top of page
369286.jpg

คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวปี '65...แนะบริหารสภาพคล่องให้ถึงที่สุด


หวัง...เศรษฐกิจไทยจะติดลบต่อเนื่องแค่ 2 ปี คือปี 63 และปี 64 ต้นปี 65 เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มกระเตื้องในทิศทางที่ดีขึ้นจากผลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เริ่มเป็นไปตามแผนคือครอบคลุม 70% ของประชากร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่มีการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่คาดไม่ถึง-รับมือไม่ได้มากดดันอีกรอบ สิ่งที่คนไทยทั้งภาคประชาชนและธุรกิจต้องรับมือในภาวะเช่นนี้คือดูแลสุขภาพ ฉีดวัคซีน และบริหารสภาพคล่องให้ดีที่สุด


Interview : ดร.เชาว์ เก่งชนประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาแบงก์ชาติพูดถึงดอกเบี้ยไทยที่ไม่ได้ปรับ ประเมิน GDP ปี 64 ไม่ถึง 1% ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับปี 63 ที่ติดลบ 6.1% และแบงก์ชาติยังยอมรับว่าหมดกระสุนที่จะพยุงเศรษฐกิจแล้ว ตอนนี้เศรษฐกิจไทยยืนปากเหวจริงๆ แล้วใช่ไหม

ปีนี้มีโอกาสจะติดลบต่ำกว่าที่ ธปท.ประเมินอีก ผมว่าเหตุการณ์อยู่ในสภาพที่เป็นไปได้ว่าตัวเลขการแพร่ระบาดจะเหมือนที่สาธารณสุขและ ศบค.คาดการณ์ว่าถึงจะมีการล็อกดาวน์แต่การติดเชื้อในเดือนหน้าอาจจะไป 45,000 รายต่อวัน จึงอาจจะขยายเวลาการล็อกดาวน์ ในกรณีนี้มันเลี่ยงไม่ได้หรือตัวเลขคงติดลบ มีความเสี่ยงว่าประมาณการต่างๆ อาจจะต้องทบทวนกันและขยับลงกัน อันนี้ผมหมายถึงเฉพาะของเราคือของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่เราใช้อยู่ที่ร้อยละ 1


ถ้าติดลบด้วยสถานการณ์แบบนี้ จะติดลบลึกขนาดไหน

คิดว่าอย่างกรณีเลวร้ายเฉพาะปีนี้อาจจะติดลบต่อเนื่องจากปีก่อน ส่วนปีหน้าเนื่องจากการฉีดวัคซีนในระยะหลังทำได้ค่อนข้างดี ตัวเลขเมื่อกลางเดือน ส.ค.น่าจะเกิน 600,000 คน เป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ ขณะนี้ถ้าเราฉีดได้วันละ 500,000 คนเฉพาะเข็ม 1 เข็ม 2 ไม่รวมเข็ม 3 คิดว่าน่าครอบคลุมประชากรได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ภายในสิ้นเดือนมกราคมปีหน้า หลังไตรมาส 1 ปีหน้าประชากรส่วนใหญ่น่าจะได้รับวัคซีนไปแล้ว

ส่วนประเด็นที่ต้องตามคือแม้ว่าจะได้รับวัคซีนไปแล้วแต่ภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งอาจจะมีมาอีกจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ใช่แค่เดลตาก็ยากที่คาดการณ์ ต้องรอดูแต่เหตุการณ์เรื่องกลายพันธุ์ของไวรัสพอสมควร แต่ถึงตอนนี้ไม่แย่เกินไป ถ้าเราฉีดได้เกินร้อยละ 70 ของประชากรภายในมกราคมปีหน้าตัวเลขปีหน้าน่าจะฟื้นตัวได้อย่างที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ว่าปีหน้าคาด 3.7% แต่เฉพาะปีนี้เป็นไปได้ว่าเสี่ยงตัวเลขจะติดลบ ส่วนปีหน้าไม่คิดว่าจะติดลบเป็นปีที่ 3 น่าจะอยู่ในแดนบวกได้


ในเชิงเศรษฐศาสตร์ถ้าประเทศมี GDP ติดลบ 2 ปีติดกันจะเกิดอะไรขึ้น

การติดลบแต่ละรอบเศรษฐกิจต้องดูสาเหตุของปัญหาด้วย ถ้ารอบนี้เป็นกรณีพิเศษ คือ ไม่ได้เกิดขึ้นจากกลไกหรือโครงสร้างที่มีปัญหาในเศรษฐกิจ แต่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามากระทบแล้วเศรษฐกิจไทยพึ่งการท่องเที่ยวมากๆ อันนี้ไม่เหมือนช่วงต้มยำกุ้งปี 2540 ที่เป็นเรื่อง balance sheet ของเราเอง เรื่องการก่อหนี้ต่างประเทศในจำนวนมาก เรื่องดุลบัญชีเงินเดินสะพัด ทุนสำรอง แต่รอบนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

รอบนี้ระยะเวลาหดตัวขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของไวรัส ถ้าเราฉีดวัคซีนได้วันละ 500,000 คนจนครอบคลุม 70% ของประชากรภายในมกราคมปีหน้าก็จะลดความเสี่ยงของการติดลบปีหน้าลงไป ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็เกิดไปแล้วคือลูกหนี้จำนวนมากต้องเข้าสู่โครงการให้ความช่วยเหลือของสถาบันการเงินที่ดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งช่วยให้สถาบันการเงินออกมาตรการต่างๆ มาดูแล เห็นในข่าวมีระบุว่าในเดือนนี้อาจจะมีมาตรการอีกชุดออกมา

มีความเสียหาย ผลกระทบเกิดขึ้นไปแล้วโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจจำนวนมากขาดสภาพคล่อง แต่ทางการมีการผลักดันเรื่องมาตรการช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงิน ลูกหนี้ที่มีปัญหาต่างๆ ส่วนใหญ่ได้รับการดูแลไปแล้ว แต่ถ้าเหตุการณ์แย่กว่าที่คาด หรือเราฟื้นการท่องเที่ยวไม่ได้ดีอย่างที่เราหวังกันหรือทำไม่ได้ก่อนสิ้นปีนี้ ปัญหาการฟื้นตัวจะลากยาว ธุรกิจจำนวนหนึ่งที่หวังว่าไตรมาส 4 จะดีขึ้นหรือท่องเที่ยวพอจะกลับมาได้ แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น เขาจะอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากและมีประเด็นปัญหาสภาพคล่องและมาสู่ประเด็นที่ธปท.ออกมาตรการอีกระลอกนึงภายในสิ้นเดือนนี้


เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักเลย

ส่วนนึงคือดูแลกันโดยสถาบันการเงินและธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ขาดสภาพคล่อง คนที่ไปไม่ไหว ก็พึ่งสถาบันการเงินที่ผ่อนเกณฑ์ผ่อนการชำระต่างๆ ที่พอจะเป็นไปได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้จริงๆ ก็มีมาตรการที่ออกไปแล้วอย่างพักทรัพย์พักหนี้ หรือตามข่าวที่จะมีออกมาในสิ้นเดือนที่ขยายเวลา อันนี้รอยืนยันว่ามาตรการนั้นจะออกมาตามข่าวหรือไม่ ส่วนแรงกระตุ้นส่วนใหญ่ กำลังซื้อหลัก เม็ดเงินที่อัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหลัก นอกจากรัฐบาลซึ่งมีมาตรการเยียวยาออกมาก็จะเป็นภาคส่งออกเพราะตัวเลขส่งออก 6 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวได้ถึง 15.5% ยังโชคดีว่าเรายังมีแรงผลักแรงหนุนจากส่งออก ถ้าไม่มีตัวนี้ตัวเลขคงแย่กว่านี้เยอะ


เรื่องการกระตุ้นส่งออกเป็นเหตุผลไหมที่ค่าเงินบาทอ่อนลงไปมาก

ประเด็นค่าเงินบาทในมุมมองของเราคิดว่าเป็นผลมาจากเงินดอลลาร์ คือตั้งแต่ต้นเดือนนี้ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐออกมาดีกว่าที่คาดและตลาดเริ่มคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐคงจะประกาศลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ น่าจะประกาศลดวงเงินทำ QE ลง ซึ่งคาดกันว่าลด QE ภายในเดือนหน้าและทำจริงๆ คงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ถ้าเศรษฐกิจยังไปได้ต่อเนื่องโดยไม่สะดุดเป็นไปได้ว่าเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยปลายปีหน้าหรือปีถัดไป ฉะนั้นดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์เช่นนี้ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนลง ผมว่าเงินบาทอ่อนลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากดอลลาร์เป็นหลัก


กลายเป็นผลดีต่อการส่งออก

ใช่ เป็นผลดีต่อผู้ส่งออกโดยเฉพาะภาคเกษตรเพราะรายได้เงินตราต่างประเทศแปลงเป็นเงินบาทได้เยอะขึ้น สภาพคล่องเงินบาทเพิ่มขึ้นกว่าที่ผู้ส่งออกประเมินกันไว้ที่ 33 บาท ดีกว่าที่ประเมินไว้ช่วงต้นปีที่คาดไว้ที่ 32 บาทเท่านั้นเอง


แล้วเงินบาทจะอยู่ระดับอ่อนค่าไปนานแค่ไหน

ปัจจัยหลักยังเป็นดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้อิทธิพลต่อเงินบาทมาจากฝั่งเขามากกว่าเรา เรื่องการผันผวนเงินบาทและดอลลาร์ส่วนใหญ่มาจากฝั่งสหรัฐ เรื่องสำคัญคงเป็นกรณีของเฟดที่อาจประกาศลด QE ในเดือนกันยายนตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เล็งกันไว้ ถ้าตัวเลขการจ้างงานของเขาไม่ถูกกระทบจากการแพร่ระบาดเดลตามากนัก เฟดคงทยอยลด QE ดอลลาร์คงมีแรงหนุน แต่ถ้าการแพร่ระบาดในของสหรัฐทะลุเกินแสนอย่างที่เราเห็นบางวันก็เป็นแสน แต่ถ้าไปมากกว่านี้การคาดการณ์ในเชิงบวกเศรษฐกิจของสหรัฐ ว่าจะดีคงไม่เป็นอย่างนั้น มันจะกลับหัวมาอีกด้านนึง ดอลลาร์จะดิ่งลง ผมว่าเรื่องบาทและดอลลาร์คิดว่าส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นผลจากฝั่งสหรัฐมากกว่าฝั่งเรา


จากนี้ถึงสิ้นปีนักลงทุนควรวางตัวอย่างไรให้อยู่รอด

อย่างแรกคือดูแลสุขภาพ ฉีดวัคซีนการป้องกันโควิด ผมว่าถ้าไม่มีสิ่งเบื้องต้นเหล่านี้คงทำอะไรไม่ได้ ต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้น

เรื่องที่ 2 สภาพคล่อง เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจเราจะหดตัว มีความเสี่ยงที่ต้องปรับประมาณการลงปีหน้า แม้ว่าเราคาดว่าปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ แต่ก็ควรต้องติดตาม ถ้าเหตุการณ์ไม่คลี่คลายภายในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปีหน้า แล้วถ้าเกิดปัญหายาวขึ้นไปอีก สภาพคล่องจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการดำเนินธุรกิจ

33 views

Comments


bottom of page