top of page
379208.jpg

ตลาดหุ้นโลกดูดี...ส่วนตลาดหุ้นไทย ต้องดูฝีมือรัฐบาล


ปัจจัยกดดันทองคำ-ดีต่อตลาดหุ้นโลก! 

           

ตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีความน่าสนใจในการลงทุนที่สุดในปีนี้ หลังจากที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าธนาคารกลางจีนได้ระงับการซื้อทองเข้าสู่กองทุนสำรองในเดือน พ.ค. 67 หลังจากที่ได้ซื้อติดต่อกันเป็นเวลา 18 เดือน เนื่องจากราคาทองสปอตพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนพ.ค. 67 ทำให้ทองคำที่ทำผลงานได้ดีคู่มากับตลาดหุ้นโลกในปีนี้เผชิญกับแรงกดดันในระยะสั้น ทั้งนี้ราคาทองสปอตทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2,449.89 ดอลลาร์/ออนซ์ในวันที่ 20 พ.ค. 67 โดยราคาพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.พ.-พ.ค. 67 ขณะที่ได้แรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ข้อมูลของทางการจีนระบุว่า จีนได้ถือครองทองจำนวน 72.80 ล้านทรอยออนซ์ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 67 ไม่เปลี่ยนแปลงจากสิ้นเดือน เม.ย. 67 ขณะที่มูลค่าทองคำสำรองของจีนพุ่งสู่ระดับ 1.7096 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 67 เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.6796 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67

           

ความต้องการซื้อทองคำจากธนาคารกลางทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยผลักดันราคาทองในตลาด ขณะที่สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่าธนาคารกลางจีนเป็นผู้ซื้อทองมากที่สุดในปี 2566 โดยซื้อสุทธิ 7.23 ล้านออนซ์ ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดภายในปีเดียวนับตั้งแต่ปี 2520 นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มที่จะลดลงอีก หลังกลุ่มฮามาสออกมาขานรับการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ผ่านมติเพื่อให้มีการหยุดยิงโดยสมบูรณ์ในฉนวนกาซา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรลุข้อตกลงหยุดยิงโดยสมบูรณ์ใน 3 ระยะตามข้อเสนอ 3 ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งจะนำไปสู่การยุติสงครามในฉนวนกาซา ทั้งนี้กลุ่มฮามาสระบุในแถลงการณ์ว่าพร้อมที่จะร่วมมือกับคนกลางในการเจรจาทางอ้อมเพื่อปฏิบัติตามหลักการของมติหยุดยิง รวมถึงการหยุดยิงถาวรในฉนวนกาซา การถอนกองกำลังอิสราเอลทั้งหมด การแลกเปลี่ยนนักโทษและตัวประกัน ไปจนถึงการฟื้นฟูฉนวนกาซา ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาชดเชยปัจจัยกดดันจากการที่นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. 67 ออกไปเป็นเดือน พ.ย. 67 ซึ่งจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกและครั้งเดียวของเฟดในปีนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

           

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 51.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน ก.ย. 67 และให้น้ำหนักเพียง 45.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 46.7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน พ.ย. 67 และให้น้ำหนักเพียง 36.7% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ส่วนในเดือน ธ.ค. 67 นักลงทุนให้น้ำหนัก 40.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% และให้น้ำหนักเพียง 34.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% โดยที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 272,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. 67 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 182,000 ตำแหน่ง            


นอกจากนี้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ หลังตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือน พ.ค. 67 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.9% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% ขณะที่ราคาพลังงานกำลังกลับมาเป็นปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อที่นักลงทุนกังวลอีกครั้ง หลังจากที่ล่าสุดสำนักวิจัยของโกลด์แมน แซคส์ออกรายงานระบุว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะพุ่งแตะระดับ 86 ดอลลาร์/บาร์เรลในช่วงไตรมาส 3 โดยได้แรงหนุนจากการเดินทางในช่วงฤดูร้อน และอุปสงค์ในการใช้พลังงานเพื่อผ่อนคลายความร้อน ซึ่งจะทำให้อุปสงค์น้ำมันในตลาดมากกว่าอุปทานถึง 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน โดยรายงานยังระบุว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส สามารถระงับหรือชะลอแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน ขณะที่บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ซึ่งให้บริการด้านพลังงานเปิดเผยในรายงานว่าบรรดาบริษัทพลังงานของสหรัฐลดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลงสู่ระดับต่ำสุดในสัปดาห์นี้นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 65 ทั้งนี้จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเบื้องต้นของผลผลิตในอนาคตลดลง 6 แท่น เหลือ 594 แท่นในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย. 67 โดยลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ในรอบ 3 สัปดาห์ และจำนวนแท่นขุดเจาะทั้งหมดลดลง 101 แท่น หรือลดลง 15% จากระดับของช่วงเวลานี้ในปีที่แล้ว ในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติของสหรัฐล่าสุดพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2567 แล้ว โดยปรับตัวขึ้น 22% ในปีนี้ และ 36% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

           

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยตลาดหุ้นไทยได้ ! ในส่วนของปัจจัยในประเทศ เริ่มมีปัจจัยบวกให้เห็นในส่วนของการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยที่การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจครั้งล่าสุด มีการตั้งเป้าผลักดัน GDP ปี 2567 ขึ้นไปแตะ 3% จากคาดการณ์ 2.4% โดยปักธงเร่งผลักดัน 3 แรงขับเคลื่อนสำคัญ ท่องเที่ยว-เบิกจ่ายงบภาครัฐ-ลงทุนเอกชน โดยที่ภาคการท่องเที่ยวที่ตั้งเป้านักท่องเที่ยวปีนี้ ที่ 35.7 ล้านคน แต่หากสามารถเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้อีก 1 ล้านคน เป็น 36.7 ล้านคน จะช่วยผลักดัน GDP ได้ 0.12% และในส่วนของรัฐบาล จะพยายามขับเคลื่อนการเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ 70% ภายในปีนี้ จะเป็นการช่วยให้เพิ่มจีดีพี 0.24% ดังนั้นรวมแล้วจะได้ GDPที่ 3% นอกจากนี้ยังมีในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยจะมีการดึงเม็ดเงินลงทุนจาก BOI มาลงทุนในปีนี้ราว 3-4 แสนล้านบาท รวมทั้งมอบหมายให้ธนาคารออมสิน ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ปล่อยให้กับสถาบันการเงินในอัตรา 0.1% เพื่อนำวงเงินดังกล่าวไปปล่อยสินเชื่อต่อสำหรับลูกค้ารายใหม่ ดอกเบี้ย 1-3 ปีแรกไม่เกิน 3.5% ซึ่งยอมรับว่าอาจจะกระทบกับกำไรของธนาคารออมสินบ้าง แต่ถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการ ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้

           

ขณะที่นโยบายที่จะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นโดยตรงคือการจัดตั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งรัฐมนตรีคลังยืนยันว่า เกิดขึ้นแน่นอน โดยต้องการให้ประชาชนได้ลงทุนให้หุ้นที่ดี และต้องสามารถออมเงินได้ ส่วนรายละเอียดโครงการขอให้ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ทำงานร่วมกับกรมสรรพากร และต้องหารือกับสภาตลาดทุนไทย เพื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ วงเงินเท่าไหร่ รูปแบบที่จะทำ ระยะเวลาที่จะดำเนินการ ซึ่งการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลถือว่าตอบโจทย์ตลาดหุ้นไทย สะท้อนออกมาจากการที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในเดือน พ.ค. 67 พบว่าดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.72 อยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รองลงมาคือสถานการณ์เงินเฟ้อ และความผันผวนของค่าเงินบาท โดยนักลงทุนมองว่าหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)

           

ทั้งนี้ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะเป็นผลจากนโยบายการเงินที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังจากประกาศแผนการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี และแนวโน้มสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความไม่แน่นอน ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความผันผวนของค่าเงินบาท แผนการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต โอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงปลายปี 2567 และเสถียรภาพการเมืองไทยที่ยังสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนต่างชาติ

           

ขณะที่ในเชิงเทคนิคของตลาดหุ้นไทย การฟื้นตัวต่อเนื่องของดัชนี SET ตั้งแต่บริเวณ 1,345 จุดวันที่ 13 ธ.ค. 66 จะมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่บริเวณ Fib Node 0.382 และ 0.618 หรือ 1,447 และ 1,497 จุดตามลำดับ ซึ่งตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถขยับตัวขึ้นมายืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ การดีดตัวขึ้นมาในรอบนี้ยังคงมองเป็นแค่การ Technical Rebound เท่านั้น

           

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,497 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingView

10 views

Comentários


bottom of page