top of page
358556.jpg

โอกาสหุ้นลงจากเฟดจะหยุดกระตุ้นมีน้อย


แค่ผันผวนระยะสั้น !

แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกจะกลับมาผันผวนอย่างหนักอีกครั้ง จากความกังวลว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือ US Government Bond Yield ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นสูงถึง 1.6% แล้วเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 1 ปีกว่า บนความกังวลในเรื่องของเงินเฟ้อ และความเป็นไปได้ว่าทิศทางดอกเบี้ยนโยบายขาลงได้สิ้นสุดลงไปแล้ว หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลข Initial Jobless Claim ลดลงสู่ระดับ 730,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ย. 63 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 845,000 ราย

นอกจากนี้ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของ GDP ไตรมาส 4/2563 ขยายตัว 4.1% โดยปรับตัวดีกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 4.0% ซึ่งอาจเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดเริ่มกลับมาพิจารณาการหยุด หรือการชะลอการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้แม้ว่าปกติแล้วการเทขายพันธบัตรระยะยาวออกไปเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากนักลงทุนอาจจะมองว่าเศรษฐกิจกำลังอาจกลับมาเติบโตใหม่ และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าเงินที่ถูกเทขายออกมาจากพันธบัตรระยะยาวจะไม่ได้ไหลเข้าไปในตลาดหุ้น ซึ่งหากพิจารณาจากกลุ่มหุ้นที่ถูกเทขายมากที่สุดคือกลุ่ม Technology และ Growth เนื่องจากมีเงินไหลเข้ามามากในปีที่ผ่านมา จึงทำให้อาจมีมูลค่าสูงไปแล้ว

ประกอบกับที่ค่าเงินสหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างมากในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจบ่งชี้ได้ว่าตลาดเลือกที่จะถือเงินสดไว้ก่อน นอกจากนี้อีกปัจจัยจากการที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น และถ้าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะเป็นตัวบั่นทอนของการขยายตัวในบริษัทต่างๆ เพราะต้นทุนในการกู้ยืมเพื่อทำธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้นในระยะสั้น

อย่างไรก็ตามความกังวลดังกล่าวลดลงไปอย่างมาก หลังจากที่ Jerome Powell ประธานเฟดได้แถลงว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ และมีแนวโน้มว่าคงจะต้องใช้เวลาพอสมควรจนกว่าจะบรรลุความก้าวหน้าต่อไปได้ สะท้อนว่าเฟดจะยังคงใช้มาตรการ QE เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องต่อไปอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการมาของวัคซีนจะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มฟื้นกลับมาดำเนินการได้แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ Jerome Powell ยังได้แถลงอีกว่าการที่อัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับเป้าหมายของเฟดได้นั้นอาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปอีกนาน โดยที่เฟดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัว 6% ในปีนี้ โดยเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 หลังมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนในวงกว้าง และการที่รัฐบาลสหรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีที่แล้ว ขณะที่ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 91.3 ในเดือน ก.พ. 64 จากระดับ 88.9 ในเดือน ม.ค. 64 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 90.0 โดยดัชนีความเชื่อมั่นดีดตัวขึ้น หลังมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในวงกว้าง

ทั้งนี้ล่าสุดสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ กำลังพิจารณาอนุมัติวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน หลังพบว่าปลอดภัยและป้องกันโควิด-19 ได้ร้อยละ 66 ที่สำคัญฉีดแค่เข็มเดียวเท่านั้น

ความเชื่อมั่นยังคงอยู่ในระดับสูง ! ทั้งนี้ในภาพรวมของเศรษฐกิจยังคงเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการยืนยันการกระตุ้นเศรษฐกิจ และอัดฉีด QE ต่อไปของเฟด รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจต่างก็เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีและมีสัญญาณการฟื้นตัว อีกทั้งการมาของวัคซีน และการที่ผู้ติดเชื้อในสหรัฐและในประเทศต่างๆ กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นโลกเริ่มให้น้ำหนักว่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 อาจจบลงไปแล้ว ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าจะเริ่มมีการ Sector Rotation จากกลุ่ม Technology และ Growth ไปยัง Cyclical มากขึ้น

นอกจากนี้จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นสูงถึง 1.6% ทำให้ราคาทองคำลดลงมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องไปกับ Real Yield ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 20 bps ภายในสัปดาห์เดียว ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี เช่นกัน ขณะที่นักลงทุนยังคงไม่ให้น้ำหนักกับปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศมากนัก แม้ว่าล่าสุด Joe Biden ได้มีสั่งโจมตีกองกำลังอิหร่านในซีเรีย หลังจากเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน ได้เกิดการการยิงจรวดโจมตีฐานทัพของสหรัฐในอิรักครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะเป็นการตอบโต้กลับอย่างรุนแรง แต่ Joe Biden ยังกำชับให้ทหารโจมตีกองกำลังอิหร่านเฉพาะในซีเรียเท่านั้น เพราะยังมีความตั้งใจในการกลับมาประนีประนอมเรื่องสัญญานิวเคลียร์กับอิหร่านอยู่เหมือนเดิม ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 1.20% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 45.90% แย่ยังคงมีสัดส่วนที่สูงกว่าสุดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 1.60% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 23.80%

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,500 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,500 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club



13 views

Comments


bottom of page