top of page
312345.jpg

จับตา Yield Curve พันธบัตร 10 ปี & ตั๋วเงินคงคลัง 3 เดือน ติดลบเมื่อไหร่ เป็นสัญญาณอันตราย


คุณชยนนท์ รักกาญจนันท์ Mr.Messenger

แนะเฝ้าระวัง...จับตา Yield Curve พันธบัตร 10 ปี กับตั๋วเงินคงคลัง 3 เดือน ติดลบเมื่อไหร่ ถือเป็นสัญญาณอันตรายว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะชะลอตัว ตลาดหุ้นอเมริกาจะปรับฐาน กระทบตลาดหุ้นทั่วโลก ใครมีพอร์ตลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศต้องวางสัดส่วนการลงทุนให้ปลอดภัยไว้ก่อน แต่ในอีกมุมหนึ่งของ 4 องค์ประกอบหลักคือ GDP ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ Valuation และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลง เป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจโลก-ตลาดหุ้น จะยังไม่ชะลอตัวในปีนี้หรือปีหน้า ชี้...สูตรสำเร็จการลงทุนในหุ้น อย่าลงทุนในหุ้นไทยอย่างเดียว ควรกระจายการลงทุนในตลาดหุ้น ตปท. โดยเฉพาะระยะสั้น 3-6 เดือน ตลาดหุ้นอเมริกาจูงใจที่สุด ส่วนตลาดหุ้นจีนต้องรอให้ปรับฐานอีก 5-10% จึงเข้าซื้อ ที่สำคัญควรจัดพอร์ตลงทุน โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาฯ ที่ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยอย่างชัดเจน แจงข่าวดี...ครึ่งปีหลัวจะมี Fund Flow จาก ตปท.ทยอยไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างน้อย 1 แสนล้านบาท

ตลาดหุ้นยังมีอนาคตไหม

ประเด็นเริ่มต้นมาจากวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมว่าจะขึ้นกำแพงภาษีกับจีน ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงต้นเดือนมิถุนายนตลาดหุ้นไทยลบไปประมาณ 4% ตลาดหุ้นอเมริกาลบประมาณ 5% ที่โดนหนักที่สุดคือจีน ลบประมาณ 7% แสดงให้เห็นว่าสงครามการค้าโลกกลับปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักไม่ใช่ประเด็นอื่นที่หุ้นปรับฐานลงมา

ล่าสุดทรัปม์ไปเล่นงานเม็กซิโกอีกประเทศ

อาจจะมีอินเดียเพิ่มมาด้วย ถ้าลองไปดูสัปดาห์ที่ทรัมป์ไปเยือนอาเบะที่ญี่ปุ่น จริงๆ โทนที่ให้สัมภาษณ์ออกมาก็กึ่งๆ กลายๆ ขู่ว่าญี่ปุ่นเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดี แต่ก็อยากให้ลดดุลการค้า มาพูดแบบนี้กลายเป็นว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ไม่ได้ไปไหน สิ่งที่ต้องระวังคือ อเมริกาเล่นประเด็นตรงๆ คือขาดดุลการค้ากับที่ไหนก็เล่นที่นั้น ขาดดุลการค้ากับจีนหนักที่สุดในโลกก็ก่อสงครามการค้ากับจีน อันดับ 2 ก็มาที่สหภาพยุโรป ปีที่แล้วทำไปแล้วคือขึ้นภาษีกับเหล็กและอะลูมิเนียม และก็กลับมาเจรจากันได้ จากนั้นก็มาคุยกับแคนาดาและเม็กซิโก จริงๆ แล้วญี่ปุ่นเป็นอีกที่ที่อเมริกาขาดดุลเป็นอันดับ 3 คิดว่าญี่ปุ่นก็ต้องเดินหมากตามสถานการณ์

นอกจากหุ้นที่ตกหนักเพราะทรัมป์ทวิตเรื่องต่างๆ แต่ในเรื่อง yield curve ผลตอบแทนพันธบัตรก็ไม่เป็นไปตามกลไกเดิมๆ

Yield Curve ที่ตลาดดูมี 2 ตัว 1. พันธบัตร 10 ปี ลบด้วยผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ลบด้วยพันธบัตรของปีนี้ 2.พันธบัตร 10 ปี ลบตั๋วเงินคลัง 3 เดือน ซึ่งทั้ง 2 ตัวเป็นที่สหรัฐที่เดียว ถ้าตัวพันธบัตร 10 ปี ลบ 2 ปี แล้วติดลบเมื่อไหร่ เรียกว่า Inverted Yield Curve คือในภาวะปกติแทบเป็นไปไม่ได้ที่พันธบัตร 10 ปี จะให้ผลตอบแทนน้อยกว่า 2 ปี แต่ตอนนี้เกิดขึ้นแล้ว

ถ้าไปดูสถิติย้อนหลังช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าการเกิด Inverted Yield Curve 10 ปี ลบ 2 ปี แล้วติดลบ ไม่ได้นำมาซึ่งการเกิดวิกฤตการเงินเสมอไป ที่ผ่านมาเกิด Yield Curve 10 ครั้ง แต่เกิดวิกฤตจริงๆ 3 ครั้ง ที่เหลือ 7 ครั้งไม่ได้แย่ขนาดนั้น ถ้าใครมอง Inverted Yield Curve 10 ปีกับ 2 ปี ว่าจะทำให้เป็นปัญหา แต่ส่วนตัวคิดว่าตอนนี้ยังเฉยๆ มันยังบอกอะไรไม่ได้มาก

แต่ตัวที่น่ากลัว คือ 10 ปี ลบตั๋วเงินคลัง 3 เดือน ซึ่งมีบางช่วงที่ติดลบลงไปแล้ว ตัว 10 ปี ลบตั๋วเงินคลัง 3 เดือนนั้น ทุกครั้งที่เกิดขึ้นมันกลายเป็นว่าตลาดหุ้นไม่เกิน 2 ปีข้างหน้าจะเกิดวิกฤตการเงินขึ้น ตลาดหุ้นมักจะพังลงมา ในมุมของผมสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วเมื่อเดือนธันวาคม ที่พันธบัตร 10 ปีลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.3% ขณะที่ตั๋วเงินคลังอยู่ที่ประมาณกว่า 2.3% คือออกมาแล้วลบนิดหน่อย สิ่งนี้เป็นสัญญาณอันตรายที่บอกว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะเข้าสู่การชะลอตัวภายในปีนี้หรือปีหน้า จะนำมาซึ่งการปรับฐานตลาดหุ้นทั่วโลก ถ้าตลาดหุ้นอเมริกาพังขึ้นมาจริงๆ ผมคิดว่าไม่ว่าเราอยู่ในตลาดหุ้นไหนก็ต้องโดนด้วยทั้งหมด คนที่มีพอร์ตอยู่ในไทย จีน หรือ เอเชีย จำเป็นต้องรักษาสัดส่วนการวางสินทรัพย์ให้ปลอดภัย

ปัญหา Yield Curve เคยเกิดล่าสุดเมื่อปี 2007 ต่อมาเกิดปี 2008 ที่เกิดวิกฤตการเงิน จะให้น้ำหนักตรงนี้ยังไงว่า Yield Curve จะทำให้ตลาดหุ้นพังไหม

ผมมองว่าเป็นข้อมูลที่น่าเอามาประกอบการตัดสินใจ แต่ก็ไม่ควรจะเชื่อข้อมูลนี้ทั้งหมด ผมชอบนักวิเคราะห์อย่าง J.P. Morgan ที่ทำรีเสิร์ชออกมาเป็นรายไตรมาส มีรีเสิร์ชตัวหนึ่งระบุน่าสนใจว่าจะเกิดวิกฤตในตลาดหุ้น หรือตลาดหุ้นจะปรับฐานจากสูงสุดลงมามากกว่า 20% แต่เขาบอกว่าการปรับฐานจะเกิดขึ้นได้มีอยู่ 4 ปัจจัยเท่านั้น คือ 1. เกิด Retention ในเศรษฐกิจ คือ GDP ของประเทศนั้นต้องติดลบมากกว่า 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งตั้งแต่หลังวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 จนถึงตอนนี้ในอเมริกา GDP ยังเป็นบวกอยู่ จะบวกมากหรือน้อยซึ่งไม่ได้หมายถึง Retention ข้อนี้เลยตัดไป 2. สินค้าโภคภัณฑ์จะเกิดฟองสบู่ ราคาสินค้าเกษตรพุ่งแรงมาก อาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งในมุมของการให้เหตุผลชัดๆ คือถ้าราคาสินค้าแพงขึ้นมาก คนอาจจะหยุดบริโภคเพราะข้าวของแพงขึ้น ถ้าหยุดพร้อมกัน เศรษฐกิจอาจจะหยุดชะงักได้ แต่ถ้ามาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน ราคาน้ำมันก็ต่ำกว่า 60 เหรียญ ราคาสินค้าเกษตรไม่ได้ปรับขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ไม่มีน้ำหนักพอจะทำให้ตลาดหุ้นปรับฐาน 3. Valuation คือถ้าตลาดหุ้นจะลงได้มันต้องแพงตอนเดือนตุลาคม Valuation ของตลาดหุ้นอเมริกาหรือญี่ปุ่นที่มี Valuation แพงเกือบเท่าวิกฤตซับไพรม์ ซึ่งมันก็นำมาสู่การปรับฐานไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การปรับฐานตอนนั้นเราก็เห็นแล้วตั้งแต่ต้นปีตลาดหุ้นอเมริกาวิ่งแบบ v-shape บวกขึ้นมากว่า 20% แสดงว่าเรื่อง Valuation ยังไม่ใช่ 4. ที่ J.P. Morgan บอกว่าถ้าการปรับฐานลงมาแรงๆ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตลาดหุ้นจะพัง คือผู้กำหนดนโยบายการเงินมีท่าทีทำนโยบายเชิงรุก คำว่านโยบายเชิงรุกคือขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งปีที่แล้วอเมริกามีท่าทางเป็นอย่างนั้น เพราะอเมริกาขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง แต่หลังจากทรัมป์ขู่จะให้ลดดอกเบี้ยลง เจอโรม พาวเวลล์ ก็อาจจะร้อนเก้าอี้ เจอโรม พาวเวลล์ จะต้องลาออกหรือไม่ หรือถูกไล่ออก เพราะทรัมป์เป็นคนบอกเองว่าการที่เฟดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งเกินความจำเป็น เราก็เลยเห็นโพลว่าปีนี้เฟดไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ย และมีแนวโน้มว่าช่วงปลายปีอาจจะลดดอกเบี้ย แปลว่าอเมริกาไม่น่าจะสามารถทำนโยบายการเงินเชิงรุกได้ภายในปีนี้

มองจาก 4 ปัจจัยแล้วแสดงให้เห็นว่าไม่มีปัจจัยไหนมีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวหรือตลาดหุ้นปรับฐานภายใน 1 ปีข้างหน้า ผมมองแบบนี้ พอมองแบบนี้ก็อาจจะขัดกับสถานการณ์ตอนนี้ที่สงครามการค้าเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าทรัมป์ยังคุมอยู่ ถ้าจีนเจรจาการค้ากับอเมริกาไม่สำเร็จจะเกิดอะไรขึ้น ในมุมของผมคือรอดูพัฒนาการตอนนั้นว่าเศรษฐกิจตอนนั้นทรุดลงจริงหรือไม่ ถ้าทรุดลงจริงก็จะเข้าเงื่อนไขข้อแรกของ J.P. Morgan คืออาจจะเกิด Retention ในอเมริกาคือ GDP ติดลบ ถ้าติดลบจริงเราก็มีเวลา 2 ไตรมาส อาจจะติดลบในไตรมาส 2 หรือ 3 และถ้ายังฟื้นได้แปลว่าหุ้นก็อาจจะลงลำบาก

ถึงตรงนี้สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนลามไปเม็กซิโกและกำลังไปอินเดีย อเมริกาเก็บภาษีต่างๆ ได้เยอะ มองอย่างไรกับครึ่งหลังของปีนี้

สรุปครึ่งปีหลังผมคิดว่าสิ่งที่ทรัมป์ทำกับจีนก็โหดระดับหนึ่ง ตอนนี้ลิสต์รายการสินค้าที่ขึ้นภาษี 25% ถ้าเจรจากันไม่ได้แทบจะครบทุกอย่างแล้ว ถ้าจะเล่นงานจีนมากกว่านี้ ก็ต้องขึ้นภาษี 25% เป็น 30-35% ซึ่งเลยกรอบการตั้งภาษีในสแตนดาร์ดทั่วไปของมาตรฐานของโลก ต้องระวัง ไม่อย่างนั้นจะโดนจีนไปฟ้อง WTO แล้วคว่ำบาตรอเมริกาทั้งโลก

คิดว่าอเมริกายังมีไม้เด็ดต่อสู้ในสงครามการค้าต่อ ซึ่งจริงๆ เราเห็นแล้วที่จะเปลี่ยนจากคำว่า Trade War, เป็น Tech War คือ Trade War เป็นสงครามการค้า แต่ Tech War คือสงครามเทคโนโลยี เราเห็นแล้วว่าอเมริกาเล่นงานหัวเว่ยโดยตรง ล่าสุดหัวเว่ยโดนเล่นงาน ในเชิงกฎหมายในระดับบริษัท ไม่ใช่นโยบายของภาครัฐ คิดว่าครึ่งปีหลังน่าจะเห็น แปลว่าถ้า Tech War เกิดขึ้นแทน Trade War ผมคิดว่าระยะสั้นคนที่ได้ประโยชน์คือบริษัทเทคโนโลยีในอเมริกา จีนอาจจะเสียประโยชน์ เทคโนโลยีในจีนอย่างพวกหัวเว่ยหรือบริษัทจีนจะโดนแรงกดดันจากนักลงทุนและนักลงทุนน่าจะไม่ชอบ

ผมคิดว่า Supply Chain ในเอเชียรวมถึงไทย เวียดนาม อาจจะเจออุปสรรคเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง อาจจะไปได้ลำบากหน่อย ในมุมของผมคือ พอทรัมป์เปลี่ยนเกมมาเล่น Tech War เชื่อว่าหุ้นอเมริกาจะไปได้ในครึ่งปีหลัง แต่ก็ต้องมองยาวกันว่าอเมริกาไปได้จริงหรือ ซึ่งสิ่งที่อเมริกาทำตอนนี้ในมุมของผมมันคือไม่ใช่ อเมริกาพยายามจะเข้มงวดวางกฎหมายกับหัวเว่ย สาเหตุหนึ่งเพราะเทคโนโลยีหัวเว่ยกับสิทธิบัตร 5G ที่หัวเว่ยถืออยู่ในตอนนี้มันล้ำหน้าและแซงอเมริกาแล้ว ค่อนข้างชัดว่าบริษัทในอเมริกาตามไม่ทัน หลังจากนี้ไปถ้าเป๋ยไปตามที่ สี จิ้นผิง บอกว่า เศรษฐกิจอเมริกาเหมือนมหาสมุทร มหาสมุทรมีวันที่คลื่นสงบและมีลมพายุซัดเข้ามา ความเป็นมหาสมุทรอย่างไรก็ต้องมีสิ่งนี้ เมื่อสิ่งนี้หายไปมหาสมุทรนี้ก็ยังคงอยู่ คำพูดของ สี จิ้นผิง คมมาก แปลว่า เขารู้อยู่แล้วว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น เขาเตรียมการรับมือไว้อยู่แล้ว ในเกมยาวเชื่อว่าไม่เกิน 10 ปี GDP จีนจะแซงหน้าอเมริกาได้สบาย เพราะฉะนั้นใครที่ลงทุนวางแผนในครึ่งหลัง ต้องระวังตลาดหุ้นจีนตก ตลาด Tech ตกลงมา เป็นจังหวะที่อเมริกาทยอยซื้อ ใครจะเล่นสั้นให้มองแค่ 3-6 เดือน ผมคิดว่าหุ้นเทคโนโลยีในอเมริกาดีกว่า

นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศกันมากในช่วงที่ผ่านมา ถึงวันนี้เจอเหตุการณ์เหล่านี้ ยังไปลงทุนในต่างประเทศไหวไหม

ผมว่ายังจำเป็น ต้องใช้วิธีกระจายความเสี่ยง อย่างพอร์ตของ FINNOMENA ที่ผมและทีมงาน FINNOMENA ดูแลอยู่กันตอนนี้มีการกระจายการลงทุนอยู่ในต่างประเทศไม่เกิน 20% ยังถือว่าน้อย อีก 80% ที่เหลือนำไปลงทุนในหุ้นไทยสัดส่วนอยู่ประมาณ 20% คือไม่ได้น้อย เป็นสัดส่วนเท่ากับต่างประเทศ

ในมุมหนึ่งคือปัจจัยหุ้นไทยที่มีประเด็นการเมือง แล้ว GDP ไตรมาส 1 ออกมาก็ต่ำกว่า 3% มองแล้วเหมือนเศรษฐกิจไทยจะชะลอ อย่างนี้ยังจะน่าลงทุนในไทยไหม ในมุมของผมคิดว่ายังน่าลงทุนอยู่ เพราะ MSCI ปรับการคำนวณ คือเพิ่มสัดส่วนหุ้นไทยจาก 2.5% เป็น 3% ซึ่ง 0.5% ที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นเม็ดเงิน 120,000-125,000 ล้านบาท ตามที่บลูมเบิร์กวิเคราะห์ แปลว่าหลังจากนี้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงสิ้นปีน่าจะมี fund flow จากต่างชาติไหลเข้ามาซื้อสุทธิ ช่วยพยุงตลาดหุ้นไทย แปลว่าถ้าตลาดหุ้นไทยจะปรับฐานก็อาจจะปรับเบากว่าตลาดหุ้นอื่นที่อยู่ในเอเชีย เพราะฉะนั้นผมมองว่าหุ้นไทยยังน่าสนใจ

ส่วนในต่างประเทศไปเสี่ยงแล้วจะเป็นอย่างที่บอกไหม ถ้าเล่นสั้นมองในกรอบ 3-6 เดือนคิดว่าตลาดหุ้นอเมริกาเป็นตลาดที่เราน่าจะกระจายความเสี่ยง ส่วนที่จีนถ้าใครมีอยู่ก็ต้องทนถือทนสู้ไป ถ้าใครยังไม่มีผมคิดว่าต้องรอปรับฐานลงมาสัก 5-10% แล้วค่อยทยอยเข้าซื้ออีกทีหนึ่ง

ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องวางเป้าหมายการลงทุนระยะยาว 5-10 ปีข้างหน้า การมีหุ้นไทยอย่างเดียวเป็นความเสี่ยง เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นที่รับผลกระทบคืออเมริกา รองลงมาถ้าไม่ใช่ไทยก็เป็นที่อื่น ก็ต้องกระจายความเสี่ยง

มองว่าการปรับตัวของหุ้นสำคัญๆ ในโลกปรับตัวลงมาพอหรือยัง

Valuation ยังแพงกว่าค่าเฉลี่ย อย่างที่อเมริกา PE อยู่ที่ประมาณเกือบ 16-17 เท่า ค่าเฉลี่ยเคยอยู่ที่ประมาณ 15 เท่า ก็ลดลงมาได้อีก 2 เท่า ยังลดลงมาได้อีก 10% ยังประมาทไม่ได้ แต่ถ้าตลาดหุ้นจะเป็นกระทิงบางที Valuation ลงมาถูกจนเราซื้อได้ อย่างตอนที่ตลาดหุ้นไทยที่หุ้น Small Cap วิ่งแรง 20-40 เท่า ก็วิ่งไป PE ไม่ถูกให้เราเห็น ในมุมของผม PE เอาไว้ดูสภาวะตลาด ถ้าตลาดยังเป็นกระทิงอยู่ PE จะไม่ลงมา แต่ถ้าเมื่อไหร่ตลาดเป็น Bear แล้ว แม้แต่ PE ลงมาต่ำกว่า 10 เท่าก็วิ่งได้ยาก เพราะฉะนั้นอย่าให้น้ำหนักมันเยอะ คือดูตลาดก่อน

อย่างตลาดหุ้นจีนเป็นยังไง ปรับตัวลงได้อีกไหม

จีน ตอนเดือนธันวาคม หุ้น A care ลงมา 8 เท่า ถูกมาก จาก 8 เท่าในเดือนธันวาคมวิ่งขึ้นมาในเดือนเมษายนขึ้นมาเป็น PE 12 เท่า ก็ถือว่ายังถูก จาก 12 เท่าในเดือนเมษายนตอนนี้ลงมา 11 เท่า ก็ถูกอีก เพราะตลาดหุ้นจีนเจอฟองสบู่ ปี 2014 ตอนนี้ปีเดียวบวก 50% PE บวกไปเกิน 22 เท่า ถ้าจากตรงนี้ 10 เท่า บวกกับ 22 เท่า แปลว่าหุ้นวิ่งได้ 100% เรื่องถูกไม่มีใครมองเป็นปัญหา แต่ที่น่ากลัวคือ ถ้า Trade War ยังคงอยู่แล้วทำให้กำไรของบริษัทหรือผู้ประกอบการในจีนลดลง PE ที่เราเห็นถูกแบบนี้จะกลายเป็นแพงในวันหน้าเพราะ Earning มันหายไป

การที่อเมริกากับจีนทำสงครามการค้ากันและบานปลายเป็น Tech War ทรัมป์เล่นหนักไม่ใช่การค้าอย่างเดียว มีเรื่องอื่นผูกมาด้วย จะส่งผลกับนักลงทุนที่อยู่ในจีนโดนบีบทางอ้อมให้กลับไป อย่างเม็กซิโกขึ้นภาษี 5% เริ่ม 10 มิถุนายน ถ้ายังแก้ปัญหาเรื่องผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ไม่ได้ ทำให้หุ้นรถยนต์ของญี่ปุ่นตก เรื่องแบบนี้จบยากไหม

ที่เรากังวลก็เพราะมีเหตุผลกังวล ในมุมผมมองว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาที่เรามีประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้นำของอเมริกา เราเห็นดีลการค้าจบ 2 ที่ คือภาษีเหล็กกับอะลูมิเนียมที่ยุโรป ที่แลกมากับการนำเข้าภาษีรถยนต์ คือยุโรปต้องลดกำแพงภาษีลง ส่วนที่ฉีกสัญญา NAFTA คือตอนแรกจะตั้งกำแพงภาษีแคนาดากับเม็กซิโก ที่ดีลได้คือรถที่จะผลิตได้ต้องมีอะไหล่พาร์ต จะต้องกลับเข้าไปประกอบในอเมริกาถึงจะสามารถดำเนินต่อได้ แสดงให้เห็นว่า 2 ดีลที่อเมริกาจะพยายามแตกทวิภาคีออกเป็นเจรจาพหุภาคีกลายเป็นว่ามันได้ผล กลายเป็นว่าสิ่งที่ทรัมป์ทำตอนนี้เขาหวังได้ดีลกับประเทศที่เขาโจมตีโดยตรง เพื่อให้อเมริกาได้ประโยชน์มากขึ้น

แต่ในมุมของผมคือต้องแลกกัลบอะไรบางอย่างอยู่แล้ว อเมริกาเองก็ต้องมีสิ่งที่เสียบ้าง คิดว่าผู้นำรัฐบาลแต่ละประเทศที่ตอนนี้ต้องดีลกับทรัมป์ต้องมีมุมทั้งอ่อนและไม่อ่อนข้อ คิดว่าไม่ถึงขั้นไปดีลการค้าที่ตัวเองเสียเปรียบทั้งหมด แล้วกลายเป็นประชาชนในประเทศตัวเองหรือประชาชนในเม็กซิโกออกมาโวยว่าทำไมไปเซ็นแบบนี้ แล้วสมัยหน้าใครจะเลือก คิดว่าเป็นเกมที่มีการคานอำนาจ

อีกมุมหนึ่งใน 3 ปีที่เรียนรู้จากการตามข่าวทรัมป์จากสื่อไหนก็แล้วแต่ เขาเป็นคนพร้อมที่จะทวิตการเจรจาได้ทุกเมื่อ เชื่อว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ในตอนนี้เป็นการหวังผลเพื่อเป็นการเจรจาให้ผ่านไปได้ เขาหวังผลให้ตัวเองกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 สมมุติสมัยที่ 2 Secure มากขึ้น Trade War จะลดลงการเจรจาลง ในมุมของผมคือเรามีเหตุผลที่จะกังวลว่าทำไมตลาดไม่เทขายรุนแรงเลย ณ ตอนนี้ ก็เพราะคนรู้ว่าทรัมป์ใช้วิธีนี้ในการเจรจา ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นแปลว่าอเมริกาได้ดีลที่ดีขึ้น หุ้นอเมริกาอาจจะวิ่งทะยานได้ต่อ และอาจจะไม่มีแนวคิดในการปกป้องกีดกันทางการค้าเกิดขึ้นแบบแพร่กระจายได้

มองว่าสุดท้ายตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นโลกยังไม่ตาย ยังเป็นกระทิงอยู่

ใช่ คิดว่าผมยังเชื่อมั่นในการบาลานซ์เทรดของการเมืองอเมริกา เขาทำด้วยเป้าจุดประสงค์บางอย่าง ซึ่งจะทำจริงหรือไม่ ก็เหมือนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ 3 ที่คนคิดว่าเกาหลีเหนือจะยิงขีปนาวุธหรือไม่ ถ้าทำแล้วแพ้ทั้ง 2 ฝ่าย ก็ไม่มีใครทำ ผมเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น และดูจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาโดยภาพรวมตอนนี้คิดว่ามันแค่เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี เปลี่ยนถ่ายพฤติกรรมผู้บริโภค เราแค่ให้เวลาหน่อยเท่านั้นเอง

การลงทุนในต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงออกไป ก็ยังทำได้อยู่ใช่ไหม

ใช่ อีกอย่างหนึ่งคือ นอกจากลงทุนในหุ้นแล้วอาจจะต้องดูสินทรัพย์ประเภทอื่นด้วย ซึ่งในช่วงหลังจากนี้ไปมีสินทรัพย์ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเริ่มปรับตัววิ่งขึ้นมาแล้ว นั่นคือหุ้นโครงสร้างพื้นฐาน หรืออสังหาริมทรัพย์ สาเหตุเพราะไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีอเมริกาประเทศเดียวที่มี GDP ปรับตัวดีขึ้นเกินกว่านักวิเคราะห์คาด นอกนั้นแย่กว่านักวิเคราะห์คาดกันหมด พอเศรษฐกิจอยู่ในขาที่ชะลอ แปลว่านโยบายการเงินของทั้งโลกแทบจะไม่มีใครสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ พอขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้แล้วยังมีแนวโน้มอาจจะต้องมีรัฐเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน แปลว่ามีแนวโน้มที่ดอกเบี้ยอาจจะลดลง สมมุติเราถือตราสารหนี้ประมาณ 4% ถ้าดอกเบี้ยจะลงแปลว่าเราถือ 4% ต่อไปดีกว่า ไม่ต้องถือตราสารหนี้ระยะสั้น แน่นอนอีกมุมหนึ่งของอสังหาฯ คือพอดอกเบี้ยลง ก่อนหน้านี้อสังหาฯ ได้ปันผล 5% ดอกเบี้ยอาจจะได้อยู่ที่3% คิดว่าปีหน้าดอกเบี้ยจะลดเหลือ 2.5% แต่ปันผลอสังหาฯ ยังให้ 5% คือตัว 5% ไม่ได้เปลี่ยนไป ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงต่ำมันให้ผลตอบแทนลดลง เพราะฉะนั้นอสังหาฯ จะน่าสนใจโดยปริยาย จึงเป็นที่มาเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในขาชะลอ อสังหาฯ จะเป็นสินทรัพย์ประเภทให้ผลตอบแทนได้ค่อนข้างดีในช่วงภาวะแบบนี้ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีกองอสังหาฯ วิ่งขึ้นมาเกิน 10% ทั้งที่จ่ายปันผลได้แค่ 5-6% ก็เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่น่าสนใจ

ตลาดหุ้นไทย 6-7 เดือนที่เหลือจะเป็นยังไง

ในช่วง 7 เดือนที่เหลือ มุมมองของผมคือ fund flow ต่างชาติจะไหลเข้าหุ้นไทยจากดัชนีการคำนวณ ซึ่งปัจจัยนี้ปัจจัยเดียวก็เพียงพอให้เงินประมาณ 100,000 ล้านเข้าอยู่แล้ว แต่ประเด็นคือ 100,000 ล้านไม่ได้ตูมเดียวเข้าเลย แต่เป็นการทยอยเข้า มุมนี้ทำให้มีแรงรับในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยไม่ได้แพงเกินไป ส่วนความเสี่ยงจากการเมือง จากการได้คุยกับหลายคน เขากังวลว่ารัฐบาลที่จัดตั้งได้อาจจะอยู่ไม่ยาว ถ้าอยู่ไม่ยาวหุ้นมันขึ้นยากอยู่แล้ว ในมุมผมคือ เมื่อประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยร่วมกับพลังประชารัฐ แสดงว่าทั้งสองพรรคนี้จะต้องเห็นแล้วว่าพลังประชารัฐจะอยู่ได้ครบเทอมหรืออยู่ได้ยาวที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเชิงสัญลักษณ์คือ เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แบ่งเก้าอี้จนเสร็จ ผมคิดว่าเราซื้อหุ้นไทยได้ แต่ถ้ายังแบ่งกันไม่ได้ ผมคิดว่าอันตราย อาจจะต้องพักหุ้นไทยไว้ก่อน

29 views
bottom of page