top of page
312345.jpg

แฉประมูลเอราวัณ-บงกช ปตท.สผ.ชนะขาด


Interview: คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ชี้ประเด็นชวนสงสัย ปตท.สผ. ชนะประมูลแหล่งก๊าซบงกช-เอราวัณ คนไทยเสียผลประโยชน์ ผิดหลักกฎหมาย โดยเฉพาะสิทธิเข้าถือหุ้นของรัฐในบริษัทที่ได้สัมปทาน ซึ่งรัฐควรถือหุ้นรวม 40% แต่ทำไปทำมาถือแค่ 20% หนำซ้ำการเร่งลงนามสัญญาสัมปทานภายในเดือน ก.พ. 62 ถือเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากล

มีความเห็นอย่างไรที่ผลสุดท้ายของการประมูลคือปตท.สผ.ได้สัมปทานทั้งบงกช-เอราวัณ จากเดิมที่ได้แห่งเดียว

ดูแล้วเป็นการดำเนินการที่น่าสงสัย และเท่าที่ดูข้อมูลแล้วมันมีประเด็นทางการเมืองที่ประชาชนเสียประโยชน์ และมีประเด็นในแง่ของกฎหมาย ลองไล่ทีละประเด็น อย่างเรื่องกฎหมายซึ่งเป็นประเด็นที่ชัดเจน คือกติกา TOR ที่กำหนดว่าใครก็ตามที่ชนะประมูล บริษัทที่ดำเนินการในแปลงต่างๆ จะต้องยอมให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปถือหุ้น 25% อันนี้เป็นกติกาที่ใช้ในระบบแบ่งปันผลผลิตในสากล และเขาก็ตั้งบริษัทแรงงานของชาติเข้าไปถือหุ้นแทนรัฐ 25%

ยกตัวอย่างแปลงเอราวัณ ปตท.สผ.จับมือกับมูบาดาลาเข้ามาทำตรงนี้ ทีนี้ถ้าใช้กฎกติกาตามนี้โดยกระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้น 25% แล้ว 75% เป็นของปตท.สผ.กับมูบาดาลา สัดส่วนของคลังมีสัดส่วนอยู่ในปตท.สผ.มันควรจะเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 กระทรวงการคลังถือหุ้นในปตท.โดยตรง 51% หลังจากนั้นปตท.ไปถือหุ้นในปตท.สผ. 65% พอคำนวนแบบนี้แล้วสัดส่วนของกระทรวงการคลังผ่านปตท.สผ.ประมาณ 15% ทีนี้ 15% บวกกับกระทรวงการคลังถือโดยตรงอีก 25% เท่ากับ 40% นี่คือสิ่งที่รัฐควรจะได้ตามกติกา แต่ปรากฎว่าเขาไปเสนอว่ารัฐไม่จำเป็นเข้าไปถือหุ้นตรงนี้โดยตรง เขาอ้างว่า ปตท.สผ.เป็นหน่วยงานของรัฐและยังถือประโยชน์อยู่ในแปลงนี้ 60% และ มูบาดาลาถือ 40% กลายเป็นว่าคำนวณง่ายๆ สัดส่วนของคลังจาก 40% จะลดเหลือ 20% คนที่ได้เยอะส่วนหนึ่ง คือ ปตท.สผ. ส่วนที่เป็นผู้ถือหุ้นเอกชนคนไทยก็มีต่างชาติก็มี แต่ที่แน่ๆ มูบาดาลาได้ไปด้วย กลายเป็นว่าเราไปเฉือนเนื้อของประชาชนคนไทยลงไปครึ่งหนึ่งเพื่อเอาไปให้ผู้ถือหุ้นเอกชนของปตท.สผ.และไปให้กับมูบาดาลา ตรงนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ข้อที่ 2 ตอนประมูล มันมีจำนวนแปลง 2 แปลง แต่ปรากฎมีผู้เสนอประมูลโดยรวมมี 2 กลุ่ม อย่างนี้ผิดกติกา เพราะตามหลักแล้วการประมูลต้องเป็น 2 แปลงแล้วบวกเข้าไปอีกหนึ่ง คือ จำนวนแปลงเท่าไหร่ก็ต้องบวกเข้าไปอีกมันถึงจะมีการแข่งขันอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ผิดกติกาสากลในการประมูล

ทีนี้มีปัญหาอีกประการ เชฟรอนมีหลักฐานทางราชการชัดเจนว่าไปพัวพันกับน้ำมันที่จะเอาไปใช้ ปรากฏว่าเอาไปให้กับเรือลำเลียง เพราะฉะนั้นเข้าข่ายเป็นการค้าน้ำมันเถื่อนหรือไม่ ผมเองกับรจนาได้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่ก.ล.ต.สหรัฐฯ เพราะก.ล.ต.สหรัฐฯมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายป้องกันคอรัปชั่นในต่างประเทศ เราขอให้ตรวจสอบว่าในกรณีนี้น่าสงสัยว่ามีการจ่ายสินบนให้กับราชการไทยหรือไม่ และการตรวจสอบนี้ทำที่อเมริกา เพราะการจ่ายเงินจะไม่ได้จ่ายที่เมืองไทย ก็คงจ่ายจากซอกเงินต่างๆ จากบัญชีอื่นในอเมริกาหรือบัญชีอื่นในประเทศอื่น แต่ก.ล.ต.สหรัฐฯอยู่ในสถานะที่ตรวจสอบได้ เราเลยร้องเรียนและส่งข้อมูลเบาะแสไปและได้แจ้งเรื่องนี้ไปที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีพลังงาน ปลัดกระทรวงพลังงาน รวมทั้งแจ้งไปที่อธิบดีกรมศุลกากร เรื่องนี้เป็นข้อมูลที่เขารู้อยู่ว่าเชฟรอนมีปัญหา แต่ว่าตรงนี้เขาคงมองอย่างนี้ ถ้าเกิดเชฟรอนถูกตัดสินว่ามีปัญหาจริงถูก disqualify คือ ไม่มีคุณสมบัติเข้ามาประมูล กลายเป็นว่า 2 แปลงนี้เหลือปตท.สผ.เข้าประมูลอยู่คนเดียวโดยไม่ต้องแข่งกับใคร กลายเป็นการประมูลที่ผิดกฎหมาย

ผมก็เลยสงสัยตรงนี้ว่าถ้ารอช้ายิ่งนานเกินไป ความเป็นความตายของเชฟรอนทำให้การประมูลของปตท.สผ.ผิดกฎหมายไปด้วย เพราะฉะนั้นเวลาประมูลตรงนี้มันมีเรี่องผิดกฎหมายซ้ำซ้อนกัน สิ่งที่ประชาชนน่าจะให้ความสนใจมากๆ คือผลประมูล เวลานี้เขาไปกำหนด TOR ให้เสนอราคาซื้อก๊าซต่ำสุด แล้วคนที่มีสิทธิ์ในการซื้อก๊าซสุดท้ายมีบริษัทรายเดียว คือ ปตท. แต่ว่าหลักในการซื้อก๊าซของปตท.ซื้อไปส่วนหนึ่งก็เอาไปให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าอย่างกฟผ. อีกส่วนเอาไปใช้ในธุรกิจตัวเอง อย่าลืมว่าธุรกิจการค้าของปตท. ก๊าซหุงต้มที่ขายให้กับครัวเรือนและรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มายกเลิกจากเพดานเดิมกำหนด 333 ดอลลาร์ต่อตัน กำหนดมาหลายรัฐบาล อยู่ดีๆ รัฐบาลยกเลิก พอยกเลิก ก๊าซครัวเรือนที่เขาซื้อเป็นราคาที่ไม่ได้อ้างอิงที่ปตท.ซื้อ มันอ้างอิงราคาซาอุดิอาระเบีย ไม่ใช่อิงก๊าซโลก ตรงนี้กลายเป็นว่าราคานี้ปตท.ซื้อก๊าซราคาถูก แต่คนที่รับภาระกลายเป็นประชาชนที่ซื้อตามราคาตลาดโลก เพราะฉะนั้น TOR แบบนี้ไม่ได้ช่วย เพราะทรัพยากรของรัฐอย่างก๊าซในอ่าวไทยควรจะเอามาใช้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่กลับกลายเป็นเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น คนที่ได้ประโยชน์คือผู้ถือหุ้นของปตท.หรือปตท.สผ.และต่างประเทศ แทนที่จะเอามาใช้เพื่อแก้ปัญหากับชาวบ้าน

กลายเป็นว่าคนไทยไม่ได้ประโยชน์

พูดง่ายๆ ที่รัฐมนตรีพลังงานออกมาบอกว่าประเทศเราได้ผลประโยชน์ 650,000 ล้านบาท แต่ต้องตั้งคำถามกลับไปที่ท่านว่า แล้วอันนี้มากที่สุดเท่าที่ควรจะเป็นหรือยัง แล้วถ้าเราบอกว่าผลประโยชน์น่าจะเกิดขึ้นมากกว่าอีกเยอะแต่มันไหลไปอยู่ในกระเป๋าของผู้ถือหุ้นปตท.หรือปตท.สผ.หรือมูบาดาลา อย่างนี้ประชาชนชาวไทยก็เสียเปรียบ

ถ้าเป็นแบบนี้กลุ่ม คปพ.จะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร

จุดนี้ทางเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ทำหนังสือแจ้งไปที่นายกฯแล้ว เพื่อให้ท่านได้รับรู้ว่าตรงนี้มันไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและเข้าข่ายผิดกฎหมายด้วย ในแง่ของทางการเมืองคปพ.คงเอาข้อมูลไปให้พรรคการเมืองต่างๆ เพราะกรณีของมูบาดาลาเราคงไม่ลืม ในอดีตในรัฐอาบูดาบีผู้ครองรัฐมีลูกชาย 2 คน คนหนึ่งเป็นมกุฎราชกุมาร คนรองเป็นคนที่มาซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากคุณทักษิณ และมีข้อมูลวิจารณ์ว่าคุณทักษิณซื้อสโมสรมาในราคา 5,000 ล้านบาท บริหาร 1 ปีขาดทุน 1,700 ล้านบาท แต่ทำไมขายได้ 10,000 ล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้นิตยสารฟอร์บส์เขาประเมินมูลค่าสโมสรฟุตบอลและได้ประเมินสโมสรนี้แค่ 5,000 ล้านบาท ปัญหาในครั้งนั้นมีลักษณะเดียวกันที่เกี่ยวข้องกับสัมปทาน แต่ว่ามีบุคคลหนึ่งที่คิดแบบเดียวกับคุณทักษิณก็ไปตั้งบริษัท 2 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งใหม่และมีทุนจดทะเบียนนิดเดียว ปรากฎว่ามียื่นขอสัมปทานและได้สัมปทานในพื้นที่ 30,000 ตารางกิโลเมตรรวมกับอีกบริษัทแห่งหนึ่งของมาเลเซีย 30,000 ตารางกิโลเมตรคิดเป็น 6% ของพื้นที่ไทย พอได้สัมปทานมา 6-7 เดือนก็ไปโอน 60% ไปให้เครือออยในกลุ่มมูบาดาลา เพราะฉะนั้นก็มีข้อสงสัยว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณหรือไม่ ก็ไปโยงถึงตอนที่คุณทักษิณขายแมนเชสเตอร์ ซิตี้

ในครั้งนี้ก็เกิดข้อสงสัย ก่อนจะเริ่มประมูล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเดินทางไปอาบูดาบีไปพบกับมูบาดาลา แต่มีข้อสังเกตว่ามูบาดาลามีออฟฟิศอยู่เมืองไทย ตั้งอยู่ในตึกชินวัตร3 ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเดินทางไป แต่ไม่ไปบริษัทอื่นที่จะเข้ามาร่วมการแข่งขัน ทั้งหมดนี้ในเชิงการเมืองต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิด

ทำไมต้องรีบลงนามสัญญาในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนเลือกตั้ง

คิดว่าการทำลักษณะกิจกรรมและลักษณะการดำเนินการที่มันเกี่ยวข้องกับจำนวนเงินมากที่มีผลยาว 20-30 ปี ควรจะดำเนินการอย่างรอบคอบและควรจะฟังข้อท้วงติงจากทุกฝ่ายก่อน เพราะฉะนั้นการพยายามจะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ ผมดูแล้วมันชอบกล

34 views
bottom of page