top of page
379208.jpg

ปัจจัยการเมืองฉุดความเชื่อมั่น


ไม่แพงแต่ไม่น่าสนใจ !

ในระยะสั้นปัจจัยบวกภายในประเทศจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ "ช้อปดีมีคืน" ที่มาตรการดังกล่าวจะเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท และการที่รัฐบาลเตรียมผ่อนคลายเปิดประเทศรับนักธุรกิจ และนักลงทุนเข้าประเทศไทยเพิ่ม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ยังคงควบคุมโควิด-19 ภายใต้กฎระเบียบที่รัดกุม ศบค.อนุมัติให้นักธุรกิจและผู้มีใบอนุญาตทำงานเข้าประเทศไทยแล้วกว่า 1.1 หมื่นคน โดยกักตัว 14 วัน แต่ทั้งหมดนี้ยังคงมีน้ำหนักต่อทิศทางของตลาดหุ้นไทยน้อยกว่าปัจจัยการเมืองในประเทศ

ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 63 อยู่ที่ 50.2 จาก 51.0 ในเดือน ส.ค. 63 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือนจากปัญหาการเมือง แม้ว่าในเชิงของ Valuation ระดับราคาของตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในระดับที่ต่ำแล้วก็ตาม สะท้อนออกมาจากการที่ Earnings Yield GAP ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจเลือกลงทุนในจังหวะที่ตลาดหุ้นราคาน่าสนใจ ซึ่งจะประเมินด้วยการเอา Earning Yield ณ ปัจจุบันของตลาดหุ้นมาลบด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี แล้วเทียบว่าค่า Earning Yield Gap ที่หาได้ในปัจจุบันมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ถ้าค่า Earning Yield Gap ที่คำนวณได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต สามารถบอกเป็นนัยว่าสินทรัพย์เสี่ยงของประเทศนั้นๆ ‘อยู่ในเกณฑ์แพง’ หรือ ‘Overvalued’ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ในทางตรงกันข้าม ถ้าค่า Earning Yield Gap ที่คำนวณได้มากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต บอกเป็นนัยได้ว่าสินทรัพย์เสี่ยงของประเทศนั้นๆ อยู่ในเกณฑ์ถูก หรือ undervalued เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา Earnings Yield GAP ของไทยอยู่ที่ระดับ 3.30% โดยอยู่ที่ระดับ +0.3SD ซึ่งจากระดับดังกล่าวสะท้อนว่าตลาดหุ้นนั้นอยู่ในระดับ Undervalued เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

ความเชื่อมั่นไม่มีเหลือแล้ว ! ประเด็นเสถียรภาพของรัฐบาล และการชุมนุม ยังคงเป็นปัจจัยลบที่คอยกดดันตลาดหุ้นไทยอยู่ แม้ช่วงสั้นน่าจะยังไม่มีอะไรรุนแรง แต่ยังคงต้องระมัดระวังประเด็นทางการการเมืองอย่างต่อเนื่อง บนสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยถดถอยรุนแรง หลังจากที่ตัวเลข GDP ไทยไตรมาส 2 ถดถอย -12.2%YoY ซึ่งถือว่าแย่สุดในรอบ 22 ปีหลังช่วงวิกฤตการเงินต้มยำกุ้งปี 1998 ขณะเดียวกันสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาอยู่ในช่วง -7.3 ถึง -7.8% โดยประเด็นสำคัญคือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยในช่วงที่เหลือของปีนั้นน้อยมาก รวมทั้งผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการค้าโลก


ทั้งนี้ความเชื่อมั่นที่ตกต่ำลงของตลาดหุ้นไทย สอดคล้องกับมุมมองในเชิงของปัจจัยพื้นฐาน หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Bloomberg Consensus ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นไทยลงอีก 0.2% ลงมาอยู่ที่ -34.9% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2563 Bloomberg Consensus ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นไทยลงมาแล้วถึง 44.9% เทียบกับที่ Bloomberg Consensus ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นโลก, สหรัฐ, ญี่ปุ่น และ Asia ex Japan ตั้งแต่ต้นปี 2563 ลง 28.9%, 25.2%, 39.3% และ 21.0% ตามลำดับ

ขณะที่อัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี 2563 ในตลาดหุ้นไทยที่ -34.9% ยังถือว่าอ่อนแอมากเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี 2563 ในตลาดหุ้นโลก สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และ Asia ex Japan ที่ -9.8%, -4.1%, -22.2%, -27.4% และ -6.7% ตามลำดับ สำหรับแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคระยะสั้น “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันมุมมองเดิมว่าตราบใดก็ตามที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิด เพื่อสร้างฐานในกรอบ 1,270-1,300 จุดได้ การดีดตัวขึ้นช่วงสั้นยังคงมองว่าเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น และยังคงไม่สามารถยืนยันการปรับตัวขึ้นต่ออย่างจริงจังได้ รวมทั้งโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย หรือ Foreign Fund Flow จะยังคงไหลออกยังคงมีอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาจะขายสุทธิออกมาแล้ว 2.9 แสนล้านบาทตั้งแต่ต้นปี 2563 หลังจากที่ Indicator ระยะกลางอย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ยังคงมีสัญญาณ “Negative Convergence” อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังกลับไปยืนเหนือ 1,300 จุด (+/-) ไม่ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club



27 views

Comments


bottom of page