top of page
369286.jpg

ถอยไม่ต่ำกว่า 1,600 จุด ลุ้นแกว่งขึ้น 1,650-1,700 จุด


ตลาดหุ้นโลกยังขาขึ้น!

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นนะครับ สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกยังคงปรับตัวขึ้น 1.27% โดยมีปัจจัยหนุนจากผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นสหรัฐที่ยังคงออกมาดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความเสี่ยงของตลาดหุ้นโลกลดลงไปเยอะ หลังจากที่บริษัทเอเวอร์แกรนด์ของจีน ที่ก่อนหน้านี้หลายคนกังวลว่าล้มแน่ สามารถชำระหนี้ 83.5 ล้านดอลลาร์ ที่จะครบกำหนดในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ แม้ว่าในปีหน้าเอเวอร์แกรนด์จะยังมีหนี้ที่ครบกำหนดต้องชำระอีก 7.4 พันล้านดอลลาร์ แต่นักลงทุนในตลาดหุ้นโลกเริ่มมีความเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าสุดท้ายรัฐบาลจีนจะไม่ปล่อยให้เอเวอร์แกรนด์ล้มละลาย เนื่องจากจะเป็นความเสี่ยงที่สูงเกินไปสำหรับระบบเศรษฐกิจจีน

ขณะที่ในเชิงเทคนิคการที่ดัชนี MSCI ACWI ยังคงเคลื่อนไหวอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยทุกเส้นได้ รวมทั้งยังคงรักษารูปแบบของ Golden Cross ครบทั้ง 5 ขั้นได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นชัดเจน

ทั้งนี้ถ้าเราเอารูปแบบของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือ Moving Average (MA) มาเป็นเครื่องมือที่ใช้บ่งบอกความคงอยู่ของแนวโน้มขาขึ้นของตลาดหุ้นโลกในปัจจุบัน การที่ล่าสุดดัชนี MSCI ACWI ยังคงยืนเหนือ EMA 75 วันที่สะท้อนความคงอยู่ของแนวโน้มราย 3 เดือน และ EMA 200 วันที่สะท้อนความคงอยู่ของแนวโน้มรายปีได้ ก็สามารถระบุได้เลยว่าแนวโน้มขาขึ้นในระยะ 3 เดือน และ 1 ปีของตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่มากขึ้นที่ธนาคารกลางของสหรัฐ หรือเฟด อาจจะมีการเริ่มลดขนาดของมาตรการ QE ในกลางเดือน พ.ย. 64 ลงเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยจะใช้เวลาทั้งหมด 8 เดือน ไปสิ้นสุดมาตรการในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 แต่ดูเหมือนว่า Global Fund Manager จะให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นสหรัฐมากกว่า

จะเห็นว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์นี้ ที่ระบุว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกันถึง 9.0% ต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้น 12.4% ในสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 46.9% ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์ที่ขึ้นมายืนเหนือ Historical Average ที่ 38.0%

สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 4.0% มาอยู่ที่ 27.8% ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์เช่นกัน ที่ลงมาต่ำกว่า Historical Average ที่ 30.5% ส่งผลให้ระดับ Bull-vs-Bear Spread ขยับขึ้นมาที่ +19.1% สูงที่สุดในรอบ 16 สัปดาห์

ดอกเบี้ยขึ้นตอนเศรษฐกิจฟื้นเป็นปัจจัยบวก ! ประเด็นที่มีความกังวลว่าถ้าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เข้าสู่ Exit Strategy อย่างเต็มตัว ผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate และจะทำให้กระแสเงินไหลที่จะไหลออกจากตลาดหุ้นโลกนอกสหรัฐ เพื่อ Unwinding U.S. Dollar Carry Trade เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งก็จริงว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวล และควรใช้ความระมัดระวังในการติดตามเรื่องนี้มากที่สุด แต่ไม่ควรกังวลมากเกินไป เพราะในความเป็นจริงการค่อยๆ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง รวมถึงการที่อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ขยับขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกกับตลาดหุ้นด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้นักลงทุนมั่นใจมากขึ้นว่าธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจฟื้นแล้ว เนื่องจากโดยธรรมชาติ ตลาดหุ้นถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเงินเฟ้อ

จากความสามารถของแต่ละบริษัทในการส่งผ่านอัตราเงินเฟ้อ หรือ Pass Through ได้มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ และถ้าพิจารณาจากสถิติของตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นไทย หลังการเริ่มปรับดอกเบี้ยของเฟดหลังวิกฤติครั้งก่อนหน้า ในวันที่ 16 ธ.ค. 58 พบว่าหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 เดือน ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงไปราว 4.1% และทุกอย่างจบแค่นั้น เพราะจากความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ส่งผลให้หลังจากนั้นอีก 1 และ 3 เดือน ตลาดหุ้นไทยกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.4% และ 11.0% ตามลำดับ ขณะที่โดยหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนั้น 1 ปี ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นถึง 22.2% นอกจากนี้ในมุมของ Momentum ของตลาดหุ้น ที่เราสามารถพิจารณาได้ง่ายที่สุด จากทิศทางของดัชนี VIX Index ของแต่ละตลาดหุ้น เนื่องจากเป็นดัชนีที่ในทางสถิติแล้วมักมีความสัมพันธ์เป็นลบ หรือ Negative Correlation กับทิศทางของตลาดหุ้น พบว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวลงถึง 19.5% ล่าสุดมาอยู่ที่ 19.4 และกำลังทำจุดต่ำสุด หรือ New Low ในรอบเกือบ 4 เดือน ขณะที่ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวขึ้นมา 3.5% ล่าสุดมาอยู่ที่ 4545 ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และยังคงเดินหน้าสร้างโอกาสทำจุดสูงสุดใหม่ หรือ All Time High อย่างต่อเนื่อง


ในส่วนของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิค “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันว่าการปรับตัวลงในระหว่างสัปดาห์ของ SET จะเป็นเพียงการพักตัวเพื่อขึ้นต่อ โดยเป้าหมายในระยะ 1-2 สัปดาห์ บริเวณ Fib Node 0.382 หรือ 38.2% ที่ 1,600 จุดของ SET ยังจะทำหน้าที่เป็นแนวรับ และจุดหมุนที่สำคัญ โดยที่ตราบใด SET ไม่หมุนลงต่ำกว่า 1,600 จุดอีกครั้ง SET น่าจะขยับกรอบการเหวี่ยงตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1,650-1,700 จุดได้ หลังจากได้ปัจจัยหนุนจากแนวโน้มการเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ที่สะท้อนมาจากการที่ดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow กลับมาทำสัญญาณ Buy Signal อีกครั้ง และตราบใดที่นักลงทุนต่างชาติไม่กลับมาขายสุทธิต่อเนื่องอีกมากกว่า 2.0 หมื่นล้านบาท เป้าหมายในระยะ 1-2 สัปดาห์ที่การแกว่งขึ้นไปในกรอบ 1,650-1,700 จุดก่อนในเบื้องต้น

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,600 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,600 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

8 views

Comments


bottom of page