top of page
379208.jpg

โควิด รอบ 2 ซ้ำเติมหนัก...หวั่นกิจการขนาดใหญ่จะเข้าสู่ Red Zone ตามรายย่อย


Interview : คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)


แจงหนี้บุคคลในระบบมีลูกหนี้ 30 ล้านคน ยอดหนี้ 12 ล้านล้านบาท ขณะนี้เป็นยอดเสียรวม 9 แสนล้านบาท ส่วนหนี้นิติบุคคล 4 แสนบริษัท เป็นหนี้เสีย 5% โควิดระบาดรอบ 2 ซ้ำเติมหนักทุกหย่อมหญ้า หวั่นกิจการขนาดใหญ่จะเข้าสู่ Red Zone ตามรายย่อย แม้แต่ภาครัฐต้องวางยุทธศาสตร์รับมือโควิดลากยาวถึงปี 2565 ภายใต้คอนเซปต์ ‘อยู่ให้รอด’ เหตุวงล้อแห่งปัญหาหมุนกลับไปที่เดิม ติดแหง็ก ยักแย่ยักยันเหมือนปี 2563 ฝากถึงแบงก์อย่าคิดแค่รักษาตัวรอดและอยู่ใน Safe Zone ต้องเป็นเหมือนเรือที่ต้องออกจากฝั่ง ไปช่วยลูกค้าที่ลอยคอเท้งเต้งอยู่กลางทะเล


สถานการณ์เครดิตของคนไทยในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ถ้าเป็น นาย ก. นาย ข. ที่เป็นหนี้ ไปกู้ทุกประเภท เรามีลูกหนี้แบบนี้อยู่ในระบบ 30 ล้านคนเศษ แล้วก็มาจากสถาบันการเงินทั้งหมด 107 แห่งที่ส่งข้อมูลให้เรา ยอดหนี้ก็ขึ้นไปประมาณ 12 ล้านล้านบาท และใน 12 ล้านล้านบาทนั้นมีประมาณ 9 แสนล้านบาทที่เป็นหนี้เสียไปแล้วในตอนนี้ แต่ที่เราเป็นห่วงคืออีกประมาณ 9 แสนล้านบาทที่ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว คือจะเป็นรอบแรกหรือปรับโครงสร้างหนี้ในอดีตก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ตัวนาย ก. นาย ข. ที่กู้เงิน ใน 100 คนนั้น ตอนนี้จะมี 16 คนที่มีอย่างน้อย 1 บัญชีไม่สามารถชำระหนี้ได้ 3 งวด ตรงนี้คืออาการก่อนเข้าระบาดครั้งที่สอง สถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์กับเครดิตบูโร ร่วมกันทำงานจากการระบาดเฟสแรก ช่วยเหลือครั้งที่แล้ว ปีที่แล้ว ที่จบไปแล้ว เราดูจากกลุ่มตัวอย่างว่ามีคนเข้าโครงการประมาณ 6 ล้านคน และเขาก็พยากรณ์ว่าสิ้นปี 2563 จะมีความเสี่ยงประมาณ 2 ล้านคน

ทีนี้ความหวังเล็กๆ ของเราก็คือเมื่อปลายปี 2563 น่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ น่าจะกระเตื้องขึ้นมานิดนึง เรามีโครงการคนละครึ่งด้วย แต่โชคร้ายที่การจับจ่ายใช้สอยไม่มา อันนี้คือวัคซีนเศรษฐกิจไม่มา เพราะเกิดเหตุระบาดขึ้นมาก่อน


ข้อมูลเครดิตบูโรส่วนนิติบุคคลเป็นอย่างไร

กลับมาดูฝั่งที่เป็นบริษัท ในเครดิตบูโรมีบริษัทต่างๆ อยู่กว่า 4 แสนบริษัท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสียตอนนี้ก็ประมาณสัก 5% แล้วก็ปรับโครงสร้างหนี้อีกประมาณ 5% ดังนั้น อาการก็คือว่าก็ได้รับผลกระทบ แต่เนื่องจากปีที่แล้วมีมาตรการแช่แข็งหนี้ ก็พอประทังไปได้บ้าง แล้วแต่สายป่านของแต่ละคนว่ามีมากน้อย

ขณะเดียวกัน การระบาดรอบนี้เราเรียกว่า ซอฟต์ล็อกดาวน์ หรือทาร์เก็ตล็อกดาวน์ คือไม่ล็อกเต็มเหนี่ยว แต่สร้างกติกาให้เป็นเงื่อนไขว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ในบางพื้นที่ ข้อมูลคือทั้งลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาและลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล ทางแบงก์ชาติเขาสั่งการให้แต่ละที่ทั้งแบงก์รัฐและเอกชนแบ่งลูกค้าออกเป็น เขียว เหลือง ส้ม และแดง เขียวคือไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อย เหลืองคือได้รับผลกระทบแต่ยังพอไปได้ ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวเราไม่พูดถึง เพราะเป็นสีดำคือเป็นเอ็นพีแอลไปแล้ว

มาตรการเที่ยวนี้ที่ออกมา แบงก์รัฐก็จะอิงกับมติครม.เมื่อวันที่ 12 มกราคม แบงก์เอกชนก็จะอิงกับประกาศของแบงก์ชาติวันที่ 12 มกราคม สาระสำคัญโดยรวมก็คือ ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้บัตรเครดิต ถ้าเกิดผ่อนขั้นต่ำไม่ไหว ลองนึกภาพเราเป็นหนี้บัตรเครดิต 100 บาท ต้องไปจ่ายแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 3 บาท ที่เหลือจะมีดอกเบี้ยประมาณ 18% มันหนัก เขาก็เลยบอกว่าถ้าไปไม่ไหว ให้เอาไปยืดเป็น 4 ปี ผ่อนเป็นงวด แล้วดอกเบี้ยจะลดลงเหลือ 12% อันนี้เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ไหว

คนที่รายได้หาย เช่นตกงานหรืออะไรก็ตาม ก็ต้องใช้วิธีที่เราเรียกว่า หยุดพักการชำระหนี้ จะกี่เดือนกี่วันก็ไปตกลงกับสถาบันการเงิน แล้วยกเอางวดที่จะต้องจ่ายไปไว้ข้างหลัง แต่จะมีข้อเสียก็คือดอกเบี้ยมันยังเดิน เพราะฉะนั้นหลุดจากตรงนั้นมาปุ๊บ ตอนเริ่มผ่อนใหม่ มันจะมีดอกเบี้ยก้อนที่เราไม่ได้จ่ายตอนที่เว้นวรรค

ดังนั้น ก็มีหลากหลายวิธีที่จะดำเนินการขึ้นอยู่กับการเป็นสีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง ขึ้นอยู่กับอาการ เที่ยวนี้จะเป็นลักษณะที่ว่ารักษาตามอาการ และเนื่องจากแบงก์ชาติเขารู้หมดว่าทุกสถาบันการเงินใครเป็นสีเหลือง สีแดง เพราะฉะนั้นรายการไล่จี้ ไล่บี้ คนที่ปล่อยกู้ว่า จัดการหรือยัง เพราะถ้าลูกหนี้เหล่านั้นเขาไปขอปรับ แต่สมมุติแบงก์ว่าไปยื้อ เขาก็จะไปฟ้องที่ทางด่วนแก้หนี้หรืออะไรต่อมิอะไร


อะไรคือสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด

สิ่งที่เราเป็นห่วงมากที่สุดคือคนที่เสมือนว่างงาน ตรงนี้เกิดจากการบรรยายเศรษฐกิจของแบงก์ชาติ จะมีบอกว่าได้รับผลกระทบเป็นอย่างไรสำหรับคนที่ทำงานต่ำกว่า 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปกติเราทำงาน 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ยังไงก็มีเกิน 35 ชั่วโมง แต่มีคนบางกลุ่มที่ตอนนี้อาจจะทำงานแค่ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คือถูกลดชั่วโมงทำงาน แถมให้กลับไปทำงานที่บ้านอีก พออยู่บ้านก็จะมีค่าใช้จ่าย คือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าอินเทอร์เน็ต และรายได้ไม่ได้เต็ม 5 วัน ได้แค่ 3 วันบ้าง 2 วันบ้าง ซึ่งหนี้มีเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือจะจ่ายอย่างไร อาการจะเป็นแบบนี้

ส่วนฝั่งคนที่เป็นนายจ้างก็อยู่ในลักษณะประคับประคองว่าจะรักษาการจ้างงานได้ยาวนานเท่าไหร่ ดังนั้น สถาบันวิจัยหลายๆ ที่มองเที่ยวนี้ว่า ซอฟต์ล็อกดาวน์ 1 เดือน เราจะไปฟื้นประมาณปลายพฤษภาคมตรงนี้คือข้อมูลจากกรุงไทย ทั้งหมดทั้งมวลเขาไปดูที่การท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก ถ้าซอฟต์ล็อกดาวน์ 2 เดือน มันก็จะไปฟื้นการท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณปลายเดือนมิถุนายน แต่การฟื้นตัวตรงนั้นก็ไม่เท่ากับเดือนธันวาคมปี 2563 คือดูจากจำนวนเครื่องบิน ดูจากอะไรต่อมิอะไร ฉะนั้นโดยรวมขณะนี้คือ เราจะต้องซื้อเวลา นโยบายซื้อเวลา และไปอย่างทุลักทุเล ตรงนี้คือสภาพที่เกิดขึ้น


มาตรการต่างๆ ของรัฐช่วยได้แค่ไหน

คิดว่าอย่างนี้คือ 1. มาตรการเติมเงิน คือว่าเดี๋ยวเราจะมีโครงการเราชนะ ตรงนั้นคือเติมเงิน 2 เดือน แต่ว่าวิธีการครั้งนี้น่าสนใจ คือคนที่ไม่ใช่จะคัดออก ที่เหลือได้หมด นี่คือวิธีคิดใหม่ คราวที่แล้วคือหาคนที่ใช่ แล้วไปจ่ายเงิน ครั้งนี้คือคนที่ไม่ใช่เอาออก แล้วก็เติมเงิน 2. คนละครึ่ง จะช่วยลดค่าครองชีพอย่างเป็นรูปธรรม

ถ้าเราดูว่าเขาเติมเงิน 2 เดือน แสดงว่าเขามองว่า 2 เดือนนี้เขาจะคุมพื้นที่ล็อกดาวน์ ซอฟต์ล็อกดาวน์ ทาร์เก็ตล็อกดาวน์ ทีนี้ก็จะมาฝั่งธุรกิจ อีกอันหนึ่งก็คือลดค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็จะเห็นว่ามีการลดค่าใช้จ่ายกับเติมเงิน

ถ้าเป็นแบงก์รัฐจะมีรายการเติมเงิน ก็คือปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเก่า ตรงนี้เดี๋ยวทางแบงก์รัฐจะดำเนินการไป กลับมาที่แบงก์เอกชนจะหนักหน่อย เพราะต้องเติมเงินให้ลูกค้าเก่า ยืดหนี้ลูกค้าเก่า และจ่ายเงินลูกค้าเก่าหรือลูกค้าใหม่ เพราะฉะนั้น การแก้กฎหมายเรื่องซอฟต์โลน เท่าที่อ่านจากข่าวเชื่อว่าน่าจะมีการยื่นขอแก้ไขกฎหมายตัวนั้น


จุดที่น่าหนักใจคืออะไร

ถ้าเราดูโดยรวมก็คือว่า ความยากมันอยู่ที่ธุรกิจที่สลบ คือทรัพย์สินเขายังดี แต่ว่ามันสลบ ไม่มีรายได้ พอไม่มีรายได้ก็มีข้อเสนอ อย่างนั้นก็ปล่อยกู้แบบมีหลักประกัน เอาหลักประกันมา กลับไปสู่ยุคแบงก์ดั้งเดิมเลย เอาที่ดินมา เอาเงินไป ไม่ต้องดูเรื่องรายได้ เพราะดูวันนี้มันไม่เห็น ยังไงก็ไม่มี นึกภาพไม่ออก จะตั้งสมมุติฐานอย่างไรก็ไม่ได้ เคยคิดว่าจะได้ปลายปี มันก็ไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น

กติกาในจุดนี้ที่เราเรียกกันว่า หลักเกณฑ์นโยบายในการปล่อยสินเชื่อที่อิงกับรายได้ ซึ่งอาจจะต้องมีจุดโมดิฟายหรือปรับปรุงใหม่ เปิดช่องให้ว่าคนที่เป็นเอสเอ็มอีแล้วมีที่มีทาง แต่ไม่อยากขาย อยากขายก็ขายไม่ได้ในตอนนี้ ถ้าไปขายฝากก็ถูกกดราคา ดังนั้น ควรทำเหมือนอย่างแบงก์ออมสินทำ หรือที่บางแบงก์ทำ คือเอาที่ดินมา เอาเงินไปหมุนก่อน สำหรับธุรกิจที่สลบ โดยเงื่อนไขรักษาการจ้างงานไว้ เพื่อที่จะใส่ท่อออกซิเจนแล้วดำน้ำต่อไปอีกนิดหนึ่ง

ประเด็นต่อมาคือวัคซีน ทั้งหมดทั้งมวล ถ้ามีการฉีด และมีภูมิคุ้มกันหมู่ มันก็จะช่วยได้ ขณะนี้มันมีความเสี่ยงเพิ่ม คือเรามีธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจกับต่างประเทศ ธุรกิจพื้นฐานของเราส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอาหาร ประเด็นก็คืออาจเจอปัญหาว่าวัตถุดิบอาจปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 เราอาจจะเจอปัญหาเหมือนกับการส่งออกที่บราซิลหรือที่สหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้นจุดยุทธศาสตร์ของเราก็คือบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ ถ้าธุรกิจขนาดใหญ่เขามีปัญหา ปัญหาก็จะไปอยู่ที่แบงก์ หรือกรณีที่ว่าเนื่องจากการทำซอฟต์ล็อกดาวน์หรือการลดธุรกรรมทางธุรกิจลง ทำให้ความต้องการพลังงานเราลดลง เมื่อความต้องการพลังงานลดลง แต่เราอาจไปทำสัญญาซื้อพลังงานจากที่โน่นที่นี่มา ฉะนั้นรายได้จะไม่เข้า ก็จะมีปัญหา

ดังนั้น ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำทั้งหมดก็คือว่าลูกค้ารายใหญ่ ต้องไม่สร้างความประหลาดใจขึ้นมา ในขณะที่เรากำลังแก้ลูกค้ารายกลางซึ่งติดล็อกอยู่ ส่วนลูกค้ารายย่อย จะมีมาตรการที่ออกมารองรับ ที่จะต้องลากไปให้ได้ แม้แต่ว่าจะต้องถูกฟ้องในขณะนี้ ศาลก็มีการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ถูกฟ้องไปแล้ว จะถูกยึด กรมบังคับคดีก็จะไกล่เกลี่ยอีก

ทั้งหมดทั้งมวล สิ่งที่ต้องมองต่อไปอีกคือ 1. ผลประกอบการของธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ 2. ธุรกิจขนาดใหญ่มีการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนในลักษณะเพิ่มความเสี่ยงหรือไม่ 3. ความเร็วในการแก้ไขซอฟต์โลน เร็วเท่าไหร่ เงินก็จะออกเร็วเท่านั้น เพราะลูกค้ารายย่อย ตัวเลขเขารู้แล้ว อยู่ในมือ ใครเป็นเขียว เหลือง แดง ส้ม เขารู้หมด

อีกเรื่องคือภัยการเงิน จะมีคนที่พยายามบอกว่า ทำวิธีนี้แล้วจะได้ผลตอบแทนมาเร็ว ตรงนี้ก็จะมาซ้ำเติมอีก ฉะนั้น ปัญหาเวลานี้มันหลายหน้า แต่วัคซีนที่จะมาฉีดกันจริงๆ จะทำให้เกิดความมั่นใจ และกล้าที่จะเดินทาง กล้าที่จะไปทำโน่นทำนี่ ภายใต้การใส่หน้ากาก และเงื่อนไขการทำความสะอาดบ่อยๆ ตรงนี้คือเงื่อนไขที่เราเรียกว่าสิ่งที่จะเกิด ไม่ใช่ฉีดแล้วรักษาได้ คือฉีดปุ๊บมันต้องไปอย่างนี้ต่อ


คิดว่าด้วยสถานภาพของคนที่มีปัญหาตอนนี้ หากได้วัคซีนใหม่ๆ ล่าสุด จะทำให้วัคซีนที่ฉีดได้ผลขนาดไหน

มันแค่ทุเลา ซึ่งเราก็คาดหวังว่า อย่างเร็วไตรมาสสาม อย่างช้าไตรมาสสี่ของปีนี้ ขณะเดียวกัน ถ้าเราสังเกตจากภาครัฐที่เขาใช้แผนยุทธศาสตร์เฉพาะปี 2564 กับ 2565 ภายใต้คอนเซปต์ อยู่ให้รอด อยู่ให้เป็น ซึ่งตอนนี้เรากำลังอยู่ในโหมดอยู่รอดอีกครั้งหนึ่ง เราเคยใช้โหมดอยู่รอดตอนต้นปี 2563 และเราคิดว่าจะอยู่เป็นในปี 2564 แต่ตอนนี้มันกลับมาว่าเราต้องอยู่รอดให้ได้ เหมือนเราขึ้นชิงช้าสวรรค์ เราอยู่ข้างล่าง มันก็หมุนเราขึ้นไป พอเราไปอยู่ข้างบนสุดก็มองไปไกลๆ เห็นความหวัง มีวัคซีนมา ไม่ติดเชื้อ เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้อง คนไทยเดินทางเที่ยวกันเอง มีคนละครึ่งมา แต่อยู่ดีๆ มีเรื่อง แล้ววงล้อนั้นหมุนกลับลงมา แล้วก็หมุนกลับมาจุดเดิม แล้วเราก็ต้องหมุนกลับไปใหม่ แต่เที่ยวนี้หมุนกลับขึ้นไปใหม่ มันต้องใส่อาวุธพร้อมแรงที่จะดันขึ้นไปของภาครัฐที่จะต้องหนักกว่าเดิม แต่มันจะค้างเติ่งด้วยหลายๆ เรื่อง


อย่างนี้สถาบันการเงินน่าเป็นห่วงหรือไม่

สิ่งที่เขาเรียนรู้มาเมื่อปี 2540 เขาใส่เกราะเป็นสิบๆ ชั้น แล้ววางแบบแผนไว้ว่ามาไม้นี้ รับแบบนี้ สถาบันการเงินต้องยืนอยู่เป็นหลักให้ได้ เพราะถ้าสถาบันการเงินมีปัญหา ทั้งหมดจะมีปัญหา ดังนั้น วันนี้เขาจึงต้องยืนอยู่ ประเด็นปัญหาสถาบันการเงินคือมีคนเปรียบเทียบว่าเรือมันจะปลอดภัยที่สุด ถ้ามันอยู่ในอ่าวที่เราเรียกว่า Safe Harbour แต่หน้าที่ของเรือคือมันแล่นออกไปในทะเล ถ้าเรือมันไม่ออกทะเล ไม่ทำหน้าที่เรือก็ไม่ได้ แต่ถ้าเรือออกทะเลก็มีความเสี่ยง ถ้าเรือมันอยู่ในอู่ อยู่ในอ่าว มันไม่เสี่ยง ดังนั้น จึงมีเสียงเรียกร้องว่าเรือน้อย เรือใหญ่ เรือบรรทุกเครื่องบินทั้งหลายต้องออกจากฝั่ง เพราะวันนี้เรือผู้โดยสารมันลอยเท้งเต้งอยู่ในทะเล ต้องไปถ่ายลำตรงนั้น นี่คือบรรยากาศที่เรากำลังเจอ


641 views

Comments


bottom of page