top of page
312345.jpg

มองโอกาสขยับกรอบขึ้นที่ 1,650-1,700 จุด



กลัวเฟดขึ้นดอกเบี้ย (อีกแล้ว) !

แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างสัปดาห์ตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นโลกจะถูกกดดันจากความกังวล เกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐ หรือ Debt Ceiling ที่อาจนำไปสู่การหยุดกิจกรรมของหน่วยงานรัฐ หรือการเกิด Government Shutdown ของสหรัฐ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแทบจะเป็นปกติทุกปีไปแล้วในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีสุดท้ายสภาคองเกรสของสหรัฐก็ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวออกมาได้ตามคาดก่อนเส้นตายไม่กี่ชั่วโมง ส่งผลให้หน่วยงานรัฐของสหรัฐปฏิบัติงานต่อไปได้อีก 2 เดือนจนถึงวันที่ 3 ธ.ค. 64 โดยต่อไปสหรัฐยังคงมีประเด็นที่ต้องตกลงกันให้ได้เรื่องการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ ซึ่งรัฐมนตรีคลังสหรัฐระบุว่าสภาคองเกรสมีเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ ซึ่งจะหากตกลงกันไม่ได้จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ต้องเรียนว่าสถานการณ์หมิ่นเหม่แบบนี้เป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแทบจะเป็นปกติทุกปีแล้วในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน และสุดท้ายทุกอย่างจะผ่านไปได้ในช่วงใกล้ถึงเส้นตายเหมือนเดิม ขณะที่ในปีนี้มีความเป็นไปได้ที่อาจให้การอนุมัติการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลพ่วงมาด้วย

ดังนั้นในเชิงของปัญหาที่มาจากความเสี่ยงด้านการคลังของสหรัฐ “นายหมูบิน” มองว่าเป็นแค่ความกังวลระยะสั้นเท่านั้น แต่ประเด็นที่ “นายหมูบิน” กังวลมากกว่านั้น จะอยู่ที่ความเสี่ยงที่มาจากนโยบายการเงินมากกว่า หลังจาก Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาว่า สหรัฐจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้

ประกอบกับที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะระดับเกือบ 4% ภายในสิ้นปีนี้ ทำให้นักลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐกลับมากังวลเรื่องการปรับขึ้นของดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดอีกครั้ง แม้ว่าผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ FOMC จะเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดคาดการณ์ไว้ ในการเดินหน้าปรับลดวงเงินในโครงการ QE ในปีนี้หากเศรษฐกิจของสหรัฐมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่เฟดคาดการณ์ และยังมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% ซึ่งประเด็นการปรับลดวงเงินในโครงการ QE แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เป็นสถานการณ์ที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐ และโลกคาดการณ์ไว้แล้ว

ดังนั้นประเด็นสำคัญที่จะเป็นความเสี่ยงที่มาจากนโยบายการเงินของสหรัฐ จะถูกพุ่งเป้าไปที่การขยับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือการเข้าสู่ Exit Strategy ของเฟดมากกว่า หลังจากที่ Dot Plot แสดงให้เห็นว่าน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์เดิมในการประชุมครั้งก่อนหน้า อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” ยังคงไม่อยากให้นักลงทุนกังวลกับสถานการณ์นี้มากเกินไป หลังจาก Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ออกมาสร้างความความมั่นใจให้กับตลาด ว่ากำหนดเวลาและอัตราการปรับลดขนาดของมาตรการ QE ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณโดยตรงถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยปัจจัยในการตัดสินใจยังคงเป็นตัวเลขเงินเฟ้อและการจ้างงานในตลาด

ตลาดหุ้นไทยยังไปได้ในสถานการณ์นี้ ! แน่นอนว่าในระยะสั้นความกังวลจากความเสี่ยงที่มาจากนโยบายการเงินของสหรัฐ โดยเฉพาะประเด็นการขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นโลกแน่นอน สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง -1.80% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 28.10% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง +1.50% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 40.70% สอดคล้องกับทิศทางของดัชนี VIX Index ที่มีความสัมพันธ์เป็นลบ หรือ Negative Correlation กับตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 24.21% และ 12.70% ตามลำดับในต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีในส่วนของแนวโน้มของตลาดหุ้นไทย “นายหมูบิน” ยังคงไม่ได้มีความกังวลมากนัก เนื่องจากถ้าพิจารณาจากระดับราคาโดยเปรียบเทียบของแต่ละตลาดหุ้นผ่าน Earnings Yield Gap ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจเลือกลงทุนในจังหวะที่ตลาดหุ้นราคาน่าสนใจ โดยการเอาอัตราผลตอบแทนจากกำไรของตลาดหุ้น หรือ Earning Yield มาเทียบกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปี ในตลาดตราสารหนี้ ทั้งนี้ถ้าค่า Earning Yield Gap ที่คำนวณได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต หมายความว่า ตลาดหุ้นของประเทศนั้นซื้อขายอยู่ในโซนแพง หรือ Overvaluation ในทางตรงกันข้าม ถ้าค่า Earning Yield Gap ที่คำนวณได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต หมายความว่าตลาดหุ้นของประเทศนั้นซื้อขายอยู่ในโซนถูก หรือ Undervaluation

ทั้งนี้ปัจจุบัน Earnings Yield Gap ของตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ที่ระดับ 2.4% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปีที่ระดับ -0.8SD ขณะที่ Earnings Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 3.2% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปีที่ระดับ +0.4SD ซึ่งจากระดับดังกล่าวสะท้อนว่าตลาดหุ้นสหรัฐนั้นอยู่ในระดับ Overvaluation และตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับ Undervaluation เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ดังนั้นจากระดับราคาที่ยังไม่แพง และมี Potential Downside Risk ต่ำ ปัจจัยกดดันจากต่างประเทศจะกระทบตลาดหุ้นไทยไม่มาก ขณะที่ในทางเทคนิค “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันว่าการปรับตัวลงในระหว่างสัปดาห์ของ SET จะเป็นเพียงการพักตัวเพื่อขึ้นต่อ โดยเป้าหมายในระยะ 1-2 สัปดาห์ บริเวณ Fib Node 0.382 หรือ 38.2% ที่ 1,600 จุดของ SET ยังจะทำหน้าที่เป็นแนวรับ และจุดหมุนที่สำคัญ โดยที่ตราบใด SET ไม่หมุนลงต่ำกว่า 1,600 จุดอีกครั้ง SET น่าจะขยับกรอบการเหวี่ยงตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1,650-1,700 จุดได้ หลังจากได้ปัจจัยหนุนจากแนวโน้มการเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ที่สะท้อนมาจากการที่ดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow กลับมาทำสัญญาณ Buy Signal อีกครั้ง และตราบใดที่นักลงทุนต่างชาติไม่กลับมาขายสุทธิต่อเนื่องอีกมากกว่า 2.0 หมิ่นล้านบาท เป้าหมายในระยะ 1-2 สัปดาห์ที่การแกว่งขึ้นไปในกรอบ 1,650-1,700 จุดก่อนในเบื้องต้น

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,600 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,600 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

16 views
bottom of page