top of page
312345.jpg

อย่าตื่นกลัวกฎหมายภาษีที่ดิน ไม่เป็นภาระต่อผู้ประกอบการและคนซื้อ


Interview: คุณสัมมา คีตสิน นักเศรษฐศาสตร์อสังหาริมทรัพย์ และกรรมการที่ปรึกษาในหลายหน่วยงาน

กฎหมายภาษีที่ดินฯฉบับใหม่ไฉไลกว่าคาด อัตราจัดเก็บน้อยกว่าร่างกฎหมายเดิม เป็นระบบ ทันสมัยกว่ากฎหมายเก่าที่ใช้มานาน ย้ำ...ไม่เป็นภาระต่อผู้ประกอบการและคนซื้อ แต่แลนลอร์ดเจอเต็มๆ ถือเป็นเรื่องดี ช่วยกระจายการถือครองที่ดิน ทำให้ราคาที่ดินไม่พุ่งกระฉูดเหมือนที่ผ่านมา ส่วนที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ดินที่เป็นศาสนสถาน ที่ตั้งโรงงานอุตฯได้รับยกเว้นตามเกณฑ์สัดส่วนการถือครอง มั่นใจกฎหมายลูกที่จะออกตามมายังมีเงื่อนไขบรรเทาภาระภาษีมากขึ้น

มีความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายภาษีที่ดินอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาใหม่อย่างไร

ดูว่าทางสนช.ให้ความกรุณามากๆ เลย เพราะอัตราส่วนร้อยละของการเก็บภาษีที่ออกมามันเบากว่าเดิม เบากว่าร่างเดิมๆ ค่อนข้างมาก เช่นที่อยู่อาศัยเป็นหลักก่อนก็แล้วกัน คือที่อยู่อาศัยร่างแรกๆ ที่คุยกันมาตั้งแต่ 50 ล้าน 30 ล้าน 20 ล้านบาท บ้านหลังแรกให้ยกเว้นภาษี คุยไปคุยมาตอนจบก็บอกว่ายกเว้นให้ถ้าไม่เกิน 50 ล้าน สำหรับบ้านหลังแรกที่ไม่ต้องเสียภาษีเลย

ประเด็นก็คือ คนไทยทั้งประเทศที่มีบ้านแล้วเป็นเจ้าของบ้านราคา 50 ล้านขึ้นไป คิดว่าน่าจะมีไม่เกิน 1% ของทั้งประเทศ ต่างจังหวัดก็ยิ่งเปอร์เซ็นต์น้อยหน่อย ในตลาดบ้านที่ซื้อขายเป็นบ้านใหม่ อย่าว่าแต่บ้านราคาเกิน 50 ล้านเลย บ้านราคาเกิน 20 ล้าน 25 ล้าน ส่วนตัวมองว่ามีไม่ถึง10% ส่วน 50 ล้าน ถ้าไม่ 1% ก็ 2% คนที่จะเสียภาษีก็เสียน้อยมาก ถ้าบ้านราคาเกิน 50 ล้าน สมมุติว่าบ้านราคา 100 ล้าน ปรากฏว่าคุณก็เสียภาษี 0.05% เพราะ 50 ล้านแรกไม่ต้องเสีย แต่ถ้าเกินจากนั้นต้องเสียภาษี

สรุปคือบ้านหลังแรกคงจะไม่กระทบใครเท่าไหร่หรอก กระทบน้อยมาก แต่ที่มีผลก็คือหลังที่สอง

สำหรับบ้านหลังที่สอง ถ้าตั้งแต่ล้านแรก ถึง 50 ล้าน ต้องเสียภาษีร้อยละ 0.02% ก็หมายความว่า ร้อยบาทเสีย 2 สตางค์ ล้านบาทเสีย 200 บาทต่อปี แต่ถ้าหาก 50-75 ล้าน ในส่วนที่เกินก็จะเสีย 0.03% คือล้านนึงเสีย 300 บาท 75-100 ล้าน เสีย 0.05% สำหรับเม็ดเงินวันนี้และวันข้างหน้า คนชั้นกลางทั่วไป ก็ถือว่าเป็นเงินที่ไม่มากเลย เทียบกับถ้าคุณมีคอนโดมิเนียมหลังหนึ่ง ราคา 10 ล้านอยู่แถวสุขุมวิท 10 ล้าน กี่ตารางเมตร เอาตารางเมตรละ 2 แสน เอาว่า 50 ตารางเมตร ค่าส่วนกลางสมัยนี้บอกว่าตารางเมตรละ 50 บาท เอา 50 คูณ 50 เท่ากับ 2,500 บาท ค่าส่วนกลางอย่างเดียวต่อเดือนยังมากกว่าภาษีที่ต้องจ่ายทั้งปีอย่างน้อย 5-6 เท่าขึ้นไป ถ้าเราจ่ายค่าส่วนกลางได้ เพราะฉะนั้นภาษีเพียงเล็กน้อยปีละไม่กี่ร้อยบาท ทำไมจะจ่ายไม่ได้

สรุปแล้วกฎหมายที่ออกมา ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นภาระกับชาวบ้าน แต่จะเป็นภาระพอสมควรกับเจ้าของที่ดินที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพราะที่ดินว่างเปล่าจะเก็บภาษีเริ่มต้นเลยคือ 0.3% ก็คือล้านละ 3,000 บาท ถ้ามีที่ดินมูลค่า 50 ล้านบาท ก็จะเสียปีละ 1.5 แสนบาท คือล้านละ 0.3% แต่เวลาเราซื้อขายที่ดินกัน ถ้าซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ ผ่านนายหน้า ในส่วนนายหน้าจะฟันไป 3% ที่ดินที่ซื้อขายกันให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยก็ดี บริษัทในตลาดหลักทรัพย์หรือนอกก็ดี อัตรามาตรฐานของการคิดค่านายหน้าทั่วๆ ไปก็คือ 3% ก็แบ่งกัน 1.5% กับโบรกเกอร์ หรือถ้าคนเดียวก็ไม่ต้องแบ่ง

ดังนั้น ถ้าต้องจ่ายภาษี 0.3% ของ 50 ล้านก็ต้องจ่ายกันสัก 1.5 แสนก็แล้วกัน ซึ่งภาษีตรงนี้ก็ไม่ได้เป็นภาระกับคนชั้นล่าง แต่เป็นภาระกับเจ้าของที่ดิน และถ้าเรามองในแง่ของภาพรวมของทั้งตลาด ปัจจุบันนี้ที่ดินที่มีซัพพลายส์อยู่ในตลาดจะมีค่อนข้างน้อยมาก ผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการหาซื้อที่ดินยากมาก ภาษีนี้อาจจะมีผลเสียต่อเจ้าของที่ดิน แต่จะมีผลดีต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคในแง่ที่ว่าจะมีการขายที่ดินออกมาจากมือเจ้าของที่ดิน ทำให้มีการซื้อขายที่ดินในตลาดมากขึ้น ซัพพลายส์ของที่ดินมากขึ้น คนซื้อก็ซื้อหาที่ดินง่ายขึ้น ราคาก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตรารวดเร็วเหมือนในอดีตที่ผ่านมาทุกๆ ปี ทุกวันนี้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเร็วมาก และผู้ประกอบการ เมื่อซื้อที่ดินมาแพงต้นทุนที่ดิน เป็นต้นทุนที่มีสัดส่วนสูง 30-40% ขึ้นไป ถ้าต้นทุนที่ดินแพง ก็จะมาตั้งราคากับผู้บริโภคในอัตราสูงเช่นเดียวกัน ผู้บริโภคก็ซื้อบ้านในราคาที่แพง แต่ถ้าต้นทุนที่ดินไม่เพิ่มขึ้น คือจะบอกว่ามันลดลงก็คงไม่ใช่ แต่จะช่วยชะลอไม่ให้ขึ้นเร็วเหมือนกับในอดีต ก็จะทำให้ต้นทุนที่ดินในอนาคตไม่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการก็จะมีต้นทุนน้อยลง แล้วจะขายบ้านในราคาที่ไม่แพงขึ้นกว่าเดิม ที่ว่าจะถูกลงคงจะยาก ก็จะเป็นผลดีในแง่นั้น

ในส่วนของที่ดินเพื่อการเกษตร

ส่วนที่ดินเพื่อการเกษตรก็แน่นอนอยู่แล้ว สนช.คงมองเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ดังนั้น ที่ดินเพื่อการเกษตรมูลค่า 50 ล้านแรกไม่ต้องเสียภาษี ถามว่าเกษตรกรทั่วๆ ไปมีที่ดินราคา 50 ล้าน เป็นไปได้หรือไม่ ก็เป็นไปได้สำหรับในเขตกรุงเทพณหรือชานเมือง แต่ถ้าในเขตทั่วๆ ไปก็คงไม่ถึง 50 ล้าน ซึ่งถ้าเกิน อัตราการจัดเก็บก็น้อยมาก เพียงล้านละ 100 บาท

จึงมองว่าภาษีสิ่งปลูกสร้างที่ออกมารอบนี้ หลังจากที่พยายามกันมาตั้งแต่ยุคป๋าเปรมนานถึง 30-40 ปีแล้วไม่เคยสำเร็จ รัฐบาลนี้สามารถผลักดันออกมาได้ก่อนการเลือกตั้ง 3-4 เดือน ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไปออกใกล้เลือกตั้ง ก็จะมีผลกระทบต่อคะแนนเสียงของรัฐบาลได้ ถ้าเราย้อนกลับไปดูช่วง 1-2 ปีที่แล้ว อัตราการจัดเก็บมันหนักกว่านี้มากพอสมควรเลย

สรุปคือ ชาวไร่ชาวนาทั่วไป จะมีที่เป็นเจ้าของที่ 50 ล้าน มีน้อยมาก ถ้าเขาเป็นเจ้าของที่ดินเกิน 50 ล้านจริงๆ เขาก็เป็นเศรษฐีแล้ว และถ้ามีที่ดิน 50 ล้าน แล้วให้เกษตรกรเช่าไปทำนา ถ้าอย่างนั้นถือว่าเป็นการพาณิชย์แล้ว

ในแง่ของผู้ประกอบการอสังหาฯถือว่าดีในการซื้อที่ดินมาทำโครงการ

เขาน่าจะได้ผลบวกมากกว่า เพราะสมัยนี้ผู้ประกอบการเองพอได้ที่ดินมาก็จะรีบนำมาพัฒนา ซึ่งกฎหมายตัวนี้มันมีเกี่ยวกับเรื่องที่ดินว่างเปล่า เวลาผู้ประกอบการซื้อที่ดินมา ก็จะมีช่วงเวลาที่อะลุ้มอล่วยให้ แต่ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายจะให้เวลาในการถือครองโดยไม่ต้องเสียภาษีนานเท่าไหร่ เพราะอาจจะมีกฎหมายลูกออกตามมา เข้าใจว่าภาษีที่ดินกฎหมายฉบับนี้ จะมีประกาศ กฎกระทรวง หรืออะไรสักอย่างอีกหลายฉบับตามออกมา เพื่อที่จะมาบรรเทาภาระเรื่องภาษีในหลายๆ กรณี เช่นผู้ประกอบการเองเมื่อซื้อที่ดินมาก็มีช่วงเวลาให้เขาพัฒนาโครงการได้ไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ คิดว่ามีเวลาให้อย่างน้อยปีนึงที่จะพัฒนาที่ดินได้ แต่หากจะไม่พัฒนาที่ดินคือซื้อที่ดินมาแล้ว แต่ไม่พัฒนาตามเวลาที่กำหนด ก็ต้องเสียภาษีในอัตราภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า แต่ถ้าเป็นที่ดินระหว่างการพัฒนาก็คงจะได้รับการบรรเทาพอสมควร

สำหรับกฎหมายฉบับนี้ มีเงื่อนไขให้บรรเทาภาระเรื่องภาษีได้หลายเงื่อนไข เช่นกรณีถ้าเกิดอุทกภัยในบางพื้นที่หรือเกิดเหตุภัยธรรมชาติ รัฐบาลก็จะให้อำนาจอปท. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการพิจารณาใช้ดุลพินิจในการที่จะปรับลดหย่อนหรือยกเว้นการจัดเก็บบางกรณีได้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ และก็เข้าใจว่าหลายๆ สถานที่ก็อาจได้รับการยกเว้น หรือถ้าไม่ยกเว้นก็อาจจะมีอัตราภาษีที่ลดหย่อนลงไปได้เช่นที่ดินที่เป็นศาสนสถาน อะไรเหล่านี้

กรณีของที่ดินที่เป็นศาสนสถานมีปัจจัยที่มีการยกเว้นได้อยู่แล้ว คิดว่าร่างเดิมก็มีการยกเว้นอยู่แล้ว คือรัฐบาลสามารถตราพระราชกฤษฎีกาได้เพื่อบรรเทาภาระภาษี มาตรการก็จะลดภาษีให้เช่น 100 บาทลดให้ 75 บาท 25 บาท ตามหลักเกณฑ์เดิมสำหรับที่ดินที่ใช้สำหรับกิจการสาธารณะ เช่นโรงพยาบาล โรงเรียน สมมุติล้านละ 300 บาท ลดให้ 75% ก็จะเหลือไม่ถึง 100 บาท สำหรับที่ดินที่ใช้สำหรับกิจการสาธารณะ เป็นต้น

หมายความว่าไม่ควรแตกตื่นกับกฎหมายฉบับนี้

ใช่ ส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ ที่มาที่ไปของกฎหมายใหม่นี้เพราะของเดิมที่มีการใช้จัดเก็บภาษีในอดีต ก็มีพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2475 เป็นปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึงตอนนี้ใช้มาแล้วประมาณกว่า 80 ปี แล้วอีกตัวคือภาษีบำรุงท้องที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2508 ทั้ง 2 ตัวนี้ ออกมายาวนานมาก แล้วก็มีข้อจำกัด เรื่องของอัตราภาษี ฐานภาษี รวมทั้งตัวที่เป็นฐานมาคำนวณก็ใช้ฐานภาษีเก่า แต่ว่าทุกวันนี้เรามีการผลักราคาที่ดินทุกรอบ 4 ปีของกรมธนารักษ์ หรือว่าถ้าเป็นตลาดซื้อขายก็ปรับกันตลอดเวลา เวลาประเมินภาษีบำรุงท้องที่ก็ใช้ราคากลางของปี 2521-2524 ซึ่งก็ผ่านมาแล้ว 30 ปี ก็ยังใช้ตัวนั้นอยู่ ซึ่งไม่ทันการณ์แล้ว ขณะที่อัตราภาษีบำรุงท้องที่ก็มีการกำหนดตามขั้นของราคาปานกลางที่ดินถึง 34 ขั้น ก็จะเป็นอะไรที่รุงรังพอสมควร

ดังนั้น การจัดเก็บภาษีตัวนี้ ส่วนตัวเข้าใจว่า หลังพยายามมาหลายสิบปี พอออกมาแล้ว ก็มีอะไรในก่อไผ่ค่อนข้างน้อย

สำหรับที่ดินว่างเปล่า ก่อนหน้านี้เคยคุยกันว่า อย่างนี้พวกสนามกอลฟ์ก็แย่ ก็มีการสะท้อนผ่านสนช.ไปแล้ว ก็มีการอะลุ้มอล่วยและได้รับการบรรเทาพอสมควร แต่ก็ยังไม่ทราบรายละเอียดปลีกย่อย เพราะต้องรอประกาศที่จะตามมา ในเรื่องกฎหมายลูกกฎหมายย่อยที่จะมีการเขียนรายละเอียดมากขึ้น

ตอนนี้มีข่าวแตกตื่นว่า เจ้าของที่ดินเทขายที่ดินแถวสุขุมวิท

ที่ดินแถวสุขุมวิท เท่าที่ทราบตารางวาละ 1 ล้านเป็นเรื่องปกติ ซึ่งถ้ามีที่สัก 1 ไร่ 400 ตารางวาก็ 400 ล้าน ซึ่งก็เกิน 50 ล้านแล้ว แน่นอนก็จะมีภาษีที่จะต้องเสียค่อนข้างเยอะ ซึ่งจะกระทบเจ้าของที่ดิน ก็จะต้องพยายามใช้ประโยชน์ บางคนบอกเอาที่ดังกล่าวมาปลูกกล้วยปลูกอ้อยให้ได้พื้นที่อย่างต่ำตามที่เขากำหนด ซึ่งจำไม่ได้ว่า 50% หรือ 75% ของพื้นที่ คำถามก็คือมันมีเหตุผลมั้ยถ้าเอาที่ดินใจกลางสุขุมวิทมาปลูกกล้วย มันก็เป็นไปไม่ได้ ตรงนี้ก็ต้องยอมรับ ก็ต้องมีการขายที่ดิน แต่ส่วนตัวไม่รู้นะว่าทุกวันนี้ ที่ดินว่างเปล่าแถวสุขุมวิท แถวที่ดีๆ ทั่วๆ ไปเขาก็อยากขายตารางวาละ 1 ล้าน 2 ล้าน เขามีไร่นึง 400-800 ล้าน โทษทีเอาเงินที่ขายได้ไปซื้อที่ดินใหม่นอกเมือง ยังทำอะไรได้ใหม่อีกพอสมควร ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของที่ดินได้

มีคำแนะนำสำหรับคนมีที่ดินอย่างไรบ้าง

คิดว่าควรเอาที่ดินมาพัฒนามาเป็นโครงการ ซึ่งเจ้าของที่ดินหลายรายก็มีข้อตกลงกับผู้ประกอบการในการลงทุนร่วมกัน ร่วมทุนกันทำโครงการที่อยู่อาศัย คือใช้ประโยชน์กับที่ดินดังกล่าวให้ได้ จริงๆ แล้วต้องบอกว่า การที่มีที่ดินว่างเปล่าอยู่นานๆ หลายปีในพื้นที่เศรษฐกิจ มันไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมหรือประเทศชาติเท่าไหร่ ยกเว้นประโยชน์ต่อเจ้าของที่ดินเองที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในเชิงของประเทศชาติ การมีที่ดินว่างเปล่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สักเท่าไหร่ ยกเว้นตามที่บอกคือเจ้าของที่ดินนำที่ดินมาพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการ ซึ่งมีหลายวิธี ก็เป็นเหตุให้บรรเทาได้

ถ้าทำอุตสาหกรรมอยู่ แล้วมีที่ดินที่ตั้งโรงงานเยอะจะถูกกระทบมั้ย

อุตสาหกรรมก็เป็นเรื่องของพาณิชยกรรม อยู่ในหมวดเดียวกัน คือหมวดที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม ก็จะโดนตรงที่ว่า ถ้าที่ดินราคามูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน อัตราภาษี 0.3% ถ้าจำไม่ผิด ก็คือล้านละ 3,000 บาท ถ้า 50-200 ล้าน ก็ล้านละ 4,000 บาท ถ้าตีว่า 200 ล้าน ก็ประมาณ 1.5 แสน รวมแล้วอยู่ที่ 7.5 แสนต่อปี ซึ่งโดยปกติอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมจะมีภาษีตัวอื่นที่ต้องเสีย ภาษีที่ดินปลูกสร้างที่เกิดขึ้นจะไปทดแทนภาษีเดิม อย่างภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ยกตัวอย่างอย่างนี้ อัตราภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปัจจุบันคิดร้อยละ 12.5 คือล้านละ 1.25 แสน พอภาษีใหม่เข้ามา ตัวนั้นก็จะหายไป ดังนั้น คิดว่าอัตราภาษีใหม่ก็น่าจะสูสีหรือว่าเบากว่าอัตราภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิมที่กำหนดไว้สูงมาก และภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จัดเก็บ 12.5% เดิม เท่าที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องของความไม่ค่อยตรงไปตรงมาในการจัดเก็บ มีการหลีกเลี่ยงในหลายวิธีที่ทำให้เก็บไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ฉะนั้นที่ออกมาใหม่ แม้ว่าจะมองดูสูงแต่ว่าไม่ได้เพิ่ม แต่มาทดแทนของเดิมคือพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ปี 2508 และอัตราดังกล่าวเป็นอัตราที่กำหนดไว้เป็นขั้นบันได เป็นขั้นสูง เวลาที่ประกาศเป็นกฎกระทรวง อัตราการจัดเก็บในปีแรก ปีสอง ปีสาม ปีสี่ เชื่อว่าจะไม่ถึงขั้นนี้ จะมีการจัดเก็บลดหย่อนมากกว่านี้อีก ที่กฎหมายกำหนดไว้คือกำหนดไว้เป็นเพดาน เข้าใจว่าเวลาจัดเก็บจริงก็จัดเก็บน้อยกว่าเพดานค่อนข้างมาก ดังนั้น อัตราที่เราเห็นเป็นอัตราที่บางรายการอาจจะดูสูง แต่พอจัดเก็บ คิดว่ารัฐบาลเองก็คงไม่พยายามให้เสียฐานคะแนนเท่าไหร่ ก็คงจะมีการประกาศจัดเก็บในอัตราที่น้อยลง

กฎหมายใหม่มีความสุ่มเสี่ยงในการจัดเก็บที่ไม่ตรงไปตรงมาเหมือนกฎหมายเก่ามั้ย

ก็ยังมีอยู่ แต่คิดว่าเป็นภาระของกระทรวงการคลัง กรมที่ดิน หน่วยงานจัดเก็บภาษีทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นจะต้องไปกำหนดกฎเกณฑ์ในการอุดช่องโหว่เหล่านั้น คือกฎหมายทุกตัวจะมีช่องโหว่ให้หลีกเลี่ยงภาษีได้ทั้งสิ้น แต่ว่าช่องโหว่ตัวนี้ เชื่อว่ามันน้อยลงกว่าตัวเดิม เดิมทีส่วนกลางต้องนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศไปอุดหนุนหน่วยงานท้องถิ่นในอัตราส่วนที่มาก ตรงนี้เราถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ว่ากฎหมายตัวนี้จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดเก็บภาษีเองได้มากขึ้น และมีแรงจูงใจในการจัดเก็บภาษี ทำให้การพึ่งพิงส่วนกลางน้อยลง และพอเขาเก็บเงินได้ เก็บเงินได้เอง เขาก็จะมีอำนาจในการตัดสินใจที่จะใช้เงินได้จากตัวเองมากขึ้น ตรงนี้เป็นประเด็นหลัก เพราะทำให้อปท.สามารถจัดเก็บภาษีได้เองในเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่ในปีแรกๆ อาจจะยังไม่เห็นเม็ดเงินเพิ่มขึ้นอย่างที่เราคาดหวังเนื่องจากฐานภาษีมันต่ำมาก คิดว่าตัวนี้ในอนาคตคงเป็นฐานภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่ก็คงไม่เท่ากับเพดานที่กำหนดไว้ในกฎหมายตัวแม่ คือกฎหมาย กฎกระทรวง หรือกฎหมายที่จะประกาศตามมาเป็นกฎหมายลูก อย่างไรเสียก็จะลดหย่อนกว่าตัวแม่ค่อนข้างมาก

คือไม่ได้เป็นภาระมากมายกับประชาชนทั่วไป ส่วนที่เป็นทุกข์ของเศรษฐีก็ไม่ทุกข์มากอย่างที่กังวล

ความจริงคิดว่าน่าจะมีปัจจัยอื่นที่ทุกข์มากกว่า ตอนนี้ดอกเบี้ยก็จะเป็นขาขึ้น

สรุปคือภาษีใหม่ เป็นธรรม

ใช่ ถ้าเป็นร่างเดิมๆ อาจจะน่ากลัว แต่พอออกมาอย่างนี้ มันไม่น่ากลัวแบบที่คิดในตอนต้น คือมี ดีกว่าไม่มี

56 views
bottom of page