top of page
327304.jpg

ดอกแพงซ้ำเติมวิกฤต...ซัดรัฐขาดทีมเศรษฐกิจคุณภาพรับมือ


ภัยแล้งสร้างปัญหาให้กับภาคเกษตรซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยในเวลานี้ เมื่อภาคเกษตรย่ำแย่ กำลังซื้อของประชาชนที่อ่อนแออยู่แล้วจะอาการหนักมากขึ้น ยังดีที่แบงก์รัฐเริ่มลดดอกเบี้ยบางส่วน เป็นการช่วยผ่อนคลายภาระทางการเงินของประชาชนได้ทางหนึ่ง แต่จะดีกว่านี้ถ้าแบงก์ชาติโดย กนง.เปลี่ยนมุมมอง-แนวคิด ยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงบ้าง จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระต้นทุนการเงินให้กับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนได้อย่างมาก โดยการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25-0.50% ไม่กระทบให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น และไม่ทำให้มีการใช้จ่ายการบริโภคที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยแน่นอน ชี้...ปัญหาใหญ่ของไทยในเวลานี้คือรัฐบาลขาดทีมเศรษฐกิจที่มีความรู้ความสามารถในการเข้ามาแก้ปัญหาให้ประเทศและประชาชน โดยทีมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ทำงานเพื่อตอบโจทย์ทางการเมืองและผลประโยชน์ของรัฐบาลเป็นที่ตั้ง ทำให้ในรอบกว่า 30 ปีที่ผ่านมาคนไทยต้องฮึดสู้ด้วยตัวเองล้วนๆ เพราะรัฐบาลเป็นที่พึ่งไม่ได้มานานแล้ว


Interview : ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์มหภาค


สถานการณ์เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยร้อนแรง แต่ความร้อนของความไม่ลงตัวกันระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติกลับร้อนฉ่าขึ้น

           

คือสถานการณ์เศรษฐกิจปกติมีภาคเกษตรเป็นตัวช่วยระดับหนึ่ง แต่ด้วยภัยแล้งที่มีอยู่ต้องดูต่อไปว่าความแล้งจะยาวนานแค่ไหน ฤดูฝนอาจจะเลื่อนไป ก็เป็นการคาดการณ์ว่าน่าจะเริ่มมีฝนเข้ามา แต่ยังไม่แน่ เพราะการพยากรณ์อากาศไม่ใช่ว่าจะตรงมากนัก

           

ทีนี้ภัยแล้งเป็นส่วนซ้ำเติมกำลังซื้อประชาชนอยู่เหมือนกัน สวนหลายสวนยิ่งพึ่งน้ำมากๆ อย่างสวนทุเรียนในช่วงอออกผลได้รับผลกระทบเยอะ ขณะนี้ได้รับผลกระทบทั่วภูมิภาค ไม่ใช่ไทยที่เดียว เวียดนามก็มีปัญหาเหมือนกัน ได้ข่าวว่าทุเรียนที่เวียดนามยืนต้นตายเยอะพอสมควร ชาวสวนต้องรอต่อไปว่าฝนจะมาไหม บางพื้นที่ถ้าพึ่งน้ำฝนมากๆ ก็จะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อ

           

ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยปกติการลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเขาต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจ 2-3 ส่วน ส่วนหนึ่งคือภาวะเงินเฟ้อ อีกส่วนหนึ่งดูภาวะเศรษฐกิจทั่วไป แบงก์ชาติเราพยายามเน้นทิศทางภาวะเงินเฟ้อมากหน่อยว่าเป็นตัวชี้สถานการณ์เศรษฐกิจว่าจะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้ภาวะเงินเฟ้อของเราค่อนข้างต่ำ ไม่มีความจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยสูงๆ แม้ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยจะไม่สูงมากแต่ก็สูงกว่ามาตรฐาน

           

ทางธนาคารแห่งประเทศไทยโดยเฉพาะ กนง.ถ้าดูจากโครงสร้างบุคคลค่อนข้างจะเป็นแนวเสถียรภาพทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก น้ำหนักการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะน้อย มาตรการที่ใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการผ่อนคลายเศรษฐกิจก็มีน้ำหนักน้อยลง ถ้าดูจากโครงสร้าง กนง.เราคงหวังพึ่งได้แค่ระดับหนึ่งว่าถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกเปลี่ยน เช่นเฟดลดดอกเบี้ย หลายๆ ประเทศเริ่มลดดอกเบี้ยกัน กนง.อาจจะมีแรงกดดันว่าอาจจะปรับลงบ้าง แต่ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ค่อยเรียบร้อย การจะลงดอกเบี้ยของทั่วโลกอาจระมัดระวังขึ้น อันนี้ทำให้รัฐบาลคงหวังพึ่ง กนง.ไม่ได้ อาจจะต้องแสดงบทบาทในการคุยกับธนาคารพาณิชย์โดยตรง แต่ก็มีส่วนหนึ่งอยู่แล้วที่คุยอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่ธนาคารแห่งประเทศไทยเวลาพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ปกติเขาจะเน้นเรื่องความมั่นคงทางการเงิน คือห่วงว่าสถาบันการเงินจะไปได้ไม่ดี หรือการปล่อยกู้ไม่มีวินัยเพียงพอ หรือปล่อยกู้แล้วจะสร้างปัญหาความไม่เรียบร้อยของระบบการเงิน

           

ความคิดความอ่านของธนาคารแห่งประเทศไทยเขาจะมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานแตกต่างจากรัฐบาล รัฐบาลก็พยายามเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า คือเน้นระยะสั้นในเชิงกระตุ้นให้เศรษฐกิจดูคึกคัก และแผนเศรษฐกิจระยะยาวอาจจะน้อยหน่อย อันนี้ก็เป็นประเด็นว่ากระทรวงการคลังหรือนายกรัฐมนตรีอาจจะเล่นบทนิดหน่อย ขณะนี้ก็เริ่มเล่นแล้ว เรียกแบงก์ใหญ่มาคุย ธนาคารของรัฐอาจต้องฟังนโยบายหน่อย ให้ความร่วมมือกันในการลดดอกเบี้ยบ้าง คงมีบ้างที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในเชิงจิตวิทยา แต่ในเชิงเศรษฐกิจจริงลดดอกเบี้ยได้แค่ระดับหนึ่งด้วยการปรับผ่อนคลายดอกเบี้ยเฉพาะบางส่วนช่วงระยะสั้น สิ่งที่ผ่านมาเขาทำอยู่ระดับหนึ่งแล้ว ไม่ใช่ไม่ทำ และแบงก์ชาติให้มีการผ่อนคลายเรื่องการเก็บเงินเข้ากองทุนสามารถให้ธนาคารพาณิชย์นำไปอุ้มชูลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ต่างๆ ตรงนี้คงมีผลระดับหนึ่งเท่านั้น คงไม่ได้มากมาย คือไม่ใช่ตัวชี้นำไม่เหมือนดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นตัวชี้นำ ถ้ามีการลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วอัตราดอกเบี้ยตัวอื่นก็อาจจะผ่อนคลายลงทำให้เกิดผลที่กว้างกว่า ตรงนี้อาจเป็นผลในเชิงอย่างน้อยดีกว่าไม่ทำ

 

การลดดอกเบี้ยของแบงก์รัฐในเชิงจิตวิทยานี้จะส่งผลไปถึงแบงก์ชาติว่าต้องลดด้วยหรือไม่ หรือจะกลายเป็นว่ายิ่งมาทำแบบนี้ฉันยิ่งไม่ลด

           

ถือว่าดีแล้ว รัฐบาลอาศัยช่องทางอื่นช่วย กนง.อาจจะมองว่ารัฐบาลก็ทำอยู่แล้วในส่วนนี้ที่รัฐบาลควรจะทำ ส่วนของแบงก์ชาติก็ดูเรื่องเสถียรภาพทางการเงินไป ผมคิดว่า กนง.ชุดนี้ให้น้ำหนักเสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดดอกเบี้ยก็รอดูสถานการณ์ต่อไป แต่ผมคิดว่าการลดไม่ง่ายอย่างที่คิดกันในอดีต

 

จะยิ่งยากไปกันใหญ่

           

ใช่ กนง.เปลี่ยนจากชุดเดิม เขามีการเปลี่ยนแปลงไป และดูจากโครงสร้างก็เป็นคนที่ออกแนวเสถียรภาพ หลายๆ คนก็เป็นลูกหม้อที่เกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว วิธีคิดก็เลยคล้ายคลึงกัน

 

ด้วยสภาพเศรษฐกิจถึงวันนี้ความสามารถในการบริโภคลดลง ยิ่งมาเจอสถานการณ์รายได้น้อย ค้าขายเพาะปลูกไม่ดี จริงๆ ดอกเบี้ยควรจะลงแล้วหรือยัง

           

ความจริงดูจากความจำเป็นในเรื่องอัตราดอกเบี้ยล้วนๆ ผมคิดว่าลดได้ ไม่มีความจำเป็นจะต้องให้สูงกว่าภาวะเงินเฟ้อเยอะ ก็พอลดได้ ไม่ได้เป็นประเด็นมากว่าทำไปแล้วจะเป็นปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือนที่จะสูงขึ้น เพราะภาวะหนี้ครัวเรือนมีปัจจัยอื่นๆ กำหนดอยู่ด้วย ไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่ก็เป็นตัวที่ทำให้หล่อลื่น ทำให้บริษัทที่ทำท่าจะล้มก็จะล้มช้าลงหรือน้อยลง ถ้าถามผมส่วนตัวผมว่าการลดดอกเบี้ยมันช่วยผ่อนคลายระดับหนึ่ง ทำได้ ไม่ได้กระทบ ลด 25-50 สตางค์ เร็วขึ้น 1 ไตรมาส ไม่ได้เป็นสาระสำคัญมาก ตัวสำคัญขึ้นอยู่กับงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลว่าเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดหรือถูกที่คันไหม ตรงนี้น่าจะเป็นประเด็นมากกว่า นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคลังควรจะต้องเตรียมการเรื่องพวกนี้และรัฐมนตรีคลังต้องเข้มแข็งในเรื่องวิธีการทางเศรษฐกิจมากขึ้น

           

ที่ผ่านมาเรามีจุดอ่อนคือการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหลังๆ มีกระทรวงอยากใช้เงินเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจค่อนข้างจะเยอะ ตัวเองอยากจะทำอะไรก็เสนอ ครม.และถ้านายกฯ อ่อนแอ ไม่มีความรู้ทางเศรษฐกิจก็ปล่อยไปตามสภาพว่าใครนำเสนอพูดจาเข้าทางดี พูดแล้วเข้าใจง่าย ฟังแล้วเห็นภาพ เห็นประโยชน์ แต่ความคิดในเชิงลึกซึ้งมันไม่มี อันนี้จะเป็นปัญหาระยะยาวซึ่งอันนี้ต้องอาศัยกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงการลังที่มีความรู้มีความเชี่ยวชาญในการมองปัญหาระยะสั้นและระยะยาวประกอบกันที่จะช่วยเหลือรัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสม ผมคิดว่าตรงนั้นเป็นตัวสำคัญ ไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีที่เพิ่งเกิดขึ้นจะทำให้ดีขึ้นไหม

 

การปรับครม.ปรับรัฐมนตรีคลังโดยตรงเลย

           

มันต้องดีกว่า เพราะรัฐมนตรีต้องดูภาพรวม ไม่ได้ดูแลกระเป๋าเงิน คือไม่ใช่เอาคนดูแลกระเป๋าเงินมาเป็นนายกรัฐมนตรี มันไม่ถูกทิศถูกทาง การขยับถูกต้อง แต่การขยับอาจจะเกี่ยวข้องกับ Digital Wallet ซึ่งมีข้อกฎหมายเข้ามาผูกพัน อันนี้อาจจะเป็นคนละเรื่องแต่ถ้ารัฐมนตรีคลังคนใหม่เป็นคนที่มีความรู้ทางเศรษฐกิจต่างๆ การแก้ปัญหาก็จะดีขึ้น แต่ก็ต้องดูต่อไปเพราะการทำงานด้านเศรษฐกิจต้องมีทีม คนที่เป็นรัฐมนตรีคลังต้องเป็นคนมีความรู้เศรษฐกิจจริง เพราะรัฐมนตรีคลังต้องเป็นทีมการเมืองของรัฐบาล จะไปหาทีมเศรษฐกิจที่เป็นทีมเศรษฐกิจจริงๆ มันไม่มี ถึงมีก็ไม่เอา เพราะอยากได้ทีมการเมืองมากกว่า

           

ขณะนี้ปัญหาบ้านเราคือเราขาดทีมเศรษฐกิจที่มีความสามารถซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นปัญหาที่เราต้องเจออีกยาวนานไหม คนดูแลเศรษฐกิจต้องมีหลักการทางเศรษฐกิจที่จะบอกนายกรัฐมนตรีว่าทำแล้วประโยชน์จะตกกับชาติบ้านเมือง ไม่ใช่ตกกับการเลือกตั้ง หรือเข้าไปโหวตในสภา เรื่องนั้นเป็นเรื่องคนทำงานระดับการเมืองมากกว่า

           

ใน 10-20 ปีนี้ผมว่า 30 ปีด้วยซ้ำที่ประชาชนต้องฮึดสู้ด้วยตัวเอง และเป็นอย่างนี้มานานแล้ว เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่สภาพมันจะดีขึ้น แต่การพึ่งตัวเองเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะทำได้

7 views
bottom of page