top of page
312345.jpg

ส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ก.ค. 61 หดตัวครั้งแรกในรอบ 21 เดือน ท่ามกลางข้อพิพาททางการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหร


  • มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยพลิกกลับมาขาดดุล 516.2 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก.ค. 2561 ส่งผลให้ 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2561 ไทยมีมูลค่าเกินดุลการค้าลดลงเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรก มาอยู่ที่ 2,939.4 ล้านดอลลาร์ฯ

  • การส่งออกสินค้าของไทยในเดือนก.ค. 2561 มีมูลค่า 20,423.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 8.3 YoY (เดือนมิ.ย. ขยายตัวร้อยละ 8.2 YoY) จากการส่งออกสินค้าหลักที่เติบโตดีตามการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในหมวดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ขยายตัวร้อยละ 11.2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (ขยายตัวร้อยละ 7.6) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป (ขยายตัวร้อยละ 14.1) รวมไปถึงทูน่ากระป๋อง (ขยายตัวร้อยละ 21.3) นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกที่อยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียมอย่างน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ให้ขยายตัวสูงต่อเนื่อง

  • ในขณะที่การนำเข้าสินค้าของไทยในเดือนก.ค. 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ 20,940.1 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 10.5 YoY (เดือนมิ.ย. ขยายตัวร้อยละ 10.8) ซึ่งส่วนหนึ่งได้อานิสงส์มาจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีติดต่อกันนาน 17 เดือนที่ช่วยหนุนการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปบางประเภทให้ขยายตัวดี เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ขยายตัวร้อยละ 12.0) เคมีภัณฑ์ (ขยายตัวร้อยละ 10.8) ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้มีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ระดับราคาน้ำมันดิบโลกที่อยู่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็ช่วยหนุนมูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงให้ขยายตัวในระดับสูงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนต่อๆ ไป หลังจากขยายตัวชะลอลงในเดือนก.ค. 2561 ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงผลกระทบของข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หรือสะท้อนถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในระยะข้างหน้า

  • การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีนชะลอตัวในเดือนก.ค. 2561 ท่ามกลางประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ระหว่างสหรัฐฯ และจีน

  • มูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ เดือนก.ค. 2561 ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 21 เดือน ที่ร้อยละ -1.9 YoY จากการหดตัวของการส่งออกเครื่องจักรและส่วนประกอบ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ หลายรายการแม้จะมีมูลค่าการส่งออกไม่สูง (ไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักและสินค้าส่งออกศักยภาพของไทยไปสหรัฐฯ) แต่ก็ทยอยได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทั้งที่จัดเก็บจากไทยโดยตรง เช่น เหล็กและเหล็กกล้า (หดตัวร้อยละ 34.6) และได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านการจับเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนตั้งแต่เดือนก.ค. 2561 ที่ผ่านมา เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทแผ่นฟิล์ม ฟอยล์และแถบ (หดตัวร้อยละ 16.3) เครื่องใช้สำนักงานที่ทำจากพลาสติก (หดตัวร้อยละ 66.2) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (หดตัวร้อยละ 77.7)

  • มูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปยังจีนขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.6 YoY ในเดือนก.ค. 2561 (เดือนมิ.ย. ขยายตัวร้อยละ 11.8) จากการหดตัวของการส่งออกสินค้าในหมวดเกษตรกรรม/อุตสาหกรรม (เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำตาลทราย) การส่งออกไม้แปรรูป รวมถึงรถยนต์นั่ง นอกจากนี้ สินค้าส่งออกไทยไปจีนบางรายการเริ่มได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ จัดเก็บภาษีศุลกากรอัตราใหม่จากการนำเข้าสินค้าจีน เช่น ไวนิลคลอไรด์ (หดตัวร้อยละ 56.2) เป็นต้น

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อนานาประเทศจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งนอกเหนือจากปัจจัยฐานที่สูงในปีก่อนที่จะทำให้เส้นทางการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 11.0 ทำให้ตลอดทั้งปี 2561 มูลค่าส่งออกสินค้าไทยน่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.8 ต่อปี

  • อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ (1) ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ในปัจจุบันยังหาข้อสรุปไม่ได้ และในวันที่ 23 ส.ค. 2561 สหรัฐฯ จะจัดเก็บภาษีศุลกากรในอัตราร้อยละ 25 จากการนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ฯ (2) ปัญหาเศรษฐกิจตุรกีที่คาดว่าจะยืดเยื้อไปจนถึงปี 2562 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลก รวมไปถึง (3) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ที่อาจจะส่งผลต่อความผันผวนในราคาน้ำมันดิบโลก

20 views
bottom of page