top of page
379208.jpg

ปัจจัยภายในกดดันหุ้นไทย Underperform ต่อ



หุ้นสหรัฐขาขึ้น !

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็นขาขึ้นนะครับ...ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้น 0.53% นำมาโดยตลาดหุ้นสหรัฐ และจีนที่ปรับตัวขึ้น 1.06% และ 1.06% ตามลำดับ โดยมีปัจจัยหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดที่ลดลง หลังจากที่ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ได้แถลงต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดยยืนยันว่าเฟดจะยังไม่เร่งปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ แม้สหรัฐเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม

ทั้งนี้ถึงแม้ความกังวลจาก QE Tapering ในช่วงที่ผ่านมาจะลดลง แต่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าขึ้น บนความคาดหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่ทำเนียบขาวสามารถบรรลุข้อตกลงกับสภาคองเกรสในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐ มาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมถึงโครงการสร้างถนน สะพาน ทางรถไฟ ปัจจัยพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโครงการอื่นๆ

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 1/2564 ขยายตัว 6.4% ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชียในสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของ Treasury General Account (TGA) ที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย ... Treasury General Account คือเงินสดของกระทรวงการคลังที่ฝากอยู่กับธนาคารกลางสหรัฐ โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐมีการเร่งเบิกจ่ายเงินกู้ผ่านการดึงเงินออกจาก TGA เพื่อนำเงินออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อลดปริมาณเงินสดในบัญชี TGA ก่อนที่การยกเลิกเพดานหนี้ชั่วคราวจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ก.ค. 64 ซึ่งกระทรวงการคลังได้เลือกใช้การดึงเงินออกจาก TGA แทนการออกพันธบัตรชุดใหม่ออกมาเพื่อกู้เงินทำให้ Supply ของพันธบัตรหายไปในระดับหนึ่ง เลยเป็นอีกสาเหตุที่ต่อให้ความต้องการพันธบัตรสหรัฐลดลงไป ขณะที่หากพิจารณาเงินจาก TGA กำลังจะลดลงเข้าสู่ระดับปกติ ทำให้รัฐบาลสหรัฐอาจจำเป็นต้องออกพันธบัตรชุดใหม่อีกรอบเพื่อ Funding เงินก้อนใหม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้ตลาดมีการคาดการณ์ว่าดอลลาร์อาจจะตึงขึ้นไปอีกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตลาดหุ้นสหรัฐยังได้ปัจจัยหนุนจากธนาคารรายใหญ่ 23 แห่งของสหรัฐสามารถผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ซึ่งจะเปิดทางให้ธนาคารเหล่านี้สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลและซื้อคืนหุ้นได้อีกครั้ง

ตลาดหุ้นไทยยังตามเพื่อไม่ทัน ! ประเด็นการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก ยังคงเป็นปัจจัยหนุนทิศทางของตลาดหุ้นโลกอย่างต่อเนื่อง โดยที่ล่าสุดนอกจากสหรัฐแล้ว ในฝั่งของอังกฤษ Boris Johnson นายกรัฐมนตรีของอังกฤษเตรียมคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 ครั้งใหญ่ อนุญาตให้ ปชช.อังกฤษที่ฉีดวัคซีนครบโดส สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวใน 150 ประเทศทั่วโลก และสามารถกลับมาโดยไม่ต้องกักตัว โดยจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการภายในช่วงฤดูร้อนนี้ (มิ.ย.-ก.ย. 64)

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เครดิต สวิส คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 5.9% ในปีนี้และ 4% ในปี 2565 โดยได้แรงหนุนจากการดำเนินการฉีดวัคซีน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของภาคบริการในวงกว้าง ขณะที่ดัชนี VIX Index ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความผันผวนของนักลงทุนในตลาด โดยเป็นการหาค่า Volatility (ค่าความผันผวน) ผ่านตัว Option โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่าดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป และฮ่องกงเปลี่ยนแปลง -25.6%, -19.66% และ -8.68% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อทิศทางของตลาดหุ้นของนักลงทุนที่ลดลง สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ที่ 40.40% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish อยู่ที่ 23.30%

อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นไทยยังคงถูกกดดันจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก จากการที่ กนง. ได้มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโต GDP ปี 2564 ลงมากกว่าที่คาด โดยมีการปรับคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ลงเหลือ 1.8% จาก 3% สำหรับปีนี้ และปรับปีหน้าเป็น 3.9% จาก 4.7%

ทั้งนี้ กนง.ยังกังวลการท่องเที่ยวฟื้นได้ช้ากว่าคาด จึงปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลงเหลือ 7 แสนคนในปีนี้ จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 3 ล้านคน เป็นผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศยังสูง และการฉีดวัคซีนต่ำกว่าเป้าหมาย ขณะที่ Third Wave ในกทม.น่าเป็นห่วง นำไปสู่ความเสี่ยง Bubble and Seal / Partial Lockdown ประกอบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการนัดชุมนุมทางเมือง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดเพิ่มเติม และก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง

นอกจากนี้ทางฝั่งธนาคารพาณิชย์เองยังถูกกดดันจากการกระทรวงการคลังได้สั่งให้แบงก์รัฐลดดอกเบี้ย 0% เน้นช่วยกลุ่ม ร้านอาหารและท่องเที่ยวยาวถึงสิ้นปีนี้ ประกอบกับตลาดยังกังวลว่าธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องมีการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ด้วย โดยล่าสุดภาคเอกชนได้มีการเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหา SME ทั้งระบบ อาทิ เสนอให้ปลดล็อกลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโร/NPL และปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ผ่านผู้ประกอบการค้าปลีก อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยหนุนเข้ามาบ้าง หลังจาก ครม. ได้เคาะเปิดภูเก็ต 1 ก.ค. นี้ พร้อมเปิดเกาะสมุย พงัน เกาะเต่า รับนักท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย 15 ก.ค.นี้ โดยจังหวัดเตรียมพร้อมตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรี ประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน ประกอบกับล่าสุด อย. อนุมัติ “วัคซีนของ Pfizer” วัคซีนโควิด-19 รายการที่ 6 ของไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,550 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,550 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club



85 views

コメント


bottom of page