top of page
358556.jpg

ผลประกอบการและอนาคตนายกฯ กดดันหุ้นไทย


ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยกดดัน ! 

             

แม้ว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยจะมีปัจจัยหนุนเข้ามาบ้าง จากความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่จะเริ่มใช้จ่ายได้จริงภายในไตรมาส 4 ปีนี้ อย่างไรก็ดีคาดว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในปี 2567 ไม่เต็มที่มากนัก เนื่องจากโครงการออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี การหมุนเวียนของเศรษฐกิจจากเม็ดเงินในโครงการอาจยังไม่เกิดขึ้นในทันที แต่ผลที่เห็นได้จริงๆ จะเกิดขึ้นในปี 2568 ซึ่งกระทรวงการคลังประเมินว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจราว 1.2-1.8% ซึ่งในด้านของแหล่งที่มาของเงินงบประมาณ ทั้งกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการได้ในกรอบงบประมาณที่มีอยู่ โดยไม่กระทบภารกิจอื่นของรัฐ ซึ่งทำได้ทั้งการออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม การโอนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณ ตลอดจนการบริหารการคลังและการบริหารจัดการงบประมาณ โดยในเบื้องต้นนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าข้อสรุปของแหล่งเงินที่ใช้ดำเนินโครงการจะใช้งบประมาณรวม 4.5 แสนล้านบาท โดยมีประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์ที่ 45 ล้านคน จากเดิมผู้ได้รับสิทธิ์ 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท

           

สำหรับวงเงินดำเนินโครงการจะมาจากวงเงินงบประมาณปี 2567 ที่เป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวน 122,000 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณอีกจำนวน 43,000 ล้านบาท ควบคู่กับวงเงินงบประมาณปี 2568 ในส่วนของกรอบงบประมาณรายจ่ายวงเงิน 152,700 ล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 132,300 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากสรุปวงเงินงบประมาณในปี 2567 จะอยู่ที่ 165,000 ล้านบาท และงบประมาณในปี 2568 จะอยู่ที่ 285,000 ล้านบาท ที่จะใช้ในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนระบบการชำระเงินนั้น อยู่ในขั้นตอนและมีความพร้อมในวันที่จะเริ่มดำเนินการแน่นอน โดยมีความปลอดภัย และโปร่งใส มีการตรวจสอบอย่างครบถ้วน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยขอเวลา 15 วันที่จะเข้ามาช่วยดู เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าระบบการชำระเงินจะไม่มีข้อผิดพลาด

           

นอกจากนี้ในส่วนของมาตรการกระตุ้นตลาดทุนโดยตรง ล่าสุดกระทรวงการคลังได้นำเสนอเรื่องการปรับปรุงเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) เพื่อรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว แต่อยู่ในขั้นตอนของการสอบถามความเห็นจากกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีประเด็นกดดันที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยยังคงไม่สามารถหลุดพ้นจากแนวโน้มของตลาดหุ้นปลายขาลงได้ คือความไม่แน่นอนทางการเมือง จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา และลงมติในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ในวันที่ 14 ส.ค. 67 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน

           

รวมทั้งผลการประกอบผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ของหุ้นในกลุ่มธนาคาร โดยที่ในไตรมาสที่ 2 กลุ่มธนาคารมีกำไรสุทธิ เพิ่มขึ้น 2.7% YoY แต่ลดลง 2.5% QoQ และมียอดสินเชื่อลดลง 0.1% YoY และ 0.7% QoQ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตมีการชำระคืนตามฤดูกาลในไตรมาส 2 ทั้งนี้กลุ่มธนาคารมีอัตราส่วน NPL เพิ่มขึ้นเป็น 3.68% ในไตรมาส 2 จาก 3.61% ในไตรมาส 1 ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วพบว่า BBL, TISCO และ KKP มี NPL เพิ่มขึ้นมากสุด ขณะที่ SCB มีอัตราส่วน NPL เพิ่มขึ้น QoQ จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยทุกประเภท โดยมีเพียง KBANK ที่มี NPL ลดลงจากการเคลียร์งบดุลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้บริหาร KBANK เผยว่าน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยในไตรมาส 2 มีเพียง BBL และ KTB ที่สามารถทำกำไรสุทธิได้สูงกว่าคาด ขณะที่ KKP ทำกำไรต่ำกว่าประมาณการมากที่สุด เป็นผลจากการมีอัตราการสำรองหนี้สูญสูงขึ้นและยอดสินเชื่อลดลง ส่วน SCB มีกำไรสุทธิต่ำกว่าคาด จากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวจากการยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ขณะที่กลุ่มธนาคารไทยยังมีโอกาสเผชิญกับปัจจัยลบจาก NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งจะมาจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อรถและสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันเป็นหลัก

           

การเลือกตั้งสหรัฐกลับมากดดันตลาดหุ้นโลก ! ปัจจัยกดดันจากการเมืองสหรัฐกลับมาอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศถอนตัวจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนี้ และได้เปลี่ยนไปเป็นการเผชิญหน้าทางการเมืองครั้งสำคัญระหว่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีที่เป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน และ นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่คาดว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต โดยที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกันมีผู้สนับสนุนที่เป็นฐานเสียงที่เหนียวแน่นและมีความเชื่อมั่นในตัวเขาเป็นอย่างมาก โดยเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีความภักดีและมีจำนวนมาก และทรัมป์เป็นผู้ที่เรียกได้ว่ามีความสามารถในการสื่อสาร สามารถสร้างกระแสในสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้เขาสามารถเข้าถึงผู้สนับสนุนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

           

นอกจากนี้พรรครีพับลิกัน ยังมีความโดดเด่นในด้านนโยบายเศรษฐกิจ โดยเขามักจะเน้นนโยบายที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดภาษี ซึ่งได้รับความนิยมจากบรรดาผู้ประกอบการและนักลงทุน ขณะที่ กมลา แฮร์ริส ถือเป็นตัวแทนกลุ่มผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย เพราะเธอเป็นผู้หญิงผิวสีและมีเชื้อสายเอเชียอเมริกัน ซึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยในการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเธอมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับประธานาธิบดีไบเดน และมีความสามารถในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายในพรรคเดโมแครต และมีนโยบายที่ตอบโจทย์สังคม โดยเธอเน้นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวอเมริกัน เช่น การปรับปรุงระบบสุขภาพ การแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายกลุ่ม

           

ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นโดยรอยเตอร์/อิปซอสซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 22-23 ก.ค. 67 ที่ผ่านมาพบว่า นางแฮร์ริสซึ่งมีแนวโน้มจะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐนั้น มีคะแนนนำทรัมป์ที่ 44% ต่อ 42% โดยถือเป็นโพลแรกนับตั้งแต่ทรัมป์ได้รับตำแหน่งเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 67

           

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ กมลา แฮร์ริส ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนและยากจะคาดเดา ชัยชนะในการเลือกตั้งจะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย รวมถึงความสามารถในการสื่อสารกับประชาชน นโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และการจัดการกับประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระหว่างการหาเสียงซึ่งเหลือเวลาอีกแค่เพียง 100 กว่าวันก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง ดังนั้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นปัจจัยกดดันทิศทางของตลาดหุ้นโลกต่อไปอีกระยะ เพราะผลการเลือกตั้งจะมีผลต่อธีมการลงทุนของตลาดหุ้นโลกแน่นอน โดยเฉพาะถ้า โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง

           

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,400 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”  

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingView

6 views

Comments


bottom of page