top of page
312345.jpg

ปัจจัยหนุนจากการลดดอกเบี้ยในภูมิภาค


ปัจจัยเดิมๆยังกดดัน !

ว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นโลกจะยังคงไม่สามารถกลับมาปรับตัวขึ้นแบบจริงจังได้ โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวลดลง 0.32% จากประเด็นการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ยังคงมีความไม่แน่นอน หลังจากประธานาธิบดี Donald Trump เปิดเผยว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนยังไม่มีความคืบหน้า และขู่ที่จะเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มขึ้น โดยกล่าวเพิ่มเติมว่าสหรัฐสามารถเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมต่อสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 3.25 แสนล้านดอลลาร์ได้หากการเจรจาการค้าไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง หลังจากที่ในสัปดาห์ก่อนสหรัฐได้ออกมาตำหนิจีนว่ายังคงไม่ได้เพิ่มการซื้อผลิตภัณฑ์ฟาร์มของอเมริกันตามที่สัญญาไว้ในการประชุม G20

ทั้งนี้ “นายหมูบิน” มองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นการพยายามต่อรองกันมากกว่า เนื่องจากดูเหมือนว่าทางฝั่งของจีน ก็ต้องการให้สหรัฐมีความชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นของ Huawei ก่อน โดยเฉพาะประเด็นที่ก่อนหน้านี้สหรัฐออกมาระบุว่าจะผ่อนคลายความเข้มงวดด้านการขายอุปกรณ์บางส่วนให้กับ Huawei ซึ่งทางการจีนยังคงรอดูว่าสหรัฐจะดำเนินการดังกล่าวอย่างจริงจังหรือไม่ก่อนที่จะมีการเดินหน้าจัดการเจรจารอบใหม่

นอกจากนี้ทางการจีนยังคงต้องการผลักดันให้ทางสหรัฐนำ Huawei ออกจาก Blacklists ของสหรัฐอีกด้วย ขณะที่ในส่วนของปัจจัยหนุนอื่นๆ แม้ว่าตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ของจีนจะขยายตัวเพียง 6.2% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 27 ปี และชะลอลงจากไตรมาส 1 ที่มีการขยายตัว 6.4% แต่ประเด็นดังกล่าวก็ส่งผลให้ตลาดคาดว่าทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ออก

ถ้าเราพิจารณาในรายละเอียดดูจะพบว่าภาวะเศรษฐกิจจีนไม่ได้เลวร้ายมากนัก เพราะแม้ว่าตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ของจีนจะชะลอตัวลง แต่ตัวยอดค้าปลีก หรือ Retail Sale เดือน มิ.ย.2562 ขยายตัวขึ้นถึง 9.8% YoY ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 8.5% รวมถึงตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือ Industrial Production เดือน มิ.ย.2562 ที่ขยายตัว 6.3% ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 5.2% และขยายตัวมากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.0%

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลข GDP ของจีนชะลอลงมาจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของจีนหดตัวลง 1.3% YoY ในเดือน มิ.ย.2562 หลังจากเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าหดตัวลง 7.3% ต่อเนื่องจากที่หดตัวลง 8.5% ในเดือนก่อนหน้า ในทิศทางเดียวกับการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาที่ลดลงถึง 31.4% YoY ในเดือน มิ.ย.2562 ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาลดลง 7.8% YoY ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างจีนและสหรัฐในเดือน มิ.ย.2562 จีนเกินดุลมากที่สุดในปีนี้ที่ 29.90 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกลางเอเชียเตรียมลดดอกเบี้ยชุดใหญ่ : อย่างไรก็ดีในมุมมองของ “นายหมูบิน” มองว่ากรอบการปรับตัวลง หรือ Downside ค่อนข้างจำกัดมากแล้ว โดยมีปัจจัยหนุนจากการโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนนี้ หลังจากที่นาย Jerome Powell ประธานเฟดยังคงเน้นย้ำถึงความเสี่ยงขาลงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐ และจะดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไป ขณะที่นาย John Williams ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ได้ออกมาสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว และสร้างความกังวลให้กับหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ โดยระบุว่าการใช้มาตรการป้องกันเอาไว้ก่อนที่จะเกิดหายนะนั้น ถือเป็นแนวทางที่ดีกว่า และเมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะนี้ สิ่งที่ควรทำก็คือรีบดำเนินการอย่างรวดเร็ว และเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ยาวนานขึ้น ส่งผลให้ทิศทางของ Fed Funds Future ล่าสุดบ่งชี้ว่ามีโอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงราว 42% ในวันที่ 31 ก.ค.2562 เพิ่มขึ้นจาก 15% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางในเอเชียจะเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และอัดฉีดสภาพคล่องต่างๆออกมา โดยเฉพาะการปรับลดดอกเบี้ย โดยที่ล่าสุดธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.50% จากระดับ 1.75% ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น หลังจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากยอดส่งออกของเกาหลีใต้ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเวลา 7 เดือน และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกในอนาคต เนื่องจากญี่ปุ่นได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และชิปประมวลผลไปยังเกาหลีใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกาหลีใต้เนื่องจากเซมิคอนดักเตอร์และชิปประมวลผลต่างก็เป็นสินค้าส่งออกหลักของเกาหลีใต้

ขณะที่ธนาคารเกาหลีใต้ได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตของตัวเลข GDP ลดลงมาอยู่ที่ 2.2% จากการคาดการณ์ที่ 2.5% ในเดือน เม.ย.2562 และอัตราเงินเฟ้อลดลงการคาดการณ์ที่ 0.7% จาก 1.1% ในเดือน เม.ย.2562 ทั้งนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเกาหลีใต้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวงกว้างของธนาคารกลางในเอเชีย หลังจากธนาคารกลางออสเตรเลีย และธนาคารอินเดียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่ในกลุ่ม TIP ล่าสุดธนาคารกลางอินโดนีเซียก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยราว 0.25% สู่ระดับ 5.75% จาก 6.00% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่ปรับตัวลงมาต่ำกว่ากรอบแนวรับ 1,680-1,700 จุด เน้น “อ่อนตัวเข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

17 views
bottom of page