top of page
347550.jpg

เชื่อ! ไทยผ่านวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดของปีไปแล้ว...คาดใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี จึงจะกลับมาแข็งแรง


Interview : ดร.อมรเทพ จาวะลา

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย


เชื่อ...ไทยผ่านวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดของปีไปแล้ว ไตรมาส 3-4 เศรษฐกิจจะขยับดีขึ้นอย่างช้าๆ แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปีจึงจะกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง ส่วนการก่อหนี้ทั้งของรัฐบาล ธุรกิจเอกชน หนี้ส่วนบุคคล สูงพุ่งพรวดกว่าปกติ เตือนภาครัฐต้องใช้จ่ายงบฯ อย่างโปร่งใส แก้ปัญหาได้จริง กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ส่วนภาคธุรกิจเอกชน มนุษย์เงินเดือน ต้องปรับมุมมอง-กลยุทธ์ในการทำธุรกิจ การทำงานให้สอดคล้องกับยุค New Normal จึงจะอยู่รอดได้ แนะ...หลังหมดช่วงผ่อนปรนการชำระหนี้ ผู้ที่มีกำลังควรกลับมาชำระหนี้ตามเดิม เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ ขณะที่แบงก์ชาติ-แบงก์พาณิชย์ต้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ด้วยการยืดระยะเวลาชำระหนี้ จะได้ไม่เกิดปัญหา NPL แบบเฉียบพลัน พร้อมแจงประเด็นสำคัญของครึ่งปีหลังคือ R-E-S-T R-Reshuffle คือการปรับครม. ซึ่งจะปรับหรือไม่ปรับก็ได้ แต่ต้องมีความชัดเจนต่อเนื่องในแง่นโยบายที่ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ E-Exchange Rate ที่เงินบาทต้องอ่อนค่าเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก S-Second Wave หรือการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ในไทยต้องไม่เกินขึ้น และ T-Trade War ระหว่างอเมริกา-จีน มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

เข้าครึ่งปีหลังแล้ว ไทยชนะโควิด แต่แพ้เศรษฐกิจหรือไม่

เรียกว่ายังต้องติดตามกันต่อ เพราะเราควบคุมการระบาดของโควิดเรียกว่าดีสำหรับประเทศไทยถ้าเทียบกับอีกหลายประเทศ ต้องยอมรับว่าการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ของบ้านเราถือว่าดีทีเดียว ส่วนถ้ามองภาพต่อไปจากการที่ล็อกดาวน์ปิดเมือง ปิดระบบเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ตอนนี้เราเริ่มเปิดแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าครึ่งหลังของปีมองว่าเดือนกรกฎาคมดูท่าทางไม่น่าเลวร้ายเท่ากับช่วงไตรมาส 2 ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์มองภาพครึ่งปีหลังว่าจะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะไม่หวือหวา แต่น่าจะดีกว่าช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

มองว่าเศรษฐกิจไม่ได้ซึมยาวใช่ไหม

วันนี้ก็ทำนายยากเหมือนกันที่จะบอกว่าซึมยาวหรือไม่ ถ้าดูจากลักษณะเศรษฐกิจก็อาจจะติดลบต่อเนื่อง หรืออาจจะลากยาว ก็ต้องทำใจว่าวันนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วมูลค่าทางเศรษฐกิจอาจจะหายไปได้ถึง 10% คือถ้าพูดถึงตัวเศรษฐกิจ GDP ครึ่งหลังแม้ว่าระบบจะดูดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 แต่ถ้าเทียบกับปีที่แล้วอาจจะติดลบถึง 10% นี่คือการคาดการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ที่เลวร้ายที่สุดคือไตรมาส 2 ที่เศรษฐกิจอาจจะหดตัวได้ถึง 14% นี่คือการคาดการณ์ รอสภาพัฒน์รายงานเศรษฐกิจไตรมาส 2 ในช่วงเดือนหน้า

แต่มองว่าการเติบโตเทียบไตรมาสกับไตรมาสน่าจะดีขึ้น ครึ่งหลังทำไมดีกว่าไตรมาส 2 เพราะอย่างน้อยเราไม่มีการล็อกดาวน์ เริ่มเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คนเข้าร้านอาหาร ซื้อสินค้าได้มากขึ้น ไม่ได้บอกว่าจะกลับไปดีเหมือนเดิม แต่อย่างน้อยน่าจะดีกว่าในช่วงไตรมาส 2 ส่วนด้านการท่องเที่ยวยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ แต่ก็มีสัญญาณเชิงบวกว่าช่วงปลายปีหรือปีหน้าจะทยอยกลับมาได้บ้าง จะให้กลับไปเหมือนเดิมที่นักท่องเที่ยวมาบ้านเราปีละ 40 ล้านคน คงยังไม่เห็น แม้ว่าจะปีหน้าหรือ 2 ปีนับต่อจากนี้ไปก็ตาม

แต่ถือว่าเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ให้สบายใจตรงนี้ก่อน

อย่างน้อยสบายใจได้ในระดับนึง แต่ถ้าถามคนที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม วันนี้คงยังไม่สบายใจ เพราะธุรกิจเดินหน้าไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรือที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่าย วันนี้ยังพอไปได้ ส่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขนส่ง อาจจะใช้เวลาหน่อย แต่อย่างน้อยยังมีความหวังมีการคลายล็อกทางเศรษฐกิจ ในช่วงต่อจากนี้ไปในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้า สุดท้ายระบบเศรษฐกิจจะเริ่มขยับ ในส่วนที่ฟื้นตัวช้าคือเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่เรายังมองภาพการฟื้นตัวว่ายังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

สิ่งที่สำคัญที่จะมาช่วยทุกอย่างให้ดีขึ้น มองว่าควรมีอะไรเข้ามาเป็นตัวเสริม นโยบายรัฐบาลที่มีมาก่อนหน้านี้ ควรทำอะไรเพิ่มเติมไหม

ถ้ามองดูสิ่งที่ต้องทำเสริมต้องมีอยู่แล้ว วันนี้มีเรื่อง พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน เป็นพ.ร.บ.ไปแล้ว วันนี้อัดฉีดชดเชยเงินได้เต็มที่สำหรับผู้ว่างงานช่วงโควิด และมีอีก 4 แสนล้านกำลังทยอยออกมาอยู่ แต่ต้องมาดูว่าสุดท้ายเม็ดเงินในกลุ่มไหนทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน และก็ไม่ได้มองแค่นี้ ต้องมองต่อเนื่องไปจนถึงงบประมาณปี 2564 ว่าควรทำอะไรอีกบ้างนอกจากเรื่องการทำถนน การสร้างสาธารณูปโภค เช่นอาจเป็นเรื่องการเพิ่มมูลค่าสินค้า เชื่อว่าจะมีหลากหลายโครงการที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน สิ่งสำคัญที่สุดคือการกระจายรายได้ วันนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจโดนผลกระทบค่อนข้างจะแรงจากคนที่มีรายได้ระดับล่าง

แต่ถ้ามองเรื่องการเงิน แบงก์ชาติบ้านเราเป็นแบงก์ชาติแรกๆ ที่มีการลดดอกเบี้ยและมีมาตรการที่จะลดภาระคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด อาจจะมีการยืดเวลาชำระหนี้ ซึ่งตรงนี้มองโอกาสผ่อนคลายในจุดนี้ หรือนโยบายดอกเบี้ยต่ำก็เป็นโอกาสหรือเป็นผลที่สามารถประคองเศรษฐกิจได้ในช่วงนี้ มองว่าต่อไปมาตรการต่างๆ คงจะทยอยมีมากขึ้นหรือต่อเนื่องและช่วยซัพพอร์ตเศรษฐกิจ เพราะกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้ต้องใช้เวลาถึงกลางปีหน้าจึงจะสามารถพลิกเป็นบวกหรือเติบโตมีสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น

นโยบายการคลังที่หวังพึ่งงบประมาณรวมถึงงบปี 2564 และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เช่น โครงการ 4 แสนล้านนั้น ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์จะทำให้ความยั่งยืนทางการคลัง วินัยการคลัง เสียไปหรือเปล่า

นักเศรษฐศาสตร์ก็เป็นห่วงทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นหนี้ภาครัฐ หนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจ แต่วันนี้ต้องบอกก่อนว่าต้องชั่งใจนิดนึง เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าปริมาณหนี้จะต้องสูง ก็ต้องทำใจ เพราะเศรษฐกิจแย่อยู่แล้ว รัฐบาลก็ต้องกู้มากขึ้น หรือเรื่องขาดดุลงบประมาณปีหน้าก็จะเข้ามาอีก ตัวหนี้ต้องเพิ่มสูงอยู่แล้ว แต่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าหนี้ต่อ GDP คือหนี้ที่เราพูดกันว่าจะเป็นกี่ล้านล้านขึ้นมาก็แล้วแต่ แต่ต้องไม่ควรเกิน 60% นั่นคือวินัยทางการคลังที่หลายประเทศใช้กัน แต่วันนี้หนี้มันเพิ่มขึ้นเร็ว GDP ก็ลดลง อย่างทางสำนักวิจัยฯ ซีไอเอ็มบี บอกปีนี้ GDP จะหดตัวถึง 8.9% ส่วนปีหน้ามองจะขยายตัวได้ระดับต่ำที่ 3-5% โดยรวมเราบอกว่าหนี้ต่อ GDP คือหนี้เพิ่มเร็ว แต่ GDP หาย เพราะฉะนั้นหนี้ต่อ GDP จะขึ้นเร็ว เขาเลยกลัวว่าปีหน้าจะทะลุ 60% หรือเปล่า

วันนี้สิ่งที่กังวลกว่าคือ แล้วเศรษฐกิจจะเติบโตได้ไหมถ้ามีการก่อหนี้ขึ้นมาเพื่อชดเชยคนที่มีรายได้ลดลง และมีความโปร่งใสในการใช้เงินแค่ไหน จะสามารถทำประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจระยะยาวหรือไม่ ผมว่าการเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล แต่ขอให้เรากลับมาชำระหนี้ได้ ไม่เสียเครดิตเรตติ้ง อย่าให้บ้านเราเป็นหนี้เกินตัว อย่าถูกหั่นอันดับความน่าเชื่อถือ เพราะจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินต่างประเทศจะสูง วันนี้มองว่าของบ้านเรายังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็ต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการใช้เงินให้เป็นประโยชน์สูงสุด

การที่เอกชนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินซึ่งแบงก์ก็ช่วยเหลือกันไป ขณะเดียวกันเรื่องของการดำเนินธุรกิจก็มีการผ่อนปรนเรื่องของการผ่อนชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย ซึ่งจะครบกำหนดการผ่อนปรนแล้ว คาดว่าหนี้จะพอกเป็นหางหมู กลายเป็น NPL เป็นวิกฤตหนักหรือไม่

ก็เป็นประเด็นที่เรามอง คือมาตรการการพักชำระหนี้เป็นเรื่องจำเป็นในการช่วยเหลือคนที่มีภาระรายจ่ายทางด้านธุรกิจ SME หรือส่วนบุคคล กู้บ้าน กู้รถ สินเชื่อบัตรเครดิต วันนี้เข้าใจว่ารายได้หาย จะให้ชำระหนี้ได้เหมือนเดิมก็คงไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็มีมาตรการของแบงก์ชาติร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในการยืดการชำระหนี้ออกมา อาจจะไปหมดอายุประมาณกันยายน-ตุลาคมก็แล้วแต่โครงการ วันนี้ก็ต้องมาถามว่าหลังจากหมดมาตรการตรงนี้แล้ว คุณต้องกลับมาชำระหนี้ สุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้น แน่นอนวันนี้เศรษฐกิจหดตัว 10% ในช่วงครึ่งหลังของปีคนอาจไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้หลายคน บางคนอาจจะบอกกลับมาชำระหนี้ได้ บางคนบอกยังไม่สามารถหารายได้กลับมาเหมือนเดิม เพราะแม้วันนี้เปิดร้านอาหารได้ แต่คนนั่งก็ยังไม่เต็ม ความเชื่อมั่นยังไม่มี เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องเข้าใจว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมีค่อนข้างมาก

กรณีที่ถ้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ไม่เหมือนเดิม จะเป็นหนี้เสียนั้น เรามีการคำนวณกันดูว่าปริมาณหนี้เสียไม่ถึงขั้นกลับไปซ้ำรอยปี 2540 ที่เกิดวิกฤตการเงินของเอเชีย ซึ่ง NPL 50% แต่วันนี้ผมมองว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือหลังจบมาตรการมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องใช้เวลา ก็อาจจะมีการยืดเทอมการผ่อนปรนหนี้ตรงนี้ออกไป ต้องมาดูว่าแบงก์ชาติหรือกระทรวงการคลังจะมีความเห็นอย่างไรบ้าง แต่สิ่งที่อยากจะพูด คือใครหรือนักธุรกิจท่านใดหรือใครมีภาระหนี้อยู่แล้ว ถ้ามีความสามารถในการชำระหนี้ได้ก็อยากเชิญชวนให้กลับมาชำระหนี้ เพราะอย่างน้อยเป็นการเติมเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งธนาคารพาณิชย์อาจให้แรงจูงใจเช่นลดดอกเบี้ย เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาได้มากที่สุด ไม่อย่างนั้นแล้วถ้ายืดกันต่อไปก็จะเป็นปัญหาไม่รู้ว่าสุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต คนจะยิ่งกังวลเข้าไปใหญ่ แต่ถ้ามีการยืดระยะเวลาการผ่อนปรนหนี้ หรือให้แรงจูงใจสำหรับผู้ที่กลับมารชำระหนี้ สุดท้ายเศรษฐกิจจะเดินได้แบบค่อยเป็นค่อยไป

ระบบธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังและดูแลสถานะค่อนข้างแน่นปึ้กกว่าตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง การปล่อยกู้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ

วันนี้เรื่องของทุนก็มีปัญหามาก ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าทุกคนระมัดระวังกันหมด กลัวความเสี่ยง สุดท้ายไม่รู้อันไหนจะว่ามากเกินไป อย่างคนที่อยากจะได้สินเชื่อ ถ้าเป็นกลุ่มหาเช้ากินค่ำ รายได้ไม่มั่นคง แม้จะมีเงินเข้ามาในระบบตลอด แต่แบงก์อาจจะบอกว่ามีความเสี่ยง ก็อาจจะให้เงินกู้น้อยหน่อยหรือคิดดอกเบี้ยสูงจนเขาไม่สามารถกู้ได้ ก็ต้องมาดูว่าในมุมที่มากเกินไปเป็นมุมของใคร เพราะวันนี้มีความไม่แน่นอนสูง ทุกคนระมัดระวังหมดรวมทั้งธนาคารพาณิชย์ด้วย ก็ต้องมองอีกจุดหนึ่งว่าถ้าปล่อยมากเกินไปโดยไม่ระมัดระวังก็จะกลายเป็นหนี้เสียซ้ำรอยปี 2540 ก็ไม่อยากเป็นแบบนั้นอีก

ในมุมมองของประชาชนทั่วไป นักลงทุนคนไทย ควรที่จะทำตัวแบบไหนดี ทุ่มลงไปในธุรกิจหรือกำเงินสดไว้ก่อน หรือควรหยุดธุรกิจไว้แบบไหน

วันนี้สิ่งที่เราเรียนรู้คือทุกคนปรับลดรายจ่าย วันนี้ประเทศไทยมีเงินออมมากขึ้น อยากบอกว่ารายได้หายไป แต่รายจ่ายลดลงเร็วมาก วันนี้เงินออมในระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในอเมริกาเงินออมก็เพิ่ม คนระมัดระวังการจ่าย แต่ถ้ามองต่อไปสำหรับธุรกิจสิ่งที่ต้องปรับตัวในอนาคตคือเราเองจะทำอย่างไรในการลดต้นทุนมากขึ้น เพิ่มมูลค่าสินค้ามากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องมองคือพยายามทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น วันนี้เราไปเดินตลาดดูว่าคนปรับตัวอย่างไร จากร้านที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาดื่มมากิน ก็ปรับตัวขายของให้คนในประเทศมากขึ้น มีการลดราคา พยายามสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาใช้บริการ ผมว่าการขายสินค้าในประเทศ ขายให้คนในประเทศช่วงระยะสั้นช่วงโควิดแบบนี้เป็นทางรอดทางเดียว แต่ในระยะยาวต้องมีการทำอะไรใหม่ๆ เรียนรู้ใหม่ๆ แม้แต่มนุษย์เงินเดือน พนักงานทั้งหลายต้องหาทักษะใหม่ๆ เพราะเราไม่รู้อนาคตว่าหลังโควิดแล้วจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนเศรษฐกิจในระยะยาวหรือเปล่า ก็ต้องเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ เป็นโจทย์นึงที่สามารถให้เรารอดพ้นและเติบโตได้ในยุคหลังโควิด

อย่างน้อยช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจน่าจะมีการฟื้นฟูแบบไตรมาสต่อไตรมาสไปก่อน เป็นแบบตัวย่อ R-E-S-T

ผมว่ามีประเด็นที่ต้องติดตามในช่วงครึ่งปีหลังของปีเป็นอักษรย่อว่า R-E-S-T คือพักผ่อน แต่ไม่รู้ว่าจะได้พักจริงหรือเปล่า อย่างน้อยเป็นปัจจัยเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับครม. คือ R -Reshuffle ตอนนี้อย่างน้อยเอกชนไม่ได้บอกว่าต้องปรับ หรือไม่ปรับแต่ขอให้มีความเชื่อมั่น มีความชัดเจน ต่อมา E คือ Exchange Rate ค่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่าเพื่อช่วยผู้ส่งออกได้บ้าง ส่วน S คือ Second Wave หรือการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ยังเชื่อว่ายังควบคุมได้ดี การระบาดรอบ 2 ในไทยไม่น่ามี ในประเทศสามารถจัดกิจกรรมเศรษฐกิจต่อเนื่องได้ สุดท้ายคือ T หมายถึง Trade War หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน น่าจะเข้าสู่การเจรจาได้ การส่งออกในปีถัดๆ ไปน่าจะไม่ติดลบแรงเท่ากับที่เราเห็นก่อนหน้า ยังมองเอาใจช่วยว่าครึ่งปีหลังของปีไม่รู้จะพักผ่อนได้แค่ไหน แต่อย่างน้อยยังดีกว่าในช่วงไตรมาส 2

ตัว R เรื่องการปรับครม.ไม่รู้จะออกมารูปแบบไหน แต่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์อยากให้ทีมเศรษฐกิจที่มาจะมาดูแลนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเป็นแบบไหน

ผมมองว่าควรปรับหรือไม่ปรับนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่ขอให้ชัดเจน จะทีมเดิมอยู่ต่อก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะสิ่งที่เอกชนต้องการคือความต่อเนื่องของนโยบาย โครงสร้างพื้นฐานมีแล้ว EEC จะเกิดหรือเปล่า จะดึงเอกชนจากต่างชาติมาบ้านเราได้ไหม สิ่งสำคัญคือเรื่องตรงนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามองภาพดรีมทีมหรือใครที่จะเข้ามาก็ตามสิ่งสำคัญคือสร้างความชัดเจนเรื่องความต่อเนื่องในสิ่งที่ทำไปแล้ว ตรงนั้นจะเป็นโจทย์สำคัญเหมือนกัน แต่ถ้ามองต่อ ไม่ได้บอกอยู่เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไร ถ้ามีทำอะไรก็คงเป็นเรื่องของตัว R ความท้าทายในจุดนี้หรือในช่วงครึ่งปีหลังคือเรื่องของการสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมเศรษฐกิจ อยากให้มีการเจรจาคุยกันได้ในทุกภาคส่วน มีการสื่อสารชัดเจน และมีความต่อเนื่องของนโยบาย ความชัดเจนของนโยบาย ความประสานกัน สามารถสร้างทีมที่แข็งแกร่งได้ ผมว่าเป็นโจทย์ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

19 views
bottom of page