top of page
347550.jpg

ประกันภัยหน้ามืด...ยื้อจ่ายเคลมโควิด


ในที่สุดสิ่งที่คาดไม่ถึงก็มาเยือนธุรกิจประกันภัย นับจากสถานการณ์ระบาดรุนแรงของโรคโควิดตั้งแต่ระลอก 4 ช่วงเดือน เม.ย. ถึงปัจจุบัน ผลพวงจากสายพันธุ์เดลตา พบว่าเบี้ยประกันภัยที่ขายกันได้เป็นกอบกำสำราญใจมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มีกำไรกันมากน้อย ขึ้นกับปริมาณยอดขายที่รับเข้ามา ไม่ได้เพียงพอสำหรับยอดการจ่ายสินไหมโควิด ทั้งที่เป็นแบบเจอ จ่าย จบ และแบบเจอ จ่าย ไม่จบ

เบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นปี 2563-มิ.ย. 64 เบี้ยประกันรับรวมโควิดที่เข้าสู่ระบบรวมกันกว่า 1 หมื่นล้านบาทเศษนั้น ดูเหมือนมาก ทว่า ทางปฏิบัติสวนทางกันลิบลับ เพราะจำนวนยอดเคลมที่เข้ามาของแต่ละแห่งในแต่ละวันนั้น ค่อนข้างสูงจนเกินลิมิตที่แต่ละแห่งอาจจะจ่ายเคลมไม่ได้แล้วจากสาเหตุเงินกองทุนและเงินสำรองสภาพคล่องไม่เพียงพอ ซึ่งพบว่าบริษัทขนาดกลาง-เล็ก หลายแห่งเริ่มจ่ายเคลมลูกค้าช้ามาก เช่น จากที่ควรต้องจ่ายปกติภายใน 3-7 วันกลับต้องลากยาวไปเป็นเดือน สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้เอาประกันภัยเป็นอย่างมาก

ยกตัวอย่าง บริษัทแห่งหนึ่ง จากที่เคยจ่ายปกติ กลับมีการดึงเรื่องเอาไว้ อ้างว่ารอการตรวจสอบสวนทางกับสารพัดแคมเปญที่กระหน่ำออกมายั่วน้ำลายคนซื้อในช่วงก่อนหน้านั้นเว้นแต่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับท็อปของวงการที่มีไม่กี่แห่งที่ไม่ค่อยเดือดร้อนมาก สามารถจ่ายได้เพียงพอ ไม่ต้องรอตรวจสอบนานๆ

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทขนาดกลาง-เล็ก อีกหลายแห่งที่เริ่มสะดุดเคลมโควิด จากการไม่คาดคิดว่าจะมีปริมาณมากในแต่ละวัน ยิ่งมียอดขายมาก ยิ่งมีโอกาสจ่ายเคลมมากตามไปด้วย โดยเมื่อขาดทุนมากขึ้นเกินวงเงินสำรองจ่าย ก็ต้องเพิ่มทุนตามมาในอนาคต ซึ่งในปี 2565 จะเห็นหลายบริษัทต้องเพิ่มทุนยิ่งภาวะเศรษฐกิจจากหลากหลายวิกฤตที่เกิดขึ้น ต้องวัดใจผู้ถือหุ้นว่าจะใส่เงินเข้ามาได้ตามสัดส่วนเท่าไร

อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีนั้น เมื่อบริษัทประกันภัยได้รับแจ้งเคลมเข้ามา ต้องตั้งสำรองทันที เช่น เคลม 1 แสนบาท ก็ต้องตั้ง 1 แสนบาททันที เหล่านี้ เกิดจากหลักการซื้อง่ายขายคล่อง จึงพ่นพิษชนิดคาดไม่ถึงกันระนาว

ปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดประกันภัยโควิดนั้น พบว่านอกจากยอดขายรวมกันของทุกค่ายที่ออกขายมหาศาลแล้ว บริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ (รีอินชัวเรอร์) ไม่รับรีฯ งานนี้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ในโลกนี้ จึงไม่มีสถิติอ้างอิงว่าแนวโน้มความเสี่ยงภัยจะเป็นอย่างไร จึงไม่สามารถร่วมรับความเสี่ยงได้

ที่สำคัญ บริษัทรีฯ ต่างชาติมองว่าไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่แปลกประหลาดจากการขายกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองโควิด แถมเป็นแบบง่ายๆ สะดวก เจอ จ่าย จบ ซึ่งเป็นการเคลมสินไหมที่แน่นอนตามแต่ละแผนที่ลูกค้าเลือกซื้อ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ สามารถเคลมความคุ้มครองในประกันสุขภาพได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำผลิตภัณฑ์เฉพาะทางให้ยุ่งยากวุ่นวาย

สำหรับบริษัทประกันชีวิตนั้น คุ้มครองประกันโควิดอยู่ในแพ็กเกจสัญญาเพิ่มของกรมธรรม์หลักและประกันสุขภาพอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับบริษัทประกันวินาศภัย ที่สำคัญมียอดขายน้อยมาก ไม่กี่ร้อยล้านบาท

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่าภาคธุรกิจจะร่วมหารือกับ คปภ.ว่าจะสามารถช่วยผ่อนผันอะไรได้บ้าง เช่น ชะลอ หรือปรับลดการบังคับใช้เกณฑ์ RBC หรือออกมาตรการบรรเทาด้านเบี้ยประกันภัย เหมือนช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิดนั้น รุนแรงมากเกินกว่าสมมติฐานภาพรวมที่วางไว้

“เพราะภาคธุรกิจจ่ายเคลมโควิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกินกว่าเบี้ยที่รับมาทั้งหมด เรียกว่าจ่ายกันจะไม่ไหวแล้ว ดังนั้น ต้องมาหารือกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะช่วยเหลือ หรือผ่อนผันอะไรได้บ้าง มิฉะนั้นจะแย่ไปด้วยกันทั้งหมด” นายอานนท์ กล่าว

355 views
bottom of page