top of page
358556.jpg

ตลาดหุ้นโลกกังวล Unwinding Yen Carry Trade


สหรัฐจะไม่ถดถอย !

           

สถานการณ์ของตลาดหุ้นโลกในภาพรวมดีขึ้นมาก หลังการแสดงความเห็นเชิงบวกของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐและกลับเข้าซื้อหุ้นอีกครั้งโดยเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายไม่เห็นด้วยกับมุมมองที่ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค. 67 ของสหรัฐที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดนั้นหมายถึงเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

           

Blackrock บริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในโลกคาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐจะปรับตัวขึ้นต่อไปเนื่องจากนักลงทุนเริ่มคลายความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยมองว่าตัวเลขจ้างงานที่อ่อนแอเกินคาดของสหรัฐนั้นเกิดจากการชะลอตัวของการจ้างงาน ไม่ใช่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการที่อัตราว่างงานพุ่งขึ้นเกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณแรงงานอันเนื่องมาจากแรงงานต่างชาติที่อพยพเข้าสู่สหรัฐ ไม่ใช่เกิดจากการเลิกจ้างของบริษัท ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่แตกต่างจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก่อนหน้านี้

           

นอกจากนี้การที่อีกหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกอ่อนแอลงในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการที่นักลงทุนลดการทำโพสิชัน Yen Carry Trade หรือ Unwinding Yen Carry Trade ซึ่งเป็นธุรกรรมการกู้ยืมสกุลเงินของประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่นญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า แต่ล่าสุดความกังวลดังกล่าวลดลงมาก หลัง ชินอิจิ อุชิดะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า BOJ จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบันเพื่อดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป และจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในขณะที่ตลาดการเงินยังไร้เสถียรภาพ หลังจากที่ BOJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% ในเดือน ก.ค. 67

           

ขณะที่โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ลดลงของสหรัฐ ได้รับการตอกย้ำอีกครั้งจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่าแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.9% ในไตรมาส 3 ปี 2567 ต่อเนื่องจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% ในไตรมาส 1 และ 2.8% ในไตรมาส 2 สอดคล้องกับการที่ล่าสุด ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.4 ในเดือน ก.ค. 67 โดยฟื้นตัวขึ้นจากระดับ 48.8 ในเดือน มิ.ย. 67 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 51.0 ซึ่งการที่ดัชนีปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคบริการ หลังจากอยู่ในภาวะหดตัวในเดือน มิ.ย. 67 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 55.0 ในเดือน ก.ค. 67 จากระดับ 55.3 ในเดือน มิ.ย. 67 โดยที่ดัชนี PMI ยังคงสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวในภาคบริการของสหรัฐ ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 22-24 ส.ค. 67 นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ โดยการประชุมจะจัดขึ้นในหัวข้อ "Reassessing the Effectiveness and Transmission of Monetary Policy" และมีการคาดการณ์ว่านายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดอาจจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

           

อย่างไรก็ดี แมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อมีความคืบหน้าในการชะลอตัวลงตามเป้าหมายของเฟด และการจ้างงานชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน สอดคล้องกับการที่ ออสแตน กูลสบี ประธานเฟดสาขาชิคาโก ระบุว่าเฟดควรมีมาตรการรับมือกับสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ควรที่จะเข้มงวดเกินไปในขณะนี้ โดยที่ในเวลานี้มีนักลงทุนส่วนหนึ่งมองว่าความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐเกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไป โดยล่าช้ากว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้ ขณะที่เฟดยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี

           

ความกังวลในตลาดหุ้นไทยยังเยอะมาก ! ในส่วนของแนวโน้มในอนาคต ล่าสุดแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ จะได้ปรับเพิ่มความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้าเป็น 25% จากเดิมที่ 15% แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก และโกลด์แมน แซคส์ระบุว่ายังมีเหตุผลอีกหลายประการที่ไม่ควรกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอย แม้อัตราการว่างงานจะพุ่งสูงขึ้นก็ตาม โดยยังคงเห็นว่าความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่ในวงจำกัด และเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมยังคงดูดี ไม่มีความไม่สมดุลทางการเงินที่สำคัญ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก และปรับลดได้อย่างรวดเร็วหากจำเป็น

           

ทั้งนี้ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือน ก.ย. 67, เดือน พ.ย. 67 และเดือน ธ.ค. 67 ซึ่งต่ำกว่าที่เจพีมอร์แกน เชส และซิตี้ กรุ๊ป คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในเดือน ก.ย. 67

           

อย่างไรก็ดีสำหรับนักลงทุนไทย สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือในส่วนของการเติบโตที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ก.ค. 67 อยู่ที่ 108.71 หรืออัตราเงินเฟ้อ สูงขึ้น 0.83% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0.4-0.8% อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 67) เฉลี่ยอยู่ที่ 0.11% เท่านั้น ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 0.42% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.ค. 67 อยู่ที่ 57.7 ลดลงจาก 58.9 ในเดือน มิ.ย. 67 โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 66 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต และกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย

           

ความกังวลดังกล่าวสอดคล้องกับการที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน ส.ค. 67 พบว่าดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 60.40 ปรับลงมาอยู่ในเกณฑ์ "ซบเซา" โดยนักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รองลงมาคือนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ โดยความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 11.3% มาอยู่ที่ระดับ 83.10 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 96.9% มาอยู่ที่ระดับ 112.50 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 17.4% มาอยู่ที่ระดับ 90.91 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับลด 55.6% อยู่ที่ระดับ 33.33 ต่างชาติ

           

ขณะที่ในเชิงเทคนิคของตลาดหุ้นไทย การฟื้นตัวต่อเนื่องของดัชนี SET ตั้งแต่บริเวณ 1,345 จุดวันที่ 13 ธ.ค. 66 จะมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่บริเวณ Fib Node 0.382 และ 0.618 หรือ 1,447 และ 1,497 จุดตามลำดับ ซึ่งตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถขยับตัวขึ้นมายืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ การดีดตัวขึ้นมาในรอบนี้ยังคงมองเป็นแค่การ Technical Rebound เท่านั้น

           

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,400 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

       

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TQ

4 views

Comentarios


bottom of page