top of page
312345.jpg

COVID-19 รอบ 3 กดดันตลาดหุ้นไทย...ความหวังใหม่ขึ้นอยู่กับวัคซีนมาเมื่อไหร่


นักลงทุนมองเศรษฐกิจโลกฟื้น !

ทางเทคนิคทิศทางของตลาดหุ้นโลกในภาพรวมยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นได้อย่างต่อเนื่องนะครับ สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี S&P500 ของสหรัฐ และ Stoxx50 ของยุโรปยังคงมีรูปแบบ Golden Cross ครบทั้ง 5 ขั้นอย่างชัดเจน และต่อเนื่อง

ทั้งนี้แม้ว่าจะมีแรงกดดันเข้ามาจากการที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้แสดงความกังวลว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่แล้วซึ่งยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้การแพร่ระบาดในระยะหลังมีอัตราที่รวดเร็วขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะอินเดียที่เผชิญวิกฤติโควิดหนักสุด หลังพบการติดเชื้อโควิดรายใหม่ในวันเดียว พุ่งทะยานกว่า 3.1 แสนราย ทุบสถิติโลกที่สหรัฐ เคยมีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันเดียวก่อนหน้า

ขณะที่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปยืนยันว่า การใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อย่างไรก็ดี EMA ระบุว่า ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสันฯ ยังคงมีมากกว่าความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่านักลงทุนในตลาดหุ้นโลก จะให้น้ำหนักกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการอัดฉีดเม็ดเงินของธนาคารกลางสำคัญของโลกมากกว่า โดยเฉพาะสหรัฐที่ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงออกมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลข Initial Jobless Claim อยู่ที่ระดับ 547,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ นอกจากนี้ตัวเลขยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 603,000 ราย ทางด้าน Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน มี.ค. 64 ของสหรัฐพุ่งขึ้น 1.3% หลังจากที่ปรับตัวลง 0.1% ในเดือน ก.พ. 64

สำหรับดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 60.6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 59.1 ในเดือน มี.ค. 64 และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 63.1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 60.4 ในเดือน มี.ค. 64 ขณะที่ทางฝั่งยุโรป ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและวงเงินในการซื้อพันธบัตรในการประชุมนโยบายการเงิน และมีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโร โดยจะซื้อพันธบัตรตามโครงการดังกล่าวจนถึงเดือน มี.ค. 65 วงเงินเดือนละ 2 หมื่นล้านยูโร

ทั้งนี้จากความเชื่อมั่นดังกล่าว ส่งผลให้การที่ประธานาธิบดี Joe Biden เตรียมเสนอให้ปรับเพิ่มภาษี Capital Gains Tax จากเดิม 20% เป็น 39.6% และอาจสูงสุดถึง 43.4% สำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี และปรับเพิ่ม Marginal Income Tax Rate จาก 37% เป็น 39.6% นักลงทุนในตลาดหุ้นโลกให้น้ำหนักกับประเด็นดังกล่าวน้อยว่าประเด็นด้านเศรษฐกิจโดยตรงอย่างมาก

COVID-19 รอบ 3 กดดันตลาดหุ้นไทย ! ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐในฐานะตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลกยังคงทรงตัวในระดับสูงนะครับ สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ที่ 52.70% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish อยู่ที่ 20.50%

อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าวน้อยกว่า จากสถานการณ์โควิดระลอกที่ 3 ที่พบว่าผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมีการทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง ส่งผลให้ยังต้องติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด นอกจากนี้รัฐบาลยังอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ถึงความจำเป็นที่จะต้องประกาศเคอร์ฟิว เพื่อควบคุมหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นหรือไม่ ขณะที่รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนต้านโควิดอีก 35 ล้านโดส ร่วมกับภาคเอกชนที่พร้อมจัดหาวัคซีนเพิ่มฉีดให้พนักงานเอง 10-15 ล้านโดส โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนที่จัดหาให้ได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

ในส่วนของตลาดหุ้นไทยในเชิงของเทคนิค การที่ Indicator อย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ยังมีสัญญาณ Negative Convergence ต่อเนื่อง หลังจากที่ไทยพบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการไหลออกของเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยจะยังคงมีอยู่ในระยะสั้นต่อไป นอกจากนี้ตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถทะลุผ่าน 1,600 จุดไปได้ ในระยะสั้น SET ยังคงอยู่ในทิศทางของการแกว่งตัวลง โดยมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ และความไม่แน่นอนของวัคซีนเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ และมีบริเวณ 1,500 จุด (+/-10) เป็นกรอบแนวรับที่ SET จำเป็นต้องสร้างฐานต่อไป

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,550 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,550 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

21 views
bottom of page