.22 แสนราย ในการรายงานครั้งก่อนหน้า ขณะที่ในฝั่งของยุโรปล่าสุดเยอรมนีประกาศตัวเลข ZEW Economic Sentiment ที่ออกมาที่ 29.9 ดีกว่าที่คาดว่าจะออกมาที่ 25.3 และเพิ่มขึ้นตัวเลขก่อนหน้าที่ 31.7 สอดคล้องกับตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth ของยูโรโซนที่ออกมาที่ +3.9% ดีกว่าคาดที่ +3.7% ซึ่ง Momentum ขาขึ้นของตลาดหุ้นโลกดังกล่าว สะท้อนออกมาจากทิศทางของดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 36.05%, 5.03% และ 12.62% ตามลำดับ สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง 3.00% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 29.70% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง -11.90% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 30.50%
ในเชิงเปรียบเทียบ ตลาดหุ้นเอเชียยังคงมีโอกาสที่จะทำผลงานได้แย่กว่าฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรป เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยประกาศกันออกมาดูด้อยกว่าสหรัฐ และยุโรปชัดเจน โดยเฉพาะตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth ของญี่ปุ่น ซึ่งประกาศออกมาที่ -3.6% แย่กว่าคาดว่าจะออกมาที่ -3.1% ขณะที่จีนประกาศตัวเลข CPI ออกมาที่ 2.3% น้อยกว่าที่คาดว่าจะออกมาที่ 2.5% จากเดิมที่คาดไว้ในเดือน ก.ค. 64 ที่ระดับ 6.0% แต่ยังคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าไว้ที่ 4.9%
ลุ้น “Santa Claus Rally” อีกปี ! ในมุมมองของ “นายหมูบิน” ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 ตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นไทย มีโอกาสที่จะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยทางฤดูกาล หรือ Seasonality ที่เรียกว่า “Santa Claus Rally” หรือปรากฏการณ์ที่ตามสถิติแล้วตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นในช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของปี ต่อเนื่องถึง 2 วันแรกของปีใหม่ (เช่น วันที่ 24-30 ธ.ค. 64 และ 3-4 ม.ค. 65) เนื่องจากถ้ามาพิจารณาจากสถิติของตลาดหุ้นโลก, ตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2559-2563) จะพบว่าในตลาดหุ้นโลก, ตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นไทยนั้น มีสถิติการเกิด “Santa Claus Rally” หรือมีการปรับตัวขึ้นในช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของปี ต่อเนื่องถึง 2 วันแรกของปีใหม่ที่ชัดเจน โดยที่ตลาดหุ้นโลก (ดัชนี MSCI ACWI) โดยเฉลี่ยปรับตัวขึ้นในช่วง “Santa Claus Rally” ราว +1.49% ด้วยระดับ Winner Percentage ที่ 100% (ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นทุกปี) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐ (ดัชนี S&P500) ที่โดยเฉลี่ยปรับตัวขึ้นในช่วง “Santa Claus Rally” ราว +0.97% ด้วยระดับ Winner Percentage ที่ 100% เช่นกัน ขณะที่ตลาดหุ้นไทย (ดัชนี SET) โดยเฉลี่ยปรับตัวขึ้นในช่วง “Santa Claus Rally” ถึง +2.49% ด้วยระดับ Winner Percentage ที่ 80% (ขึ้น 4 ปี และลง 1 ปี)
ในปีนี้ “นายหมูบิน” มองว่าโอกาสที่จะเกิด “Santa Claus Rally” อีกครั้งในปีนี้ ก็มีความเป็นไปได้นะครับ โดยเฉพาะหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ หรือ FOMC ระบุแนวทางในการลดขนาด หรือ Tapering มาตรการ QE รวมทั้งมี Guideline ของการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 ด้วย ซึ่งนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกพอที่จะคาดการณ์ และเตรียมตัวรับมือไว้แล้ว ดังนั้นตลาดหุ้นโลก, ตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นไทยน่าจะเกิด “Santa Claus Rally” อีกครั้งในปีนี้ได้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย ตราบใดที่ SET ยังคงยืนเหนือ EMA 200 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,573 จุด) ได้ แนวโน้มใหญ่ในรายปี หรือ Yearly ขาขึ้นจะยังคงอยู่
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับมาปิดเหนือ 1,600 จุดได้ เน้น “ดีดขึ้นขายลดพอร์ต” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์ นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club
Comments