ประธานสภานายจ้างติงเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทั้งนายจ้าง-ลูกจ้างถึงจะมีระบุตัวเลข 360 บาทอาจมากไปเพราะเศรษฐกิจ/ธุรกิจยามนี้ไม่อำนวย กระทบหนักต่อธุรกิจ SME แนะทยอยปรับขึ้นปีละเล็กละน้อยดีกว่า ปรับพรวดเดียว 5-10% กระทบต้นทุนการผลิตมากอาจหันไปใช้ AI-ปัญญาประดิษฐ์แทนคน แก้ปัญหาความอยู่รอดแบบเดียวกับ BANK ที่ปิดสาขา/ลดพนักงานเพื่อความอยู่รอดของกิจการ เผยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทำกันช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนทุกปี ไม่เกี่ยวกับการเมือง/เมืองไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562
- ได้เวลาคณะกรรมการไตรภาคีแรงงานพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอย่างไรหนักใจหรือไม่
เป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่คุยมาโดยตลอด เป็นเรื่องไข่กับไก่มีทั้งคนอยากให้ขึ้นและไม่อยากให้ขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย หาทางให้ลงตัวได้ประโยชน์ทั้งนายจ้างและลูกจ้างพอๆกัน
- บรรยากาศในที่ประชุมครั้งนี้เป็นอย่างไร
ครั้งนี้ตัวผมไม่ได้เข้าเข้าร่วมในฐานะกรรมการค่าจ้างด้วย แต่ทำงานในฐานะประธานนายจ้างได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่มองเรื่องตัวเลข โดยเฉพาะผมเป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมด้วยก็มีส่วนด้านนี้ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน
- ตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาทต่อวันนี้มาจากไหน นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอให้ใช้อัตราเดียว 360 บาททุกจังหวัดทั่วประเทศ
ตอนนี้มีผู้เสนออยากให้ตัวเลขเท่ากันดีหรือไม่ 360 ทั่วประเทศ ซึ่งจริงๆแล้วค่อนข้างยากด้วยสถานะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังมีการหาตัวเลขที่เหมาะสม ปัจจุบันตัวเลขแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ซึ่งตัวเลขที่ไม่เท่ากันถือว่าเหมาะสม ปรับตามจังหวัดที่เหมาะสมตัวเลขค่าจ้างดีแล้ว แต่ก็ไม่อยากให้แตกต่างกันมากเกินไปตัวเลขควรใกล้เคียงกัน
- สถานการณ์เศรษฐกิจ/ธุรกิจปัจจุบันไม่ปรับได้หรือไม่ เพราะมีบางคนมาพูดกิจการ SME กระเทือนมาก ใช้แรงงานเยอะ
ที่จริงแล้วหลาย SME กังวลเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมาโดยตลอด ทุกครั้งที่มีการปรับก็กระทบทุกครั้ง ทาง SME ก็หนักใจด้วยว่าเศรษฐกิจที่ไม่อำนวยและมีการปรับค่าจ้างตามกฎหมายซึ่งก็มีการควบคู่กันมานาน ด้วยสังคมเรานายจ้างลูกจ้างเป็นการอยู่ด้วยเกื้อกูลกัน นายจ้างอยู่ได้ลูกจ้างก็อยู่ได้ เชื่อว่ามีการปรับอยู่แต่ต้องเป็นตัวเลขปรับให้เหมาะสม อย่าให้กระเทือนมากแล้วตัวที่ผมเน้นมากกว่า คือ อยากให้ตัวลูกจ้างมีการพัฒนาตัวเองขึ้นมาให้คุ้มค่าจ้าง เรียกว่าปรับขึ้นมาแล้วคุณภาพดีขึ้นมาเชื่อว่านายจ้างก็ยังอยู่ได้ ยอดขายมากขึ้น ทำกำไรได้มากขึ้น
- โอกาสใช้อัตราเดียวกันทั่วประเทศ 360 เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ผมว่าไม่เหมาะ ไม่น่าจะเท่ากัน ปรับครั้งเดียว 360 ให้เท่ากันหมดน่าจะยาก
- เรื่องของแรงงานไทย แรงงานต่างชาติ อัตราค่าจ้างต้องแตกต่างกันยังไง
ต้องดูคุณภาพ เรียกว่า ดูที่สกิลด้วย อันไหนเป็นค่าแรงสกิลสูงหน่อยค่าแรงก็สูงอยู่แล้วตามความสามารถ
- มีคนบอกว่าอย่าเพิ่งขึ้นตอนนี้ ให้เลื่อนไปหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม เพราะถ้าขึ้นตอนนี้เหมือนทำเพื่อการเมืองพรรคใดหรือไม่
เรื่องค่าแรงมีการปรับมาตลอดไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็มีการขึ้นมาโดยตลอดตามเพื่อนบ้าน...ตามสากล ไม่ใช่เราขึ้นประเทศเดียว ซึ่งเพื่อนบ้านก็ขึ้นทุกปีตลอดเวลาแต่ขึ้นให้เหมาะสมและมีการปรับตัวกัน ผมเชื่อว่าพออยู่กับนายจ้างและลูกจ้างต้องยอมรับตรงนี้ด้วย
- โอกาสที่จะเลื่อนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำออกไปหลังจากเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม มีมากน้อยแค่ไหน
อันนี้อยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้างก็มีการพูดคุยกันอยู่ว่าตามเกณฑ์เดิมปรับช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ต้องดูกันว่าการพูดคุยออกมาเป็นแบบไหน แต่ทุกปีก็เป็นช่วงนี้อยู่แล้ว
- เรื่องของอัตราค่าจ้าง เมื่อเปรียบเทียบของไทยกับเพื่อนบ้านเราที่แข่งขันเรื่องย้ายฐานการผลิต ประเทศเพื่อนบ้านค่าแรงเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับไทย
เราก็อยู่แบบกลางๆ ถามว่าค่าแรงมีผลกับการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศหรือไม่ ก็มีบ้าง โดยเฉพาะโรงงานใหม่ที่จะเข้ามา อาจจะมีการมองว่าประเทศนี้ค่าแรงสูงทำให้ต้นทุนสูงขึ้น การตัดสินใจในการลงทุนต้องลองวิเคราะห์ตัวเลขอีกครั้งหนึ่ง แต่โดยเฉลี่ยตัวเลขบ้านเรามีขนาดกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็มีตัวเลขสูงกว่าเราเยอะ
- เมื่อก่อนเราดีใจค่าแรงไทยไม่แพงมาก แรงงานเราดีมีคุณภาพ ใจดีไม่เหมือนที่อื่น
ประเทศเราเป็นประเทศแรกที่นักลงทุนมาลงทุนมีความสุข มีสนามกอล์ฟให้เล่น มีอาหารให้ทาน คนไทยเป็นมิตร รวมไปถึงค่าแรงใกล้เคียงกันหรือถูกกว่าบางส่วน ค่าเงินก็เป็นส่วนหนึ่งแต่เรื่องอื่นๆที่ทดแทนกันได้ คือ การพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นไป การจ่ายค่าแรงที่เท่ากันแต่การทำงานมีผลลัพธ์ออกมาดีกว่า
- เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมด้วยน่าจะเห็นภาพชัดดีว่าตอนนี้เราแข่งขันได้หรือไม่ในเรื่องของแรงงาน การย้ายฐานการผลิตน่ากลัวไหม
ตอนนี้ยังไม่ห่วง เรามีสิ่งทดแทนได้ ตอนหลังเรามีเปิดโครงการ EEC ระบบดิจิตอลมีขึ้นมาก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนเพิ่มเติม อาจจะมีปัญหาเรื่องค่าแรงขยับขึ้นหน่อย แต่สิ่งที่ทดแทนได้คือเรื่องของภาษี EEC การพัฒนาด้านตะวันออก คือมีอะไรมาทดแทนกันและต้องมาดูว่านักลงทุนจะมองอย่างไร
- ถ้าเทียบกันแล่วค่าแรง 330 บาทถ้าปรับขึ้นเป็น 360 บาท จะกระทบต้นทุนการผลิตขนาดไหน
อาจจะเร็วไปนิดหน่อย กลุ่มเจ้าของกิจการปรับตัวไม่ทัน ถ้าทยอยปรับขึ้นไปเชื่อว่ากลุ่มนายจ้างไม่ได้เดือดร้อนอะไรก็ปรับตัวตามไป แต่ถ้าเด้งทีเดียว 5-10% มองว่าอาจจะปรับตัวไม่ทันและอาจส่งผลกระทบตามมา
- ตอนนี้กิจการส่วนใหญ่หันไปพึ่งบริการ AI …ปัญญาประดิษฐ์ ลดการพึ่งพาแรงงานคน
เป็นเรื่องหนึ่งที่หลายภาคธุรกิจประชุมกัน มีการพูดคุยกังวลกัน เพราะ AI ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยแทบทุกสิ่ง เรามีประสบการณ์เรื่องแบงก์ปิดสาขาหรือลดสาขาเพราะใช้คนน้อยลง โรงงานอุตสาหกรรมที่ขึ้นค่าแรงมากๆ ขึ้นเร็วเกินไป การลงทุน AI ก็มีการพูดถึง ก่อนหน้านี้ค่าแรงถูกจะไปลงทุน AI จะมองว่าไม่คุ้มค่า แต่พอค่าแรงขึ้นเร็วมากเกินไปนายจ้างมองว่าคุ้มค่าที่จะลงทุน ไม่มีใครบอกตัวเลขได้ว่าตัวเลขไหนที่เหมาะสมที่สุด อยากให้ทำงานทั้งไตรภาคีทั้งนายจ้างและลูกจ้างมาคุยกันและเป็นตัวเลขที่ 3 ฝ่ายพอใจกันจริงๆ
- มาถึงตรงที่ไทยจะก้าวสู่ประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งทั่วไป มองการบริหารค่าแรงหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร
ผมมองว่าเราต้องตามกระแสเพื่อนบ้านหรือโลก ตอนนี้เศรษฐกิจทั่วไปถามว่าดีหรือไม่ ก็คงไม่ดีทีเดียว แต่เรามองว่าธุรกิจมีการเปลี่ยนถ่ายกันเยอะ เช่น การค้าขายทั่วไปที่เราเคยเป็นร้านขายของปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ คนไม่ทำงานก็ไปเปิดออนไลน์กันหมด คนทำงานออนไลน์แต่แม่ค้าบอกเศรษฐกิจไม่ดีขายไม่ได้เลย แต่ขณะเดียวกันธุรกิจออนไลน์เกิดขึ้น มีเด็กรุ่นใหม่สร้างตัวจากออนไลน์ใน 1-2 ปีที่ผ่านมา ผมมองว่าตอนนี้ธุรกิจมาแทนที่ก็กระทบกับการทำงานด้วย ส่วนใหญ่ก็เป็นนายจ้างตัวเขาเองไม่อยากทำงาน อยากเป็นเจ้าของกิจการเอง ก็มีหลายปัจจัยมาแทนที่ตรงนี้เยอะ โดยเฉพาะเป็นยุคเทคโนโลยี 5.0 หรือ 5G มาแทนที่ ตอนนี้เป็นอะไรที่เข้ามาเปลี่ยนบางธุรกิจ เปลี่ยนแรงงาน เปลี่ยนทุกรูปแบบ เราอย่าไปมองว่าปัญหาเกิดจากตรงนี้ใช่ไหม ปัญหาตรงนี้จริงๆอาจเกิดจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีของทั่วโลก เพราะฉะนั้นทุกคนต้องมีการปรับปรุงตัว