top of page
312345.jpg

ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงนำตลาดหุ้นโลกได้ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐสูงมาก !


ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงปรับตัวในกรอบขาขึ้นต่อได้ หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐยังปรับตัวขึ้นทำ New High เหนือระดับ 4,000 จุด หลังจากที่ประธานาธิบดี Joe Biden เปิดตัวแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ที่มีจุดประสงค์ในการปรับทิศทาง และส่งเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยแบ่งออกเป็น


1) งบ 6.2 แสนล้านสำหรับลงทุนในถนน ทางด่วน รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ

2) งบ 1.7 แสนล้าน ลงทุนในการสนับสนุนให้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เช่น รัฐสนับสนุนเงินส่วนหนึ่งเพื่อลดราคาขาย, เปลี่ยนรถของหน่วยงานรัฐให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น, ลงทุนสร้างสถานีชาร์จไฟ 500,000 แห่ง ภายในปี 2030

3) งบ 3 แสนล้าน ฟื้นฟูภาคการผลิตสหรัฐ คาดจะประกอบด้วย 5 หมื่นล้านเพื่ออุดหนุนอุตสาหกรรม Semiconductor ในประเทศ (US Chips Act นั่นเอง) และอีก 5 หมื่นล้านเพื่อดึงการผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อคนสหรัฐกลับมา

4) งบ 1 แสนล้าน ลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด

5) งบ 1 แสนล้าน ลงทุนในการติดตั้งอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมประชาชนมากขึ้น ซึ่ง 5G ก็อยู่ในนี้ ในส่วนของที่มาของเงินลงทุนก้อนนี้


ประธานาธิบดี Joe Biden เสนอว่าให้จัดหามาจากรายได้ภาษีธุรกิจที่จะปรับขึ้นจากอัตรา 21% เป็น 28% โดยการเปิดเผยแนวนโยบายด้านภาษีที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาจจะส่งผลทำให้ความร้อนแรงของการคาดการณ์เงินเฟ้อลดน้อยลง (ล่าสุด US Government Bond Yield 10 ปี ปรับตัวลดลงไปสู่ระดับ 1.67%)

นอกจากนี้ยังลดการขาดดุลและแก้ปัญหาหนี้ในระยะยาวได้ด้วย นอกจากนี้การขึ้นภาษีของประธานาธิบดี Joe Biden อาจเป็นปัจจัยหนุนให้ Fund Flow จากต่างชาติกลับมาเข้าตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 64.7 ในเดือน มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี จากระดับ 60.8 ในเดือน ก.พ. 2564 และสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 61.7 สะท้อนให้เห็นภาคการผลิตของสหรัฐกำลังฟื้นตัวเป็น "V-Shape" อย่างแท้จริง

สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 109.7 ในเดือน มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 ในเดือน มี.ค. 2563 จากระดับ 90.4 ในเดือน ก.พ. 2564 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 96.9 ทั้งนี้แม้ว่าตัวเลข Initial Jobless Claim จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 719,000 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 675,000 ราย แต่ตลาดกลับไม่ให้น้ำหนักกับปัจจัยดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนในตลาดหุ้นโลก และสหรัฐมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับสูง และให้น้ำหนักกับปัจจัยบวกมากกว่าปัจจัยลบชัดเจน

Momentum ของการหุ้นโลกยังเป็นขาขึ้น ! ขณะที่ในระยะต่อไป มีแนวโน้มว่าตลาดหุ้นโลกจะได้รับปัจจัยหนุนจากทิศทางของหุ้นในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันที่มีแนวโน้มที่จะได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวขึ้น หลังจากแผนการยุติการลดกำลังการผลิตโดนสมัครใจของซาอุดีอาระเบียอย่างช้าๆ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยซาอุดีอาระเบียคาดว่าจะค่อยๆ ลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจลง 250,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. 2564 จากนั้นจะเพิ่มเป็น 350,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน มิ.ย. 2564 และสุดท้าย 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 2564

ขณะที่ OPEC ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบทั่วโลกลงอีก 300,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 5.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน ขณะที่สถานการณ์ของโควิด-19 ต่อความเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ลดน้ำหนักลงต่อเนื่อง โดยที่ล่าสุดรัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วยการลดเวลากักตัวผู้ที่เดินทางมาจากประเทศมีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และ ออสเตรเลีย จากเดิม 21 วันเหลือ 14 วันโดยตั้งเป้าจะเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยวจากทั้งสามประเทศ

ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรปและฮ่องกง ปรับตัวลดลง 12.52%, 10.53% และ 7.20% สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่ลดลง สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ที่ 45.83% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish อยู่ที่ 23.21%

ขณะที่ประเด็นที่ติดตามอย่างใกล้ชิดคือการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวทางปรับปรุงวิธีการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในองค์ประกอบของดัชนี จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณดัชนี (Full Market Capitalization) เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยในการคำนวณดัชนี (Free Float Adjusted Market Capitalization) โดยมีการคาดว่ากลุ่มที่ได้ประโยชน์จากวิธีการคำนวณแบบใหม่ ได้แก่ BBL, SCB, SCC ,CPALL, BDMS, INTUCH, PTT, CPN TISCO และ MINT ขณะที่กลุ่มที่คาดว่าจะเสียประโยชน์จากวิธีการคำนวณแบบใหม่ ได้แก่ AOT, DELTA, GULF, OR, PTTEP, ADVANC, GPSC, AWC, SCGP และ BJC

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,550 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,500 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการเซียนเศรษฐกิจ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.ทาง FM 97 เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club



26 views
bottom of page