top of page
379208.jpg

ตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในช่วง Selective Buy



ตอนนี้เล่นเรื่องกำไรเป็นหลัก !

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงสดใสนะครับ โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกยังคงปรับตัวขึ้น 0.60% นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปที่ทำผลงานได้ดีกว่า หรือ Outperform โดยปรับตัวขึ้น 1.03% และ 1.16% ตามลำดับ โดยล่าสุดบริษัทราว 44% ในดัชนี ACWI ของตลาดหุ้นโลกได้ประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ออกมาแล้วพบว่าในจำนวนดังกล่าว 69% ประกาศกำไรสุทธิออกมาดีกว่าที่ Bloomberg Consensus คาด หรือมี Positive Earnings Surprise เฉลี่ย 0.23% มีอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิเฉลี่ยถึง 69% YoY ซึ่งหลักๆ เป็นผลมาจากการประกาศผลการดำเนินงานที่ออกมาดีกว่าที่คาดของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรป

บริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐ ประกาศผลการดำเนินงานมาแล้ว 32% และในจำนวนดังกล่าว 76% มีกำไรสุทธิดีกว่าที่คาด หรือมี Positive Earnings Surprise เฉลี่ยถึง 10% โดยมีอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิเฉลี่ยถึง 38% YoY และตลาดหุ้นยุโรป ประกาศผลการดำเนินงานมาแล้ว 41% และในจำนวนดังกล่าว 56% มีกำไรสุทธิดีกว่าที่คาด หรือมี Positive Earnings Surprise เฉลี่ยถึง 8% โดยมีอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิเฉลี่ยถึง 42% YoY

ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ที่ 39.8% ยังคงยืนเหนือ Historical Average ที่ 38.0% ได้ เทียบกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่อยู่ที่ 29.4% ยังคงต่ำกว่า Historical Average ที่ 30.5% ส่งผลให้ระดับ Bull-vs-Bear Spread อยู่ที่ +10.4% ยังคงสูงกว่า Historical Average ที่ 7.5%

ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆโดยเฉพาะ Asia ex Japan ปรับตัวลดลงสวนทางราว 1.27% ทั้งนี้เมื่อพิจารณาภาพรวมในเดือน พ.ย. 64 ที่ผ่านมา จะพบว่าจากผลการดำเนินงานของบริษัทในตลาดหุ้นที่ประกาศออกมาเติบโตต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด ทำให้ Momentum ของตลาดหุ้นเอเชีย ซึ่งแน่นอนรวมทั้งตลาดหุ้นไทยด้วย ดูอ่อนลงไป เนื่องจากล่าสุดบริษัทในตลาดหุ้นเอเชีย ประกาศผลการดำเนินงานมาแล้ว 35% และมีกำไรสุทธิแย่กว่าที่คาด หรือมี Negative Earnings Surprise เฉลี่ย 4%

ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า Theme การลงทุนของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้นๆ นี้อยู่ที่การ Selective Buy หุ้นในกลุ่มที่ประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 โดดเด่นของตลาดหุ้นต่างๆ อย่างไรก็ดียังคงมองว่าทิศทางของตลาดหุ้นเอเชีย (MSCI Asia ex Japan) และตลาดหุ้นไทย (SET) น่าจะยังรักษา Momentum ขาขึ้นในระยะกลางได้ ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นโลกนะครับ แม้ว่าช่วงสั้นๆ ในระหว่างสัปดาห์อาจมีแรงขายจากต่างชาติกดดันออกมาบ้าง เนื่องจาก Theme ใหญ่ของ Global Fund Manager ในเวลานี้คือ Earnings Recovery ของตลาดหุ้นโลก แต่ตราบใดที่ SET ยังคงยืนเหนือ EMA 75 วัน ที่ 1,607 จุด และ 200 วัน ที่ 1,558 จุดได้ แนวโน้มหลักขาขึ้นจะยังมีอยู่ แต่หุ้นที่จะซื้อ หรือถือคงต้องรบกวนให้พิจารณาหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม Earnings Recovery หรือมีการเติบโตของกำไรสูงๆ เป็นหลัก ตาม Theme ใหญ่ของ Global Fund Manager ในเวลานี้

ตลาดหุ้นน่าจะทรงๆตัวในเดือน พ.ย. 64 ! ในส่วนของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิค “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันว่าการปรับตัวลงในระหว่างสัปดาห์ของ SET จะเป็นเพียงการพักตัวเพื่อขึ้นต่อ โดยจะมีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มการเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ที่สะท้อนมาจากการที่ดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ที่ยังคงมีสัญญาณ Bullish Convergence ต่อเนื่อง และตราบใดที่นักลงทุนต่างชาติไม่กลับมาขายสุทธิต่อเนื่องอีกมากกว่า 2.0 หมื่นล้านบาท เป้าหมายในระยะ 1-2 สัปดาห์ที่การแกว่งขึ้นไปในกรอบ 1,650-1,700 จุดก่อนในเบื้องต้น

อย่างไรก็ดีสำหรับในเดือน พ.ย. 64 นี้ ในเชิงปัจจัยฤดูกาล หรือ Seasonality ถ้าพิจารณาจากสถิติการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย (SET) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2011-2020 แบบตรงไปตรงมา จะพบว่าในเดือน พ.ย. SET ปรับตัวขึ้น 5 ปีจาก 10 ปีหลังสุด หรือมีระดับ Winner Percentage ที่ 50% ซึ่งถือว่าในเชิงปัจจัยฤดูกาล หรือ Seasonality แล้ว สัญญาณขาขึ้น หรือ Bullish และสัญญาณขาลง หรือ Bearish มีน้ำหนักใกล้เคียงกัน โดยออกไปในแนวทรงๆตัวมากกว่า

นอกจากนี้หากตัดข้อมูลเดือน พ.ย. ของปี 2020 ที่ SET ปรับตัวขึ้นมากที่สุดราว 17.80% และของปี 2013 ที่ SET ปรับตัวลงมากที่สุดราว -4.97% ออกไป จะพบว่าจริงๆ แล้วค่าเฉลี่ยการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย (SET) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะทรงๆ ตัว เคลื่อนไหวไม่มาก โดยมีค่าเฉลี่ย -0.06% เท่านั้น ดังนั้นในเดือนนี้ ถ้ามองในเชิงปัจจัยฤดูกาล หรือ Seasonality จากสถิติการเคลื่อนไหวของ SET ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้ว่า SET มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะของการสู้กันระหว่างแรงซื้อกับแรงขายอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง แต่ในเชิงของทิศทางน่าจะออกมาในลักษณะของการแกว่งตัวทรงๆ หรือ Sideway ไปก่อน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,600 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,600 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

19 views

Comments


bottom of page