top of page
312345.jpg

ยังเสี่ยงถ้ากลับไปเหนือ 1,300 จุดไม่ได้


ปัจจัยการเมืองในสหรัฐ!

ในระยะสั้นตลาดหุ้นโลกได้ปัจจัยหนุนหลักจากความคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ของสหรัฐจะบรรลุได้ในเร็วๆนี้ หลังจาก Steven Mnuchin รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และ Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้เข้าร่วมการเจรจาครั้งใหม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็แสดงความหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่วงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยจะพยายามบรรลุข้อตกลงกันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย. 2563 อย่างไรก็ดีทั้งสองฝ่ายยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งเกี่ยวกับวงเงินในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงผันผวนต่อเนื่อง ขณะที่ประเด็นทางการเมืองสหรัฐเริ่มมีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการดีเบตนัดแรกระหว่างประธานาธิบดี Donald Trump และ Joe Biden ผลสำรวจบ่งชี้ว่า Joe Biden มีคะแนนนำประธานาธิบดี Donald Trump โดย CNN ได้ชี้ให้เห็นว่า 70% ของผู้ที่ฟังการดีเบตในครั้งนี้มองว่า Joe Biden นั้นทำได้ดีกว่ามาก ในขณะที่มีเพียง 30% ที่มองว่าประธานาธิบดี Donald Trump ทำได้ดีกว่าทั้งนี้ในเชิงนโยบายแล้วหาก Joe Biden ได้เป็นประธานธิบดีคนต่อไป จะเป็นผลลบต่อตลาดหุ้นในระยะสั้นมากกว่า เนื่องจาก Joe Biden มีแผนจะออกมาตรการปรับขึ้นภาษี Corporate Tax จาก 21% เป็น 28% ขณะที่หากประธานาธิบดี Donald Trump ชนะเลือกตั้ง คาดว่าจะเป็นผลดีให้ตลาดหุ้นสหรัฐได้รับแรงหนุนต่อในระยะสั้น เนื่องจากจะมีการดำเนินนโยบายเดิมต่อ ซึ่งจะเอื้อต่อบริษัทเอกชนในสหรัฐ นอกจากนี้แนวโน้มของตลาดหุ้นสหรัฐยังคงจะถูกกดดันจากการที่ประธานาธิบดี Donald Trump ติดเชื้อไวรัส COVID-19 แม้ว่าล่าสุดทำเนียบขาวจะออกมายืนยันว่าประธานาธิบดี Donald Trump ยังคงมีความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามการที่ประธานาธิบดี Donald Trump ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันแนวโน้มผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในสหรัฐกลับมาเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในนิวยอร์กด้วย แต่ถึงกระนั้นประธานาธิบดี Donald Trump ยืนยันว่าจะไม่มีการสั่งล็อกดาวน์สหรัฐเป็นรอบที่ 2 ส่วนประเทศในยุโรปพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้น โดยกรุงมาดริดของสเปนเป็นเมืองแรกที่กลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ รมว.สาธารณสุขของอังกฤษได้ออกมาตรการจำกัดเพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดมาก โดยที่ล่าสุดตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ เพิ่มขึ้นเพียง 661,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. 2563 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 850,000 ตำแหน่ง

เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงชัดเจน!ความกังวลของนักลงทุนยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish แม้ว่าจะลดลง 2.92% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 43.07% แต่ยังคงสูงกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ที่เพิ่มขึ้น 1.35% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 26.24% นอกจากนี้ในส่วนตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยกดดันเฉพาะตัวจากการกลับมาใช้เกณฑ์ปกติของการ Short Sell และซีลลิ่ง-ฟลอร์ ที่จะเริ่มในวัน 1 ต.ค. 2563 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการเมืองที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะในแถบยุโรปก็ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารโลก หรือ World Bank คาดเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะหดตัวลง 8.3% ซึ่งมากกว่าที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติมองไว้ที่ -7.8% อีกทั้งทางธนาคารโลกยังคาดว่ากรณีที่แย่ที่สุดเศรษฐกิจของไทยในปีนี้อาจจะหดตัวได้ถึง 10.4% นอกจากนี้ในแง่ของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกมาระบุว่ายอดหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 ของไทยอยู่ที่ 83.8% สูงสุดรอบ 18 ปี ขณะหนี้คงค้างเพิ่ม 9.2 หมื่นล้านบาท สูงขึ้นจากไตรมาสแรกที่เพิ่มเพียง 1.2 หมื่นล้นบาท ซึ่งตอกย้ำฐานะการเงินของครัวเรือนที่อ่อนแอเป็นวงกว้าง ขณะที่แนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคระยะสั้น “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันมุมมองเดิมว่าสำหรับตลาดหุ้นไทย ตราบใดก็ตามที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิด เพื่อสร้างฐานในกรอบ 1,270-1,300 จุดได้ การดีดตัวขึ้นช่วงสั้นยังคงมองว่าเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น และยังคงไม่สามารถยืนยันการปรับตัวขึ้นต่ออย่างจริงจังได้ รวมทั้งโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย หรือ Foreign Fund Flow จะยังคงไหลออกยังคงมีอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะขายสุทธิออกมาแล้ว 2.8 แสนล้านบาทตั้งแต่ต้นปี 2563 หลังจากที่ Indicator ระยะกลางอย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ยังคงมีสัญญาณ “Negative Convergence” อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่SET ยังกลับไปยืนเหนือ 1,300 จุด (+/-) ไม่ได้เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้นCPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

21 views
bottom of page