top of page
379208.jpg

จี้สังคมร่วมกันปิดจุดอ่อนเปิดเสรี...'กัญชา' ดาบสองคม ห่วงได้ไม่เท่าเสีย



แพทย์ห่วงปลดล็อกกัญชาโดยไม่มีมาตรการคุมเข้ม เบื้องต้นไม่ห้ามการใช้ในเชิงสันทนาการ ทั้งๆ ที่กัญชาเป็นเหมือนดาบสองคม แต่กระแสโหมกระพือแต่ข้อดีในเชิงการแพทย์ การวิจัยทางการแพทย์ยังไม่ชัดเจนมากพอว่ากัญชาช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้ โดยเฉพาะยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่ากัญชารักษามะเร็งได้ อย่างมากแค่ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แจง...กัญชาโดยเฉพาะช่อดอกมีสาร THC จำนวนมาก มีฤทธิ์หลอนจิตประสาท ทำให้ขาดสติ เพ้อพก ถึงขั้นเสียสติและเสียชีวิตได้ในผู้ป่วยโรคร้ายแรง แนะ...กลุ่มบอบบางที่ต้องห่างไกลกัญชาคือเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจ พร้อมร้องขอ 4 เรื่อง 1. อย่าสนับสนุนให้ใช้กัญชาในเชิงสันทนาการ 2. ให้ความรู้เยาวชน กลุ่มเปราะบางได้รู้ถึงพิษภัยของกัญชาทั้งระยะสั้น-ระยะยาว 3. ให้เด็ก-เยาวชนปลอดกัญชาขั้นสูงสุด เพราะกัญชาทำให้มีปัญหาในการพัฒนาของสมอง 4. ให้บ้าน ชุมชน โรงเรียน เป็นสถานที่ปลอดกัญชา ส่วนใครที่สนใจใช้กัญชาในการรักษาโรคต้องปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด เลือกใช้กัญชาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก-ยากำจัดศัตรูพืช หากใช้กัญชาโดยการสูบต้องอยู่ห่างคนอื่นเพราะจะเกิดภาวะกัญชามือสองกับคนรอบข้าง ห้ามขับรถ ควบคุมเครื่องจักรเป็นอย่างน้อย 6 ชม.หลังใช้กัญชา ที่สำคัญที่สุดคือหลีกเลี่ยงการกิน สูบ เสพกัญชาในส่วนของช่อดอกซึ่งมีฤทธิ์ร้ายแรงต่อจิตประสาทและร่างกาย สำหรับประชาชนทั่วไปให้ระมัดระวังการซื้อขนม อาหารมารับประทานว่ามีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่ เพราะร่างกายของแต่ละคนมีปฏิกิริยาต่อฤทธิ์กัญชาไม่เท่ากัน ซึ่งบางคนอาจเสียชีวิตจากการรับสารในกัญชาได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมแนะสังคมร่วมกันช่วยปิดจุดอ่อนที่มาจากการเปิดเสรีกัญชาระยะแรกที่ยังไม่มีมาตรการควบคุม-ป้องกันภัยจากกัญชาอย่างเป็นรูปธรรม


Interview : ศ.นพ.วินัย วนานุกูล กรรมการบริหารและประธานคณะอนุกรรมการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน



ตื่นเต้นกันมากกับการปลดล็อกกัญชาให้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ไม่ใช่เพื่อการสันทนาการ ดูแล้วกังวลไหม

มีส่วนที่น่ากังวลอยู่ เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่รวมในกัญชาทุกสูตรโดยเฉพาะส่วนช่อดอกมีสารเสพติด เราก็คาดหวังว่าควรมีมาตรการควบคุมป้องกันออกมาพร้อมกัน แต่มาตรการเหล่านั้นยังไม่ออก ทำให้ห่วงใยในผลลบที่จะเกิดขึ้น


การปลดล็อกเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน

พอดีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวกับสารเสพติดมีการประกาศโดยรัฐมนตรีสาธารณสุข มีผลทอดระยะยาวไป 4 เดือนคือวันที่ 9 มิถุนายนพอดี ซึ่งทีแรกเราคาดว่าจะมีมาตรการออกมาช่วงนั้น แต่ออกมาไม่ทัน


เรื่องกัญชาเป็นดาบสองคม ในเชิงทางการแพทย์มีคุณมากขนาดไหน มีโทษขนาดไหน คุ้มไหม

จริงๆ แล้วของทุกอย่างในโลกมีทั้งประโยชน์และโทษ เหรียญมีสองด้านเสมอ เพียงแต่ด้านไหนมีมาก ในกรณีของกัญชาต้องบอกก่อนว่าในกัญชามีสารหลายชนิด แต่สารชนิดใหญ่เราเรียกว่า THC อีกตัว คือ CBD ตัว THC มีผลต่อจิตประสาท ขณะที่ CBD ไม่มีผลต่อจิตประสาท ไม่เกิดการเสพติดขึ้น โดยทั่วไปที่เราพูดถึงว่าพืชกัญชากัญชงเอาไว้รักษาโรค ส่วนใหญ่ที่เราอยากได้ไว้รักษาคือ CBD ส่วน THC มีประโยชน์ในการรักษาโรคน้อยกว่า แต่มีอันตรายที่มากกว่า

ระหว่างกัญชากับกัญชงนั้น กัญชามี THC เยอะ มี CBD น้อย ขณะที่กัญชงมี CBD มากและมี THC ไม่เยอะ ตัวกัญชงเราไม่ห่วง แต่ที่เรากลัวมีปัญหาคือกัญชา ที่มี THC เยอะ

ส่วนช่อดอก ก่อนหน้านี้ช่อดอกถูกระบุไว้ว่าเป็นสารเสพติดให้โทษ แต่ประกาศฉบับใหม่ไม่ได้ระบุ พืชกัญชาไม่ได้เป็นสารเสพติดแล้ว ในส่วนช่อดอกก็จะเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น ที่เรากังวล คือมีโอกาสที่คนจะไปใช้ THC ได้ง่ายขึ้นจากการบริโภคกัญชาในรูปแบบต่างโดยเฉพาะในส่วนช่อดอก


การใช้กัญชาในทางการแพทย์มีมากแค่ไหน

จริงๆ กัญชาทางการแพทย์มีใช้ใน 2-3 ปีก่อนหน้านี้แต่ไม่เยอะ ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันสกัดกัญชาที่เป็นสาร CBD ที่เราเอาไว้รักษาโรคลมชักที่เป็นลมชักหายาก เป็นชนิดพิเศษที่เป็นลมชักที่ใช้ยาอย่างอื่นแล้วไม่ได้ผล ก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษา เพียงแต่ด้วยหลักฐานทางการแพทย์มีแนวโน้มว่ามีประโยชน์จริงๆ ตอนนี้มีการศึกษาอยู่ นอกจากนั้นมีการพูดถึงการใช้น้ำมันรักษาพวกกล้ามเนื้อหดตัวจากโรคปลอกประสาทอักเสบซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้เจอบ่อย เป็น 1 ในล้าน สุดท้ายคือการใช้น้ำมันกัญชาในแง่การทำให้อยากอาหารในผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ถือว่าน่าจะเป็นประโยชน์โยชน์ทางการแพทย์จริงๆ และอยู่ระหว่างการศึกษา ถึงจะไม่ได้ผล 100% แต่พบว่าได้ผลแล้ว ผมว่าไม่จริงที่กัญชารักษามะเร็งได้ เพียงช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น


ในเชิงทางการแพทย์สมัยใหม่ให้การยอมรับการใช้กัญชามากขึ้น ในแพทย์แผนโบราณให้การสนับสนุนอย่างไร

ในแพทย์แผนไทยจะมีสูตรยาที่ผสมกัญชา แต่ก็ไม่ได้เป็นกัญชาอย่างเดียว มีสมุนไพรอย่างอื่นรวมด้วย เช่นใส่ในยานอนหลับ ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น หรือช่วยให้อยากอาหารมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่กัญชาเพียวๆ ยังต้องศึกษาโดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ให้ได้ว่ามีประโยชน์จริง


ที่ผ่านมาใช้กัญชาเป็นแผนสำรองในการรักษาใช่ไหม

ใช่ อย่างโรคลมชัก เมื่อใช้ยาอย่างอื่นแล้วไม่ได้ผลเราถึงจะใช้สารตัวนี้เข้าไปทดลอง


พอจะแนะนำได้ไหมว่าควรจะปลูกกัญชาบ้านละต้นเพื่อเอามาเคี้ยวกิน มาผสมอาหาร จะเป็นประโยชน์ไหม

กัญชาทุกอย่างมีทั้งประโยชน์และโทษ ต้องระมัดระวังนิดนึง ผมหวังว่าไม่ได้ชี้โพรงให้กระรอก ในส่วนของช่อดอกเป็นส่วนที่มี THC ในปริมาณที่สูงมากและเป็นสารเสพติดได้ จะเห็นว่าแต่ไหนแต่ไรมีกัญชาผสมในอาหารเพื่อให้อยากอาหารมากขึ้น แล้วแต่สูตร โดยทั่วไปส่วนของใบอาจจะมี THC น้อย แต่ส่วนของช่อดอกเป็นส่วนที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ การใช้ไปบ่อยๆ จะเกิดการเสพติด อยากมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสเกิดอันตรายขึ้นมีมาก ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้กัญชาถือเป็นสารเสพติด มีการลอบสูบกัญชากันอย่างเป็นที่รู้ทั่วไป ก็ทำให้ THC เข้าสู่สมองหรือในร่างกายเร็วกว่ากิน ก็จะมีผลค่อนข้างเยอะ

ถ้าที่ทุกบ้านสามารถปลูก หรือไม่ปลูกเองแต่ก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ผิดกฎหมาย เรากังวลว่าโอกาสที่จะใช้กัญชาเพื่อสันทนาการมีมากขึ้น เนื่องจากเรายังไม่มีมาตรการอะไรในการควบคุมสิ่งเหล่านี้ จริงๆ ไม่อยากให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพราะมีผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว บางคนสูบเพื่ออะไร เพื่ออยากให้มีอารมณ์ครื้นเครง แต่บางคนสูบไปแล้วมีอาการประสาทหลอนโดยไม่มีสาเหตุ หรือเห็นภาพหลอน เห็นผี ซึ่งเราได้เจอมาช่วงมีการใช้น้ำมันกัญชาในหลายปีก่อน เรายังไม่ได้ให้ความรู้ประชาชนเพียงพอ ถ้าจำได้หลายปีก่อนมีการระบาดของน้ำมันกัญชา มีผู้ป่วยมาด้วยอาหารประสาทหลอนจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้กลัวภาพนี้จะเกิดขึ้นอีก ในการสูบกัญชานอกจากมีปัญหาทางจิตประสาทเฉียบพลันแล้ว ยังจะทำให้การตัดสินใจของสมองแก้ไขเฉพาะหน้าผิดพลาด สิ่งที่กลัวคือถ้าคนที่สูบกัญชาแล้วเกิดทำงานกับเครื่องจักรหรือขับรถ จะมีโอกาสที่เกิดอุบัติเหตุง่าย เพราะฤทธิ์ของกัญชาไม่ใช่มีเฉพาะตอนสูบ แต่มีฤทธิ์ต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ช่วงขับรถจึงไม่ควรสูบกัญชา ถ้าอยู่ในช่วง 6 ชั่วโมงหลังจากที่ได้กัญชาไม่ควรขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรเลย


การกินน้ำกัญชาแนะนำหรือไม่

เบื้องต้นไม่แนะนำ เพราะปริมาณกัญชาที่แต่ละคนกินไม่เท่ากัน เราไม่รู้ว่ากินมากน้อยแค่ไหนจะเป็นโอกาสให้เกิดอุบัติเหตุ นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากที่มีผลต่อจิตประมาทแล้ว ในช่วงแรกบางคนมีอาการหัวใจเต้นเร็ว บางคนเต้นผิดจังหวะ ในผู้สูงอายุบางคนทำให้มีอาการขาดเลือดกลายเป็นภาวะหัวใจวายตามมาได้ ที่เราเจอบ่อยคือบางคนมีอาการคล้ายหมดสติ จะมีคนไข้ส่วนนึงเข้าไปโรงพยาบาลแบบหมดสติและวินิจฉัยเป็น Heat Stroke ต้องทำ MRI เสียเงินเยอะ แต่สุดท้ายพบว่าเกิดจากการใช้น้ำมันกัญชา ถ้าใครอยากจะลองพืชกัญชา โดยเฉพาะคนมีโรคประจำตัว คิดว่าต้องปรึกษาหมอที่รักษาอยู่

นอกจากนั้นจะพูดถึงกลุ่มบอบบางที่เรากังวลเป็นพิเศษ กลุ่มแรกคือเด็ก เพราะเรารู้ว่าการรับกัญชาไปเรื่อยๆ จะมีผลระยะยาว ทำให้การพัฒนาสมองของเด็กเสียไป ไอคิวลดลง เป็นสิ่งที่เรากังวลมากสำหรับอนาคตของเยาวชนของเรา กลุ่มที่ 2 ผู้หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยที่เป็นจิตเวชอยู่แล้ว เพราะเรามีการศึกษาชัดเจนมากว่าการได้กัญชาระยะยาวทำให้คนนั้นมีโอกาสเป็นโรคจิตเวชหรือโรคไบโพลาร์เยอะขึ้น อัตราการทำร้ายตัวเองสูงขึ้น และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคหัวใจ ถ้าเกิดลองกัญชาแล้วบางคนอาจจะมีโรคร้ายแรงขึ้น นอกจากนั้นกัญชาจะมีปฏิกิริยาต่อยาบางอย่างที่กัญชาไปทำให้ยาบางอย่างมีฤทธิ์มากขึ้น


จะให้ข้อแนะนำอย่างไรบ้าง

ผมตั้งข้อสังเกตว่ามีการพูดประโยชน์ของกัญชากันมาก แต่ทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ และอันตรายจากกัญชาเป็นสิ่งที่เรารู้จักกันดี สิ่งที่ต้องทำขณะนี้คือทำอย่างไรให้ใช้กัญชาให้เกิดประโยชน์และปิดจุดอ่อนของมัน คือให้มีอันตรายจากกัญชาให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันตัวเราเองและคนที่เรารัก

ในด้านการแพทย์มีข้อเสนอ แนะนำ ข้อมูล จากองค์กรแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ยกตัวอย่าง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทย์สภา มีข้อเสนอแนะนำ ข้อคิดเรื่องกัญชาค่อนข้างสอดคล้องกัน ผมขอสรุปเป็น 4 ข้อ ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่คณะแพทย์ได้ช่วยพิจารณากันอย่างรอบคอบก่อนที่จะมานำเสนอให้ประชาชนหรือสังคมทราบ

เรื่องแรกต้องบอกว่าเรายังยืนยันว่าไม่สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ซึ่งตรงกับที่กระทรวงสาธารณสุขพูดอยู่ตลอดว่าปลดล็อกกัญชาให้เสรี แต่ไม่ได้มีไว้เพื่อสันทนาการ

2. ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่เด็กและประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ให้ทราบอันตรายที่จะเกิดขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับเขา

3. เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อให้เยาวชนของเราห่างจากกัญชาให้มากที่สุด เพราะกัญชาจะทำให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนาสมองของเขาค่อนข้างมาก

สุดท้ายเราต้องมาช่วยกันทำให้สังคมของเรา บ้าน โรงเรียน ชุมชน ปลอดกัญชา ถ้าเป็นไปได้ นี่คือคำแนะนำ

สำหรับกลุ่มคนที่คิดว่าได้ข้อมูลแล้วแต่ยังอยากจะลองใช้กัญชา หรือมีโรคอะไรบางอย่างแล้วกัญชาช่วยได้ ผมมีคำแนะนำ 3 เรื่อง 1. คือเราอยากให้ท่านลองศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และวิธีการใช้กัญชาอย่างถูกต้องแล้วค่อยตัดสินใจ 2. ถ้ามีโรคประจำตัวแล้วมียากินประจำ ให้ปรึกษาแพทย์ของท่าน เพราะด้วยโรคของท่านเมื่อรับกัญชาแล้วอาจจะดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้นก็ได้ อาจจะมีปฏิกิริยาทำให้มีโรคมากขึ้น หรือมีฤทธิ์กัญชามากขึ้น หรือทำให้ยาที่รักษาอยู่ไม่ได้ผล อันนี้ก็เป็นไปได้ สุดท้ายถ้าตัดสินใจใช้กัญชาแล้วขอให้อยู่ภายใต้ดูแลของแพทย์เสมอ ให้แพทย์ท่านทราบว่าท่านใช้กัญชาอยู่ ก็จะมีประโยชน์มาก

กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่เสพหรือใช้แล้วเรามีคำแนะนำอยู่ 8 ข้อ

1. ใครที่อายุน้อยกว่า 25 เรายังแนะนำให้พิจารณาเลิกใช้ เพราะกัญชามีผลโดยเฉพาะเรื่องสมองของเราในระยะยาวและบางอย่างอาจไม่หายด้วย

2. ถ้าเป็นไปได้ต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาจากแหล่งที่เราเชื่อถือได้ ไม่มีการปนเปื้อนโลหะหนักหรือสารกำจัดศัตรูพืชทั้งหลาย

3. ถ้าจะใช้กัญชาขอให้หลีกเลี่ยงการใช้ช่อดอกเพราะส่วนนั้นมีสาร THC ซึ่งอาจจะเป็นอันตราย ถ้าจะใช้จริงๆ ก็ให้ใช้ทีละน้อยก่อน

4. ถ้าสูบอย่าสูบอัดเข้าไปลึกหรือนาน เพราะสาร THC เยอะอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้

5. ถ้าท่านใช้วิธีการสูบ ขอให้รับผิดชอบคนอื่นด้วย ไม่ควรสูบในบริเวณที่มีคนอื่นอยู่ เพราะมีภาวะกัญชามือสอง อาจจะเกิดอันตรายได้โดยเฉพาะเด็กเยาวชนและผู้ตั้งครรภ์

6. ถ้าท่านต้องขับรถยนต์หรือทำงานกับเครื่องจักรขอให้เว้นจากการสูบกัญชาอย่างต่ำ 6 ชั่วโมง ถ้าเพิ่งสูบเสร็จใหม่ๆ สมองท่านยังไม่เป็นปกติดี จะเกิดอันตรายกับตัวเองและสังคมได้

7. ถ้าเสพแล้วรู้สึกผิดปกติ เช่น ใจสั่นมาก เห็นภาพหลอน หรือมีอาการกลัว ขอให้รีบไปโรงพยาบาลและต้องแจ้งแพทย์ด้วยว่าเรามีการใช้กัญชา เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและดูแลได้ถูกต้องอย่างรวดเร็ว

ข้อสุดท้าย ถ้าใช้แล้วรู้สึกต้องเพิ่มปริมาณไปเรื่อยๆ หรือใช้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ หรือหยุดไม่ได้ ต้องเข้าใจตัวเองว่าติดกัญชาแล้ว ก็ขอให้พบแพทย์เพื่อแก้ไข เพื่อไม่ให้ติดกัญชาสมบูรณ์แบบ

ก็เป็นข้อแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป


กลายเป็นคุณหมอต้องมารักษาคนติดกัญชา ซึ่งน่าห่วงเหมือนกัน

สิ่งที่เราห่วงมากกว่าจริงๆ คือ หลายคนที่ใช้จนติดแล้วพัฒนาการของสมองจะผิดปกติ บางส่วนอาจกลับมาได้ แต่จากการศึกษาบางส่วนไม่กลับมาใช้งานได้อีก อันนี้เป็นสิ่งน่าห่วง โดยเฉพาะในเยาวชนเราเป็นห่วงมาก


ขณะนี้มีการพิจารณาเรื่องกฎหมาย ในมุมของแพทย์ อาจารย์ นักวิชาการ มีจุดยืนอย่างไรกับเรื่องนี้

ผมคิดว่าเราจะต้องมามองกันว่าจะทำอย่างไรที่จะปิดจุดอ่อนนั้นได้ พ.ร.บ.กัญชาจะต้องมีมาตรการที่เป็นไปได้ทำได้ อย่างชัดเจนในการป้องกันประชาชน คือมีการกำหนดว่ากลุ่มไหนเข้าถึงกัญชาได้ หรือการซื้อขายกัญชาทำได้แค่ไหน ตรงนี้มีบทเรียนจากต่างประเทศที่มีนโยบายที่จะเปิดกัญชาเสรีแล้ว เราเรียนรู้จากเขาได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงวันนี้เขาทำอะไรไปบ้าง เราไม่จำเป็นต้องไปเดินย่ำตามเขาอีก 10 ปีแล้วค่อยมาแก้ปัญหากัน จะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งกลุ่มที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้มีประโยชน์เต็มที่ ขณะเดียวกันไม่ได้ทำให้สุขภาพของประชาชนเสื่อมโทรมได้


อาจมีการผสมในอาหารซึ่งไม่รู้มากหรือน้อย ต้องระวังด้วยใช่ไหม

ใช่ เพราะขณะนี้มาตรฐานปริมาณกัญชาในอาหารยังไม่มี ในประเทศไทยยังไม่มี ในฐานะประชาชนทั่วไปต้องระมัดระวัง ขณะเดียวกันต้องให้ผู้ผลิตอาหารที่ใส่กัญชาจริงๆ ต้องแจ้งให้ผู้ซื้อทราบเพื่อให้เขารู้ เพราะที่ผ่านมาท่านคงได้ยินข่าวว่ากินคุกกี้กัญชาโดยไม่รู้ตัวแล้วเกิดปัญหาขึ้น เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น

ตอนนี้เราอนุญาตให้ทุกบ้านปลูกกัญชาได้เอง ก็ต้องขอความร่วมมือผู้ที่ปลูกกัญชาในบ้านต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนในบ้านโดยเฉพาะเด็กๆ อยากให้ปลูกในที่เด็กเข้าไม่ถึง อันนี้คิดว่าสำคัญ



37 views

Comments


bottom of page