top of page
379208.jpg

ตลาดหุ้นโลกและไทยพักตัว ในแนวโน้มหลักขาขึ้น


สงครามตะวันออกกลางกดดันระยะสั้นๆ ! 

           

แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกเข้าสู่ช่วงเวลาของการพักตัวระยะสั้นในกรอบแนวโน้มหลักขาขึ้นอีกครั้ง จากความกังวลเกี่ยวกับผลที่จะตามมาจากปฏิบัติการโจมตีของอิสราเอลต่ออิหร่านเมื่อวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับสงครามที่ขยายวงกว้างขึ้นในตะวันออกกลาง แม้ว่าล่าสุดสหรัฐจะออกมาระบุว่าไม่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการดังกล่าวของอิสราเอล แต่สหรัฐก็ได้ส่งสัญญาณไปยังซาอุดีอาระเบียว่า สหรัฐพร้อมที่จะช่วยปกป้องซาอุดีอาระเบียในกรณีที่ถูกโจมตีโดยอิหร่านหรือกลุ่มที่อิหร่านสนับสนุน ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นของรัฐต่างๆ ในอ่าวอาหรับเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะถูกดึงเข้าไปในความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอล

           

ทั้งนี้หนึ่งในผลประโยชน์ของการปกป้องน่านฟ้าซาอุดีอาระเบียคือ การช่วยปกป้องสถานที่ผลิตน้ำมันในกรณีที่ถูกโจมตี ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น โดยปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐกำลังหารืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรต่างๆ รวมถึงซาอุดีอาระเบีย ขณะที่พวกเขาเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่างๆ โดยรวมถึงการใช้ระบบป้องกันภัยแบบบูรณาการ หลังจากที่ก่อนหน้านี้อิหร่านได้เตือนว่า หากมีประเทศใดที่อิหร่านเห็นว่าให้ความช่วยเหลือในการตอบโต้ของอิสราเอล รวมถึงการอนุญาตให้อิสราเอลใช้น่านฟ้านั้น อาจจะตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีตอบโต้จากอิหร่าน

           

ขณะที่ท่าทีล่าสุดอิหร่านระบุว่าขอสงวนสิทธิ์ที่จะตอบโต้ "อย่างถูกต้องตามกฎหมาย" ต่อการโจมตีของอิสราเอลก่อนหน้านี้ต่อเป้าหมายหลายเป้าหมายใน 3 จังหวัดของอิหร่าน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อระบบเรดาร์ของอิหร่านหลายระบบ "ในระดับไม่สูงมากและไม่รุนแรงมากนัก" นอกจากนี้ ระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่านยังได้สกัดกั้นขีปนาวุธ "จำนวนมาก" และป้องกันไม่ให้เครื่องบินของอิสราเอลเข้าสู่น่านฟ้าของอิหร่านได้

           

อย่างไรก็ดีสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยังคงมีโอกาสมากที่สุดที่จะอยู่ในวงจำกัดต่อไป เนื่องจากนานาชาติโดยเฉพาะประเทศที่สำคัญของโลกยังคงไม่มีประเทศใดสนับสนุนการทำสงครามที่ขยายวงออกไปของทั้งอิสราเอลและอิหร่าน โดยที่ล่าสุดญี่ปุ่นได้ออกมาแสดงความกังวล หลังจากที่อิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีฐานทัพทหารอิหร่าน พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนสูงสุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้าง    

           

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นเอเชียโดยตรง ในระยะสั้นได้รับผลกระทบแน่นอนจากการพักตัวลงของตลาดหุ้นจีน หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่ามาตรการกระตุ้นด้านการคลังที่รัฐบาลจีนประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้ ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาความเสี่ยงด้านเงินฝืดที่กำลังคุกคามเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยล่าสุด IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.8% ในปีนี้ แต่รัฐบาลจีนจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาการทรุดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และลดแรงกดดันด้านเงินฝืด เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอมาก โดย IMF ประเมินว่าจีนควรจะทุ่มเทงบประมาณในอัตราส่วน 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดที่อยู่อาศัยซึ่งกำลังทรุดตัวลง

           

สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า งบประมาณในอัตราส่วนดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 6.3 ล้านล้านหยวน (8.85 แสนล้านดอลลาร์) โดยอ้างอิงจากตัวเลขของปีที่แล้ว ทั้งนี้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างรอคอยให้รัฐบาลจีนประกาศมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกใหม่ที่เข้ามาสนับสนุนทิศทางของตลาดหุ้นจีนและเอเชียในระยะต่อไป หลังจากที่ หลันฝออัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจีนได้ให้คำมั่นในช่วงต้นเดือนนี้ว่าจะอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนใช้พันธบัตรพิเศษ (Special Bonds) ในการซื้อบ้านค้างสต็อก

           

ทั้งนี้วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนส่งผลให้ความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนจีนหายไปประมาณ 18 ล้านล้านหยวน และทำให้จีนเผชิญกับภาวะเงินฝืดที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542

           

สถานการณ์ในเอเชียทำให้นักลงทุนกังวลมากขึ้น ! ในส่วนของเอเชียโดยตรงยังคงมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายการเงินของญี่ปุ่นเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนอยู่อีก โดยที่ล่าสุด คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมาระบุว่ามุมมองบวกที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ กำลังเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง แต่ตลาดสหรัฐยังคงไร้เสถียรภาพ โดยการแสดงความเห็นดังกล่าวบ่งชี้ว่าผู้ว่าการ BOJ ไม่มั่นใจว่าความเสี่ยงที่จะมีต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นจะลดลงหรือไม่

           

การแสดงความเห็นของอุเอดะเกี่ยวกับเศรษฐกิจและตลาดของสหรัฐนั้นเป็นที่จับตาอย่างมาก หลังจากที่เขาเคยกล่าวถึงความไม่แน่นอนว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือซอฟต์แลนดิงหรือไม่ และยังกล่าวด้วยกว่าภาวะตื่นตระหนกในตลาดถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่ทำให้ BOJ ต้องชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต

           

ล่าสุดนักลงทุนคาดการณ์เป็นวงกว้างว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป และคาดว่า BOJ จะคงตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อไว้ที่ระดับ 2% ไปจนถึงเดือน มี.ค. 70 ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BOJ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.25% จะขึ้นไปแตะระดับ 1.5% ในปี 2570 แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไปควรจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BOJ น่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดการเงินของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่นักลงทุนญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนจำนวนมาก แต่จนถึงขณะนี้พบว่า ผลกระทบดังกล่าวมีน้อยมาก เนื่องจาก BOJ ได้สื่อสารกับตลาดเป็นอย่างดีเกี่ยวกับการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของ BOJ ก็ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

           

ในฝั่งของนักวิเคราะห์ พบว่าเกือบทุกคนจากทั้งหมด 53 คนที่ได้รับการสำรวจโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ในการประชุมวันที่ 30-31 ต.ค. 67 นี้ คณะกรรมการ BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% โดยในจำนวนนี้มี 53% ที่คาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค. 67 ขณะที่ 32% คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค. 68 เพิ่มขึ้นจากระดับ 19% ในการสำรวจครั้งก่อน ขณะที่ในด้านของเศรษฐกิจ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าความตึงเครียดทางการค้าและภาษีนำเข้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน และสหภาพยุโรป (EU) กับจีน ที่ทวีความรุนแรงในปีนี้ จะส่งผลกระทบลามไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก โดยทั้งสหรัฐ และ EU ต่างปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจากจีน เพื่อรับมือกับแนวทางปฏิบัติทางการค้าของจีนที่สหรัฐ และ EU อ้างว่าไม่เป็นธรรม ขณะที่จีนก็ตอบโต้ด้วยการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจาก EU เช่นกัน           


ทั้งนี้ IMF เตือนในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2568 ฉบับล่าสุดว่า นโยบายกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นถือเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผลสำรวจของสมาคมนักลงทุนรายย่อยอเมริกัน (AAII) พบว่า นักลงทุนลดน้ำหนักความเชื่อมั่นต่อทิศทางของตลาดหุ้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า สู่ระดับ 37.7% จากระดับ 45.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะเดียวกัน นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักความไม่เชื่อมั่นต่อทิศทางของตลาดหุ้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า สู่ระดับ 29.9% จากระดับ 25.4% ในสัปดาห์ที่แล้ว

           

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงแกว่งตัวเหนือกว่า 1,370 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อลงทุน” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไปที่ระดับ 75% ของพอร์ต”  

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

 

Source: TQ

2 views

Comments


bottom of page