top of page
347550.jpg

โลกเข้าสู่ยุคของแพง...ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 2-4%


Interview : ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

นักเศรษฐศาสตร์มหภาค


ปัญหาระยะสั้นและระยะยาวกดดัน ‘เงินเฟ้อ’ เพิ่มสูงที่ระดับ 2.5-3% มีบางช่วง-บางจังหวะเพิ่มทะลุเกิน 3% แต่ไม่ถึงขั้นทำให้อัตราดอกเบี้ยขยับสูงขึ้นตามไปด้วย เว้นเสียแต่ไวรัสโควิด-19 จะกลายพันธุ์ และเกิดการระบาดรอบที่ 4-6 ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน แร่ธาตุ น้ำตาล ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน 2-4% สำหรับประเทศไทยมีสิทธิ์ถูกเงินเฟ้อฟาดงวงฟาดงาจนอยู่ในฐานะยากลำบาก เหตุจากไทยไม่มีสินค้าตัวธงที่จะไปแข่งขันในตลาดโลก ทั้งในขณะนี้และอีก 10-20 ปีข้างหน้า ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิต อ่อนด้อยด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่สามารถสร้างสรรค์หรือทำเงินจากนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่สามารถยืนอยู่แถวหน้าในฐานะที่เป็นประเทศส่งออกสินค้า-บริการ เลิกฝันที่จะเป็นเสือตัวที่ 5 ในภูมิภาคนี้ อย่างมากหวังได้แค่ประชากรอยู่ได้โดยไม่ขัดสนมากนักก็ถือว่าหรูเกินตัวแล้ว


เงินเฟ้อกลับมาหลอกหลอนนักลงทุนคนเล่นหุ้น


ใช่


โลกนี้ผ่านการทำ QE นับตั้งแต่แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ถึงตรงนี้เรื่องเงินเฟ้อน่ากลัวหรือไม่

เงินเฟ้อช่วงนี้มาจาก 2 สาเหตุ

ระยะยาวก็คือต้นทุนการผลิตเริ่มสูงกว่าสมัยก่อนแล้ว การขนส่ง การได้รับสินค้าหรือวัตถุดิบอะไรต่างๆ ที่มาจากทั่วโลก ไม่ได้เป็นแบบสมัยก่อนแล้ว แหล่งสินค้าแหล่งวัตถุดิบอะไรต่างๆ มันจำกัด ได้เฉพาะในบางจุดที่ตัวเองสะดวก ครั้งนี้การผลิตในแต่ละจุดของโลก ก็จะเริ่มแพงขึ้น ต้นทุนก็จะแพงขึ้นในระยะยาว แต่ว่าความแพงขึ้นตรงนี้ คงไม่ถึงขนาดแพงขึ้น วิ่งไป 5-6% หรือ 10% แต่ราคาวัตถุดิบบางชนิดสูงแน่ เพราะบางชนิดเขาไม่สามารถที่จะเพิ่มการผลิตได้เร็ว จากกำลังการผลิตที่มีอยู่ เช่นพวกที่เกี่ยวกับแร่ธาตุ พวกทรัพยากรแร่ หรือที่เขาเรียกว่าแร่เพื่อการอุตสาหกรรมนั้น ตอนนี้ไม่สามารถที่จะไปขุดขึ้นมาได้ ต้องใช้เวลานานเป็นปี ฉะนั้นสินค้าพวกนี้ เราจะเห็นว่าสินค้าที่เป็น Community หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ช่วงนี้พุ่งกระฉูด วิ่งทั้งปี ขึ้นไปเรื่อยๆ ตอนที่ขยับขึ้นสูงคนจะนึกว่าสูงแล้ว ไม่น่าจะสูงอีก แต่จริงๆ ยังจะสูงไปอีกเรื่อยๆ เพราะราคาวัตถุดิบพวกนี้มันเป็นสิ่งที่สะท้อนว่ากำลังการผลิตที่เพิ่มไม่ได้


ถือเป็นยุคทองของสินค้าโภคภัณฑ์

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราทราบดีว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำมาก เขาก็ไม่ได้ไปลงทุน เคยมีเหมืองเท่าไหร่ก็เอาเหมืองแค่นั้น อย่างมากก็ปิดเหมือง แล้วก็มาเปิดเหมือง แต่ว่าการปิดเหมืองเปิดเหมือง คือถ้าปิดมันปิดได้เร็ว ปิดก็คือไม่ต้องทำเลย แต่ไม่ใช่เปิดแล้วจะทำได้เลย ต้องมีการฟังก์ชั่นทีละส่วนๆ ดังนั้นต้องใช้เวลา คือในช่วงนี้ถ้ามองระยะยาว ราคาสินค้า เงินเฟ้อ เฉพาะด้านการผลิต ผู้ผลิต หรือด้านวัตถุดิบ อาจจะสูงขึ้นกว่าสมัยก่อนมากขึ้น 2-4%

อีกเรื่องของเงินเฟ้อคือปัญหาระยะสั้น ตอนนี้เราเจอปัญหาระยะสั้นคือถึงแม้คนจะไม่ต้องการบริโภคสินค้ามากขึ้นอย่างทันที ยังบริโภคเหมือนเดิม แต่คนต้องการสินค้ามากขึ้นในบางส่วน สินค้าที่สต็อกไว้เริ่มไม่พอ อย่างน้ำมันไม่สามารถที่จะเอาขึ้นมาได้ ถึงแม้เรารู้ว่าระยะยาวเดี๋ยวอิหร่านอะไรต่างๆ อาจจะซัพพลายเข้ามามากขึ้น แต่ว่าขณะนี้ความต้องการที่มีมากทำให้น้ำมันไม่พอ ฉะนั้นราคาน้ำมันก็วิ่งขึ้นไปอีก ตอนนี้ก็ 65 เหรียญต่อบาร์เรลแล้วของสหรัฐอเมริกา


มองแล้วระยะสั้นน่ากลัวกว่า

ตรงนี้ทำให้ระยะสั้นดูเหมือนตัวเลขเงินเฟ้อจะวิ่งแรงมาก ตอนนี้จะวิ่งไปที่ 2.5-3% ก็จะอยู่ระดับประมาณนี้ แต่บางเดือนอาจจะเกิน 3% ตรงนี้จะทำให้คนตกใจ คนก็ตื่นกลัวว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ แต่ส่วนตัวคิดว่าโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยภายในวันข้างหน้าอาจจะต้องใช้วิธีที่ว่าลด QE ก่อน ลดจำนวนเงินสภาพคล่องที่มาซื้อตราสารหนี้ ซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอะไรต่างๆ ต้องทยอยปรับลดลงมาหน่อย

ช่วงสั้นอาจจะยอมให้เงินเฟ้อวิ่งไปสัก 3% ถ้าจะยังรับได้อยู่ ก็อาจจะเห็นว่าเป็นช่วงสั้นๆ เขาอาจจะไม่ปรับอะไร คือไม่ปรับนโยบาย ไม่ไปวุ่นวายกับอัตราดอกเบี้ย ส่วนตัวมองว่าสถานการณ์มันเริ่มจะยาว เขาอาจจะต้องเริ่มคิด แต่คิดว่าตอนนี้ระยะสั้นเงินเฟ้อจะวิ่งแรงพอสมควร พอวิ่งแกว่งทีก็จะทำให้ข่าวออกมา พอข่าวออก คนก็จะขายสินทรัพย์ทิ้งก่อน ส่วนหนึ่งก็ทำกำไรไว้เยอะแล้ว ตอนนี้ก็อยู่ระดับที่คนคิดว่ามันจะขึ้นจริงๆ หรือเปล่า หรือขึ้นวันสองวันแล้วก็ลง แต่โดยทั่วไปคนก็ยังมองว่าดัชนีราคาหุ้นในสหรัฐอเมริกาน่าจะยังวิ่งไปได้อีก เพราะตอนนี้ลงไปพอสมควรแล้ว ลงระยะสั้น ก็คิดว่าจะวิ่งไปได้อีก

แต่ในแง่เงินเฟ้อ คิดว่าขณะนี้ถ้าเรามองจะเป็น 2 ส่วน คือส่วนระยะยาวกับระยะสั้น ระยะยาวนั้นแน่นอนว่าโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ เรื่องการผลิตที่ไม่สามารถทำได้ถูกเหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่ว่าในระยะยาวเงินเฟ้อก็วิ่งไปได้มากไม่ได้เหมือนกัน เนื่องจากคนมีภาระหนี้สินเยอะ เศรษฐกิจมันฟื้นตัวยาก ถึงแม้ประชาชนตอนนี้ เริ่มมีรายได้ เริ่มทำงาน เริ่มมีรายได้ แต่ว่าต้องไปดูคนที่ว่างงาน ส่วนที่เป็นรัฐบาลเองยังมีภาระของภาษีที่ไม่เพียงพอต่อการดูแล ตรงนี้ทำให้สังคมหนี้สินของภาคครัวเรือน ของภาครัฐบาล ยังคงอยู่อีกยาวมาก ฉะนั้นตรงนี้จะเป็นแรงกดดันทำให้เงินเฟ้อขึ้นแรงไม่ได้ ที่วิ่งขึ้นไปเกิน 3% นั้น มันยากมาก แต่ว่าสินค้าบางประเภท โดยเฉพาะประเภทสินค้าโภคภัณฑ์ คิดว่ามีโอกาสสูงที่จะวิ่งกระฉูดได้ในบางช่วง แต่ราคาจะไม่ถูกเหมือนสมัยก่อนแล้ว กลุ่มน้ำตาล พวกสินค้าบางประเภท พวกแร่ธาตุ พวกถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ ราคาจะไม่ต่ำกว่าสมัยก่อนแล้ว เพียงแต่ว่าจะแกว่งตัวแค่ไหนก็อีกเรื่อง แล้วนโยบายของประเทศต่างๆ ที่ออกมาที่จะใช้นโยบาย Green Community จะมีผลต่อราคา พลังงานประเภทต่างๆ อย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สถานการณ์ก็จะเป็นว่า ต้องมอง 2 ส่วน ส่วนหนึ่งระยะสั้น อีกส่วนระยะยาว ในส่วนระยะยาวยังไม่ใช่จุดน่าห่วงเท่าสมัยเรแกน สมัยก่อนหน้านั้นสมัย พอล วอล์กเกอร์ ที่เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยทุกเดือน ต่อเนื่องเป็นเวลา 1-2 ปี คิดว่าสถานการณ์แบบนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากขณะนี้ทั่วโลก มีปัญหาเรื่องการฟื้นตัวที่ไม่ดีจริง ปริมาณเงินที่เอามาหล่อเลี้ยง อาจจะมากไปในบางช่วง ซึ่งอาจจะต้องเริ่มปรับ ก็แปลว่าอัตราดอกเบี้ยที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมา 0.25 บ้าง 0.5 บ้างในหลายๆ ประเทศ มันจะยืนอยู่ตรงนี้ได้ยากใน 1-2 ปีข้างหน้า แต่ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับไวรัสว่าจะกลายพันธุ์ไปเร็วแค่ไหนด้วย ถ้ากลายพันธุ์เร็วและรุนแรงมาก และเกิดการระบาดรอบ 4 ยาวไปถึงรอบที่ 6 อันนี้มันเหมือนกับว่าโลกมันจะยังลุ่มๆ ดอนๆ ตรงนี้ก็จะเป็นปัจจัยที่เรายังมองไม่เห็น และยังต้องระวังอยู่

แต่ว่าเท่าที่มองที่เห็นก็มีแนวโน้มว่าน่าจะฟื้นตัวไม่เกิน 2-3 ปี คิดว่าฟื้นตัวไม่แรง ถ้าจะฟื้นในแง่ของว่าโลกมันปกติขึ้นในบางช่วงในบางระยะ และบางระยะก็อาจยังต้องระมัดระวังกัน


ปัญหาเงินเฟ้อรอบนี้จะทำให้ไทยลำบากหรือไม่

ไทยลำบากแน่นอน เพราะเราไม่มีสินค้าที่จะไปแข่งในตลาดโลก ขณะนี้เราจมอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจเหมือนสมัย 40-50 ปีที่แล้ว สมัยที่คนรุ่นเรายังเรียนหนังสืออยู่ สังคมไทยเน้นการปลูกข้าวอย่างเดียวเพื่อไปขายเขา ตอนนี้เราก็เจอปัญหาเดียวกันคือเราขายความบันเทิง ขายการท่องเที่ยวขายเขา ซึ่งตอนนี้เราเจอปัญหาเดียวกัน มันก็ไม่ง่ายที่เราจะปรับตัวไปผลิตสินค้าอะไรเพื่อไปแข่ง เพราะหลายๆ อย่างเราไม่มีพื้นฐานเพียงพอ อย่างเทคโนโลยีที่กำลังไปได้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แล้วอีก 10-20 ปีต่อไปก็เป็นสาขาที่เราไม่เชี่ยวชาญ เราเป็นเพียงผู้บริโภค อย่างมากเราก็เอามาใช้มากขึ้นได้ 5-6 ปี เราใช้เร็วขึ้น แต่ถามว่าเราได้ประโยชน์อะไร ก็คือได้ประโยชน์ในแง่การเอามาใช้ในแง่การประยุกต์ แต่ประโยชน์ในแง่เมคมันนี่ หรือสามารถทำประโยชน์ในเชิงนวัตกรรม แปลงสภาพของเทคโนโลยีมาเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ดี เราน่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก

เศรษฐกิจของไทยคิดว่าในอนาคตเราจะฟื้นไปอย่างช้าๆ ยกเว้นเรามีการปฏิรูปเศรษฐกิจ มีอะไรต่างๆ ที่เป็นเรื่องเป็นราว มีแผนชัดเจน มีการปรับปรุงกลไกของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราพอรู้แต่ว่าไม่มีใครทำได้ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง

ฉะนั้นมองไปข้างหน้า ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ ดูความเป็นมาเท่าที่เราเคยเป็น ฟันธงว่าโอกาสที่จะฟื้นเร็วๆ มันจะยาก แต่ก็ยังพอไปได้ โอกาสที่เราจะเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าและบริการก็จะยาก ต้องปรับอะไรหลายอย่างพอสมควรที่จะทำให้ไปได้ในแนวทางนั้น

ในส่วนโลกก็จะเคลื่อนช้าในส่วนภาคเศรษฐกิจจริง ภาคที่ขึ้นเร็วคือดิจิทัล เพราะสภาวะที่ต้องอยู่กับไวรัสอย่างน้อย 2-3 ปี วัคซีนเราก็ไม่สามารถทำได้เร็ว ถึงแม้เราจะเป็นผู้ผลิต แต่ก็เป็นการรับจ้างเท่านั้นเอง กว่าจะผลิตได้ ไวรัสก็อาจกลายพันธุ์ มันไม่ทันของเราอาจเน้นคล้ายๆ ว่าช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ก็มองในแง่นี้ไปได้เหมือนกัน ถ้าเร็วมันก็เสี่ยงสูง ช้ามันก็โอเค แต่ต้องทำใจไว้ว่า เราจะไปได้ช้าในระดับที่พอที่จะเลี้ยงดูประชากรให้อยู่ได้โดยไม่ขัดสนมาก จะหวังว่าจะเป็นประเทศเสือตัวที่ 5 ในประเทศ 7-8 ประเทศในแถบนี้มันยาก แค่ท็อป 5 ก็ยาก สมัยก่อน 1 กับ 2 แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว เราอยู่ท้ายๆ แล้ว เพียงแต่จะขยับจากท้ายมากลางๆ ได้มากน้อยแค่ไหน

54 views
bottom of page