top of page
347550.jpg

ไทยเจอลูกหลง ข้าว 7 แสนตัน/ปีหลุดมือ


Exclusive Interview: รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้า

 

สงครามการค้าโลก-การแซงชั่นคู่กัดของอเมริกา ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนต้นปีหน้า ความขัดแย้งมีสิทธิ์ลากยาวแบบซีรี่ส์เกาหลี ไทยถูกลูกหลงจังเบอร์ อิหร่านคู่ค้าสำคัญของไทยถูกอเมริกาแซงชั่นจนเงินอ่อนค่า ขายน้ำมันลดลง กระทบยอดนำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่ารวม 8 พันล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะข้าวที่นำเข้าปีละ 7 แสนต้น

บรรยากาศสถานการณ์เวทีโลกในเรื่องการค้า สงครามการค้า เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองว่าจะรุนแรงและเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือแค่ขู่กัน หรือเจรจากันได้ในที่สุด ล่าสุดที่สหรัฐมีการแซงชั่นอิหร่านและมีกรณีของขึ้นภาษีของตุรกี 2 เท่า จนกลายเป็น crisis ในเรื่องเงิน มองว่าเรื่องพวกนี้จะมากระทบถึงไทยมากน้อยแค่ไหนและเป็นเรื่องอันตรายหรือไม่

ตอนนี้ประเด็นหลักของปัจจัยอยู่ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ มากกว่า เพราะนอกจากเราจะได้ยินคำว่า Trade War สงครามการค้าแล้ว ตอนนี้มีการแซงชั่นคือคว่ำบาตรเศรษฐกิจ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำกับหลายประเทศคว่ำบาตรกับหลายประเทศอย่างรัสเซีย ตุรกี อิหร่าน เพราะฉะนั้นปัจจัยที่เราต้องติดตามต่อไปคือ เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไรขณะนี้อิหร่าน ตุรกี มีประเด็นเรื่องค่าเงิน กรณีของอิหร่านคือหลังจากถูกแซงชั่นไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ค่าเงินอิหร่านอ่อนไปถึง 40% ส่วนค่าเงินของตุรกีอ่อนไป 20%

เดิมค่าเงินของประเทศต่างๆ อ่อนอยู่แล้วตามนโยบายของประเทศนั้นๆ ที่ต้องการให้ค่าเงินอ่อนด้วย เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐ พอค่าเงินอ่อนทำให้สินค้าของตัวเองถูกลงในสายตาประเทศผู้ซื้อ รวมทั้งค่าเงินดอลล่าร์แข็ง เพราะฉะนั้นจึงมีปัจจัยกระทบในตัวค่าเงินของประเทศต่างๆ หลากหลายปัจจัย ทั้งค่าเงินดอลล่าร์แข็งและนโยบายของประเทศนั้นๆ ที่ต้องการให้ค่าเงินอ่อน เช่น ค่าเงินหยวนที่อ่อนประมาณ 6% ค่าเงินตุรกิและอิหร่านที่อ่อนจากนโยบายการแซงชั่นทางเศรษฐกิจของสหรัฐ แล้วถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า สงครามค่าเงิน การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ สุดท้ายแล้วไปตกอยู่ที่เศรษฐกิจโลกว่าจะชะลอตัวช้าหรือเร็ว แต่ในอีก 5-6 เดือนข้างหน้าอาจยังไม่เห็นผลชัดเจน การเห็นผลชัดเจนในเศรษฐกิจโลกน่าจะเห็นเป็นเรื่องเป็นราวในต้นปีหน้า

แต่ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องสงครามการค้า ขณะนี้ตัวละครหลักที่ไม่ยอมกันจริงๆ คือสหรัฐและจีน คุณต่อยมาฉันต่อยกลับ แต่สหรัฐกับยุโรปดูแล้วท่าทีเริ่มอ่อน สหรัฐกับเม็กซิโกก็เริ่มมีท่าทีอ่อนลง เช่นประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไปพูดกับประธานอียู ฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ว่าเรามาทำการค้าที่เป็นธรรมกันดีกว่าอย่ากีดกันกันเลย เมื่อก่อนตอนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาต้องเจรจา AFTA ให้จบด้วยซ้ำไป แต่ปัจจุบันต้องกลับมาเจรจากันใหม่ทั้งเม็กซิโกและแคนาดา เพราะฉะนั้น 5-6 เดือนนี้จะไม่รุนแรงมากนัก แต่ในระยะยาวไม่แน่ เพราะยังจบกันไม่ได้ง่ายๆ เป็นแบบซีรี่ส์เกาหลี

อย่างกรณีของรัสเซียมองไว้อย่างไร

รัสเซียและสหรัฐมีการเกี่ยวข้องหลายเรื่องทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ที่สหรัฐเข้าไปแซงชั่น เพราะเชื่อว่ารัสเซียไปวางยาคนสหรัฐในอังกฤษ ก็เลยถูกแซงชั่นไป รวมทั้งรัสเซียถูกมองว่าไปเกี่ยวข้องแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันรัสเซียเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าด้วย และยังเกี่ยวโยงไปถึงกรณีของอิหร่านด้วย สหรัฐคว่ำบาตรอิหร่านมี 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือสหรัฐยกเลิกข้อตกลงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านที่มีอยู่ 6 ประเทศที่เข้าไปเกี่ยวข้อง คือสหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ เยอรมนี แต่สหรัฐถอนตัวออกไปประเทศเดียว อีก 5 ประเทศไม่ได้ถอนตัว และอีก 5 ประเทศมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับสหรัฐ โดยเฉพาะรัสเซียไม่เอาด้วย จีนก็ไม่เอาด้วย ทำให้สหรัฐไปแซงชั่นเศรษฐกิจของอิหร่าน 2.ประเด็นที่สองคือ สหรัฐมองว่าอิหร่านไปสนับสนุนผู้ก่อการร้าย ดังนั้น การแซงชั่นอิหร่านเลยมี 2 เรื่อง คือ 1. แซงชั่นเศรษฐกิจ 2. แซงชั่นเรื่องน้ำมัน แซงชั่นเศรษฐกิจไปแล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม คือห้ามอิหร่านซื้อขายดอลลาร์กับสหรัฐ ก็จะไม่มีการซื้อขายทอง เหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์ ทองคำ รวมทั้งไม่ทำธุรกิจที่เป็นค่าเงิน Rial ของอิหร่าน ซึ่งส่งผลกระทบมากกับบริษัทรถยนต์ในเยอรมันเพราะจะทำราคาผ่านในประเทศเยอรมนี เยอรมนีก็อึดอัดมากเพราะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมข้อตกลงอิหร่าน เพราะฉะนั้นเยอรมนีไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายเหล่านี้เพราะกระทบเศรษฐกิจในบาง Sector เช่น รถยนต์ ซึ่งสิ่งที่สหรัฐบอยคอตรถยนต์กับอิหร่าน บริษัทรถยนต์ที่ผลิตในอิหร่านหรือการทำธุรกรรมในอิหร่าน สหรัฐไม่เอาด้วย แล้วบอกว่าใครที่ทำธุรกิจกับอิหร่าน พันธมิตรที่ทำธุรกิจกับอิหร่านอยู่ ไม่ต้องมาทำธุรกิจกับสหรัฐ ก็เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์พูด

แล้วจะกระทบกับไทยอย่างไร

จะกระทบไทย 2 เรื่อง คือ 1.ราคาน้ำมัน 2.การทำมาค้าขายระหว่างเรากับอิหร่าน น้ำมันที่อิหร่านผลิตวันละ 4 ล้านบาร์เรล ที่ผ่านมาโดนบอยคอต ไม่สามารถส่งน้ำมันได้ประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ผมคิดว่ารอบนี้น่าจะ 1-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพราะเขาผลิตแล้วขายไม่ได้ เศรษฐกิจประเทศในตะวันออกกลางต้องพึ่งราคาน้ำมัน ซึ่งซาอุดิอาระเบียบอกว่าถ้าราคาต่ำกว่า 60 เหรียญฯเศรษฐกิจของเขาจะยุ่งเลย แต่ในกรณีของอิหร่านเมื่อไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง ตอนนี้กระทบค่าเงินไปแล้วคือค่าเงินอ่อนค่าลง อะไรจะตามมาเมื่อค่าเงินอ่อนค่า ก็จะทำให้การนำเข้าสินค้าแพงขึ้น ผลกระทบโดยตรงคือคนในอิหร่านจะบริโภคสินค้าแพงขึ้น เพราะฉะนั้นเงินก็จะหายไปด้วย แทนที่จะใช้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ต้องเจือจานไปกับสินค้าที่แพงขึ้น

ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล มอร์แกน สแตนลีย์บอกว่าปีนี้ราคาน้ำมันจะไปที่ 86 เหรียญฯ บางสำนักบอกไปที่ 90 เหรียญฯต่อบาร์เรล แล้วนี่เขาขายน้ำมันออกไปได้แค่ประมาณ 1-1.5 ล้านบาร์เรล แต่ก็ไม่น่าตกใจมาก เพราะซาอุดิอาระเบียบอกว่าจะผลิตออกมาเพื่อขายให้รัสเซีย ก็อาจทำให้ราคาไม่เลวร้ายไปถึง 80-90 เหรียญฯต่อบาร์เรล อาจจะอยู่ที่กว่า 70 เหรียญฯต่อบาร์เรล นี่คือเรื่องที่ 1 ที่จะกระทบต่อไทย ซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับต้นทุนการผลิตต่างๆ ของเรา

ต่อไปเรื่อง 2 คือการค้าขาย ตอนนี้อิหร่านนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ หลายอย่างทั้งชิ้นส่วนฯรถยนต์ โทรทัศน์ แอร์ ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม รองเท้า ยางพารา และล้อยางรถยนต์ โดยนำเข้าจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี ส่วนสินค้าไทยที่ขายในบ้านเขาขณะนี้มีผลไม้กระป๋อง ล้อรถยนต์ ยางรถยนต์ อาหารเครื่องดื่ม รองเท้า เป็นสินค้าบริโภคอุปโภคที่ซื้อจากเราไป แต่ละปีซื้อไป 8,000 ล้านบาท ข้าวที่อิหร่านซื้อไปปีละ 700,000 ตัน เพราะฉะนั้นถ้าเศรษฐกิจเขาแย่ลง คนก็จะมีเงินลดลง เขาก็จะนำเข้าจากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยและในอาเซียนลดลงไปด้วย เราไปเกี่ยวข้องกับเขาก็หลายตัว เช่น ยางพารา น้ำมันปาล์ม ข้าว ก็กระทบไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในกรณีของอิหร่าน

ให้ฟันธงว่าการส่งออกของไทยในปี 2561

ผมได้แถลงข่าวไปว่า 8% แต่ในครึ่งปีหลังก็อาจชะลอตัวกว่าครึ่งปีแรก

ผลกระทบนี้ทำให้ต้องมีการปรับตัวเลขส่งออก ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยหรือไม่

ไม่ต้องปรับ แต่ก็ต้องไปดูในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้ารุนแรงกว่าวันนี้ก็อาจจะต้องมาปรับกัน แต่ถ้าจะหนักจริงๆ น่าจะเป็นต้นปี 2562

107 views
bottom of page