top of page
379208.jpg

หุ้นไทยรอลุ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


สหรัฐเศรษฐกิจดี ดอกเบี้ยกำลังจะลง !

           

มีความเป็นไปได้สูงมากที่ตลาดหุ้นสหรัฐจะยังคงเป็นผู้นำให้ทิศทางของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้นยังคงเป็นขาขึ้นต่อไป หลังจากที่นักวิเคราะห์จากบริษัท โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายสิ้นปีสำหรับดัชนี S&P500 เป็นครั้งที่สาม มาอยู่ที่ 5,600 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 5,200 จุดที่พวกเขาคาดการณ์ไว้ในเดือน ก.พ. 67 เป็นผลมาจากการที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐลดลงน้อยกว่าปกติ และอัตราส่วน P/E ของมูลค่าที่เหมาะสมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองเชิงบวกของตลาดหุ้นสหรัฐต่อการเติบโตของรายได้และเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ก.ย. 67 และปรับลดอีกครั้งในเดือน ธ.ค. 67 หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

           

ทั้งนี้ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือน พ.ค. 67 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.4% และลดลงจากระดับ 3.4% ในเดือน เม.ย. 67 ขณะที่ในส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือน พ.ค. 67 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5% และลดลงจากระดับ 3.6% ในเดือน เม.ย. 67 นอกจากนี้ในฝั่งของอัตราเงินเฟ้อผู้ผลิต ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.2% ในเดือน พ.ค. 67 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.5% และลดลงจากระดับ 2.3% ในเดือน เม.ย. 67 ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.3% ในเดือน พ.ค. 67 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.4% และลดลงจากระดับ 2.5% ในเดือน เม.ย. 67

           

ประกอบกับการที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้น 13,000 ราย สู่ระดับ 242,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 66 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 225,000 ราย ขณะที่ตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 4,750 ราย สู่ระดับ 227,000 ราย และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 66 สอดคล้องกับจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 30,000 ราย สู่ระดับ 1.82 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2567 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.80 ล้านราย ส่งผลให้ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 61.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน ก.ย. 67 และให้น้ำหนัก 45.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือน ธ.ค. 67  แม้ว่าคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมเฟดครั้งที่ผ่านมา จะบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพลิกปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 4.3% อีกครั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกกับตลาดหุ้นโลก ซึ่งมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัวอยู่บ้างแล้ว จากการที่ธนาคารโลกออกรายงาน "แนวโน้มเศรษฐกิจโลก" ฉบับล่าสุด โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 2.6% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ในเดือน ม.ค. 67 ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัวเพียง 2.4% ในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และจะทำให้เศรษฐกิจโลกหลีกเลี่ยงการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 2.5% ในปีนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2566 แต่เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ในเดือน ม.ค. 67 ที่ระดับ 1.6% ค่อนข้างมาก โดยความเสี่ยงจะอยู่ที่เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะมีการขยายตัว 4% ในปีนี้ ลดลงจากปี 2566 ซึ่งมีการขยายตัว 4.2% ส่วนเศรษฐกิจจีน คาดว่ามีการขยายตัว 4.8% ในปีนี้ ลดลงจาก 5.2% ในปีที่แล้ว

           

ความคาดหวังที่ดีเกินไปทำให้เป็นความเสี่ยงในระยะสั้น ! อย่างไรก็ดีการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นโลกและสหรัฐหลังจากนี้จะไม่สามารถร้อนแรงได้เหมือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 แน่นอน เพราะสถานการณ์ของดอกเบี้ยสหรัฐอาจไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ เพราะนอกจากในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพียง 1 ครั้งในปี 2567 จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือน มี.ค. 67 แล้ว นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยังระบุว่า เฟดยังไม่มีความเชื่อมั่นมากพอที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย แม้เงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดแล้วก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงเกินไป และการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% นั้น มีความล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่านโยบายการเงินของเฟดมีการคุมเข้มมากพอ อย่างไรก็ดี เขามองว่าความมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินของเฟดนั้น กำลังส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่กรรมการเฟดต่างก็คาดหวังที่จะเห็น สอดคล้องกับมุมมองของ นางลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ที่ระบุว่า เธอยังคงมองว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดออกมาดีก็ตาม และการคาดการณ์ล่าสุดของผู้กำหนดนโยบายเฟดซึ่งส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียงครั้งเดียวในปีนี้นั้น ถือว่าค่อนข้างใกล้เคียงกับมุมมองของเธอเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ

           

นอกจากนี้ประเด็นของเงินเฟ้อยังคงได้รับการสนับสนุนจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เปิดเผยรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือน มิ.ย. 67 โดยระบุว่า อุปสงค์น้ำมันโลกจะมีการขยายตัว 2.2 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2567 และ 1.8 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2568 นอกจากนี้ โอเปกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 2.8% ในปี 2567 และ 2.9% ในปี 2568 ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นภูมิภาคยังคงมีปัจจัยกดดันเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินของญี่ปุ่นหลังจากนี้ แม้ว่าล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.1% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา แต่ได้ตัดสินใจปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น โดย BOJ ระบุว่าจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการลดการซื้อพันธบัตรในการประชุมเดือน ก.ค. 67 ซึ่งก่อนที่จะถึงเวลานั้น BOJ จะเดินหน้าซื้อพันธบัตรในระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านล้านเยน (3.81 หมื่นล้านดอลลาร์) ต่อเดือน โดยที่ นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ระบุว่าการที่ BOJ ตัดสินใจลดการซื้อพันธบัตรถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่น เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดยังคงมีเสถียรภาพ ในขณะที่ BOJ จะดำเนินนโยบายในรูปแบบที่สามารถคาดการณ์ได้ ส่วนขนาดในการปรับลดการซื้อพันธบัตรนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน แต่ในการตัดสินใจเรื่องจังหวะ กรอบการดำเนินงาน และปริมาณที่เจาะจงนั้น จะขึ้นอยู่กับการหารือร่วมกับนักลงทุนในตลาด นอกจากนี้ยังระบุว่าหากเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อร้อนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็ถือเป็นเหตุผลที่ BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2%

           

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลพยายามเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกระทรวงการคลังได้เตรียมเสนอที่ประชุมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พิจารณาเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพิ่มเติม โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพิ่มเติมที่จะเร่งผลักออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น จะช่วยกระตุ้นให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 3% นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้กำชับและเร่งรัดให้ทุกรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายสำคัญ อย่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน ซึ่งทั้ง 3 กระทรวงนี้ มีงบลงทุนคิดเป็น 88% ของงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ให้เร่งเบิกจ่ายให้ได้ตามแผนงาน โดยที่ก่อนหน้านี้ รมว.คลัง ระบุว่าส่วนตัวอยากเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้มากถึง 70% ขึ้นไป ขณะที่ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าความพยายามของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ GDP ปีนี้แตะที่ระดับ 3% จากการพิจารณาจากทุกมาตรการรัฐที่ประกาศมาทั้งหมดคิดว่าเป็นไปได้ ถ้าเร่งเบิกจ่ายภาครัฐ หรือมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามา

           

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,497 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”  

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการเซียนเศรษฐกิจ ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingViewวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน  2567

 

 

3 views

Comments


bottom of page