top of page
312345.jpg

ภารกิจแรกที่ ธ.ก.ส.ได้รับมาก็คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมา



        


“ภารกิจแรกที่ ธ.ก.ส.ได้รับมาก็คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมา”

ไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ และโฆษก

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

 

 

ตั้งแต่มีรัฐบาลใหม่ นายกฯ เศรษฐา ธ.ก.ส. ก็รับบทหนักเลย ต้องรับนโยบายรัฐบาล

        

จริงๆ งานนโยบายรัฐบาลเป็นภารกิจที่ ธ.ก.ส.ดำเนินการอยู่แล้วตามเจตนารมณ์ที่ตั้งธนาคารขึ้นมาตั้งแต่แรกเลยก็คือช่วยเหลือเกษตรกร เป็นสิ่งที่เราต้องทำ และเราเป็นสถาบันการเงินของรัฐ  เราก็ต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐด้วย กรณีที่ท่านนายกฯเศรษฐา ท่านดูงานกระทรวงการคลังด้วย ก็ถือว่าเป็นการสั่งการ กำกับ และดูแลงานจากต้นสังกัดโดยตรง ท่านได้มอบหมายให้ท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ มานั่งเป็นประธานบอร์ด ธ.ก.ส. ซึ่งปกติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะนั่งเป็นประธานบอร์ดด้วย แต่เนื่องจากท่านนายกฯ มีภารกิจมากหลายด้านจึงมอบหมายให้ท่านจุลพันธ์ 

           

ดังนั้นภารกิจแรกที่ ธ.ก.ส.ได้รับมาก็คือการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพี่น้องเกษตรกรที่เขาได้รับผลกระทบต่อเนื่องมา เพราะภาคเกษตรได้รับผลกระทบมาต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 เสียอีก ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งน้ำท่วมสลับกันมา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระหนี้ของเกษตรกรมาโดยตลอด มีการพักหนี้มาหลายแบบ มีทั้งพักการชำระเฉยๆ แต่ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ หรือพักทั้งหมดหยุดไปเลย ซึ่งรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. อันนี้คือสิ่งที่เราดำเนินการมา แล้วที่สำคัญคือในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาปัญหาโควิด-19 ก็กระทบรุนแรงมากในระบบเศรษฐกิจ ภาคเกษตรไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบด้วย เหมือนไม่เกี่ยวมากนักแต่พอไปไล่ดูจริงๆ แล้วเกี่ยวตรงๆ เลย ถึงแม้ว่าภาคเกษตรจะผลิตได้อยู่แต่การไปต่อได้ดีสินค้าเกษตรต้องถูกแปรรูปเพิ่มมูลค่าแล้วเอาไปขายต่อ  โดยเฉพาะไทยเป็นเมืองที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวหยุดไป พี่น้องเกษตรกรที่ขายสินค้าให้รีสอร์ทโรงแรมก็ขายไม่ได้ การบริโภคน้อยลงกระทบเป็นทอดๆ ต่อๆ กันมา พอโควิดเริ่มคลี่คลายนึกว่าจะดีขึ้นก็กลับมามีประเด็นสงครามรัสเซียยูเครนเข้ามา อันนี้ก็กระทบมากในด้านต้นทุนการผลิต  

           

สิ่งที่รัฐบาลต้องการให้ช่วยในบทบาทของ ธ.ก.ส.ก็คือว่า หนี้ของเกษตรกรนั้นพอที่จะบรรเทาเบาบางอะไรได้บ้าง เกษตรกรมีหนี้อยู่กับเราประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท จากพี่น้องเกษตรกร 4 ล้านกว่าครัวเรือน  ทาง ธ.ก.ส. ก็เสนอโซลูชั่นไปว่า การพักหนี้แบบเดิมอาจจะแก้ปัญหาไม่ได้ เราจึงเสนอว่า การพักหนี้ต้องพักจริงๆ คือไม่ต้องส่ง ไม่ต้องกังวลกับภาระหนี้ใน 3 ปีที่จะถึงนี้ แต่ทีนี้ถามว่าแล้วการไม่ส่งนั้นดอกเบี้ยยังเดินไหม แน่นอนการให้หยุดดอกเบี้ยเลยก็จะมีผลกระทบกับ ธ.ก.ส.ในแง่ของผลประกอบการด้วย เพราะหยุดรายได้ที่เข้ามาขณะที่เราก็มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆเป็นปกติ ซึ่งรัฐบาลก็เข้ามาดูแลให้ว่า เอาหล่ะ ใน 3 ปีข้างหน้านี้เกษตรกรไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ยเลย  แล้วรัฐบาลก็จะชดเชยภาระต้นทุนเงินทุนของ ธ.ก.ส.มาให้ ...อันนี้ก็ช่วยเกษตรกรเลยนะ  แต่ทีนี้ถ้าทำทั้งหมดก็จะเป็นภาระกับรัฐบาลเยอะพอสมควร ก็เลยบอกว่าให้ช่วยกลุ่มที่คิดว่าเขาจะดูแลตัวเองไม่ได้ก่อน  ก็คือเป็นเกษตกรรายย่อยที่มีหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท เข้ามาพักหนี้ เราก็ไปคัดกรองข้อมูลมาว่า คนที่มีหนี้ รวมทุกสัญญาคิดเป็นรายคนที่มีหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท มีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย มีหนี้รวมกัน 2.8 แสนล้านบาท ก็ควรพักหนี้ให้กลุ่มนี้ก่อน โดยรัฐบาลมีข้อคำถามว่าถ้าพักหนี้อย่างเดียวแล้วพอถึงวันครบ 3 ปีเขาจะกลับมามีรายได้ส่งหรือไม่  ถ้าสมมติว่าเขาไม่ทำอะไรยังมีวิธีคิดแบบเดิมทำแบบเดิม ก็จะเหมือนกับแค่การชะลอเวลาเท่านั้น ถึงเวลาครบ 3 ปีก็ยังมีภาระเหมือนเดิม แก้ปัญหาไม่ตก....ดังนั้นรอบนี้จึงมีมาตรการว่า หลังการพักชำระหนี้แล้ว ธ.ก.ส.จะต้องเข้าไปสแกนในเรื่องรายได้ค่าใช้จ่ายของลูกหนี้เขาจริงๆ ว่ามีปัญหาอะไร/มีหนี้อย่างไร บางคนผลิตเก่งปลูกอะไรก็งามแต่ขายไม่เก่ง ผลิตผลก็ล้นตลอด หรือบางคนทำการตลาดได้แต่อยากใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาแปรรูปสินค้าเกษตรของเขาให้มีมูลค่าเพิ่มให้ขยายธุรกิจออกไปได้อีก 

           

ลูกหนี้แต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน ธ.ก.ส.ก็มีหน้าที่เข้าไปสแกนลูกค้าพวกนี้เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด  แน่นอนว่าในเรื่องของไฟแนนเชียลนั้น ธ.ก.ส.เราถนัด แต่ในเรื่องการพัฒนาด้านอื่นๆ เราก็อาจต้องไปพึ่งพาเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เอางานวิจัยต่างๆ ให้มาช่วยเหลือได้ โดย ธ.ก.ส. จะเป็นโซ่ข้อกลาง เป็นตัวเชื่อมระหว่างลูกค่าเกษตรกับองค์ความรู้ของหน่วยงานต่างๆ มาเติมเต็ม ... อันนี้เป็นการออกแบบเรื่องการพักหนี้ โดยคาดหวังว่าคนที่เปราะบางจริงๆ ในกลุ่มที่เข้าโครงการแล้วเราจะพัฒนาเขาได้ปีละ 3 แสนคน 3 ปีก็ 9 แสนคน ... นี่เป็นโครงการพักหนี้

           

ถ้าพูดถึงการทำงานตอนนี้เราอยู่ในเฟสแรก ซึ่งให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการเปิดรับสมัครเกษตรกรที่จะเข้าโครงการพักหนี้  โดยเกษตรการจะต้องสมัครใจสมัครเข้ามาเอง ไม่ได้กวาดทั้งหมดเข้ามาในโครงการ ซึ่งตอนนี้มีคนแจ้งความประสงค์เข้ามาราว 1.6 ล้านคนแล้ว...ธ.ก.ส.มีเวลาทำงานเรื่องนี้ 4 เดือน ซึ่งจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนเท่ากับทำมาได้ 2 เดือนพอดีก็ถือว่าผลงานคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจของเรา


คิดว่าคนจะมาสมัครเข้าโครงการพักหนี้กันเยอะ เต็มจำนวนหรือไม่

           

เราประมาณการตั้งแต่ต้นว่าคงมีประมาณ 70% เพราะว่าเกษตรกรบางราย ที่มีสิทธิเข้าโครงการได้คือมีหนี้รวมกันไม่เกิน 3 แสน นั้นไม่ใช่เดือดร้อนทั้งหมด มีส่วนหนึ่งที่เป็นหนี้ 3 หมื่น 5 หมื่น เขาก็ว่าเขาจัดการตัวเองได้ ซึ่งพบว่ามีคนแจ้งความประสงค์ว่าจะไม่เข้าร่วมโครงการพักหนี้ราว 5 หมื่นราย

           

อีกหนึ่งข้อที่เราออกแบบโครงการพักหนี้ครั้งนี้คือ ไม่ให้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการก่อหนี้เพิ่มเกินความจำเป็น ดังนั้นบางคนที่มีแผนในการขยายสินเชื่อ/ขยายธุรกิจอยู่แล้ว เขาก็จะไม่อยากเข้าโครงการนี้ ไม่เช่นนั้นจะก่อหนี้เพิ่มไม่ได้ ก็ถือเป็นลูกค้าปกติไป ... แต่สำหรับคนที่เข้าโครงการ ธ.ก.ส.เราก็เตรียมวงเงินไว้ให้ไม่ให้เกินรายละ 1 แสนด้วย เนื่องจากเดิมเวลาที่เกษตรกรได้ผลผลิตออกมาขายแทนที่จะมาส่งหนี้ ธ.ก.ส. แล้วกู้ไปรอบใหม่ แต่พอเข้ามาอยู่ระหว่างการพักหนี้เขาไม่ต้องเอาเงินที่ขายผลผลิตได้มาส่ง ก็เอาเงินที่เขาขายได้ไปลงทุนต่อ เขาก็จะอยู่ของเขาเองได้ เดินด้วยตัวเองได้ อย่างไรก็ตามแต่อาจจะมีบางคนที่ผลผลิตไม่ได้ตามที่ต้องการ เช่น อาจได้ 80% ไม่เพียงพอที่จะเอาเงินไปลงทุนรอบต่อไป ธ.ก.ส. ก็จะจัดสินเชื่อไว้ให้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งคิดว่าเพียงพอกับลูกหนี้แต่ละรายให้ไปต่อยอดทำกินในระหว่างพักหนี้ 

           

ทีนี้การพักหนี้จะมีระยะเวลา 3 ปี ซึ่งพอครบรอบ 1 ปี ธ.ก.ส.ก็จะไปสแกนลูกค้า ว่ายังทำตามมาตรการมั้ย ไปต่อได้มั้ย เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือในโครงการระยะต่อไป


สุดท้ายแล้วครบ 4 เดือนน่าจะมีคนเข้าโครงการกี่ราย

           

จากที่เราดูคนที่มีหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาทราว 2.7 ล้านรายนั้น พอมาแสกนจริงๆ เป็นคนที่เข้าเงื่อนไขจริงๆ ราว 2.3 ล้านราย วันนี้มีที่สมัครเข้าโครงการราว 1.6 ล้านราย คิดเป็นประมาณ 70% ดังนั้นต่อจากนี้อัตราการเข้ามาสมัครเข้าโครงการเพิ่มต่อวันคงไม่มากเท่าไหร่ ไม่เหมือนตอนแรกๆ ที่เปิดให้มาสมัครดังนั้นจึงคิดว่าน่าจะมีคนเข้าร่วมโครงการราว 80% ซึ่งก็สูงกว่าที่เราคาดการแต่แรก คิดว่าเป็นยอดหนี้ราว 2.5 แสนล้านบาท


เป็นภาระดอกเบี้ยที่ ธ.ก.ส. ยกเว้นให้จำนวนเท่าไหร่

           

เนื่องจากแต่ละคนมีสัญญา มีอัตราดอกเบี้ยไม่เหมือนกัน แต่ถ้าคิดตาม MRR ก็คือ 6.975% ถ้าคนหนึ่งมีหนี้ 3 แสนบาท ดอกเบี้ยปีละ 2 หมื่นบาทรวม 3 ปี 6 หมื่นกว่าบาท ก็เป็นการแบ่งเบาภาระหนี้ที่ช่วยเขาได้มาก เป็นภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลดูแลให้ แต่รัฐบาลไม่ได้ซัพพอร์ต ธ.ก.ส.เต็ม 6.975% นะ รัฐบาลจะอุดหนุนออกให้ 4.85% ที่เหลือก็ถือว่า ธ.ก.ส.ช่วยเกษตรกรไป ก็ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล กับ ธ.ก.ส.


การที่ ธ.ก.ส.มาช่วยดูแล โดยยกเว้นดอกเบี้ยให้รายย่อยที่เป็นหนี้ไม่เกิน 3 แสน ไม่ได้ทำให้ธ.ก.ส. ต้องแบกรับภาระมากใช่ไหม กระทบฐานะการเงินหรือไม่

           

ถ้าถามว่ากระทบฐานะการเงินหรือไม่ คือก็กระทบบางส่วนแต่อยู่ในภาวะที่เราสามารถบริหารจัดการได้ อย่างที่บอกว่าอัตราดอกเบี้ย 6.975% มีรัฐบาลอุดหนุนส่วนหนึ่ง 4.85% แม้ของ ธ.ก.ส.รายได้หายไปส่วนหนึ่งแต่ก็อยู่ในบาลานซ์ชีท เราบริหารจัดการได้ ธ.ก.ส.ก็ต้องไปเร่งหารายได้จากทางอื่นเช่นรายได้จากค่าธรรมเนียม จัดกลยุทธิ์เพิ่มขึ้น อะไรที่ไม่ใช่รายได้ดอกเบี้ยก็ทำขึ้นมา

           

ที่พูดว่าไม่กระทบมากเพราะว่าพอร์ตของโครงการพักชำระหนี้มี 2.8 แสนล้านนั้นคิดเป็น 20% ของพอร์ตทั้งหมด ในส่วน 80% นั้นก็ยังดำเนินการไปตามปกติ จึงไม่ได้ถึงกับกระทบกับบาลานซ์ชีท แต่ถามว่ากระทบสภาพคล่องหรือไม่ ก็กระทบบางส่วน เพราะว่าเราจ่ายสินเชื่อเป็นระยะยาว เขาเคยผ่อนชำระเราทุกปีๆ แต่ถ้า 3 ปีนี้ให้หยุดชำระเงินเขาก็ไม่ได้วนกลับเข้ามา อันนี้เป็นเรื่องที่มีผลบ้าง แต่ ธ.ก.ส.ก็สามารถบริหารจัดการให้สามารถมีเงินหมุนเวียนในการบริหารจัดการตามปกติได้ แคชโฟลในภาพรวมก็ไม่กระทบมาก


ต้องออกหุ้นกู้มาช่วยหรือไม่

           

ไม่ครับ ไม่จำเป็นต้องออกหุ้นกู้ ตอนนี้สภาพคล่องที่มีอยู่เพียงพอในการดำเนินการ เราก็ใช้วิธีในการออกผลิตภัณฑ์ตามปกติที่เรามีอยู่ตามแผน เช่นสลากถุงทองที่เราออกวงเงิน 1 แสนล้านบาท อันนี้เป็นการออกตามแผนปกติอยู่แล้วนะเพราะว่ามีสลากเก่าที่ครบกำหนด เราก็เลยออกชุดใหม่มารักษาพอร์ตเก่าและบวกเพิ่มนิดหน่อยเป็นการเพิ่มรายใหม่เข้ามา เรามีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องพวกนี้ทั้งภาพรวมของแบงก์  เรามีการประชุมกันทุกเดือนและต้องรายงานฐานะการเงินให้บอร์ดทราบตลอด  เพราะฉะนั้นจะมีคนที่ช่วยเราดูแลในเรื่องพวกนี้อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว


ทุกวันนี้มีสลากของแบงก์รัฐ 3 แบงก์ มีการแข่งขันกันดุเดือดมั้ย

           

เรียกว่าตลาดของใครของมันดีกว่าครับ... อย่างบางธนาคารเขาเน้นรายใหญ่หน่วยละสูงๆ ของ ธ.ก.ส.เราก็เน้นส่งเสริมการออมเงิน เน้นลูกค้ารายย่อย ซึ่งของเราที่ติดตลาดก็หน่วยละ 100 บาท 500 บาท หน่วยละ 50 บาทก็มี ส่วนที่เพิ่งออกมาฉลองก้าวสู่ปีที่ 58 ของธ.ก.ส.คือ สลากถุงทอง เป็นทางเลือกสำหรับระดับคนกลางๆ หน่อยคือหน่วยละ 2,000 บาท สูงกว่าที่ธ.ก.ส.เคยออกมา ซึ่งสลากถุงทองจะมีรางวัลต่องวด 1 แสนกว่ารางวัลรวม 77 ล้านบาท มีแกรนด์ไพรซ์รางวัลที่ 1 เป็นเงิน 60 ล้านบาท ออกรางวัล 24 งวด ถูกแล้วถูกอีกได้ ซึ่งเราเพิ่งออกรางวัลเป็นงวดแรกน่าปลื้มมากคือคนที่อุตรดิตถ์ลูกอยู่อิสราเอลเขาซื้อแค่ 5 หน่วยเอง ได้ 60 ล้านบาทเพิ่งไปมอบกันมา แล้วเขาก็ซื้อเพิ่มอีก 20 ล้านบาท ลูกเขาก็ได้กลับบ้านมาดูแลพ่อแม่ ดีใจกันมาก 


คนที่มีหนี้มากกว่า 3 แสนบาทมาถามบ้างหรือไม่ว่า ทำไมไม่ช่วยฉันบ้าง

           

มีครับ มีถามว่าทำไมช่วยเฉพาะคนที่มีภาระเป็นหนี้ต่ำกว่า 3 แสนบาท เราก็อธิบายว่า ธ.ก.ส.ไม่ได้ช่วยแค่โครงการพักชำระหนี้อย่างเดียว คนที่หนี้เกิน 3 แสนบาทนั้นรัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือดูแลอยู่ ในลักษณะของการช่วยเหลือผู้ประกอบการ มีคณะทำงานที่ท่านจุลพันธ์ เป็นประธานดูอยู่ ก็ขอให้รอติดตามเฟสต่อไปสำหรับโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่มีหนี้เกิน 3 แสน

           

ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการพักหนี้ที่อยู่กับ ธ.ก.ส.นี่เขาก็ยังมีสิทธิได้รับการเข้าโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำต่างๆ ที่ธ.ก.ส.มีอยู่สอดคล้องกับที่เขาต้องการ  หรือถ้าเกิดว่าเขาไม่ไหวเรื่องภาระหนี้(แต่วงหนี้เกิน 3 แสนบาท) เขาก็สามารถที่จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการของแบงก์ชาติที่ให้กับ ธ.ก.ส. ก็สามารถช่วยเหลือเรื่องภาระหนี้ได้ แต่อาจจะไม่ได้รับการดูแลในระยะ 3 ปีที่เป็นดอกเบี้ย 0% ตามที่รัฐบาลดูแลรายย่อย  อย่างไรก็ตามก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาอีกหรือไม่ 


เกษตรกรที่ขอพักหนี้พักดอกเป็นกลุ่มไหนมากสุด

           

กระจายกันไป รายย่อยจะเป็นเกษตรกรกลุ่มชาวนาเยอะมากกว่าลูกค้ากลุ่มอื่น 


พวกชาวสวน อย่างชาวสวนทุเรียน มีเยอะไหม

           

กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีภาระหนี้เกิน 3 แสนครับ เขากู้เงินเยอะตามลักษณะการผลิตที่ต้องใช้เงินทุนมาก เขามีเงินออมจากการขายผลผลิตในช่วงที่ผ่านมาพอดูแลตัวเองได้ พอร์ตที่เป็นชาวสวนนี่ปัญหาเรื่องการชำระหนี้มีไม่มาก  เพราะอย่างที่ทราบดีว่าราคาผลไม้ค่อนข้างดี พอที่จะไม่ขาดทุน แต่พืชบางตัวก็มีปัญหานะอย่างเช่น ลองกอง ลำไย


ในอดีตเราเคยพักหนี้พักดอก

           

โซลูชั่นแบบนี้เราทำมา 9 ปี 13 ครั้งครับ แต่ไม่ใช่กับคนเดิมทั้ง 13 ครั้งนะ...บางทีเป็นหนี้คนได้รับผลจากน้ำท่วม บางคนรับผลกระทบจากภัยแล้ง ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดบ้าง เป็นกลุ่มลูกค้าที่กระจายกันไป


ถือว่า ธ.ก.ส.ช่วยลูกหนี้สุดๆ แล้วหรือยัง

           

ผมว่าคนที่เขาได้รับความเดือดร้อน ภาระเรื่องหนี้เป็นสิ่งที่เขากังวลใจ ดังนั้นเมื่อเราหยุดพักชำระหนี้ก็ทำให้เขามีแรงใจในการไปทำมาหากินเพิ่มขึ้น ไม่อย่างนั้นสภาพเศรษฐกิจก็ไม่ดีทำมาหากินก็ลำบากกลับมานอนทีไรก็กังวลเรื่องหนี้สิน เราก็ให้เขาเอาเรื่องหนี้สินวางไว้ก่อน ให้พยายามเดินต่อ แล้วถ้าเดินแล้วติดขัดอะไรเดี๋ยวเราช่วย  เพราะแน่นอนว่าแบงก์/สถาบันการเงินออกสินเชื่อไปก็อยากได้เงินคืนอยู่แล้วแต่ว่าถ้าไม่พักหนี้ให้ลูกค้ามันกลับเป็นการซ้ำเติมลูกค้าให้ไม่มีแรงทำงานต่อ อันนี้จะช่วยทั้งตัวลูกค้าและแบงก์ คือการพักก็ถูกจุดนะ แต่ว่าทำอย่างไรพักแล้วไม่ใช่พักเลย พักแล้วต้องให้เขาเติบโตกลับคืนขึ้นมาได้ ไม่อย่างนั้นถ้าพักไปแล้วไม่มีรายได้กลับมาก็ยังคงไม่สามารถใช้หนี้แบงก์ได้อยู่ดี ซึ่งแน่นอนการแก้ไขปัญหาหนี้ของธนาคารก็ต้องแก้ด้วยการชำระหนี้ได้ของลูกหนี้นั่นแหละอย่างเดียวเลยถึงจะประสบความสำเร็จ 


การพักหนี้จะไม่เกิดมอร์รัล ฮาร์ซาร์ด...หวังได้มาตรการให้ช่วยเหลืออยู่ตลอด         

           

ที่เราบอกว่าไม่เกิดมอร์รัล ฮาร์ซาร์ด เพราะว่าเรามีออปชั่นหลายๆ ออปชั่นให้ลูกค้า ไม่ใช่ว่าต่อไปนี้นะ ผมก็ปล่อยให้เป็นหนี้เสียสิจะได้รับการช่วยเหลือ...การพักหนี้ครั้งนี้ก็ไม้ได้ให้เฉพาะคนที่เป็นหนี้เสียนะ หนี้ดีก็ได้พักด้วย เพียงแต่ว่าคุณอยู่ในกลุ่มหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท ถือว่าเป็นรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ และต้องสมัครใจเข้าร่วมมาตรการด้วยตนเองด้วย 

           

การเป็นมอร์รัล ฮาร์ซาร์ด เช่น การพักให้เฉพาะคนที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล แล้วคนที่เป็นหนี้ดีบอกว่าผมต้องเป็นเอ็นพีแอลก่อนใช่ไหมถึงจะพักหนี้ได้...  

           

ดังนั้นการพักหนี้ ที่ออกมาจึงต้องออกแบบให้ชัดๆ  ทำอย่างไรให้เห็นว่าคนที่ไม่ได้พัก เข้าใจว่าคนที่เขาได้รับการพักหนี้เป็นคนที่เขาได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ส่วนคนที่ดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ก็ดูแลตัวเอง โดยเราให้ความช่วยเหลืออื่นตามความเหมาะสม


คิดว่าจะมีแผนอะไรเพิ่มหรือไม่สำหรับลูกหนี้ดี เขาจะได้มีกำลังใจ เป็นรางวัลให้เขาบ้าง

           

เราก็มีอยู่นะครับ เช่นตอนนี้เราออกมาตรการ ชำระดีมีโชค ใครชำระหนี้ก็มีสิทธิลุ้นรางวัล กระตุ้นการชำระดอกเบี้ยบ่อยขึ้น ซึ่งโครงการก่อนหน้านี้เราคืนเป็นเงินเลย แต่ตอนหลังก็มาดูเหมือนกันว่าใช้งบเยอะเหมือนกันปีหนึ่งใช้ 2-3 พันล้านบาท เป็นภาระอยู่  โครงการนี้ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นการให้ชิงโชคกันซึ่งถูกจริตคนไทยอยู่แล้ว ตอนนี้เราจะจับรางวัลงวดแรก โดยให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจับรางวัลให้ ทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ  อันนี้เพิ่งเริ่มคิกออฟโครงการไป และเป็นตัวกระตุ้นตัวหนึ่งที่ป้องกันมอร์รัล ฮาร์ซาร์ด เพราะเขามีอะไรที่จูงใจ เพราะปกติเกษตรกรเขาจะชำระเงินเป็นรอบการผลิต เช่นกู้เงินไปปลูกข้าวจะมาชำระคืนก็หลังเก็บเกี่ยว 5-6 เดือน  แต่บางครั้งระหว่างนั้นลูกส่งเงินมาก็อาจสามารถแบ่งเงินมาชำระหนี้ได้ เราก็กระตุ้นให้มาชำระหนี้คืนกัน จูงใจโดยการสะสมแต้มคูปองไปเรื่อยๆ เวลาผ่อนชำระก็มีสิทธิลุ้นรางวัล ป้องกันการนำเงินไปใช้ในทางอื่นที่ไม่จำเป็น


ทุกวันนี้สินเชื่อที่ ธ.ก.ส.ปล่อยใน 100 มีคนที่ไม่ใช่เกษตรกรเยอะไหม

           

เราถูกคุมโดยกฎกระทรวงว่า สินเชื่อ 100% เราต้องปล่อยให้เกษตรกรได้มากกว่า 80%  ส่วนสินเชื่อไม่ใช่เกษตรกรโดยตรงแต่มีความเกี่ยวเนื่องมีพอสมควร ไม่ให้เกิน 20% เพราะเดี๋ยวจะผิดบทบาทหน้าที่ภารกิจ ธ.ก.ส.ในการดูแลภาคการเกษตร


ส่วนที่ไม่ใช่เกษตรกร ตอนนี้ปล่อยไปเต็ม 20% หรือไม่

           

ยังครับ ประมาณ 10% ไม่ได้เยอะ แต่เราก็พยายามยกระดับเกษตรกรให้เขาแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ซึ่งเราก็ต้องปล่อยสินเชื่อทั้งต้น-กลาง-ปลายน้ำให้ครอบคลุมทั้งระบบ   


เพราะหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เรื่อยมาโควิด คนก็กลับบ้าน กลับไร่นา กันก็อยากหาอาชีพอยากขอสินเชื่อ

           

ครับรวมทั้งที่กลับจากอิสราเอลด้วย ถ้ากลับมาทำการเกษตรกันก็มาขอสินเชื่อได้ ส่วนคนที่ไม่ถนัดงานเกษตร แต่เป็นคนในครัวเรือนเกษตรกรอยู่ชนบท เราก็ให้สินเชื่อได้เพราะ ธ.ก.ส.ดูแลสินเชื่อในภาคชนบททั้งหมด


มีสินเชื่อให้คนไปทำงานต่างประเทศด้วยหรือไม่

           

ครับ เราให้สินเชื่อไปทำงานต่างประเทศมาหลายปีแล้ว เพราะเกษตรกรมีบางช่วงที่เขาหยุดงานเกษตรในไทย และเป็นจังหวะพอดีกันกับต่างประเทศมีงาน เช่น เก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์  แต่ว่างานพวกนี้ต้องผ่านกระทรวงแรงงานได้รับรองว่าผ่านบริษัทหางานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เราก็ให้สินเชื่อระยะสั้นไป แทนที่เกษตรกรจะไปหาค่าเครื่องบิน ค่าจัดการอะไรต่างๆ จากหนี้นอกระบบก็มากู้ ธ.ก.ส. แล้วนำรายได้จากการทำงานต่างประเทศกลับมาชำระหนี้ ที่ไปอิสราเอลก็มีที่เราปล่อยสินเชื่อไปแต่ก็ไม่ได้มาก  อันนี้ถือเป็นการให้เป็นโปรเจกต์ไป ถือเป็นออปชั่นเสริมการสร้างรายได้นอกภาคเกษตร


เรื่องหนี้นอกระบบ เราจะคุมอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบ

           

จริงๆ ถามว่าจะคุมการก่อหนี้นอกระบบอย่างไรเป็นเรื่องยากและท้าทาย เพราะวันที่เขามากู้ เราสามารถตรวจเครดิตบูโร ถ้าเป็นหนี้สถาบันการเงินอื่นมันจะเห็นชัดเจน  แต่หนี้นอกระบบไม่ได้มีใครบอกเรา แต่เพียงว่า ธ.ก.ส.เวลาให้สินเชื่อเราใช้มิติทางสังคมช่วย เช่นให้สินเชื่อกลุ่ม ต่างคนต่างค้ำประกันกัน เวลามาขอสินเชื่อกลุ่มที่ค้ำประกันกันเองเขาจะรู้ว่าคนนี้ในหมู่บ้านเอาเงินไปทำมาหากินจริงๆ  เป็นหนี้นอกระบบหรือปล่าว ... ถ้าเป็นหนี้นอกระบบมากๆ มาขอกู้ จะแก้ไขโดยย้ายหนี้มาได้แต่ต้องจริงใจกันนะ ชัดเจนว่าเป็นหนี้เท่านี้จริงๆ แล้วเลิกก่อหนี้ใหม่นะ แล้วเอาเงินเราไปแก้ไขมาอยู่ในระบบ แต่ก็ยากเพราะเขาอาจกลับไปเป็นหนี้นอกระบบได้อีกในอนาคต ต้องให้ความรู้และปรับแนวคิดให้กับเขา


ปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ เราเอาพวกนี้มานับด้วยไหม

           

ดูครับ เพราะเมื่อก่อนเรามีปัญหาเกษตรกรเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน แต่เดี๋ยวนี้ผมว่าน่าจะสำลักเงินทุนแล้ว มีหลายที่มากเลยที่ให้กู้ ดังนั้นเรื่องที่เราพยายามบอกลูกค้าเราคือ การให้ความรู้ทางการเงินว่าทุกครั้งที่ก่อหนี้มีภาระดอกเบี้ยนะ ไม่ใช่วนไปก่อหนี้กองทุนหมู่บ้าน เอามาชำหระหนี้ ธ.ก.ส. ถึงเวลากู้ ธ.ก.ส.วนไปจ่ายที่อื่น เราก็พยายามให้ความรู้เรื่องการเงิน Financial Literacy กับเขาอย่างต่อเนื่อง จึงถือว่าได้ผลดีกว่าแต่ก่อนขึ้นมาก

           

อีกอย่างที่เราป้องกันความซ้ำซ้อนคือ ทำงานร่วมกันระหว่างกองทุนหมู่บ้านแล้วก็สหกรณ์  เวลากองทุนหมู่บ้านกู้เงิน ธ.ก.ส.ไปปล่อยสมาชิกต่อ  เราจะเอามาดูว่ารายชื่อคนขอกู้กองทุนหมู่บ้าน มีรายชื่อกู้ซ้ำซ้อนกับเราอยู่หรือไม่ เพื่อไม่ให้ก่อหนี้ซ้ำซ้อน กับสหกรณ์ก็มีการตรวจสอบข้อมูลกัน


สามารถรวบหนี้มาเป็นก้อนเดียวกันเหมือนกับที่แบงก์พาณิชย์แห่งหนึ่งทำได้หรือไม่

           

สามารถดำเนินการได้ อยู่ที่ความสมัครใจของตัวลูกหนี้ ส่วนใหญ่ปัญหาคือจะติดขัดเป็นข้อจำกัดที่เรื่องของหลักประกัน เพราะถ้าเป็นหนี้ ธ.ก.ส. หนี้สถาบันการเงินอื่น หรือหนี้นอกระบบ ถ้าจะย้ายมา ธ.ก.ส.ต้องมาทั้งหนี้ทั้งหลักประกัน เราก็เรียกสินเชื่อนอกระบบมาจ่ายต่อเนื่องหลายปี


กรณีดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น แบงก์ชาติขึ้นมาหลายระลอกสูงสุด 2.50% เป็นอย่างไรบ้างต้องรับมือต้นทุนเงินทุน

           

เราก็ต้องบริหารจัดการ ถามว่ากระทบหรือไม่--กระทบ ยิ่งเราเป็นสถาบันการเงินของรัฐด้วย เวลาที่ดอกเบี้ยขาขึ้น เราต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งในการหาเงินฝากเราแข่งขันสมบูรณ์นะ แข่งขันกับทุกแบงก์เลย ถ้าดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเราไม่ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากตามเดี๋ยวเงินจะไหลออก เราก็ต้องสู้ แต่ก็ต้องคุมต้นทุนเงินฝากให้อยู่ในระดับที่รับได้ กำหนดต้นทุนการดำเนินงานให้ดี เราก็ต้องบริหารในเรื่องเงินฝากรายย่อยเข้ามาให้มากขึ้น  เรื่องเงินฝากภาครัฐที่ต้นทุนต่ำเอามาเบล็นให้อยู่ได้ ที่มีคนพูดว่ามีภาระดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นก็ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้สิ เราก็ทำยาก เพราะเราเป็นสถาบันการเงินรัฐ จะขึ้นดอกเบี้ยกู้ได้ลำบาก หลายครั้งที่ผ่านมามีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธ.ก.ส.ขึ้นดอกเบี้ยฝั่งเงินกู้ MRR นิดเดียวเอง จาก 6.5% เป็น 6.9% ในรอบ 2 ปีมานี้ เพราะต้องดูแลไม่ให้เป็นภาระเกษตรกรมากนัก  

           

ยากและเหนื่อยอยู่ในการบริหารจัดการ แต่อยู่ในวิสัยที่เราจัดการได้อยู่  เราต้องดูแลลูกค้าทั้งระบบ


ธ.ก.ส.ต้องสู้หนักในการหาแหล่งทุน ต้องสู้กับบริษัทประกันชีวิต สู้กับกองทุน 

           

ครับ  ยิ่งช่วงปลายปีนี่การแข่งขันจะสูง เงินออกไปหากลุ่มเงินฝากหรือเงินลงทุนลดหย่อนภาษีกันพอสมควร 


เราก็ต้องทำผลิตภัณฑ์สู้ เช่น ทำประกันด้วย 

           

เราก็มีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนะครับ ธ.ก.ส.มีรายได้จากธุรกิจประกัน 2 แบบ คือที่เป็นนายหน้ากับบริษัทประกันที่มาดีลขายประกันกับลูกค้าเราให้บริษัทประกัน อีกแบบคือเราออกเป็นเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตที่ ธ.ก.ส.ทำเอง เราเรียกเป็นเงินฝากไม่ใช่ประกัน พอร์ตนี้ก็เติบโตดีมีเป็นล้านกรมธรรม์ในแต่ละปีถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้พี่น้องเกษตรกรด้วย


เรื่องประกันภัยพืชผล

           

เราทำมาหลายปี เน้นข้าวกับข้าวโพด ซึ่งมีการเติบโตดีคนเข้ามาอยู่ในระบบเยอะ เพราะว่ารัฐบาล โดยกระทรวงการคลังกับ ธ.ก.ส.ช่วยสนับสนุนเบี้ยประกันให้เกษตรกรบางส่วน แต่หากพูดถึงการประกันภาคสมัครใจที่เกษตรกรทำเองไม่ค่อยมาก เวลาถามเกษตรกรก็บอกว่าการทำประกันภัยนี่ดีฝนแล้งน้ำท่วมมีเงินมาช่วยเหลือ แต่พอให้ทำประกันโดยจ่ายค่าเบี้ยประกันเองกลับไม่ทำ เป็นเรื่องที่ขับเคลื่อนยากอยู่ 

           

นอกจากนี้ก็มีส่วนที่ ธ.ก.ส.ทำเองอย่างประกันภัยลำไย  ประกันโคนมโคเนื้อ แต่การเข้าถึงให้เกษตรกรมาสมัครน้อยมากทำให้เบี้ยประกันยังสูงอยู่ ซึ่งความจริงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะภาวะโลกร้อนมันมีผลมากจะได้มีตัวบริหารความเสี่ยงหากเกิดผลกระทบต่อการผลิตภาคการเกษตร


พูดถึงภาวะแล้งร้อน ธ.ก.ส.รับมือเรื่องพวกนี้อย่างไร 

           

ธ.ก.ส..ก็ติดตามให้ความสำคัญเรื่องนี้อยู่  ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.รายงานผลวิจัยเรื่องนี้ว่าจะร้อนและแล้งติดต่อกัน 2 ปีและจะหนักกว่าที่ผ่านมาซึ่งสอดคล้องกับหลายแหล่ง  ธ.ก.ส.ก็เตรียมการไว้ล่วงหน้า ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ บอร์ด ธ.ก.ส.มีมติไปเมื่อเดือนก่อนให้เกษตรกรได้สินเชื่อดอกเบี้ยไม่แพง ให้ไปลงทุนในการเตรียมน้ำทั้งน้ำบนดินน้ำใต้ดิน ทำระบบโซลาร์กักเก็บน้ำไว้ก่อนเลย ไม่ใช่รอให้เกิดเหตุก่อน เรารู้ว่ามันจะหนักต้องเตรียมการล่วงหน้า

           

เราก็พยายามทำความเข้าใจเกษตรกร แล้วทำผลิตภัณฑ์ออกมาช่วยก่อน ถึงเวลาแล้งจริงๆ จากหนักจะได้เป็นเบา ซึ่งก็มีเข้ามาขอกู้เยอะแล้วเหมือนกัน


ปีทีผ่านมาด้านปศุสัตว์แย่มาก กระเทือนต่อสินเชื่อลูกหนี้ ธ.ก.ส.หรือปล่าว

           

ภาพรวมกับสินเชื่อไม่ได้กระทบมาก เพราะพอร์ตปศุสัตว์ไม่ได้เป็นพอร์ตที่ใหญ่ แต่ถ้าเป็นเกษตรกรรายคนของฟาร์มรายย่อยก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งมันต่อเนื่องมาตั้งแต่โควิด  แล้วก็มีเรื่องอหิวาต์หมูกระทบเยอะเลย อันนี้สินเชื่อรายย่อยกลุ่มผู้เลี้ยงหมูของธ.ก.ส.หายไปเยอะเลย หยุดไปเลยเพราะถูกกักบริเวณเคลื่อนย้ายข้ามเขตไม่ได้ ลูกหมูก็ไม่มี เขาก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นกัน  พอจะกลับมาดีก็มาเจอเรื่องหมูเถื่อนอีก  คิดว่าภาพรวมรายย่อยหายไป แต่รายกลางๆ ที่มีระบบปิดที่เราให้สินเชื่อไปอันนี้ไม่ค่อยกระทบ ส่วนกลุ่มอื่น เช่น โคนม โคเนื้อ ก็ยังดำเนินได้ ไม่ได้ลดมากนัก


สินเชื่อชาวนานาจะดี ปีนี้ข้าวรายได้ดี

           

ราคาข้าวปีนี้ดี สินเชื่อข้าวเติบโต แต่ว่าส่วนหนึ่งมีการพักหนี้เราเลยไม่ค่อยเห็นการเติบโต เขาเอาเงินจากการพักหนี้ไปลงทุนต่อ ในภาพรวมทรงๆ ไม่ได้เลวร้ายกว่าสองสามปีที่แล้ว


ที่รัฐบาลทำโปรเจกต์ช่วยไร่ละ 1,000 คิกออฟวันที่ 28 พฤศจิกายนดีมั้ย ช่วยได้มั้ย

           

อันนี้เงินจะไหลเข้ากระเป๋าเกษตรกรโดยตรง ก็ถือว่าลดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน เพียงแต่ว่าเขาต้องรู้จักใช้จ่ายนะ เพื่อให้เกิดประโยชน์ เตรียมเป็นทุนในการผลิตรอบใหม่ เงินนี้จ่าย 28 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม  5 วันวันละ 8-9 พันล้านบาท รวม 5.4 หมื่นล้านบาทเข้าระบบไป ก็ช่วยได้ 

           

กับอีกตัวหนึ่งที่เป็นมาตรการคู่ขนาน คือ สินเชื่อการชะลอข้าว เพื่อป้องกันเทขาย ตอนนี้ข้าวกำลังราคาดี แล้วถ้าทุกคนเทขายออกมาราคามันจะลง ก็จูงใจให้เก็บไว้ก่อน ในระหว่างจัดเก็บข้าวไว้รัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทนให้และก็จะได้มีรายได้จาก ธ.ก.ส.จ่ายให้ 1,500 บาทต่อตัน  ถ้าไม่มีที่เก็บไปเก็บกับสหกรณ์ก็แชร์รายได้กัน สหกรณ์ได้ 1,000  บาท เกษตรกรได้ 500 บาท ทำให้ข้าวไม่ออกมาสู่ระบบมากไป  ค่อยๆ ทยอยออกเพื่อช่วยเรื่องราคาในภาพรวม


หลายปีมีประกันรายได้ ตอนนี้ไม่มีแล้ว

           

ก็ไม่ได้กระทบเกษตรกรนะ  เพราะข้าวที่ผลิตได้ยังไงก็เป็นของเขาอยู่แล้ว ถ้าทำข้าวที่มีคุณภาพ ต่อให้มีการประกันรายได้แต่ข้าวที่เขาขายได้ราคามันสูงกว่าราคาประกัน  อันนั้นมันช่วยเรื่องราคาตลาดที่มันผันผวนในช่วงที่ข้าวออกแค่นั้นเอง 


ในส่วนของ ธ.ก.ส. เองทุกวันนี้คนมาทำงานกับ ธ.ก.ส. เยอะ

           

ปีหนึ่งเราเปิดรับคนเพิ่มไม่มาก เพราะคนที่เรามีอยู่ 23,000 คน อัตรานี้เพียงพอ  ดังนั้นที่เปิดรับคือแทนคนเกษียณซึ่งปีหนึ่งมาสมัครหลายหมื่นแต่เรารับได้แค่ 200-300 คน  ที่คนอยากมาทำกับเราเพราะมีความมั่นคงในสายตาของเด็กรุ่นใหม่ แต่เด็กจบใหม่เยอะจริงและทางเลือกไปธุรกิจอื่นไม่ได้เติบโตมาก  เอกชนเขาก็ไม่ค่อยรับคนมากเขาเลือกใช้เทคโนโลยีมาแทนคน ดังนั้นตลาดราชการ/รัฐวิสาหกิจจึงเป็นที่เด็กจบใหม่มอง และทำงานกับ ธ.ก.ส.มันทำให้เกิดแรงบันดาลใจของเด็กบางคนที่อยากตอบโจทย์การทำงานเพื่อช่วยสังคม ช่วยชาวบ้านมีชีวิตดีขึ้น เด็กรุ่นใหม่จึงอยากมาทำกับ ธ.ก.ส.  สวัสดิการเราก็เรียกว่าเทียบในอุตสาหกรรมสถาบันการเงินเราอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่สูงไม่ต่ำเกินไป ตอนนี้รายได้รัฐวิสาหกิจ ราชการขยับมาใกล้กับเอกชนมากขึ้น ทำกับเราได้ 15,000 เอกชนได้ 18,000 ต่างกันไม่มากเด็กๆ ก็เลือกมาทางนี้กันมาก


ธ.ก.ส.. สู้กับปัญหาดิสรัปอย่างไร

           

เราก็ต้องปรับตัว ท่านผู้จัดการฉัตรชัย ศิริไล ที่มาดูแล ธ.ก.ส.ก็จบมาในสายไอทีอยู่แล้ว ท่านก็เอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้แข่งขันกับที่อื่นได้  อย่างการลงทะเบียนพักหนี้เมื่อก่อนใช้กระดาษเดี๋ยวนี้ผ่านระบบโมบายแบงก์กิ้ง ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงเทคโนโลยี  ธ.ก.ส.ก็ลดต้นทุนการใช้กระดาษ  เป็นการปรับตัวที่ถือว่า การดิสรัปทำให้เป็นการช่วยเราในการทำงานด้วยซ้ำไป

             

เดี๋ยวนี้พนักงานสินเชื่อในภูมิภาคเขามีไลน์กับหัวหน้ากลุ่มลูกค้าตามหมู่บ้าน ตำบล มีอะไรก็สื่อสารถึงกันไลน์หากันก่อน แทนที่จะขี่มอเตอร์ไซค์ไปหาไปบอกที่บ้านแบบเมื่อก่อน ก็ทำให้การเข้าถึงมีต้นทุนที่ต่ำลง


อย่างนี้เราไม่จำเป็นต้องเปิดสาขา

           

ครั้งหนึ่งเราก็พยายามกระจายสาขามากขึ้นในกรุงเทพฯให้มีสาขาทุกเขต เพื่อระดมทุนจากเมืองไปสู่ชนบท แต่ว่ารูปแบบเปลี่ยนในวันนี้ คนใช้โมบายมากขึ้น ก็มาทบทวนว่าสาขาไหนในกรุงเทพฯที่คนไม่ค่อยใช้ก็พิจารณาปิด  แต่ในต่างจังหวัดในชนบทเป็นเรื่องของภารกิจ ธ.ก.ส.ที่เป็นกลไกรัฐบาลที่ชาวบ้านมาติดต่อ อย่าง เงินไร่ละพัน แม้จะโอนเข้าบัญชี แต่คนในชนบทก็ยังอยากเอาสมุดมาปรับให้เห็นเลขในกระดาษให้เห็นว่าเงินเข้ามาจริงนะ อีกประการคือเรื่องที่เราซัพพอร์ตเงินกองทุนหมู่บ้าน การจ่ายเงินผู้สูงอายุ สาขาจึงยังมีความจำเป็น แต่สาขาย่อยระดับตำบลอาจยุบมาอยู่กับสาขาแม่ แต่ว่ายังมีสาขาครบทุกอำเภออยู่ เพื่อไม่เป็นภาระกับชาวบ้านที่ต้องเดินทางไกลขึ้น  

           

ธ.ก.ส. เรามีภารกิจที่ไม่เหมือนใคร  เราไม่ได้มองแต่เรื่องธุรกิจอย่างเดียว อีกอย่างที่ท่านผู้จัดการฉัตรชัยให้นโยบายคือ ลดการติดต่อที่สาขาให้มากที่สุด คือใน 100% ให้อยู่ในออนไลน์สัก 70% สอนให้ลูกค้าใช้งานเมื่อใช้ออนไลน์ได้พนักงานก็จะมีเวลาดูแลลูกค้าที่มาสาขาไม่แออัดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และงานของเราส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ให้คนของเราออกไปทำงานในพื้นที่ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของลูกค้าอีกทางหนึ่ง ลูกค้าจะได้ไม่ต้องมาที่สาขา ไม่ต้องเสียค่ารถค่าเรือมาสาขา  


แอปของ ธ.ก.ส.ต้องออกแบบให้ชาวบ้านใช้งานง่ายด้วยหรือไม่

           

ใช่ครับ ตอนนี้ดีขึ้นเยอะนะครับ เมื่อก่อนชาวบ้านไม่มีสมาร์ทโฟน ทำไม่เป็น ใช้ไม่ได้  เราก็ไปคุยไปสอน ถามฟีดแบ็คจากเขา ปรับปรุงให้ใช้ง่ายขึ้น


ขอถามเรื่อง เงินดิจิทัล--ไม่ใช่เงินดิจิทัล 10,000 บาทนะ—แนวโน้มจะไปทางนี้

           

ผมว่ามันก็เป็นทางเลือกทางหนึ่งที่อาจมาตอบโจทย์ แต่วันนี้ในมุมมองของผมก็คือว่า ถึงแม้เราไม่มีเงินดิจิทัล แต่เราก็แทบไม่ได้ใช้เงินสด ไม่ได้จับเงินเลยนะ  เงินมันอยู่ในโมบายมันก็เหมือนเงินดิจิทัลนั่นแหละ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ตั้งเงินสกุลใหม่ขึ้นมา อย่างตัวผมทำงานอยู่แบงก์ก็จริง แต่จำไม่ได้แล้วว่าไปแบงก์เพื่อถอนเงินเมื่อไหร่ ผมก็ใช้มือถือนี่แหละโอนเงินเข้าออก แทบไม่ได้จับเงินสดเลย  คือเงินสดในกระเป๋ามีไม่มากหรือไม่มีไม่เป็นไร แต่ว่ามือถือนี่แบตฯ หมดไม่ได้นะ


ถ้าสนับสนุนเงินดิจิทัล ธ.ก.ส.น่าจะเป็นแบงก์แรกๆ ที่ตั้งสกุลเงินมาใช้มากที่สุด เพราะลูกค้าเยอะ

           

แบงก์ชาติก็พยายามผลักดันเรื่องเงินบาทดิจิทัล  ถ้าแบงก์ชาติเป็นศูนย์กลางผลักดันแบงก์ต่างๆ ก็เข้าร่วมอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจและให้คนมาใช้เยอะๆ มีความเสถียร ปลอดภัย ก็ช่วยได้


วันนี้เราให้ความสำคัญเรื่อง ESG กันมาก 

           

ตอนนี้โดยหลักการทำงาน ธ.ก.ส. ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เช่นการประเมินมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในการให้สินเชื่อ  เราดูแลอยู่แล้ว  แต่ตอนหลังมีการพูดเรื่อง ESG กันมากขึ้น ธ.ก.ส.ก็พยายามชูเรื่องนี้ เพราะเราใกล้ชิดเกษตรกรโดยตรง เราออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อด้านนี้เยอะ ผลักดันให้ลูกหนี้เราทำเรื่องพวกนี้ด้วย มีจูงใจเรื่องของการลดดอกเบี้ยให้ เป็นต้น  มีพนักงานออกไปดู แต่ต้องมีหน่วยงานที่ออกใบรับรองให้เรา ซึ่งวันนี้ข้อจำกัด เช่น การประเมินมูลค่าต้นไม้มีค่าใช้จ่ายสูง ชาวบ้านเขาเลยไม่ค่อยอยากต่อยอดเรื่องคาร์บอนเครดิตกันเท่าไหร่ เราก็พยายามหาโมเดลของต่างประเทศมาดู  เดี๋ยวนี้เขาใช้โดรนบินดูก็ได้  ไม่ใช้คนไปวัดรอบต้นไม้ คือทันสมัยขึ้น แต่ก็ต้องดูว่าเสถียรและได้รับการยอมรับแค่ไหน ซึ่งได้ต้นทุนถูกลงมามาก 

 

                        

187 views
bottom of page