top of page
347550.jpg

รับมือวิกฤต EM...4 ด่านหิน 4 เดือนสุดท้าย


โดย ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้

 

เตือนเมืองไทย/คนไทยรับมือวิกฤตชาติ EM-Emerging Market ระเบิดเวลาลูกใหม่กระทบเศรษฐกิจ/ธุรกิจโลก จับตา 4 ด่านอรหันต์ใน 4 เดือนที่เหลือของปี 2561 เล่นงานชาติ EM เดือนกันยายน-ธันวาคม คาดมีเพื่อนครึ่งหนึ่งเท่านั้นรอดตาย ส่งผลร้ายกระทบเมืองไทย/คนไทย 50% ของวิกฤตความรุนแรง แนะแบงก์ชาติเลิกนโยบายไฟเขียวนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศแบบ 2-3 ปีที่ผ่านมา จะกลายเป็นการโจมตีค่าเงินบาทเอง

มองดูวิกฤตที่เกิดขึ้นในลาตินอเมริกา อเมริกาใต้ มาถึง Emerging Market (EM) ตุรกีก็โดน อินโดฯก็โดน ฟิลิปปินส์ก็โดนโจมตีค่าเงิน ดูแล้วเป็นอย่างไร หายใจทั่วท้องไหม

วิกฤตนี้ถ้าเทียบกับวิกฤตตลาดเกิดใหม่ครั้งที่แรงๆ ก็ยุค 1990 ในเม็กซิโก และไล่มาเรื่อยจนมีวิกฤตครั้งใหญ่ในช่วง 1990 ครั้งนี้ก็ถือว่าแรงขึ้น

จริงๆ ตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้วหยุดไปพักหนึ่งแล้วกลับมากระโดดในสัปดาห์ที่แล้วถือว่าแรง และถ้าเทียบวิกฤตครั้งนี้ตลาดเกิดใหม่กับวิกฤตที่ผ่านมา มีข้อดีที่ว่าเบากว่า คือ ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ถือว่ากระจายกว่า เพราะที่ผ่านมาจะกระจุกอย่างอเมริกาใต้เรียกว่าเป็นกันทั้งยวง แต่ครั้งนี้มาอินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ อเมริกาใต้ ค่อนข้างกระจาย ตรงนี้อาจเป็นจุดที่ถือว่าดีกว่าครั้งที่ผ่านมา

แต่ที่ไม่ดีมี 2 จุด คือ

หนึ่ง...ปกติที่ผ่านมาไม่ค่อยเห็นค่าเงินดอลลาร์แข็งพร้อมกับราคาน้ำมันที่ขึ้นมาแรง โดย 1-2 เดือนที่ผ่านมาถือว่าเป็นครั้งแรกที่ดอลลาร์แข็งและราคาน้ำมันก็ขึ้นแรงพร้อมกัน ในมุมของตลาดเกิดใหม่ซึ่งปกติจะนำเข้าน้ำมันและเป็นหนี้ต่างประเทศ คือมีทั้งนำเข้าน้ำมันและเป็นหนี้ต่างประเทศในสกุลดอลลาร์ เมื่อดอลลาร์แข็งและราคาน้ำมันขึ้นพร้อมกัน ประเทศที่มีความอ่อนแอเดิมถือว่าโดนทั้ง 2 เด้ง ซึ่งในช่วงนี้เป็นครั้งแรกที่เป็นวิกฤตเพราะปกติดอลลาร์กับน้ำมันจะสวนกัน แต่ครั้งนี้ทำไมถึงไปพร้อมๆ กัน

สอง...อีกจุดหนึ่งที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมา คือ นักเก็งกำไรมีเครื่องมือที่ซับซ้อนและหลากหลายกว่า คือ เป็นการพนันในลักษณะ Forward หรือ Walk ซึ่งมีอยู่แค่นี้ ตอนนี้พวกตราสาร หรือ ETF มันใหญ่กว่า ส่งให้นักเก็งกำไรมีพลังขึ้นมามหาศาล 2 ปัจจัยนี้ทำให้ค่อนข้างน่ากังวลหน่อย

ถ้าเช็กดูว่าไทม์ไลน์ 4 เดือนถัดไป EM เจอค่อนข้างเยอะ ถ้าไล่ตั้งแต่กันยายน-ธันวาคม EM จะเจออะไรบ้าง

ด่านหนึ่ง สัปดาห์นี้เจอนิดหน่อยเรื่อง ECB อาจจะไม่เท่าไหร่ แต่วันที่ 20-21 กันยายน ซึ่งเป็นการประชุมเฟด ดอกเบี้ยขึ้นคงไม่มีใครสงสัยว่าขึ้นแน่ แต่ท่าทีจะขึ้นต่อแค่ไหนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะยิ่งถ้าประธานเฟดอยากจะขึ้นต่อเยอะๆ ท่าทีดอลลาร์จะแข็งขึ้นไปอีก ก็จะไปซ้ำเติมวิกฤต EM ให้รุนแรงขึ้นมาอีก อันนี้คือด่านแรกในเดือนกันยายนนี้

ด่านที่สอง ในเดือนตุลาคม มี 2 ด่าน มี 2 ค่ายกล ค่ายกลแรก คือ เลือกตั้งบราซิล ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่โดนแทงข้างหลังด้วยมีดจริงระหว่างการหาเสียง การเลือกตั้งครั้งนี้ถ้าได้ประธานาธิบดีที่ดำเนินนโยบายที่ไม่ค่อยเข้ารูปเข้ารอยในเชิง Macro บราซิลก็เป็นรายต่อไป บราซิลเป็นประเทศที่ใหญ่ ในมุม EM เป็นบิ๊กทรี ถ้าเป็นอะไรต่อไปวิกฤต EM เข้มข้นขึ้นโดยอีกมิติหนึ่ง

ค่ายกล 2 ในเดือนหน้า คือ สงครามการค้ามาถึงจุดไคลแมกซ์เพราะว่าโดนัลด์ ทรัมป์ Trade War ครั้งนี้เพื่อการเลือกตั้งในต้นเดือนพฤศจิกายน ดังนั้น เดือนตุลาคมเป็นเดือนจุด ไคลแมกซ์ อันนี้ถ้ามีการตั้งกำแพงภาษีกับจีนอีก 2 ครั้งอีก 2 แสนล้าน วิกฤต EM เกิดขึ้นรุนแรงแน่นอน แต่ตรงนี้เป็นคำถามว่าเมื่อวันศุกร์ที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมาเป็นเดตไลน์ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศรอบใหม่ แต่ก็ไม่ได้ประกาศอะไร ถ้ามีการประกาศรอบใหม่ ซึ่งความจริงมี 2 ล็อต 2 แสนล้านแรก และ 2 แสนล้านสุดท้าย ถ้าประกาศสักล็อตหนึ่งก็กระเทือน EM ถ้า 2 ล็อตเกิดขึ้นเต็มสูบแน่นอน ด่านที่สาม เดือนพฤศจิกายน คือการยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ซึ่งตรงนี้ถ้ามีการยกเลิกและมีการแซงชั่นการส่งน้ำมันของอิหร่านอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ราคาน้ำมันยิ่งขึ้น สังเกตถ้าราคาน้ำมันขึ้นมาแรงเมื่อไหร่ วิกฤต EM ค่อนข้างปะทุขึ้นมาอีกครั้ง คือมันมี 2 แรง คือทั้งดอลลาร์และน้ำมัน

และด่านสุดท้ายในปีนี้ คือ เฟด ตอนนี้มี 2 เสียง 50:50 ว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม ซึ่งสมมุติว่ามีการขึ้นดอกเบี้ยจริงดอลลาร์จะแข็งขึ้นไปอีก จริงๆ มีการประกาศตัวเลขการจ้างงานว่าค่าแรงของสหรัฐ ขึ้นมา 2.9% ถือว่าสูงสุดในรอบ 3 ปี ค่อนข้างเป็นจุดทำให้เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้อีก ตลาดแรงงานของสหรัฐฯในส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ตัวค่าจ้างขึ้นมาอย่างชัดเจนว่าขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ขึ้นมาแบบแรมดอมขึ้นมาแรงกว่าที่ตลาดนักวิเคราะห์คาด ทั้ง 4-5 ด่านนี้

คำถาม คือ EM จะผ่านได้ไหม?

ถ้าตลาดเกิดใหม่ (EM) จะผ่านด่านแรกได้ไหมเพราะมี 5-6 ด่าน โอกาสที่วิกฤตระหว่างทางที่ให้ประเมินตอนนี้ให้ประมาณครึ่งหนึ่งที่ EM ไม่สามารถไปต่อได้ ในช่วงถึงสิ้นปีนี้ให้ 50:50 ถ้าผ่านปีนี้ไปได้ วิกฤต EM โอกาสจะเกิดขึ้นน้อยกว่านี้ เนื่องจากปัจจัยทั้ง Trade War และเรื่องของเฟดที่จะขึ้นในเดือนธันวาคม มันมารวมในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ถ้า EM ผ่านได้จริง ปีหน้าโอกาสที่จะเกิดวิกฤต EM เหลือ 20% จาก 50% ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ก็เป็นภาพใหญ่

พูดง่ายๆ ว่าสถานการณ์ชาติ EM ตอนนี้น่าเป็นห่วงที่สุด

จริงๆ รอบนี้มันเกิดขึ้นมาจากวิกฤต EM ในช่วงพฤษภาคม ซึ่งตอนนี้ตุรกีและอาร์เจนติน่าเป็นข่าวแรงในครั้งแรก มันเกิดขึ้นใกล้เคียงกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศสงครามการค้ากับจีน ตรงนี้ตัวผู้ผลิตน้ำมันของอเมริการู้เลยว่าเขาไม่สามารถส่งออกน้ำมันไปจีนได้เยอะเหมือนเมื่อก่อน จีนเป็นหนึ่งในภูมิภาคนำเข้าน้ำมันค่อนข้างเยอะจากอเมริกา และวิกฤตน้ำมันเชลล์แก๊สครั้งหนึ่งจะมาแทนน้ำมัน แต่มองว่าติดปัญหาท่อส่งที่มีข้อจำกัดอยู่ว่าผลิตได้แต่ไปต่อไม่ได้ ยิ่งเห็นสงครามการค้าผู้ผลิตน้ำมันของอเมริกาก็เลยลดกำลังการผลิต เพราะรู้ว่าเข้าจีนไปก็เจอกำแพงภาษี

ประจวบกับเวเนซุเอลาในช่วงนั้นลดกำลังการผลิตเพราะมีปัญหาในประเทศ ผนวกกับในช่วง 2014-2016 ราคาน้ำมันตอนนั้นลดฮวบมาก บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ทั้งเชลล์ เอ็กซอน ลดการลงทุนเพื่อนำเข้ามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป การตัดสินใจลดกำลังการผลิตในช่วง 2014-2015 ส่งผลถึงปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตขึ้นมาเพื่อส่งตลาดโลกลดลง

อีก 2 เดือนถ้าอิหร่านโดนแซงชั่นอีก เชื่อว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าน้ำมันดิบเบรนท์ทะลุ 80-85 เหรียญต่อบาร์เรลแน่นอน

ที่พูดมาทั้งหมดส่งผลให้ราคาน้ำมันอเมริกาทั้งแก๊สโซลีนและดีเซลพุ่งค่อนข้างเยอะพอสมควร ตรงนี้ประธานเฟดมองว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯสูงขึ้นแน่ ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยเดือนกันยายนนี้ขึ้นแน่นอน แรกผลักดันดอกเบี้ยส่งผลต่อดอลลาร์สหรัฐน่าจะแข็งค่าต่อเนื่องจากวันนี้ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งวันนี้ EM ยังรับแทบจะไม่อยู่ว่าค่าเงินดอลลาร์แข็งขนาดนี้มูลค่าหนี้ที่แปลงเป็นดอลลาร์จะเพิ่มขึ้นทวีคูณมากมาย รวมถึงดอกเบี้ยที่เขาจ่ายเป็น Growth Rate การที่เขาจ่ายดอกเบี้ยส่วนหนึ่งปริมาณหนี้ที่เขาจ่ายค่อนข้างจะเยอะขึ้นจากเรื่องดอกเบี้ยและค่าเงินอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และธนาคารกลาง EM ที่อ่อนแอยังต้องมากู้ค่าเงินโดยใช้สำรองเงินตรา ทำให้สำรองเงินตราระหว่างประเทศเทียบกับ GDP ก็ต่ำลงมาอีก คือ ภาพ Macro เขาแย่ลงไปอีก

จะเห็นว่าทั้งอาร์เจนติน่าถ้าไม่มี IMF เจ๊งไปแล้ว ทั้งเรื่องหนี้ต่างประเทศที่เป็นดอลลาร์สหรัฐถึง 80% หนี้สำรองเงินตราระหว่างประเทศต่อ GDP มีไม่ถึง 15% ซึ่งต่ำมาก ตุรกีก็ใกล้ๆ กัน รวมถึงอินโดนีเซียที่มาถูกทางในการขึ้นดอกเบี้ย เรียกว่า 4-5 ครั้งใน 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมา แต่ด้วยการนำเข้าน้ำมันค่อนข้างเยอะและช่วงเศรษฐกิจคู่ค้าเขามี GDP ที่ค่อนข้างชะลอตัวจาก Trade War ตัวเลขการส่งออกอินโดนีเซียลดลง ทำให้ทุกคนกังวลว่าอินโดนีเซียจะขาดดุลการค้ากว่าที่ทุกคนคาด อินเดียและแอฟริกาใต้ก็อยู่ในสภาวะที่ใกล้เคียงกัน

กลุ่มนี้ตุรกี อาร์เจนติน่า อินโดนีเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ เป็นจุดอ่อน 5 ประเทศหลักของโลก

อีกมุมหนึ่งที่น่าติดตาม คือ ถ้าสมมุติว่าอัตราดอกเบี้ยของอเมริกาสูงขึ้นไปอีก แน่นอนว่า Fund Flow จะไหลออกจากอเมริกาไปเก็งกำไร EM เพราะว่า EM มีลักษณะของดิ่งลง ทำให้มีโอกาสทำกำไรได้สูงขึ้น และที่สำคัญตราสารหนี้ของ EM ในหลายๆ ประเทศตอนนี้ทำอัตราดอกเบี้ยพุ่งถึง 20-30% แล้วตอนนี้ เนื่องจากผลตอบแทนของอเมริกาน้อยจึงต้องเอา Fund Flow ไปเสี่ยงลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของ EM ที่มันอ่อนแอ ยิ่งไปซ้ำเติมตัวตลาดเงินตลาดทุนของ EM เหล่านี้ดิ่งลงยิ่งไปอีก

วิกฤต EM จะเกิดขึ้นค่อนข้างชัดและแรงเหมือนงูกินหาง ถึงตอนนั้นตลาดเกิดใหม่ที่อ่อนแอเข้าสู่งูกินหาง คือ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย ราคาน้ำมันสูง การส่งออกแย่ การสำรองเงินตราระหว่างประเทศก็ดร็อป แล้วก็กลับมาอีกครั้งเป็นลูปที่เหมือนหาทางออกไม่ได้ ตอนนี้ค่อนข้างติดหล่มกันพอสมควรด้วยความที่เป็นงูกินหาง IMF ช่วยอย่างไรก็ช่วยได้แค่บางจุด ทำให้หลายคนมองมองว่า 4 ด่านใน 4 เดือนนี้โอกาสครึ่งหนึ่งที่คิดว่าจะไปจุดที่พีคกว่านี้

แล้วเมืองไทยเป็นอย่างไร คนไทยต้องเตรียมตัวกันอย่างไร

เมืองไทยมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนกับวิกฤต EM รอบนี้

จุดแข็งของเรา คือ Trade War สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นักวิเคราะห์ต่างชาติและรวมถึงในไทยมองว่าไทยไม่โดนเยอะ เนื่องจากสินค้าหลายราย หลายผลิตภัณฑ์ ไปทับกับจีน คือ อเมริกาตั้งกำแพงภาษีกับจีน แต่เผอิญสินค้าเหล่านี้ไทยก็ผลิตเหมือนกันทำให้ไทยส่งออกสินค้ามากขึ้น แต่ข่าวร้าย คือ มูลค่าส่งออกไทยในครึ่งปีหลังชะลอตัวลง เพราะว่า GDP คู่ค้าของเราชะลอตามไปด้วย และสำรองเงินตราระหว่างประเทศของไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะลดลงด้วย เนื่องจากส่วนหนึ่งต้องไปป้องกันค่าเงินเพราะว่าดอกเบี้ยไทยยังคงที่อยู่และคาดว่าคงที่ถึงสิ้นปี

แต่ถ้าสังเกตตลาดหุ้นในช่วง 2 สัปดาห์ใน 2 เดือนที่ผ่านมามันลงมาแรง ตรงนั้นจะเกิดขึ้นอีกและเราจะ Play Safe ได้ชั่วคราว และถ้าเกิดขึ้นอีกแบงก์ชาติต้องป้องกันค่าเงินโดยนำเงินสำรองเงินตราระหว่างต่างประเทศไปกู้ ทำให้สำรองเงินตราระหว่างต่างประเทศลดลง การส่งออกของเราชะลอ สำรองเงินตราระหว่างต่างประเทศลดลงภาพ Macro เราจะแย่ลงนิดหน่อย ไม่ถึงขั้นแย่แต่ก็ดีน้อยลง ถ้าสมมุติวิกฤต EM แรงเราก็โดนด้วย ถ้ามองเป็นโอกาส EM รอบใหญ่เรียกว่าทั่วโลกปะทุครึ่งหนึ่ง ของเราเชื่อว่าโอกาสครึ่งหนึ่งที่จะโดนไปด้วย เงื่อนไขที่เราจะโดนหนักๆ ทั้งตลาดหุ้นและการส่งออกด้วย EM ที่มันแรงเท่านั้น ถ้ามันไม่แรงเรามีภูมิคุ้มกันเพราะเราได้ผลดีจาก Trade War แต่ถ้าภาพใหญ่ EM ปะทุขึ้นมาเราก็เอาไม่อยู่ ถ้าให้โอกาส EM ปะทุครึ่งหนึ่งโอกาสของเราก็โดนครึ่งหนึ่งเหมือนกัน เราอาจป้องกันค่าเงินได้เรามีโอกาสครึ่งหนึ่งที่รอดตัวจากวิกฤต EM

คนที่กู้เงินจากต่างประเทศต้องทำอย่างไร ช่วงนี้ควรไปกู้ไหม

แบ่งเป็น 2 มิติ มิติเรื่องค่าเงินมองว่าความเสี่ยงของเราค่อนข้างน้อยกว่า แต่ก็เสี่ยงถ้าสมมุติวิกฤต EM ถึงจุดพีคจริงเราก็โดนไปด้วย แต่ก็ต้องบอกว่าโอกาสน้อยกว่า แต่ถ้ามองในมุมว่ากู้ไปแล้วมีโครงการที่น่าสนใจที่คิดว่าทำกำไรได้แน่ เรื่องการกู้กับประเทศคู่ค้าที่เกี่ยวข้องกับ EM ให้ไปกู้กับ Develop Market อย่างอเมริกา หรือยุโรป ประเทศหลักๆ อย่างเยอรมนี ถ้าเป็นไปได้ก็พักไว้ก่อนถึงแม้เสถียรภาพค่าเงินบาทจะดี

แต่ถ้าวิกฤต EM หนัก 100% เราก็โดน 50% แต่เราจะโดนก็ต่อเมื่อวิกฤต EM ถึงขั้นพีคกว่านี้ในระดับที่เหมือนช่วง 2 เดือนที่แล้วเราก็โดน เพียงแต่เราจะโดนน้อยกว่าและเราจะไม่โดนถ้าวิกฤต EM ไม่ปะทุถึงจุดระดับแรงพอสมควร

หลายปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติส่งเสริมให้คนไทยนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ ถึงตรงนี้ยังควรเอาออกไปไหมหรือควรจะเลิกนโยบายนี้ไปเลย

มองในมุมระยะสั้นในช่วงไตรมาสนี้ แรงจูงใจที่จะนำเงินไปต่างประเทศน่าจะน้อยลง เนื่องจากไตรมาสสุดท้ายเราเสี่ยง ถึงแม้เราจะเป็นคนที่แข็งแรงในแง่เชิง Macro แต่ข้างนอกมันแรง ถ้ามันแรงมากเราก็ต้านไม่อยู่ ถ้าเราต้านไม่อยู่ค่าเงินตรงนี้เราก็อ่อนไปด้วย เข้าใจว่าการนำเงินออกไปตรงนี้จะไปซ้ำเติมวิกฤตตรงนี้ คือ ในไตรมาส 4 ไม่น่าจะเหมาะสมเท่าไหร่ในการดึงเงินเราไปต่างประเทศ มันอยู่ในจุดที่ว่าเราจะโดนหรือไม่โดน เพราะว่าวิกฤต EM ส่อเค้ามาแล้วว่าถ้ามันแรงเราก็ต้านไม่อยู่ ถ้าเรานำเงินออกไปต่างประเทศก็ยิ่งซ้ำเติมอีกซึ่งกลายเป็นว่าไปโจมตีค่าเงินเราเอง

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่แบงก์ชาติสนับสนุน เพราะค่าเงินบาทเราแข็ง คือ ไม่อยากมาป้องกันค่าเงินก็เลยให้เอกชนทำหน้าที่ตัวเอง แต่ช่วงนี้เป็นช่วงไม่ปกติเหมือนกับช่วงไตรมาส 4 ของปี 2008 ก้ำกึ่งว่าจะเกิดวิกฤต Crisis EM หรือไม่ ดังนั้น ในช่วงนี้นโยบายนั้นไม่เหมาะแน่นอน แต่ถ้ามองในปีหน้าสมมุติทุกอย่างกลับมาปกติ ทิศทางเงินบาทค่อนข้างแข็ง ค่อยกลับมาสู่โหมดให้เอกชนทำหน้าที่ช่วยแบงก์ชาติในการป้องกันค่าเงิน แต่ตอนนี้กังวลว่าจะอ่อนเกินไป ดังนั้น นโยบายนั้นพักไว้ก่อน

ฟันธงจะเป็นวิกฤต EM เป็นวิกฤตต้มยำกุ้งไหม คล้ายๆ ต้มยำกุ้ง 2540

มองว่าต้มยำกุ้งเราต่างจากครั้งนี้ คือ เราไปกู้แล้วมาเก็งกำไร ตอนนั้นไปกู้เงินดอกถูกมาทำให้เป็นฟองสบู่ แต่ครั้งนี้ทั้งอาร์เจนติน่าและตุรกีฟองสบู่ไม่เท่าเรา แต่อาร์เจนติน่าประเทศใหญ่พอสมควร ตุรกีใหญ่กว่าเรา

อีกผู้นำตุรกีเขาเหมือนมีอำนาจเยอะ ยุโรปไม่ชอบ บางครั้งขึ้นดอกเบี้ยเป็นเครื่องมืออเมริกาเอามาหลอก ตรงนี้กลายเป็นว่าผู้นำตุรกีมองว่าเป็นสิ่งอเมริกาเอามาลวงเขา ต่างกันเพราะไม่ใช่เรื่องฟองสบู่แต่เป็นเรื่องผู้นำที่มองประเมินนโยบายการเงินไม่ถูกต้อง กลายเป็นใช้นโยบายผิดจึงคนละแบบกัน ฟองสบู่ไม่เยอะเหมือนบ้านเราในช่วงนั้นแต่ผู้นำที่ค่อนข้างมีอำนาจเยอะ ดำเนินนโยบายผิด ผนวกกับขนาดประเทศใหญ่กว่าเรา การเกิดวิกฤตเลยคนละแบบกัน

ครั้งนั้นแรกๆ มองว่าไม่แรงแต่ก็แรงกว่าที่คิด แต่ครั้งนี้ทุกคนมองว่าแรงแต่ก็เป็นข้อดีนิดหน่อยว่าวัฏจักรที่ซ้ำรอยเรื่องค่าเงินดอลลาร์ ราคาน้ำมัน ศักยภาพ Macro เรียกว่า มันหนีไม่ออกแล้ว ตรงนี้น่ากลัวเพราะมันหมุนหนีไม่ออกแรงจะเยอะมาก

70 views
bottom of page