Dokbia Interview: คุณอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน
กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแจง...อัตราว่างงานของไทยอยู่ที่ประมาณ 4 แสนคน คิดเป็น 1% ของกำลังแรงงาน ถือว่าเป็นอัตราปกติ ขณะที่อัตราผิดปกติคือ 3% ส่วนเด็กจบใหม่โดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์ที่ตกงานกันมาก เพราะจบไม่ตรงสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ พร้อมเตือน...แรงงานไทยที่ไปทำงานตปท.ในทุกช่องทาง ต้องผ่านการอนุญาตจากกรมการจัดหางาน หากหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย เข้าข่าย “ผีน้อย” มีสิทธิระหกระเหิน ตกระกำลำบาก ถูกนายจ้างเอาเปรียบ สุดท้าย...ได้ไม่คุ้มเสีย
ตอนนี้การจัดหางานเป็นอย่างไร เพราะพูดกันว่าคนตกงานมาก
ตอนนี้อัตราการว่างงานของเราอยู่ที่ 1% กว่าๆ เท่านั้นเอง 1% ของกำลังแรงงาน คือตกงานทั้งหมด 4 แสนกว่าคน ซึ่งจริงๆ แล้วอัตราการว่างงาน ถ้าจะผิดปกติ จะต้องอยู่ที่ 3% ถือว่าตกงานมาก แต่ของไทยอยู่ที่ 1.1%
มีข่าวระบุว่าเด็กจบใหม่ตกงานกันมาก รวมทั้งกรณีคนไทยหนีไปทำงานที่ไต้หวัน เกาหลีกัน
เรื่องปริญญาตรีตกงานกันเยอะ ขอเรียนอย่างนี้คือ บางทีเราเลือกเรียนไม่ตรงกับสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ พอจบมาอย่างสายสังคมศาสตร์ ตลาดแรงงานต้องการอยู่จำนวนหนึ่ง แต่เราจบมากกว่านั้น ก็อาจจะมีคนที่ไม่สามารถบรรจุงานได้ แต่หากปรับทักษะ ปรับสกิล ก็สามารถทำงานอื่นได้ ส่วนเรื่องการไปทำงานต่างประเทศ ตรงนั้นก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการที่จะมีงานทำ โดยตลาดแรงงานในต่างประเทศ ถ้าตลาดไหนที่มีค่าตอบแทนในการทำงานสูง คนก็นิยมไปทำ แต่การไปทำงานต่างประเทศก็ต้องมีความสามารถ อย่างเช่นเรื่องทักษะฝีมือ เรื่องสภาพร่างกาย เรื่องการสื่อสาร ภาษา
ตลาดปัจจุบันที่มีความต้องการไปกันมากคือไต้หวัน ยังมีคนไทยไปเยอะ ตอนนี้มีกว่า 6 หมื่นคน ส่วนอีกตลาดคือเกาหลีใต้ มีโครงการรัฐต่อรัฐ เราเรียกว่าการไปทำงานตามโครงการ EPS คือไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคก่อสร้าง ซึ่งที่เกาหลีใต้ เงินเดือนจะสูงประมาณ 4 หมื่นกว่าบาท เลยเป็นที่นิยม
โครงการ EPS เรามีโควตาที่จัดส่งไปทำงานปีละ 5 พันคน แต่ว่าปี 2561 เนื่องจากแรงงานไทยเรามีทักษะค่อนข้างดี นายจ้างนิยม ก็เพิ่มโค้วตาให้เป็น 7 พันคน
ทั้งนี้ การไปทำงานต่างประเทศ จะมี 5 วิธี 1. ไปด้วยตนเอง ก็คือ ติดต่องานเอง 2. บริษัทจัดหางานจัดส่ง ซึ่งบริษัทจัดหางานต้องเป็นบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาต ต้องมีไลเซน กรมการจัดหางานควบคุมอยู่ 3. ไปโดยรัฐจัดส่ง ถ้านายจ้างที่ต่างประเทศขอคนมาที่กรมการจัดหางาน เราก็รับสมัครคัดเลือกส่งไปให้เขา 4. นายจ้างพาลูกจ้างเองไปทำงานต่างประเทศ 5. นายจ้างพาลูกจ้างตัวเองไปฝึกงานอย่างเช่นบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย สมมุติโตชิบา เขาก็พาลูกจ้างเขาไปฝึกงานที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น
แต่ทุกวิธีการจะต้องผ่านการอนุญาตจากกรมจัดหางาน ซึ่งกรมจัดหางานเราจะดู 1. ไม่ให้เกิดการหลอกลวงกัน 2.งานนั้นมีจริงหรือไม่ มีค่าตอบแทนในการทำงานเหมาะสมหรือเปล่า สภาพของงานเหมาะสมหรือไม่ที่คนไทยจะไปทำ เราจะดูแลตรงนี้ เพราะเราไม่อยากให้คนไทยไปตกระกำลำบากในต่างประเทศ และอย่างที่เรียนว่าตลาดเกาหลีใต้รายได้ดี แต่เราสามารถส่งไปได้ตามโควตาปีละ 7 พันคน แต่ความต้องการมีมากกว่านั้น ก็เลยมีคนหัวใสไปลงเฟซบุ๊กบ้างอะไรบ้าง ว่าจะพาไปเข้าเมืองเกาหลีใต้พาไปทำงานได้ ซึ่งการพาไปแบบนั้นไปในลักษณะนักท่องเที่ยว จึงไม่สามารถทำงานได้ ก็ต้องไปหลบซ่อน เหมือนพม่า ลาว กัมพูชาที่หลบหนีมาทำงานในประเทศไทย เมื่อก่อนเข้ามาอย่างไม่ถูกกฎหมาย ทำงานก็ไม่ถูกกฎหมาย จึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ร้องเรียนอะไรก็ไม่ได้ เพราะตัวเองไม่ถูกกฎหมาย ก็กลัวทางการจับกุมจับแล้วส่งกลับ
กลายเป็นว่าเกาหลีใต้ยกเลิกฟรีวีซ่า ทำให้เสียหายกันไปหมด
การที่ไปในฐานะนักท่องเที่ยว บริษัททัวร์พาไป สมมุติทัวร์คณะหนึ่งไปกัน 30 คน พอเข้าเมืองเขาได้ ก็หลบหนีไปทำงานเลย กลับมาไทยแค่ 5 คน ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างจะเป็นปัญหา ปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้เขาก็กังวลกับเรื่องนี้ และได้หารือมาทางประเทศไทยว่ามีคนไทยไปทำงานอย่างไม่ถูกกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก ล่าสุดมีถึงแสนคน ทางเราเองก็พยายามที่จะสื่อสารกับคนที่ต้องการไปทำงานที่ต่างประเทศว่า ถ้าจะไป ขอให้ไปในช่องทางที่ถูกต้อง ไปหลบซ่อนไปทำงานแบบนั้นงานมันเป็นงานระยะสั้น ทำงานเสร็จก็ต้องไปหางานใหม่ และโอกาสที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกกดขี่ข่มเหงมันมีที่สำคัญ ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา ก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายได้เลย เช่นการประกัน
ตอนนี้ตลาดแรงงานที่คนไทยนิยมนอกเหนือจากไต้หวัน เกาหลี ยังมีที่ไหนบ้าง อย่างสมัยก่อนนิยมไปซาอุดิอาระเบียกัน
ปัจจุบันทางตะวันออกกลางค่าแรงไม่สูงแล้ว แต่ก็มีอิสราเอลซึ่งไปทำงานในภาคเกษตรยังถือว่าดีอยู่
การไปทำงานต่างประเทศ ส่งผลให้แรงงานในไทยไม่เพียงพอหรือเปล่า
ค่าตอบแทนในบ้านเราไม่จูงใจ ค่าแรงบ้านเรา 300 บาทต่อวัน ซึ่งตะวันออกกลางตอนนี้ ค่าแรงก็ไม่สูงมากนัก ตอนนี้ค่าแรงในต่างประเทศที่จูงใจให้คนไทยไปทำจะอยู่ที่ 3 เท่าของค่าแรงในไทย ถ้าตลาดอื่นๆ ก็ไม่เป็นที่น่าสนใจ แต่สำหรับบางประเทศที่ค่าแรงไม่สูงพอ ก็ไม่ต้องไปหรอก เพราะการทำงานในต่างประเทศจะแตกต่างกว่าประเทศไทย การไปทำงานในต่างประเทศต้องสูญเสียหลายเรื่อง สูญเสียโอกาสในการอยู่กับครอบครัว สูญเสียในการพูดภาษาไทย ความเป็นอยู่ก็แตกต่าง การกินการอยู่ แต่ถ้าไปเพื่อค่าตอบแทนที่สูงก็โอเค ซึ่งการไปทำงานต่างประเทศ ทางกรมการจัดหางานเราไม่ได้กีดกัน แต่เราเป็นห่วง กลัวไปทำงาน เจองานที่ไม่เหมาะสม งานไม่ดี ค่าตอบแทนไม่ดี เราเป็นห่วงตรงนี้มากกว่า หากเป็นงานที่ดี ค่าตอบแทนสูง เราสนับสนุน