top of page
312345.jpg

Momentum ที่เป็นบวกกลับมาอีกครั้ง


วัคซีนคือคำตอบ!

ตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้นต่อเนื่องได้ โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ซึ่งออกแบบมาเพื่อสะท้อนด้านเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.87% และข่าวดีคือตลาดหุ้นที่ปรับตัวได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นโลก หรือ Outperform กลับมาเป็นตลาดหุ้นสหรัฐ และเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นที่ปรับตัวขึ้น 2.23% และ 3.04% ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป และญี่ปุ่นกลับมาเป็นตลาดหุ้นที่ปรับตัวได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นโลก หรือ Underperform โดยประเด็นของวัคซีน COVID-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นโลกต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากความหวังที่ว่าประธานาธิบดี Joe Biden แห่งสหรัฐจะเร่งผลักดันให้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ในไม่ช้านี้

ในสถานการณ์ที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 รายใหม่ในสหรัฐปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 63 ขณะที่จำนวนผู้ป่วย COVID-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็ปรับตัวลงเช่นกัน

ทั้งนี้ล่าสุดมีจำนวนประชากรที่ฉีดวัคซีนทั่วโลกแล้วมากกว่า 46 ล้านคน โดยหลักๆ คือสหรัฐ 22.9 ล้านคน หรือ 7.0% จากประชากรทั้งหมด 328 ล้านคน, สหราชอาณาจักร 3.4 ล้านคน หรือ 12.6% จากประชากรทั้งหมด 66.6 ล้านคน, อิสราเอล 3.0 ล้านคน หรือ 33.4% จากประชากร 8.9 ล้านคน ซึ่งต้องยอมรับการมาของวัคซีนทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ดีขึ้นจริงๆ สะท้อนออกมาจากข้อมูลระหว่างวันที่ 25-31 ม.ค. 64 พบว่าตั้งแต่สหราชอาณาจักรได้เริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 8 ธ.ค. 64 จากเดิมที่มีผู้ป่วยวันละ 3-6 หมื่นรายต่อวัน ตอนนี้เหลือต่ำกว่า 2 หมื่นรายต่อวันแล้ว ขณะที่อัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มเริ่มลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับที่สหรัฐอเมริกา ที่ตั้งแต่วันแรกที่มีการฉีดวัคซีนในวันที่ 14 ธ.ค. 63 โดยใช้เทคโนโลยี mRNA พบว่าอัตราการติดเชื้อใหม่เริ่มลดลงชัดเจน อยู่ที่ไม่เกิน 2 แสนรายต่อวัน จากเดิม 2-3 แสนรายต่อวัน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง

โดยล่าสุดตัวเลข Initial Jobless Claim ลดลงสู่ระดับ 779,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ 812,000 รายที่มีการรายงานในสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ย. 63 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 830,000 ราย โดยตัวเลข Initial Jobless Claim ที่ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐเริ่มมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ความมั่นใจทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ของ COVID-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นต่อความสามารถในการทำกำไรในตลาดหุ้นโลกด้วย สะท้อนจากการปรับประมาณการการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 2564 หรือ Earnings Revision ขึ้นโดย Bloomberg Consensus ที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับการประมาณการกำไรสุทธิของตลาดหุ้นโลกขึ้น +0.62% นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐ +1.10%, ตลาดหุ้นยุโรป +0.61% WoW, ตลาดหุ้นญี่ปุ่น +0.58%, ตลาดหุ้นจีน +7.40% และตลาดหุ้นไทย +0. 64% ส่งผลให้แนวโน้มการขยายตัวของกำไรสุทธิในปี 2564 ของตลาดหุ้นไทยที่ Bloomberg Consensus ประเมินไว้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 46.7% สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับการขยายตัวของกำไรสุทธิในปี 2564 ของตลาดหุ้นโลกที่ +23.3%, ตลาดหุ้นสหรัฐที่ +22.4%, ตลาดหุ้นยุโรปที่ +36.2%, ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ +5.9% และตลาดหุ้นจีนที่ +27.1%

ความผันผวนลดลงประกอบกับปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น ! ขณะที่หุ้น GameStop ที่ปรับตัวลงไปแล้ว ช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนในตลาดหุ้นสหรัฐไปได้อย่างมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ Janet Yellen รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้จัดการประชุมวาระพิเศษร่วมกับผู้นำในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ธนาคารกลางสหรัฐ และคณะกรรมาธิการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับความผันผวนในตลาดหุ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่นักลงทุนรายย่อยปั่นราคาหุ้น GameStop และหุ้นของบริษัทอื่นๆ

ความผันผวนของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐที่ลดลงสะท้อนออกมาจากทิศทางของดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงที่เปลี่ยนแปลง -33.51%, -27.16% และ -18.56% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่ลดลง ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้นอยู่ที่ 37.40% ยังคงสูงกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่อยู่ที่ 35.60%

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย จากการที่ กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% รวมถึงระบุผลกระทบโควิดรอบนี้ไม่รุนแรงเท่ารอบแรกจากการใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดน้อยลง ซึ่งจากมุมมองดังกล่าว จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. 64 น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นได้หากไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบเพิ่มเติม ส่งผลให้หุ้นธนาคารกลับมาปรับตัวขึ้นนำตลาดอีกครั้ง รวมถึงหุ้นที่เคยได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างสายการบิน, โรงแรม และโรงพยาบาล ที่มีการปรับตัวขึ้นหลัง ศบค.ทยอยผ่อนคลายมาตรการ COVID-19 ลง และกระทรวงการคลังประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะนำโครงการ "ม.33 เรารักกัน" มาเป็นเงินอุดหนุนให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,500 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,500 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

21 views
bottom of page