top of page
312345.jpg

เศรษฐกิจโลก 2019 ชะลอตัว...ชาติกำลังพัฒนาน่าห่วง


Interview: ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์นักเศรษฐศาสตร์

 

คนมะกันพิพากษาให้ “ทรัมป์” ชนะในศึกเลือกตั้ง Midterm 6 พ.ย. 2018 ส่งผลให้เดินเครื่องกดดันบี้จีนมากขึ้น มุ่งเล่นเกมต่างประเทศ เบนความสนใจไปจากจุดอ่อนด้อยตลอด 2 ปีที่เหลือ มีโอกาสชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี 2 วาระ 8 ปี เพราะพรรคเดโมแครตไร้คนโดดเด่นมาแข่งด้วย ส่งผลเศรษฐกิจโลก 2019 ชะลอตัว ประเทศกำลังพัฒนาออกอาการน่าเป็นห่วง

มองผลการเลือกตั้งมิดเทอม 6 พ.ย. 2018 ของสหรัฐอเมริกอย่างไร

ก็เป็นไปตามคาด ทางเดโมแครตก็จะได้มากขึ้นในส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนวุฒิสภาก็คงจะใกล้เคียง แต่ก็จะไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้ ถือเป็นไปตามที่ตลาดคาดคะเนกัน รอบนี้ก็เป็นรอบที่เดโมแครตลำบากนิดนึง เนื่องจากตำแหน่งที่เขาไปเลือกกัน เป็นตำแหน่งของพรรคเดโมแครตอยู่แล้ว ก็เหนื่อยหน่อย แต่ผลออกมาก็มีความขัดแย้งในแง่เสียงสนับสนุนต่างๆของทั้ง 2 พรรค เข้มข้นทีเดียว คือคนที่สนับสนุนทรัมป์หรือเดโมแครต พรรครีพับลิกันก็จะมากขึ้น ในขณะเดียวกัน คนที่อยากให้เดโมแครตชนะก็มาลงคะแนนเสียงมากขึ้นเช่นเดียวกัน ก็ถือว่าเข้มข้น

แต่ว่าประเด็นก็คือ การที่เดโมแครตครองเสียงในสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น มันก็มีผลอยู่ระดับหนึ่ง ก็คือทำให้ทรัมป์ จะทำอะไร 100% ไม่ได้ง่ายแล้ว ก็อาจจะมีเสียงก่อกวนมากขึ้น ซึ่งทางทรัมป์ก็พยายามบอกว่า พรรคเดโมแครตมีไปก็ไม่มีประโยชน์ พวกนี้มีแต่สร้างปัญหาให้กับการบริหารประเทศ แต่ว่าในทางปฏิบัติ ผมคิดว่า ทางพรรคเดโมแครตก็มีเทคนิค ว่าจะทำอย่างไรทำให้ประชาชนกลางๆได้รู้สึกว่าเป็นการก่อกวน เพราะฉะนั้นในรอบนี้ กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งก็มีเรื่องที่มีถูกกล่าวหาอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องส่งข้อมูลให้กับรัสเซีย อันนั้นก็คงจะเริ่มยาก คิดว่าผู้ใหญ่ในพรรคเดโมแครต คงไม่อยากให้เริ่มต้นเร็ว เพราะถ้าเริ่มต้นเร็ว และข้อมูลไม่แน่นพอ ก็จะทำให้กลางๆ กลับไปสู่ทรัมป์

ในขณะที่ทรัมป์ก็พยายามสร้างนโยบายให้ประชาชนรู้สึกว่า ทรัมป์มาเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ ดีขึ้น แล้วก็ศัตรูของสหรัฐอเมริกาก็คือประเทศอื่น เช่น จีนเป็นต้น และตอนนี้เพิ่มญี่ปุ่นอีกประเทศ แต่ตรงนี้ผมมองว่าเป็นเป้าหลอก ส่วนเป้าจริงน่าจะเป็นจีน เพราะจีนเป็นคู่ปรับสำคัญ ก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้สหรัฐอเมริกา ถ้าเกิดจีนอ่อนข้อให้กับสหรัฐอเมริกา ทรัมป์ก็จะอยู่ในตำแหน่งยาวนานเลย แต่ถ้าไม่ยอมทรัมป์ก็จะเหนื่อยขึ้นไปเรื่อยๆ

จีนไม่ยอมลงแน่นอน ทำให้ทรัมป์มีโอกาสอยู่ต่อ เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง คนอเมริกาก็คงต้องให้ทรัมป์ชนะ

ก็มีส่วน เราจะเห็นว่าการเลือกตั้งในเขต หรือวุฒิสภา เขตหลายๆเขตก็จะมีเสียงสนับสนุนทรัมป์มากขึ้น หากถ้าเป็นการถอดถอน ก็จะเป็นเรื่องความเสี่ยงทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่คนจับตาดู แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นยากมาก เพราะว่าถ้าเดโมแครตตัดสินใจ คือมันต้องอาศัย 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกก็คือว่า ก็จะมีการเสนอข้อหาก่อน มันจะผ่านสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเสียงต้องเกินครึ่ง อันนี้ไม่มีปัญหาแน่ เพราะเกินครึ่งแน่ ข้อหาก็คงจะมี แต่ว่าอาจจะต้องรอนิดนึง...รอให้สุกงอม รอให้ข้อหาชัดเจนเชื่อมั่นได้แค่ไหน ตรงนี้ก็ไม่ง่าย เพราะทรัมป์ก็พยายามตัดตอน คือพยายามปลดข้าราชการที่ไปเกี่ยวข้องในเรื่องการตรวจสอบเขาออกไปให้หมด ก็ยังมีการแก้เกมกันอยู่ แต่ว่าขั้นตอนก็คือขั้นตอนแรกทำอย่างนี้

แต่ขั้นตอนที่สอง สมมุติว่าเสนอเข้าไปได้ แต่ว่าตอนลงมติสนับสนุนว่าผิดหรือไม่ผิดมันจะอยู่ที่วุฒิสภา และวุฒิสภานี่ต้องชนะเยอะ คือ 2 ใน 3 ขณะที่ครึ่งๆ คิดว่ายังเอาไม่ลง ฉะนั้น คิดว่าผู้ใหญ่ในพรรคเดโมแครต...คิดว่าคงยังไม่อยากเน้นเรื่องอิมพีชเมนท์ ฉะนั้นการเดินเกมรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาก็คงจะไม่ทำให้ตลาดผันผวน คงจะไปอย่างนี้

ทีนี้ก็จะขึ้นอยู่เรื่องเศรษฐกิจแล้วว่าเศรษฐกิจปีหน้า จะดีขึ้นจริงหรือไม่ ตรงนี้ก็มีมุมมองที่แตกต่างกันพอสมควร ทรัมป์เองก็จะเข้ามาเกี่ยวข้องนะ เพราะไม่อยากให้ขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้ทุกคนก็พอมองภาพออกว่าปีนี้อาจจะ 4 ครั้งนะ โดยทั่วไปก็จะมองอย่างนั้น ส่วนปีหน้ามองต่างกันว่าจะ 2 หรือ 4 เฟดเองมองไว้ 3 ครั้ง แต่ว่าตรงนี้ก็ต้องดูกันต่อไป แต่ส่วนตัวผมคิดว่าโอกาสปีหน้า 3-4 ครั้ง น่าจะยาก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาไม่น่าจะดีนัก และปีหน้าคิดว่าคงอ่อนกำลังกันทั่วโลก เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาบางตัวก็เริ่มไม่ดี อย่างอสังหาริมทรัพย์เริ่มอ่อนตัว ตรงนี้ก็เป็นอะไรที่ต้องดูกันต่อไป

มองทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ และผลตอบแทนพันธบัตร จะเป็นอย่างไรในอนาคต

ค่าเงินดอลลาร์มันจะผูกกับอัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้นส่วนหนึ่ง กับอีกส่วนคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตร ดอกเบี้ยพันธบัตรมันมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น สาเหตุก็คือว่าทรัมป์พยายามลดภาษี แล้วก็ใช้จ่ายมากขึ้น แล้วก็จะมีการตัดภาษีรอบสอง ซึ่งรอบสองก็คือพยายามยืดให้มันถาวรมากขึ้น ตรงนี้มันก็จะทำให้ดุลบัญชีกลางทางของรัฐบาลทีสนับสนุนงบประมาณ มันจะขาดดุลมากขึ้น การขาดดุลมากขึ้น ก็แปลว่าต้องกู้มากขึ้น ต้องเอาพันธบัตรออกมามากขึ้น แล้วขณะที่ออกมามากขึ้น มันก็จะทำให้ราคาตกลง หรือทำให้ผลต่างตอบแทนของพันธบัตรสูงขึ้น ตรงนี้มันจะทำให้เกิดแรงกดดันทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวขยับขึ้นได้

ฉะนั้นการมองในอนาคต ก็อาจจะทำให้ จุดนี้เป็นจุดที่ทำให้คนมองว่า ค่าเงินดอลลาร์อาจจะแข็งขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ก็จะเป็นแรงกดดัน แล้วก็ในปีหน้า ทรัมป์ก็ต้องคิดหนัก เรื่องหนี้สินจะทำอย่างไร ถ้ามันเกินลิมิต คือถ้ามันเกินกำหนดเพดานการก่อหนี้ หน่วยงานของสหรัฐอเมริกาที่เป็นระบบว่าจ้าง เป็นสัญญา มันจะต้องปิดออฟฟิศหรือไม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะกลับเข้ามาใหม่ ก็จะต้องมีการต่อรองกันกับพรรคเดโมแครต ว่าจะทำอย่างไรถึงจะผ่อนผันได้ให้มากขึ้น ทีนี้ถ้าผ่อนผันมาก มันก็จะทำให้แรงกดดันต่อสภาพคล่องมากขึ้น โดยทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ ต้องมองว่าสูงขึ้น และเฟดเองพยายามถอนตัวออกจากปล่อยคิวอีออกมา

เรื่องของกระแสฟันด์โฟที่ว่ามันจะตีกลับมาทางฝั่งเอเชียและเข้าไทยอีกครั้ง มองอย่างไร

ยังยากอยู่ การมองจากค่าเงินดอลลาร์ส่วนนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งก็คือความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาปีหน้า คิดว่าไม่ง่าย เขาจะพยายามบีบจีนให้มาก จะหนักมากขึ้น แล้วปัญหาขณะนี้มันยังไม่ส่งผลเต็มที่ต่อเศรษฐกิจโลก แต่ปีหน้าจะส่งผลมากขึ้น เพราะฉะนั้นค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาก็น่าเป็นห่วงอยู่ เพราะเศรษฐกิจปีหน้ามันก็อาจจะเริ่มต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ชะลอตัวทั่วโลก แต่อาจจะยังไม่แรง แต่ก็ถือว่าอ่อนลง และค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนามันมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงมากๆเหมือนกัน

อันนี้วันหนึ่งมันก็ต้องดึงค่าเงินบาทไป ดึงให้เงินบาทอ่อนค่า มันเป็นเรื่องยากมากที่เงินบาทจะแข็งอยู่อย่างนี้เหมือนสหรัฐอเมริกา ห่างจากอินโดนีเซีย ต่างจากหลายๆประเทศมันไม่ได้ มันต้องมีลักษณะเราไม่ลงไปเขาก็ขึ้นมา มันจะเป็นอย่างนั้น อันนี้มองไกลๆระดับ 3-4 ปี เพราะฉะนั้นจากนี้ไปสถานการณ์ในเรื่องของค่าเงิน ยังต้องผันผวนต่อไปโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมไทยด้วย คือจะคิดว่าบาทจะแข็งเทียบดอลลาร์เหมือน 2-3 เดือน 4-5 เดือนโน้นอย่างนี้ยาก ทีนี้บาทก็เริ่มอ่อนลงมานิดนึงแล้ว คิดว่าก็คงเริ่มมีการผ่อนคลาย ก็มีสิทธิ์ที่จะโดนโจมตี เพราะถ้าเกิดว่าเรายอมให้ค่าเงินบาทมันอิงดอลลาร์ไปเรื่อยๆแบบนี้น่ากลัว แต่ว่ามันจะอิงไปได้อย่างไร เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้แข็งแรงเหมือนเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงก็ตาม แต่จะทำอย่างไร หรือว่าเราจะปรับค่าอัตราดอกเบี้ยขึ้น แต่ก็ไม่ง่าย เพราะว่าเราเศรษฐกิจไม่ดี หรือว่าแบงก์ชาติบอกว่าจะปรับขึ้น แล้วค่อยปรับลงทีหลังหากเศรษฐกิจไม่ดี ก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาทำกัน ยังไม่มีใครขึ้นดอกเบี้ยแล้วมาลงทีหลัง

การเลือกตั้ง Midterm เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือว่าทรัมป์แพ้หรือชนะ แล้วอย่างนี้ จะทำให้ทรัมป์เล่นบทแข็งกร้าวหรือไม่

ต้องถือว่าทรัมป์ชนะ เพราะถ้าเราดูเขตจริงๆ เขตที่เป็นเขตใหญ่มากเท่าไหร่ในวุฒิสภา ทรัมป์ชนะ ส่วนเขตที่ในสภาผู้แทนราษฎรที่ทรัมป์ดูว่าแพ้ มันเป็นเขตย่อยๆ โอกาสที่แพ้ชนะมันเป็นไปได้ ถ้ามองว่าเขตใหญ่ๆ ทรัมป์มีกำลังมากขึ้น การเมืองแบบนี้ ทำให้ทรัมป์จะต้องเร่งแข็งกล้ามากขึ้น

ส่วนทรัมป์เอง ผมคิดว่าเขาก็คงจะไม่สบายใจว่าในสภาผู้แทนราษฎรเขาแพ้ ทำให้เขาลำบากขึ้น เขาคาดหวังมากกว่านั้นพูดง่ายๆ หวังว่าจะกวาดได้ 2 สภาแต่มันทำไม่ได้ ก็ผิดหวังอยู่ เขาก็ต้องกดดันจีนมากขึ้น กดดันอิหร่านมากขึ้น กดดันอะไรต่างๆมากขึ้น และให้เป้าไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้คนมองว่า ถึงแม้เขาจะมีปัญหาการเลือกตั้งที่มีข้อกล่าวหา แต่เขามีผลงานที่เข้มแข็งอยู่ คือมีผลงานมาชดเชยได้ ถึงแม้ว่าคุณว่าผมไม่ดี แต่ผมเก่ง ให้คนรู้สึกดีมารองรับ

ฉะนั้นในสหรัฐอเมริกาอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทรัมป์จะเป็นตัวยืนที่สำคัญมาก แล้วก็เดโมแครตมีโอกาสชนะยากมาก ส่วนตัวคิดว่ายากมาก โอกาสที่จะชนะได้ก็ต้องมีตัวบุคคลที่เด่นมากๆเลย ซึ่งขณะนี้มีคนเดียว คือ เบอร์นี่ แซนเดอร์ส เป็นคนเดียวที่จะล้มทรัมป์ได้ ถ้าหาเสียงชนะกันในพื้นที่จุดเดียวกัน

38 views
bottom of page