top of page
347550.jpg

โลกการเงินเปลี่ยนทิศ...จับตาภูมิทัศน์ใหม่ ภาคการเงินไทย


ทำดีต้องชม! แบงก์ชาติใจกว้าง ฟังความคิดเห็นภาคเอกชน-นักวิชาการ เพื่อนำข้อเสนอแนะไปยกเครื่องการกำหนดทิศทางนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจการเงินยุคดิจิทัล และลดภาระของภาคธุรกิจและประชาชน พร้อมแนะ...แบงก์ชาติต้องมองในทุกมิติเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ป้องกันอาชญากรรมดิจิทัล แต่ต้องไม่เป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาระบบและการแข่งขัน รวมทั้งต้องกำหนดนโยบาย-แผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นจุดแข็งและเกิดประโยชน์มากที่สุดของประเทศไทย ชี้...โลกการเงินเปลี่ยนทิศ แบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐต้องตามให้ทัน หาจุดแข็งในบริการดิจิทัลแบงกิ้งที่แตกต่างจากบริบทเดิมๆ ส่วนภาคธุรกิจ-ประชาชนที่ปรับตัวเข้ากับการเงินยุคดิจิทัลได้รวดเร็วจะได้ประโยชน์มากกว่าผู้ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง


Interview : คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


แบงก์ชาติมีการประกาศภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ประกาศว่ารับฟัง จะขอความรู้และความคิดเห็นจากภาคเอกชน มองเรื่องนี้อย่างไร

การที่แบงก์ชาติจะดำเนินการอย่างไร จะมีการวางแผนในการพัฒนาการดำเนินนโยบายอย่างไร และมีการทำรับฟังคนที่เกี่ยวข้องจากภาคเอกชน จากคนที่มีความรู้ ก็เป็นเรื่องดีมาก เป็นเรื่องที่น่าชมเชย ทำให้แบงก์ชาติได้รับข้อมูลถูกต้องสมบูรณ์ เพื่อเอาไปใช้กำหนดนโยบาย เท่าที่ผมดูลักษณะข้อความท่านผู้ว่าฯ ให้สัมภาษณ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่พูดคุยถึงแนวดำเนินการ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีตรงที่แบงก์ชาติไม่ปิดกั้น เรียกว่าคุ้มครอง โอบอุ้ม ดูแล้วแบงก์ชาติมีความพร้อมเปิดใจกว้างเพื่อให้มีการแข่งขันในระบบเต็มที่มากขึ้น เพราะเขาก็มองเห็นว่าการแข่งขันถึงแม้จะทำให้ระบบแบงก์ที่มีอยู่แล้วต้องปรับตัวและเผชิญความยากลำบากและต้องคิดการอ่านในการแก้ไขสถานการณ์ แต่คนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือประชาชนและผู้ใช้บริการ แนวคิดของแบงก์ชาติแบบนี้เป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุน สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบการเงิน 5-10 ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่เกิดขึ้นในหลายสิบปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าแบงก์ชาติก็ดี ก.ล.ต.ไทยก็ดี เท่าที่ผมดูมีการปรับตัวเดินหน้าได้ทันท่วงทีและไม่น้อยหน้าประเทศอื่น


ถือว่าไม่ช้าไม่เร็วเกินไป แต่มีข้อเสนออะไรที่อยากสนับสนุนให้ดำเนินการเต็มที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประการแรก การดำเนินการโดยให้มีการแข่งขันกับคนที่ไม่ได้ทำธุรกิจธนาคารอยู่แล้ว เรียกว่าทั่วโลกกังวลสิ่งแรกคือเวลาจะทำอะไรนอกระบบแบงก์เขาจะกลัวว่าไม่ได้ข้อมูลครบถ้วน เขากลัวได้ข้อมูลมาทำนโยบายการเงินไม่ครบถ้วน จะทำให้มองไม่เห็นปัญหาหรือไม่เห็นปัญหาทันท่วงที ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นข้อกังวลที่อาจจะมีได้ แต่ไม่น่าเป็นห่วงมากเกินไป

ประการที่สอง สิ่งนึงที่หลายประเทศมีข้อกังวลเป็นพิเศษคือ เวลาอยู่ในระบบแบงก์ การตามข้อมูลต่างๆ มันตามได้ง่าย เพราะฉะนั้นการจะมาใช้ตัวระบบการโอนในเรื่องที่ผิดกฎหมาย เช่น เอาไปใช้เรื่องการเรียกค่าไถ่ หรือกรณีในสหรัฐ มีคนส่งไวรัสเข้ามาในคอมฯ ทำให้ระบบข้อมูลในบริษัททำงานไม่ได้ และมีการเรียกค่าไถ่และการจ่ายก็ต้องจ่ายนอกระบบแบงก์ ตรงนี้ทำให้คนกังวลว่าถ้ามีการทำธุรกรรมนอกระบบแบงก์มันจะไปโผล่เรื่องการสนับสนุนสิ่งที่ผิดกฎหมาย การสนับสนุนการก่อการร้าย ตรงนี้เป็นข้อกังวลที่ต้องยอมรับว่าหลายๆ ประเทศมี และในแง่ของแบงก์ชาติที่จะเดินหน้าตรงนี้จำเป็นต้องจัดขบวนการหาวิธี หาข้อมูล เพื่อป้องกันการเอาไปใช้เรื่องไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มีปัญหา เวลานี้มันมีปัญหาทั่วโลก การดำเนินการโดยร่วมมือกันจัดทำเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ จับมือกับประเทศที่มีความรู้มีประสบการณ์ด้านนี้ก็จะเป็นประโยชน์ การจะป้องกันข้อมูลต่างๆ ต้องทำให้ไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนา

ประการที่ 3 ที่คิดว่าแบงก์ชาติมีข้อกังวลคือการควบคุมบางเรื่อง ยกตัวอย่าง การค้าขายเงินบาท เขาอาจจะมีข้อกังวลว่าลักษณะการค้าระบบดิจิทัล การค้านอกระบบแบงก์ แบบนี้จะมีความเป็นไปได้ไหมที่จะมีคนเข้ามาโจมตีเงินบาทโดยนึกไม่ถึง โดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดความปั่นป่วน ตรงนี้ต้องเตรียมคิดแผนรับมือกันไว้

ผมว่าเวลานี้แบงก์ชาติและก.ล.ต.ที่มีการขยับเรื่องนี้เป็นการทำที่ถูกต้องแล้ว และคิดวางแผนล่วงหน้าเพื่อที่จะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนที่สามารถวางแผนนโยบายการเงิน ตัวเลขเศรษฐกิจจะเป็นตัวเลขที่ใช้งานได้และน่าเชื่อถือ และป้องกันใครที่จะมาหาประโยชน์โดยมิชอบทั้งจากโอนเงิน การโจมตีค่าเงิน ต้องหาวิธีตั้งแต่เนิ่นๆ แต่อย่าให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาระบบและให้มีการแข่งขันกันให้เต็มที่


เรื่องการโจมตีค่าเงินเป็นเรื่องที่มีการตั้งข้อสังเกตเหมือนกัน มีความกังวลว่าถ้าทำไม่ดีจะเหมือนตอนเปิดประตู BIBF ไม่ทันได้ดูดีกลายเป็นถูกโจมตีในสงครามค่าเงินและนำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้ง มองประเด็นนี้อย่างไร

ถ้าหากขบวนการในการบริหารของประเทศไทยเราทำอย่างเปิดเผย ทำตามกลไกตลาด ไม่มีการฝืน ทำให้ค่าเงินบาทถูกหรือแพงเกินเหตุ เพราะการฝืนตลาดลักษณะอย่างนี้โอกาสที่เราจะถูกโจมตีและทำให้เราพลาดเหมือนสมัยต้มยำกุ้งมันอาจไม่น่าจะมี แต่การที่เราถูกโจมตีหมายความว่าเราทำอะไรที่ผิดทำนองของธุรกิจ ไปฝืนอะไรที่ไม่ถูกต้อง ถ้ารัฐบาลพยายามไปบีบแบงก์ชาติให้ทำสิ่งนี้ หรือให้ไปทำนโยบายบริหารไม่ดี แต่ไม่ยอมรับ มีการปกปิดข้อมูล กลายเป็นว่าต่อให้เปิดแนวใหม่ มีการทำธุรกิจในเชิงดิจิทัล ตลาดปกติก็แย่อยู่แล้ว แต่ถ้าเราทำในลักษณะโปร่งใสตรงไปตรงมา เปิดเผยข้อมูลต่อ IMF หรือตลาดอย่างเต็มที่ เช่นเศรษฐกิจเราไม่ดีก็บอกตรงๆ ไม่ดีจะแก้อย่างไร ถ้าบอกแก้ได้ก็แก้ แบบนี้เราไม่ต้องนั่งกังวลว่าพอออกมาเป็นระบบดิจิทัลแล้วจะกังวลว่ามีคนมาแอบทำโน่นทำนี่


ต่อให้มีเรื่องของบาทคอยน์ออกมาก็ต้องระวังเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ผมยังมองว่าเป็นแนวโน้มระยะยาวของธุรกรรมทางการเงินจะไหลจากตลาดปกติไปสู่ตลาดดิจิทัลมากขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าทางการบางประเทศเดี๋ยวลักปิดลักเปิด บางทีจะเอา บางทีห้าม แต่แนวโน้มการพัฒนาจะไปทางนั้นแน่นอน เพราะต้นทุนต่ำกว่ามาก ในอนาคตต้นทุนจะต่ำ และกลายเป็นว่าถ้าแบงก์เองพยายามจะฝืน พยายามจะครองทุกอย่างไว้ในมือ อีกหน่อยแบงก์จะกลายเป็นไดโนเสาร์แล้วแข่งขันไม่ได้ มันเป็นศิลปะทั้งคนทำธุรกิจและตัวผู้กำกับแบงก์ชาติ ก.ล.ต.ต่างๆ จะต้องเรียนรู้วิธีการที่จะปรับตัวต่างๆ ให้ทันกับโลก ไม่ใช่เราไปปิดกั้นหรือกลัวตรงนั้นตรงนี้มากเกินไป


พวกสถาบันการเงิน แบงก์ นอน-แบงก์ ไมโครไฟแนนซ์ พวกนี้จะสูญพันธุ์ในที่สุดไหม ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด

พอมีการเชื่อมโยงกันทั้งผู้ออม ผู้ใช้เงิน เชื่อมโยงกันระหว่างผู้ต้องการขายและผู้ต้องการซื้อ แล้วเชื่อมกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เชื่อมกันเองได้โดยไม่ต้องผ่านระบบแบงก์ สมัยก่อนการเชื่อมแบบนี้คนไม่ค่อยเชื่อถือ ผมยังจำได้สมัยแรกๆ ผมจะซื้อหนังสือจากต่างประเทศยังกังวล แต่เขาบอกไม่ต้องห่วง แต่ผมกลัวเขาจะเอาเลขบัตรเครดิตไปดูดเงินออกจากบัญชี ผมเลยต้องใช้บัตรของฝรั่ง ถ้าเกิดปัญหาเขาจะทันเกมมากกว่าบัตรไทย นานเหมือนกันกว่าเราจะมีความมั่นใจกับการใช้อินเทอร์เน็ต แต่มาสมัยนี้การทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นคริปโต กลายเป็นที่ยอมรับ ช่วงแรกคนไม่กล้า แต่พอไปเรื่อยๆ มีความเคยชิน มีความกล้ามากขึ้น ตรงนี้จะเป็นกระแสที่ไปแล้วไม่กลับ จะไปแบบนี้เรื่อยๆ

ในส่วนนี้ถามว่าระบบแบงก์จะปรับตัวอย่างไร ผมคิดว่าแบงก์ต้องมองว่าบางส่วนของตัวธุรกิจแบงก์เขาจะอยู่เหมือนเดิมไม่ได้เพราะต้นทุนแพง เขาต้องมานั่งถามตัวเอง อะไรที่ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมแบบเดียวกันโดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ผ่านระบบดิจิทัล ผ่านระบบคริปโต แล้วต้นทุนเขาต่ำกว่าและเขามีความมั่นอกมั่นใจไม่แพ้กัน ลักษณะอย่างนี้แบงก์ควรจะหลบจากธุรกิจตรงนี้เปลี่ยนไปเน้นการบริการที่ลูกค้ามีความสบายใจกว่า ตรงนี้แบงก์ต้องคิดให้หนัก

อีกอย่างสมมติว่าคนที่ซื้อขายคริปโต ผมตั้งคำถามขึ้นมาคนที่ซื้อขายคริปโตบางคนเขาซื้อขาย 3 วันครั้ง 7 วันซื้อขายที เขาจะเก็บตัวคริปโตของเขากับแพลตฟอร์มพร้อมที่จะเอาออกมาขาย แต่บางคนซื้อแล้วขี้เกียจยุ่ง เก็บไว้นานๆ พวกนี้เก็บนานๆ มีวิธีเก็บคือดูดออกมาแล้วเก็บในฮาร์ดแวร์แล้วเอาไปค้าขาย บางคนเก็บเป็น wallet พูดง่ายๆ มีความยุ่งยาก ผมเคยตั้งคำถามว่าทำไมแบงก์พาณิชย์ไม่คิดให้บริการเก็บรักษาตรงนี้ให้ลูกค้า เผื่อวันนึงสติไม่ค่อยดี จำรหัสไม่ได้ แต่มาแล้วพิสูจน์ได้ว่าเป็นคนคนนี้ก็สามารถเข้าไปเอาสินทรัพย์ดิจิทัลได้ เพราะเวลานี้ไม่มีตัวตน วิธีเข้าจะมีขบวนการ ผมคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้แบงก์น่าจะให้บริการด้านนี้ได้และจะมีคนให้ความสนใจใช้บริการนี้มาก คือต้องคิดพลิกแพลงในการให้บริการให้เน้นจุดเด่นของตัวเองที่แตกต่างไปจากเดิม


ในแง่ของประชาชนจะปรับตัวทันไหม

ประชาชนปรับตัวไม่ทันก็ยังใช้ระบบแบงก์ต่อไปได้ แต่คนที่ปรับตัวได้ต้นทุนเขาจะต่ำกว่า คนที่อยู่ข้างหลังต้องยอมรับว่าต้นทุนจะสูงกว่าคนอื่นเขา เหมือนสถานการณ์ค่อยๆ บีบพวกเราให้ค่อยๆ ปรับตัวที่จะย้ายไปโลกยุคใหม่


เมื่อแนวโน้มทิศทางจะเป็นอย่างนี้ สมควรไปเก็บภาษีการซื้อขายคอยน์หรือไม่ หรือล่าสุดที่ไม่ให้เงินดิจิทัลในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า

ตรงนี้ผมยังไม่ได้คิดลึกๆ แต่ผมยังนึกอยู่ในใจว่าสมมติใครมีคริปโตบางอย่างแล้วอยากให้อีกคนนึงตรงนี้ให้ไปเพื่อชำระหนี้ซึ่งในส่วนนั้นเขาก็มีสิทธิ์รับได้ แต่พอเราบอกเอามาชำระหนี้ได้ตามกฎหมายมันจะยุ่งตรงที่ว่าถ้าเกิดคนปฏิเสธไม่รับก็จะไม่ได้ ในส่วนนี้ผมคิดว่าในการไม่รับเข้ามาเป็นส่วนนึงของ payment แบบเป็นทางการก็อาจจะไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนา

แต่สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากกว่าคือควรจะต้องมีการวางนโยบายภาพรวมหรือแผนยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลว่าเราจะวางตัวเองตรงไหน เราคิดว่าตรงนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศหรือไม่ ถ้าเราจะให้ประเทศไทยมีบทบาทในเศรษฐกิจดิจิทัลที่มากขึ้นจะต้องทำอย่างไร เราจะมีมาตรการอะไรดึงชาวต่างชาติที่มีความรู้ความชำนาญเรื่องนี้ให้มาอยู่บ้านเรา ให้วีซ่าอยู่นาน ส่วนคนไทยเท่าที่ดูมีหลายคนที่มีความรู้ในการพัฒนาตัวธุรกิจดิจิทัล ซึ่งต้องให้การสนับสนุนเขา อาจจะตั้งเป็นกองทุนด้วยซ้ำ อาจจะเป็นรับเข้าไปร่วมลงทุนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งให้สมาคมธนาคารไทยเข้า 20% สมาคมตลาดหลักทรัพย์ 20-30% ที่เหลือรัฐเข้าอีก 10-20% เพื่อให้มีความมั่นใจ เป็นโครงการแบบ unicorn ของคนไทย

อีกส่วนนึงคือในแง่การวางนโยบายภาษีต้องทำอย่างไรให้เป็นที่ถูกใจและจูงใจให้คนมาทำโครงการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในไทย ต้องคิดวางแผนล่วงหน้า มองยาวๆ แล้วเอาคนที่เข้าใจมาคิด ไม่ใช่เอาคนยุคโบราณมาทำ


การเดินมาถึงจุดนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าประเทศไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้นในโครงสร้างการเงิน

ถ้าเราดูสิ่งที่เกิดขึ้นในการออกกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลที่บริหารจัดการในปี 2560 หรือ 2561 ตรงนั้นเห็นชัดว่าหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็น ก.ล.ต.หรือแบงก์ชาติเขาคิดล่วงหน้า แต่ปรากฏว่ากระทรวงการคลังไม่ได้ความ คือไปวางกติกาภาษีโดยไม่มีการคิดให้ลึกซึ้ง และในที่สุดก็มีปัญหาสะท้อนว่ารัฐบาลในระดับกระทรวงการคลังในขณะนั้นไม่ได้สนใจ ไม่มีความรู้ แต่โชคดีที่ระดับปฏิบัติการกับแบงก์ชาติตอนนั้นมีความเข้าใจ ต้องชื่นชมผู้ว่าฯ แบงก์ชาติตอนนั้นและเลขาฯ ก.ล.ต.อย่างคุณรพีที่ช่วยกันประสาน พอมาผู้ว่าฯ คนปัจจุบันและเลขาฯ ก.ล.ต.ปัจจุบันยิ่งดีใหญ่เลย เพราะฉะนั้นต้องชื่นชมระดับปฏิบัติการว่าทำได้ดี แต่ระดับนโยบายยังไม่ได้เรื่อง


134 views
bottom of page