ตลาดหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นได้ จากปัจจัยหนุนที่สหรัฐอนุมัติให้ใช้น้ำเหลืองจากผู้ที่หายจากโรคไวรัส COVID (Plasma) มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยไวรัส COVID รายใหม่เป็นการฉุกเฉินแล้ว และจะทำให้การจัดหายานั้นทำได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ป่วยในสหรัฐ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากธีมวัคซีนปรับตัวขึ้น โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 2.39% โดยตลาดหุ้นที่ Outperform ได้แก่ตลาดหุ้นสหรัฐ และ Asia Ex-Japan ที่ปรับตัวขึ้น 2.93% และ 3.82%
ทั้งนี้ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 นั้น บริษัท Moderna เผยผลการทดลองวัคซีน ในเฟสแรกกับอาสาสมัครที่มีอายุมากนั้น ได้ผลเป็นที่น่าพอใจเหมือนกับที่ทดลองกับอาสาสมัครในวัยหนุ่มสาว ขณะที่ Donald Trump ประกาศซื้อชุดอุปกรณ์ซึ่งสามารถทดสอบแอนติเจนแบบพกพาเพื่อใช้ในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 โดยสามารถให้ผลการทดสอบภายใน 15 นาทีจำนวน 150 ล้านชุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำข้อตกลงวงเงิน 750 ล้านดอลลาร์กับบริษัท Abbott
นอกจากนี้ตลาดหุ้นโลก และสหรัฐ ยังได้ประโยชน์จากการที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง หลังสหรัฐยืนยันว่าบริษัทของสหรัฐที่มีความจำเป็นต้องใช้แอป WeChat ในการทำธุรกิจในเมืองจีนจะไม่มีการโดนแบน ส่งให้ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐบรรเทาไปบ้าง ประกอบกับมีความคืบหน้าในการเจรจาการเฟส 1 ระหว่างสหรัฐและจีน โดย Robert Lighthizer และ Steven Mnuchin ได้หารือกับ Liu He รองนายกรัฐมนตรีจีน และทั้ง 2 ฝ่ายเห็นความคืบหน้าในประเด็นการค้า และจีนยืนยันว่าจะทำให้ข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 เป็นไปตามเป้า
อย่างไรก็ดีประเด็นที่ “นายหมูบิน” มองว่าส่งผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นโลกในระยะต่อไปมากที่สุด อยู่ที่ผลการประชุมที่ Jackson Hole ซึ่ง Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดได้ออกมายืนยันถึงแนวทางใหม่ของเฟดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และผ่อนคลายมาตรการทางการเงินมากขึ้น โดยการยอมให้อัตราเงินเฟ้ออยู่สูงกว่าระดับ 2% และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ใกล้ระดับ 0% เป็นระยะเวลาหลายปีต่อจากนี้ โดยเฟดจะใช้เครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" หรือ “Flexible Average Inflation Target” ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และสามารถดีดตัวขึ้นเหนือ 2% แทนที่จะกำหนดเป้าหมายตายตัวที่ 2% นอกจากนี้จะมุ่งเน้นไปที่ตัวเลขการจ้างงานและตลาดแรงงานมากขึ้น นโยบายใหม่ของเฟดอาจบอกเป็นนัยได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะใช้เวลานานกว่าที่คิด สอดคล้องกับตัวเลข Initial Jobless Claim ที่ยังคงอยู่สูงที่ระดับ 1.006 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว แม้ว่าจะลดลงจากจำนวน 1.104 ล้านรายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ก็ตาม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 84.8 ในเดือน ส.ค. 63 จากระดับ 91.7 ในเดือน ก.ค. 63 และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 93.0 โดยดัชนีลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันแล้ว
ทั้งนี้ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนกับท่าทีของเฟด สะท้อนออกมาในผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 1.69% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 32.08% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 2.78% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 39.62%
บวกระยะสั้น และไปได้ไม่ไกล ! แม้ว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยจะได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นออกมาพอสมควร โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่นำเสนอโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปที่ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอย โดยรัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่าย 50% และจำกัดการใช้จ่ายต่อคนตลอดโครงการ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มเติมภายใต้โครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" โดยเฉพาะให้มีการเพิ่มสิทธิ์ให้ผู้ลงทะเบียนจำนวน 3 สิทธิ์ ได้แก่ เพิ่มส่วนลดค่าที่พัก 40% เป็นจำนวน 10 คืนต่อคน, เพิ่มคูปองอาหารต่อการท่องเที่ยว สูงสุดมูลค่า 900 บาทต่อวัน และให้เงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินจำนวน 2,000 บาทต่อที่นั่ง โดยเริ่มดำเนินการนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 63
ขณะที่มาตรการที่น่าสนใจ และน่าจะมีช่วยในเรื่องการเมืองด้วย คือมาตรการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ปวส. และ ปวช. รวมจำนวน 260,000 อัตรา โดยมีอัตราค่าจ้าง ตามวุฒิการศึกษาดังนี้ ปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท, ปวส. เดือนละ 11,500 บาท และ ปวช. เดือนละ 9,400 บาท ทั้งนี้รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยจะมีระยะเวลาการจ้างงานทั้งสิ้น 12 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 63-30 ก.ย. 64
อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” มองว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะไปได้ไม่ไกลนักในระยะสั้นๆ เนื่องจากการลาออกของ รมว.คลัง น่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะต่างชาติพอสมควร ขณะที่ในทางเทคนิคระยะสั้น “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันมุมมองเดิมว่าสำหรับตลาดหุ้นไทย ตราบใดก็ตามที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิด เพื่อสร้างฐานในกรอบ 1,400-1,450 จุดได้ การดีดตัวขึ้นช่วงสั้นยังคงมองว่าเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น และยังคงไม่สามารถยืนยันการปรับตัวขึ้นต่ออย่างจริงจังได้
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังกลับไปยืนเหนือ 1,370 จุด (+/-) ไม่ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, ADVANC และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายสัปดาห์ (weekly)
Source: Wealth Hunters Club
Comentarios