top of page
312345.jpg

มาตรการ NPL คลุมเครือ...ผลักภาระสถาบันการเงิน


Interview : ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

นักเศรษฐศาสตร์


ไทยตกอยู่ในวังวนที่วังเวง ทั้งปัญหาโควิด-19 ที่ภาครัฐวางแผนบริหารจัดการผิดพลาด โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ซึมกะทือแทบทุกภาคส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการบริโภคติดลบต่อเนื่องยาวนาน ที่ยังพอดีอยู่บ้างคือดัชนีการผลิตสินค้าอุตฯ ที่เริ่มโงหัวขึ้น ที่น่ากลัวคือรัฐบาลยังงมโข่งเดินหน้าโครงการประชานิยม แทนที่จะเร่งจัดสรรงบนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน ด้านแบงก์ชาติออกมาตรการ NPL ที่คลุมเครือ เหมือนขายผ้าเอาหน้ารอด สุดท้ายเป็นการผลักภาระให้แบงก์และสถาบันการเงินทั้งระบบ อาจนำไปสู่จุดจบที่ดูไม่จืด เศรษฐกิจ-การเงินไทยจะฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก


นักลงทุนขาใหญ่ถีบตัวหนีจากไทยไป จากนี้ไทยจะเป็นอย่างไร

ปกติก็จะมีลักษณะเหลื่อมล้ำ ประเทศที่มีพื้นฐานดีหรือประเทศที่มีเงื่อนไขดีก็จะฟื้นตัวได้เร็วกว่า ส่วนเรื่องโควิด-19 ก็จะเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนด้วย ความเชื่อมั่นว่าความเสี่ยงจะอยู่ในอันดับที่มากหรือน้อยลงก็จะมีผล ช่วงหลังๆ ทั่วโลกจะมีการติดเชื้อมากขึ้น มีการแพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ ของไทยก็หนักมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละประเทศมีบางอย่างคล้ายกัน บางอย่างก็แตกต่างกัน สุดท้ายก็คือว่าความเสี่ยงเริ่มเบาบางลงเพราะมีการฉีดวัคซีนกันแล้ว การที่จะไปทำงานหรือไปทำอะไรก็ดีขึ้น อย่างประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากยังมีการติดเชื้อสูงอยู่ แต่การประเมินความเสี่ยงลดลง เพราะมีการฉีดวัคซีน โดยที่ขณะนี้สหรัฐอเมริกาถือว่าฉีดกันเยอะมากแล้ว

ส่วนของไทยเรามีปัญหาใหญ่ เพราะเรามีการวางแผนที่ผิดพลาดในระดับหนึ่ง คือการจัดหาวัคซีนจากที่ต่างๆ ของเราล่าช้า ก็ต้องดูต่อไปว่าอัตราการเร่งฉีดวัคซีนจะกลับมาได้ดีแค่ไหน ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ของไทยก็ฉีดวัคซีนกันแล้วเพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด แต่ถือว่าไทยมีความล่าช้ามาก ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะนานขนาดนั้น ถือว่าดำเนินนโยบายวางแผนผิดพลาด ซึ่งตอนนี้การที่จะได้วัคซีนมาเร็วๆ คงยาก ต้องไปต่อคิวเขา จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจประชาชน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งควรจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลเรื่องวัคซีนก่อน ก็ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่กล่าวถึง

สำหรับเรื่องเศรษฐกิจ ในแง่ของทางการเองก็มองตัวเลขเศรษฐกิจไม่ดี ส่วนภาคเอกชนที่ดูแลการวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจก็อยู่ในทิศทางคล้ายคลึงกัน ก็คือยังมองไม่ดีนัก ส่วนใหญ่มาจากการประเมินว่าการท่องเที่ยวของไทย ยังไม่กลับมาง่ายๆ แล้วการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ขึ้นอยู่กับโควิด-19 ด้วย ตรงนี้คือที่ส่วนใหญ่ประเมินกัน แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่ไปถึงขนาดนั้น คิดว่าภาคการผลิตส่วนใหญ่ของไทยสามารถฟื้นตัวได้โดยไม่เกี่ยวกับโควิด-19 ยกเว้นในส่วนภาคการบริการที่ยังติดปัญหาอยู่ แต่ถ้ามีซูเปอร์สเปรดเดอร์มากๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นที่ทองหล่อ อันนี้ก็เป็นปัจจัยที่เข้ามาแทรก ก็ต้องคอยติดตามดูต่อไป แต่ภาคการผลิตทั่วไปจะปรับตัวได้ดี ตัวเลขที่เกี่ยวกับเรื่องดัชนีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมนี้ คิดว่าของไทยน่าจะขยับดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นในการบริโภคตัวเลขล่าสุด ยังติดลบอยู่ ถือว่ายังไม่ดีมากนัก แต่อาจจะติดลบน้อยลง ก็ถือว่ายังติดลบอยู่

คิดว่าโดยรวมของไทย ตัวเลขเศรษฐกิจน่าจะดีกว่าที่ทางการประเมินไว้ ไม่ทราบว่าทางการประเมินผลกระทบจากท่องเที่ยวรุนแรงแค่ไหน แต่คิดว่าภาคท่องเที่ยวมีหลายเซกเมนต์ บางส่วนก็ถูกกระทบมากจริงๆ อย่างกลุ่มที่รับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่กลุ่มที่รับนักท่องเที่ยวในประเทศก็ถือว่ากระจายไปพอสมควร


รัฐบาลอาจจะมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า

กรุงเทพฯ อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการล็อบบี้ด้วย ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากๆ เช่นกลุ่มธุรกิจโรงแรม สถานบันเทิง ก็อาจจะล็อบบี้ด้วย ดังนั้น ก็จะอนุโลมที่แปลกคือที่ผ่านมาบางทีก็เปิดผับได้ถึงรุ่งเช้า สถานการณ์แบบนี้คงไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดโดยที่รัฐบาลไม่ทราบ แต่อาจจะอยากให้เศรษฐกิจดี อยากจะเก็บภาษี ก็ปล่อยผ่านไป แต่ภาษีคงเป็นอะไรที่เป็นเหตุผลหนึ่งเท่านั้น คงไม่ใช่เหตุผลหลัก เหตุผลหลักก็คือว่าจริงๆ เขาจะบริหารจัดการเรื่องวัคซีนกับเศรษฐกิจอย่างไร เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าแต่ละคนที่ดูแลอยู่ก็อาจจะประเมินไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นวิธีคิดอะไรต่างๆ จึงออกมาต่างกันไป อย่างเช่นรัฐบาลยังใช้เราชนะอยู่เลย คนละครึ่ง อะไรอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ตัวเลขมันเริ่มจะหมด ก็ขัดๆ อยู่เหมือนกันว่าทำไมต้องใช้เงินแบบนั้น ทำไมไม่เอาเงินไปดูแลเรื่องวัคซีน ไปดูแลให้การเข้าถึงวัคซีนง่ายขึ้น ก็เป็นปัญหาที่เรามองต่างกัน เพียงแต่ว่าการมองต่างกันเกิดจากอะไร ส่วนตัวว่ามันยากที่จะอธิบาย


เที่ยวนี้แบงก์ชาติออกมาอุ้มเต็มที่เลย

ใช่ๆ ทั้งเรื่องการรีพอร์ตตัวเลข เอ็นพีแอลก็กำหนดมาตรการมาตรฐานอะไรต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางให้ตัวเลขมันต่ำ


สุดท้ายแบงก์ชาติจะเจ๊งไหม

คือคงไม่เจ๊งหรอก เพราะแบงก์ชาติไม่ได้เป็นคนจ่ายเงิน แบงก์ชาติมีแต่ออกนโยบายให้ที่อื่นรับภาระไป ประเด็นที่จะมีอยู่ก็คือ ว่าในท้ายที่สุด เศรษฐกิจไทยจะฟื้นช้า เพราะเราทำให้ตัวเลขมันคลุมเครือ และมองไม่เห็นว่าจริงๆ อาการของโรคอยู่ตรงไหน เอ็นพีแอลจริงๆ มันเท่าไหร่ ในหน่วยที่เป็นเอ็นพีแอล 100 คนนั้นมีกี่คนที่แย่จริงๆ แล้วต้องได้รับความช่วยเหลือจริงๆ ส่วนไหนเป็นตัวเลขที่แย่จริงๆ ช่วยไม่ได้แล้ว ไม่รู้จะช่วยไปทำไม หรือส่วนไหนที่เราช่วยแล้ว กลับยิ่งแย่ลง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ตรงนี้จะเป็นปัญหาที่ผลักภาระไปให้สถาบันการเงินที่ต้องไปดูว่าภาระของตัวเอง ลูกค้าของตัวเอง ถึงจะแก้ปัญหาได้ แต่แบงก์ชาติก็พยายามส่งสัญญาณว่าคุณต้องให้ดูตัวเลขไม่แย่นะ เพราะส่วนตัวดูตัวเลขมันแย่จริงๆ เพราะฉะนั้น เวลาคุณประเมินสถานการณ์ของสถาบันการเงิน ก็ต้องประเมินให้มันน่าเชื่อถือ ของทางการก็คือว่าให้ตัวเลขออกมาไม่ดี


ทำแบบนี้ทำให้ไม่สะท้อนความเป็นจริง

ถูก มันมาจากความเห็นของคน จากนโยบาย และจากมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน สมมุติลูกหนี้มีปัญหา ก็ต้องฟังก่อนว่าคนไข้เขาปวดหัวแบบไหน ปวดหัวเป็นเวลาหรือไม่ หรือจริงๆ เขาไม่ตรวจ เขาชอบโวยวาย หรือสถาบันการเงินบางแห่งป่วย แต่รู้สึกว่าตัวเองรับได้ คือเป็นเรื่องที่ต้องทำใจ ทางการก็ต้องคอยติดตามดูแล ขณะเดียวกัน ช่วงหลังๆ รัฐบาลต่างๆ ตั้งแต่ส่วนแบงก์ชาติหรือส่วนอื่น มักจะมีความรู้สึกว่าต้องเข้าไปทำให้ดีขึ้น ต้องเอาเงินเข้าไปเท ต้องหาทางช่วยเหลือ คือมันกลายเป็นความคิดแบบประชานิยมมากขึ้น เหมือนกับว่าถ้าไม่มีปัญหามันก็ไม่มีบทบาทเข้าไปดู เหมือนมีบัญชีที่สอง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี มาจากอัตราภาษีที่มันสูง ยิ่งสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นคนที่ทำธุรกิจวันนี้ก็มีส่วนหนึ่งที่กังวลว่าถ้ารัฐบาลใช้เงินเก่งอย่างนี้ ต่อไปก็ต้องมาเก็บภาษีเราเพิ่มหรือไม่ แล้วเราจะทำอย่างไร อะไรเหล่านี้

ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นความซับซ้อนพอสมควรและเป็นศิลปะพอสมควรที่คนกำหนดนโยบายเศรษฐกิจจะต้องดูแลว่าจะทำอย่างไรให้สูง ทุกคนยื่นภาษีกัน ทำอย่างไรให้รายจ่ายของรัฐบาลอยู่ในระดับที่พอเพียง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาเงินมาตุนรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ถูกวิธี ไม่ใช่กู้มาทั้งหมด กู้มาทั้งหมดมันง่าย อยากใช้ร้อยกู้ร้อย ฟังดูง่ายมาก แต่ว่าผลักภาระไปให้อนาคต ก็ต้องดูว่าภาษีตัวไหนที่สูงแล้ว เราก็ขึ้นไม่ได้


เศรษฐกิจโลกไตรมาสสอง หลายๆ ที่บอกว่าเริ่มดีขึ้น อียูบอกว่าครึ่งปีหลังก็จะฟื้นแล้ว สหรัฐอเมริกาก็มีแผนกระตุ้นเยอะแยะ ตรงนี้จะมีผลอะไรกับไทยบ้าง

ไทยคงได้รับอานิสงส์ไม่มาก เพราะเศรษฐกิจในประเทศเริ่มแย่มากขึ้น แต่ส่วนที่จะเป็นจุดลบของไทยเราคือจะต้องระวังค่าเงินดอลลาร์ที่สูงขึ้น เพราะไทยเราอิงค่าเงินดอลลาร์ พอค่าดอลลาร์สูงขึ้น ค่าเงินบาทของไทยถึงจะอ่อนลงแต่ก็ยังแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และตรงนี้จะมีผลซ้ำเติมประเทศไทยพอสมควรในระยะต่อไป แปลว่าในอนาคตทิศทางค่าเงินดอลลาร์และอะไรต่างๆ มันชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นช้าเมื่อเทียบกับชาวบ้านเขาไปเรื่อยๆ ก็จะแย่กันไปเรื่อยๆ คือไม่ใช่ว่าตอนนี้เราห่างเขา เดี๋ยวเราจะมาทำให้แก๊ปมันแคบลงคงไม่ใช่ แก๊ปนี่มันจะห่างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศสหรัฐอเมริกา

20 views
bottom of page