top of page
379208.jpg

ตลาดหุ้นไทยอ่อนแอกว่าภูมิภาคและโลก



ตลาดหุ้นสหรัฐไม่กลัวโควิด

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกเข้าสู่แนวโน้มการพักฐานในระยะสั้นๆ นะครับ โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านดัชนี MSCI ACWI ซึ่งเป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักตลาดหุ้นทั่วโลก และประกอบด้วยหุ้นจากตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ เปลี่ยนแปลง -0.12% โดยมีแรงกดดันจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นเอเชียเป็นหลัก โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI Asia Ex-Japan เปลี่ยนแปลง -1.52% ขณะที่ตลาดหุ้นสำคัญอย่างสหรัฐ, ยุโรป และจีน ยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยเปลี่ยนแปลง +0.17%, +0.07% และ +0.01% ตามลำดับ


นอกจากนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังถูกกดดันจากกังวลเศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ Delta ที่แพร่ระบาดทั่วโลกขณะนี้ ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่าหลายๆ ประเทศอาจไม่สามารถเปิดเศรษฐกิจไม่สามารถเกิดขึ้นได้รวดเร็วเหมือนกับที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ทางด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ไวรัสสายพันธุ์ Delta สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 43-90% และขณะนี้มีการแพร่ระบาดไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมทั้งเตือนว่า การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 อาจเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน รวมถึงจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2%

ประเด็นการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนชัดเจน สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง -5.60% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 30.60% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง +3.80% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 30.60%

อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และยังคงมี Momentum ขาขึ้นได้ หลังจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐในสัปดาห์นี้ พบว่ามีบริษัทราว 15% ในดัชนี S&P 500 ได้รายงานผลประกอบการในไตรมาส 2 แล้ว ซึ่ง 88% จากจำนวนดังกล่าวมีกำไรสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ 84% มีรายได้สูงกว่าคาด ทั้งนี้ Momentum ที่ยังคงเป็นขาขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐ สะท้อนออกมาจากทิศทางของดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 8.08%

หุ้นไทยยังคงถูกกดดันจากการปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจ ! ในระยะสั้นต้องยอมรับว่าในด้านของความแข็งแกร่งของแนวโน้ม ตลาดหุ้นเอเชียดูอ่อนแอกว่าแนวโน้มของตลาดหุ้นสำคัญอย่างตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และจีนชัดเจน สะท้อนออกมาจากดัชนี Relative Strength Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของหุ้นกับดัชนีอ้างอิง World Index โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นที่ Outperform เมื่อเทียบกับดัชนีอ้างอิง World Index ได้แก่ตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และจีน ที่ดัชนี Relative Strength Index เปลี่ยนแปลง +0.30%, +0.20% และ +0.10% ตามลำดับ

ขณะที่ตลาดหุ้นที่ Underperform ได้แก่ตลาดหุ้นไทย, ญี่ปุ่น และ Asia Ex-Japan ที่ดัชนี Relative Strength Index เปลี่ยนแปลง -1.10%, -1.70% และ -1.40% ตามลำดับเมื่อเทียบกับดัชนี MSCI ACWI ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในส่วนของตลาดหุ้นไทยยังคงมีแนวโน้มผันผวนอย่างหนักต่อเนื่อง ท่ามกลางตัวเลขติดเชื้อโควิท-19 ของไทยที่พุ่งต่อเนื่อง นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากการถูกปรับประมาณการ GDP ปี 2564 ลงจากสำนักวิจัยต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในระยะถัดไป นอกจากนี้แผนวัคซีนที่ล่าช้าและไม่แน่นอน จะเป็นตัวเพิ่มต้นทุนต่อเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์เพิ่มเติม โดยปัจจุบันมีคนไทยได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้วเพียง 3.5 ล้านคน หรือคิดเพียง 5% ของประชากร ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่าการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไปราว 0.8-2.0% ของ GDP ซึ่งธปท.ประเมินไว้ใน 2 กรณี คือ กรณีแรก หากประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์ สามารถควบคุมการระบาดให้ลดลงจากปัจจุบันได้ถึง 40% ซึ่งมีผลทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงในระดับที่ขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขมีเพียงพอรองรับได้ ก็คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะเริ่มกลับมาได้ในช่วงเดือน ส.ค. 64

ขณะที่ในกรณีที่สอง หากประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์ สามารถควบคุมการระบาดให้ลดลงได้เพียง 20% ก็เชื่อว่าการใช้มาตรการล็อกดาวน์จะยังยืดเยื้อต่อไปตลอดในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาได้ รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่จะยังไม่กลับมาด้วยเช่นกัน


KKP Research ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 จาก 1.5% จะเหลือเพียง 0.5% แม้ว่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย หากจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ที่ยาวนานกว่าสามเดือน หรือต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่มีข้อจำกัดมากขึ้น จนกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายของเศรษฐกิจไทย ก็ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบเพิ่มเติมอีก -1.3% และทำให้เศรษฐกิจในปีนี้หดตัวลง 0.8% ทั้งนี้ล่าสุดสหภาพยุโรปได้ถอดไทยออกจากประเทศปลอดภัยจากโควิด-19 แล้ว จากสถานการณ์ระบาดที่รุนแรงขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อของไทยอยู่ที่ 97.3 ราย ต่อประชากร 1 แสนราย (เทียบกับเกณฑ์ที่ 75 ราย) ขณะที่กำหนดให้ยูเครนที่มีการระบาดที่ราว 18 ราย เข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ปลอดภัยสำหรับผู้เดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ดังนั้นแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะยังยืนยันว่าจะเดินหน้าเปิดประเทศตามแผน 120 วันเช่นเดิม ซึ่งเริ่มแล้วที่ภูเก็ตและสมุย และจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ดูเหมือนนักลงทุนจะไม่ให้น้ำหนักกับประเด็นนี้เลย

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,550 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,550 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน”ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club



39 views

Comments


bottom of page