ตลาดหุ้นโลกยังคงมีปัจจัยกดดันอยู่มากพอสมควรนะครับ โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงอีก 2.36% ซึ่งตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงอย่างหนัก หรืออยู่ในกลุ่ม Underperform ได้แก่ตลาดหุ้นสหรัฐ, Asia ex Japan และจีน ที่ปรับตัวลดลง 5.08%, 3.39% และ 5.35% ตามลำดับ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐ ที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังถูกเทขายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับใกล้เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งสถานการณ์ยังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ประธานาธิบดี Donald Trump โจมตี Joe Biden ผู้ท้าชิงในปีนี้ว่าถ้า Joe Biden ชนะการเลือกตั้งก็แปลว่าจีนชนะด้วย และอเมริกันจะพ่ายแพ้ นอกจากนี้สหรัฐอาจขึ้นบัญชีดำบริษัท SMIC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปชั้นนำของจีนอีกด้วย
ประกอบกับการที่ประธานาธิบดี Donald Trump ประกาศว่าจะลดระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีน พร้อมกับขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีบริษัทสหรัฐที่ออกไปสร้างงานในจีนและประเทศอื่นๆ ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนออกมาจากการที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 7.09% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 23.71% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 6.68% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 48.45%
ขณะที่ในด้านของเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากการที่สมาชิกพรรค Democrat ในวุฒิสภาสหรัฐโหวตคว่ำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่นำเสนอโดยพรรค Republican หลังทั้งสองฝ่ายยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับขนาดและขอบข่ายของมาตรการดังกล่าว และการที่กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผย ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐพุ่งทะลุ 3 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือน ส.ค. 2563 และมีแนวโน้มแตะ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณในเดือนนี้แล้ว ในเชิงของตัวเลขเศรษฐกิจจริงๆพบว่าตัวเลข Initial Jobless Claims เพิ่มขึ้นจำนวน 884,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้า สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 850,000 รายพอสมควร ขณะที่ตัวเลข Headline CPI ของสหรัฐ ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ส.ค. 2563 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6%ในเดือน มิ.ย.และก.ค. 2563 และเมื่อเทียบรายปีพุ่งขึ้น 1.3% ในเดือน ส.ค. 2563 ต่อเนื่องจากที่ดีดตัวขึ้น 1.0% ในเดือน ก.ค. 2563 สร้างความกังวลต่อทิศทางการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้นไปอีก
Brexit กลับมาเป็นปัจจัยกดดันอีกครั้ง ! นอกจากปัจจัยลบจากฝั่งสหรัฐแล้ว ในฝั่งของยุโรปก็มีปัจจัยกดดันใหม่เข้ามาเพิ่มเติมด้วย โดยที่ในเบื้องต้นแม้ว่าธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบีจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และมีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ที่ระดับ 1.35 ล้านล้านยูโรตามคาด รวมทั้งอีซีบีประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มหดตัวลง 8.0% ในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ดีกว่าที่ระบุในเดือน มิ.ย. 2563 ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัว 8.7% ในปีนี้
นอกจากนี้ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนขยายตัว 0.3% ในปีนี้ และ 1.0% ในปีหน้า แต่ประเด็นที่เข้ามากดดันเพิ่มเติม มาจากความขัดแย้งระหว่างสหภาพยุโรปและอังกฤษเกี่ยวกับข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ยังคงตึงเครียด โดยล่าสุดสหภาพยุโรปเตรียมยื่นฟ้องศาลกรณีที่อังกฤษมีแผนละเมิดข้อตกลง Brexit ขณะที่การเจรจาฉุกเฉินระหว่างสหภาพยุโรปและอังกฤษได้สิ้นสุดลงแล้ว ทั้งนี้ล่าสุดสำนักวิจัยอย่าง Morgan Stanley หรือ MS ออกรายงานระบุว่ามีแนวโน้มมากขึ้นที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป โดยไม่มีการทำข้อตกลง ซึ่งจะทำให้การค้าระหว่างอังกฤษและสภาพยุโรปอยู่ภายใต้ WTO ซึ่งจะมีการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกัน โดยรายงานระบุว่ามีแนวโน้มมากถึง 40% ที่จะเกิดสถานการณ์ดังกล่าว ในส่วนของปัจจัยภายในสำหรับตลาดหุ้นไทยยังไม่มีปัจจัยหนุนใหม่ อีกทั้งประเด็นกดดันจากที่ นายปรีดี ดาวฉาย ลาออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง ก็ยังไม่มีความคืบหน้าของ รมว.คลังคนใหม่ ทำให้ความเชื่อมั่นหายไป อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังตกลงกันไม่ได้ นอกจากนี้มาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ Travel Bubble, Business Bubble และภูเก็ตโมเดล ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
หลังจากเกิดประเด็นยอดผู้ติดเชื้อในอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้พม่ามีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้แนวโน้มแรงกดดันจากสถานการณ์ COVID-19 ดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอีก หลังจากโครงการร่วม Oxford-AstraZeneca หยุดทดสอบวัคซีนกับคนจริงๆชั่วคราวเป็นครั้งที่ 2 หลังเกิดผลตรงข้าม และรอทดสอบกับคนกว่า 30,000 ในอังกฤษ สหรัฐ บราซิล และอเมริกาใต้ต่อทันทีที่พร้อม แม้ว่าการหยุดทดสอบชั่วคราวแบบนี้เป็นขัันตอนปกติ และมักกินเวลาหลายปีก่อนที่วัคซีนจะถูกอนุมัติให้ใช้ได้ทั่วไป
ขณะที่แนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคระยะสั้น “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันมุมมองเดิมว่าสำหรับตลาดหุ้นไทย ตราบใดก็ตามที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิด เพื่อสร้างฐานในกรอบ 1,370-1,400 จุดได้ การดีดตัวขึ้นช่วงสั้นยังคงมองว่าเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น และยังคงไม่สามารถยืนยันการปรับตัวขึ้นต่ออย่างจริงจังได้ รวมทั้งโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย หรือ Foreign Fund Flow จะยังคงไหลออกยังคงมีอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะขายสุทธิออกมาแล้ว 2.8 แสนล้านบาทตั้งแต่ต้นปี 2563 หลังจากที่ Indicator ระยะกลางอย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ยังคงมีสัญญาณ “Negative Convergence” อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังกลับไปยืนเหนือ 1,370 จุด (+/-) ไม่ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, ADVANC และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายสัปดาห์ (weekly)
Source: Wealth Hunters Club
Comments