top of page
312345.jpg

ปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก...มั่นใจสถาบันการเงินไทยยังแกร่ง


การลดความคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านต่อบัญชี เป็นไปตามแผนขั้นตอนของสถาบันคุ้มครองเงินฝากตั้งแต่ปี 2551 อีกทั้งเป็นไปตามกฎกติกาของการคุ้มครองเงินฝากทั่วโลก ยืนยัน...ผู้ฝากเงินไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะแบงก์ในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งทั้งฐานะการเงิน การบริหาร การจัดการ ยากที่จะเกิดปัญหาจนกระทบเงินฝากของลูกค้า ในขณะเดียวกันทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากเองก็มีเงินกองทุนในระดับสูงมากพอที่จะรับมือเหตุไม่คาดฝัน พร้อมการันตีมีเงินคืนให้ผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่เกินรายละ 1 ล้านเต็มจำนวนแน่นอน แนะ...ผู้ฝากเงินทำใจร่มๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือตั้งใจทำธุรกิจ ดำเนินชีวิต เพื่อฝ่าฟันวิกฤตโควิด และอยู่รอดปลอดภัยร่วมกัน


Interview : คุณทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก


ตอนนี้การคุ้มครองเงินฝากลงมาเหลือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 บัญชี ช่วยแนะนำว่าคนฝากเงินว่าควรมีความกังวลอะไรหรือไม่

การคุ้มครองเงินฝากที่ 1 ล้านบาทจริงๆ แล้วเป็นเป้าหมายของการคุ้มครองมาตั้งแต่ตอนที่เราเริ่มก่อตั้งสถาบัน คือปี 2551 ซึ่งการดำเนินการช่วงที่ผ่านมามีการปรับวงเงินคุ้มครองเป็นระยะๆ เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากเงินมีการปรับตัวทั้งเรื่องการออมและการลงทุนเพิ่มเติมขึ้น ซึ่ง 12 ปีเศษที่เราก่อตั้งสถาบันมา วันที่ 11 สิงหาคม เป็นตามกำหนดการที่เราได้กำหนดเอาไว้จากที่เราขยายไป 1 ปี ก็จะเป็น 1 ล้านบาท

อยากให้ดูข้อมูลที่น่าสนใจว่าปัจจุบันการคุ้มครองเงินฝากในส่วนของ 1 ล้านบาทนั้น ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่มีเงินไม่ถึง 1 ล้านบาท คือเกินกว่า 98% หรือประมาณ 82 ล้านบัญชีในแต่ละสถาบันการเงิน เป็นการฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท หากเกิดปัญหาในสถาบันการเงินเราจะให้ความคุ้มครองเต็มจำนวน คือจะได้รับความคุ้มครองแค่ 1 ล้านบาท ในส่วนเกินจะได้รับการทยอยเฉลี่ยทรัพย์คืนในช่วงที่เราทำการชำระบัญชี โดยทั่วไปต้องบอกว่าผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ 98% จะได้การคุ้มครองเต็มจำนวน ในส่วนของเงินฝากเกิน 1 ล้านมีไม่ถึง 2% จะได้รับการคุ้มครอง 1 ล้านบาท และส่วนเกิน 1 ล้านบาท ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามกฎหมายเพื่อดำเนินการต่อไป


ก่อนหน้านี้เคยคุยกันตอนที่ลดความคุ้มครองจาก 5 ล้านบาท ว่ามีสถานการณ์พิเศษ จึงมีการเลื่อนเวลาออกไป ถึงคราวนี้ทำไมไม่เลื่อนเวลาออกไปอีก

สถานการณ์โดยทั่วไปของสถาบันการเงินโดยทั้งหมดยังมีความแข็งแรงและมีเงินกองทุนในระดับที่สูง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยให้การกำกับดูแลทุกสถาบันการเงินเป็นอย่างดี


ประเด็นที่ 2 คือจำนวนผู้ฝากที่เราดูแลเป็นปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบกับการคุ้มครองเงินฝากสากล การคุ้มครองเงินฝากไม่ได้มีในประเทศไทยประเทศเดียว ในประเทศอื่นในโลกมีการคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งทุกประเทศจะดูในสัดส่วนการคุ้มครองผู้ฝากเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนผู้ฝาก และหลักในการคุ้มครองเงินฝากคือการคุ้มครองเป็นผู้ฝากรายย่อย

ถ้าเราดูองค์ประกอบทั้งหมดจะเห็นว่าการคุ้มครองเงินฝากที่มีในปัจจุบันถือว่าดำเนินการได้ตามหลักการที่สากลดำเนินการและเป็นไปตามกฎหมายที่เรากำหนดมาตั้งแต่ปี 2551


สรุปว่าคนที่มีเงินฝากอยู่ในธนาคารต้องกังวลไหมกับเรื่องนี้


ขอแยก 2-3 เรื่องที่เกี่ยวข้อง

อันที่ 1 เรื่องการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากมีแผนการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 แล้วและเราก็ทยอยปรับลดวงเงินการคุ้มครองมาเป็นระยะๆ ไปสู่วงเงินเป้าหมายที่ 1 ล้านบาท ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นเรื่องที่ดำเนินการตามกำหนดการเดิมที่มีอยู่แล้ว

อันที่ 2 ในส่วนของการปรับเงินของผู้ฝากเงินบางท่าน ที่ฝากจะเป็นการฝากเพื่อให้ได้ผลตอบแทน แต่หลายๆ ท่านดูผลตอบแทนการฝากเงินว่าอาจจะไม่มาก ก็ไปลงทุนในทางเลือกอื่น ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตร ตราสารทุน หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แต่เรื่องการจัดการจะมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน ซึ่งบางการลงทุนจะมีความเสี่ยงต่อเงินต้น บางการลงทุนอาจจะไม่มีความเสี่ยงต่อเงินต้น แต่ความคล่องตัวการแปลงเป็นเงินสดอาจจะมีน้อยกว่า ก็แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราเห็นว่าการปรับตัวของผู้ที่มีเงินออมจำนวนมากก็มีการกระจายความเสี่ยงและมีการจัดพอร์ตของการลงทุนมีหลายสินทรัพย์อยู่แล้ว

ในส่วนของสถาบันการเงินปัจจุบันน่าจะเป็นจังหวะที่ดี คือมีความแข็งแรง ถ้าเราย้อนกลับไปในปี 2540 สถานบันการเงินส่วนใหญ่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ค่อนข้างสูง และประกอบกับมีกิจกรรมทางการค้าและเศรษฐกิจมาเรื่อยๆ ประเทศไทยถ้าไม่รวมผลกระทบโควิดเราน่าจะมีการส่งออกสูงมาก และผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการสะสมเงินทุนเพิ่มเติมซึ่งมีความแข็งแรงกว่าตอนปี 2540 เยอะมาก

ปัจจุบันถ้าเรามีเงินมากกว่า 1 ล้านบาทผมเชื่อว่าหลายท่านมีการกระจายการลงทุนหลายรูปแบบ ส่วนท่านที่มีเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทก็สบายใจได้ อย่างน้อยที่สุดทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากช่วยดูแลในส่วนการคุ้มครองกับท่านทุกบาททุกสตางค์ที่ท่านเพิ่มเติมเข้าไปในสถาบันการเงินทั้ง 35 แห่ง เราจะดูแลให้ดีที่สุด

ในการดำเนินการการคุ้มครองเงินฝากในครั้งนี้ประเด็นนึงที่สำคัญคือผู้ฝากเงินทุกคนได้รับการคุ้มครอง วงเงินคุ้มครองทุกคนอาจจะเท่ากัน แต่ท่านที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทเราจะคุ้มครองเต็มจำนวน 1 ล้านบาท ส่วนที่เกินถ้าเกิดปัญหาขึ้นจริงจะมีกระบวนการชำระบัญชี ซึ่งอันนี้ก็ต้องดำเนินการกันต่อไป ก็จะเพิ่มเติมว่าในบัญชีที่คุ้มครองจะเป็นบัญชีที่ต้องเป็นสกุลเงินบาทและเป็นการฝากเงินกับสถาบันการเงินทั้ง 35 แห่ง เป็นทั้งธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ บริษัทเงินทุน ซึ่งรายชื่อสามารถดูได้จากทางเว็บไซต์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ไม่ว่าจะเป็นบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีร่วม บัญชีนิติบุคคล ก็ได้รับการคุ้มครองเหมือนกัน คือต่อคนต่อสถาบันการเงิน ถ้าเป็นคนก็เป็นบุคคล ถ้าเป็นบริษัทก็เป็นบริษัทต่อสถาบันการเงินนั้นๆ


เมืองไทยเป็นที่ทราบกันว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ประกอบธุรกิจ เป็น SME เงินธุรกิจส่วนตัวเอามาปนกับเงินลงทุนทางธุรกิจกันหมด พวกนี้ทำให้วงเงินสูงไหม เช่นมากกว่า 1 ล้านบาท แบบนี้จะทำอย่างไร

ในส่วนของแต่ละบัญชีที่เป็นนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดาต้องแยกจากกัน ต้องบอกว่ายังไม่ต้องทำอะไรในวันนี้เพราะสถาบันการเงินมีความแข็งแรง เราประกอบกิจการการค้า ซื้อมาขายไป ได้กำไรเพื่อให้เราอยู่รอดในการประกอบธุรกิจ อันนี้สำคัญที่สุดในช่วงนี้ ส่วนสถาบันการเงินในระดับกองทุนมีสูงมากและแบงก์ชาติมีการกำกับดูแลเป็นอย่างดี ก็ยังไม่มีความจำเป็นในการดำเนินการในเรื่องการจัดการการเงินในปัจจุบัน เอาแรงไปต่อสู้กับวิกฤตทั้งภายในและภายนอกที่ต้องแข่งขันให้เต็มที่ดีกว่า อันนี้ต้องดำเนินการก่อนเพื่อรอดไปด้วยกัน


ดูจากสถานการณ์โควิดแล้ว ในฐานะที่เคยเห็นภาพตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง คิดว่าจะเป็นปัญหาต่อสถาบันการเงินแบบต้มยำกุ้งไหม

ใน 20 กว่าปีเศษตั้งแต่หลังปี 2540 เป็นต้นมาเศรษฐกิจไทยเรามีการกระจายในหลายอุตสาหกรรมเยอะ เรามีรายได้ที่เกิดจากภาคบริการและภาคการผลิตเยอะซึ่งการดำเนินการเหล่านั้นทำให้เกิดความแข็งแรงของผู้ประกอบการจำนวนมาก ผมเปรียบเทียบในอดีตเรามีความเปราะบางเพราะตัวหนี้ข้ามคืน เรามีหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ความท้าทายของเราในปัจจุบันคือคู่แข่งเราเยอะมากทั้งต่างประเทศและในประเทศด้วยกันเอง มองในอีกมุมนึงคือโควิดครั้งนี้ไม่ได้เกิดในไทยประเทศเดียว เกิดขึ้นกับทุกประเทศ ถ้าเราสามารถปรับตัวและสามารถแข่งขัน เชื่อว่าเวลานี้เป็นเวลาที่ทุกคนต้องมาตั้งหลักกันใหม่ ซึ่งถ้าตั้งสติกันดีๆ การตั้งหลักใหม่ในคราวนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งตัวเองและประเทศในอนาคต

ในส่วนของโควิดที่สำคัญต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการคือใจต้องสู้ ถ้าใจสู้แล้วดำเนินการอย่างมีสติจะช่วยให้รอดได้ เราดูในอดีต เราแข่งกับเขาไม่ได้เพราะอะไรก็พัฒนา ในส่วนนั้นผมเชื่อว่า SME ไทยมีจิตใจที่เข้มแข็งและต่อสู้ไม่แพ้ใคร ต่อให้เจอน้ำท่วมเราก็กัดฟันสู้เพื่อไปให้รอดและสามารถฟื้นขึ้นมาได้ไวเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น


ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากพร้อมที่จะดูแลและซัพพอร์ตใช่ไหม ช่วยสร้างความมั่นใจให้หน่อย

ปัจจุบันต้องช่วยกันทุกภาคส่วน เราเป็นผู้ประกอบการก็ต้องสู้ต่อ เราเป็นคนใช้ชีวิตในปัจจุบันก็ต้องสู้ต่อ เราต้องมีกำลังใจ และด้วยความเป็นคนไทยก็ช่วยเหลือกัน ดำเนินชีวิตให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากเราก็ดูแลผู้ฝากเงินเป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันเราก็มีเงินกองทุนในระดับที่สูงซึ่งเราเชื่อว่าถ้าเกิดเหตุที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นจริง เราก็มีกำลังพอที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ฝากเงินได้


7 views
bottom of page