หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย Fund Flow ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยพรวดเดียว 9,000 ล้าน แต่ภาพรวม Fund Flow ไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยครึ่งแรกปี 2561 ยังบวก 30,000 ล้าน จับตาความผันผวนตราสารหนี้ระยะสั้น 1 ปี ที่เข้าเร็วออกเร็ว ส่วนนักลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวยังเหนียวแน่น แจง...อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยต่ำกว่าอเมริกา แต่เมื่อหักลบอัตราเงินเฟ้อไทยที่ยังต่ำ ทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริงเป็นบวก ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติยังมั่นใจในความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสถานการณ์นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2561 ว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยมีเงินไหลออกในแง่ของกระแส Fund Flow เหมือนตลาดหุ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในเดือนเมษายนมีเงินไหลออกจำนวนมาก เพราะช่วงนั้นนักลงทุนมีความกังวลเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
“แต่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมมีประเด็นสงครามการค้าที่สหรัฐฯจะตั้งกำแพงภาษีกับหลายๆประเทศ เรื่องความวุ่นวายทางการเมืองในยุโรป ทำให้กระแสเงินไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมพอสมควร เพียงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนตัวเม็ดเงินที่เข้ามามีกว่า 30,000 ล้านบาท แต่หลังจากมีการประชุมเฟดวันที่ 14 มิถุนายน 2561 รวมถึงการประชุมของ JCB ทำให้เห็นเงินไหลออกอีกครั้ง 2 วันกว่า 9,000 ล้านบาท...
แต่เบ็ดเสร็จ Fund Flow ที่เข้ามานับตั้งแต่ต้นปียังเป็นบวกอยู่ประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท ก็ต้องติดตามต่อไปว่าแรงขายยังมีอยู่หรือไม่ หรือชะลอลง ที่น่าสังเกต คือ ในส่วนของตลาดตราสารหนี้อาจจะต่างกับตลาดหุ้น เพราะตลาดหุ้นมีกว่า 100,000 ล้านบาททั้งปีที่ออกไป แต่ตลาดตราสารหนี้ แม้ว่าเห็นเงินไหลออกมากในบางช่วงของเดือนเมษายน แต่ถ้าดูตราสารหนี้ที่มีอายุมากกว่า 1 ปี นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาไม่เคยติดลบ จะเห็นได้ว่าบางช่วงที่เงินไหลออกอาจจะเป็นช่วงสั้นที่เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ซึ่งต่างชาติยังไม่ได้ขายตราสารหนี้ระยะยาวออกไป เพราะฉะนั้นความผันผวนจะเป็นพวกเข้าเร็วออกเร็วที่เป็นในตราสารหนี้ระยะสั้นมากกว่า และอาจจะเห็นนักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวยังมองถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยในแง่บวกอยู่ เพราะฉะนั้นเม็ดเงินที่เข้ามาในพันธบัตรระยะยาวยังบวกอยู่ทุกเดือน ซึ่งยังไม่ได้เห็นการไหลออกของเงินที่ลงทุนในพันธบัตรระยะยาว”
ส่วนประเด็นที่อัตราดอกเบี้ยเมืองไทยไม่ได้ปรับขึ้นมาเป็นเวลานาน จะทำให้ขาดแรงจูงใจในการมาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติหรือไม่นั้น นางสาวอริยากล่าวว่า ขณะนี้ไทยเป็นประเทศเดียวในแถบอาเซียนที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าสหรัฐ โดยดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ที่ 1.5% แม้แต่ Yield ระยะยาวของพันธบัตรก็ยังต่ำกว่าพันธบัตรสหรัฐฯระยะยาว 10 ปี อยู่ที่ 2.7% และมีบางช่วงอาจมีการปรับขึ้นไปถึง 2.8% แต่ยังไม่เกิน 2.8% โดย Yield ทั้งระยะสั้นและระยะยาวของไทยยังต่ำกว่าสหรัฐ
“แต่ยังเห็นเม็ดเงินเข้ามาไทยและมีความผันผวนในบางช่วง โดยรวมเงินยังเข้ามา เหตุผลเพราะ 1.เงินเฟ้อไทยยังต่ำ เพราะฉะนั้นอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงยังสูงอยู่ เงินเฟ้อไทยยังต่ำมาก เมื่อหักลบเงินเฟ้อแล้วอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงยังเป็นบวกอยู่ 2.ในส่วนของดุลบัญชีเงินสะพัดของไทยยังค่อนข้างสูง ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ รวมถึงมีนักลงทุนที่เข้ามาทำให้มั่นใจว่ามีโอกาสในอนาคตที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นในระยะยาว เพราะฉะนั้นต่างชาติคงไม่ได้ดูแค่ที่ตัวระดับอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว คือไม่ใช่ว่าต่ำแล้วจะไม่เข้ามาลงทุน จะเห็นได้ว่าไทยถ้าเทียบกับอาเซียนด้วยกันดอกเบี้ยในไทยต่ำที่สุด แต่ไทยยังมีเม็ดเงินเข้ามาอยู่ตลอด...
“สัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยนั้น ถ้าเป็นช่วงต้นปีจะเห็นว่าระยะยาวมี 90% แต่ตอนนี้ในช่วงที่เห็นความผันผวนมีเงินเข้ามาในระยะสั้น 20% และเป็นระยะยาว 80% คือในระยะสั้นมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น แต่ยังถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยอยู่ถ้าเทียบกับนักลงทุนถือครอง เพราะจะถือครองในระยะยาวเป็นส่วนใหญ่”
ทั้งนี้ นางสาวอริยายังกล่าวถึงการระดมทุนของภาคเอกชนด้วยการออกหุ้นกู้ว่า ภาคเอกชนมีการเตรียมตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อปรับตัวรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะมีการทยอยปรับขึ้นในปีนี้ โดยในปีที่ผ่านมาภาคเอกชนระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ทั้งปีกว่า 800,000 ล้านบาท ขณะที่ 5 เดือนแรกของปีนี้มีการออกหุ้นกู้ไปแล้วเกือบ 400,000 ล้านบาท
“จะเห็นว่าเอกชนหลายแห่งเตรียมตัวล็อกต้นทุนทางการเงินไว้ นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาจะเห็นดอกเบี้ยขยับขึ้นมาบ้างแล้ว อาจจะไม่ได้ปรับขึ้นในระดับตามพันธบัตรสหรัฐฯ เนื่องจากไทยมีสภาพคล่องในระบบค่อนข้างมาก คือยังมีการซื้อจากสถาบันไทยค่อนข้างมาก เวลาที่ต่างชาติขายก็ยังมีนักลงทุนสถาบันที่พร้อมจะเข้ามาซื้อต่อ คือพันธบัตรระยะยาว 10 ปีของไทยตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 2.8% ขยับขึ้นมา 0.5% จากเมื่อตอนช่วงต้นปี แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ ที่น่าสังเกตคือส่วนชดเชยความเสี่ยง โดยเวลาออกหุ้นกู้จะมีส่วนที่ต้องบวกเข้าไปเพื่อชดเชยความเสี่ยงถ้าเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งส่วนของชดเชยความเสี่ยงถือว่ายังไม่ได้เยอะมากและยังค่อนข้างแคบอยู่ จะเห็นได้ว่าหุ้นกู้หลายๆรายที่ออกมามีดอกเบี้ยที่ไม่ได้สูงมากถ้าเทียบกับหุ้นกู้ที่มีคุณภาพดี ทางนักลงทุนมีความระมัดระวังมากขึ้นสำหรับหุ้นกู้ที่มีอันดับเรทติ้งที่ไม่สูงมากนักเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ นางสาวอริยายังกล่าวถึงการระดมทุนแบบ ICO ด้วยว่า ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีกฎหมาย ICO ทำให้การออก ICO ไม่ต้องผ่านกระบวนการขออนุญาตซึ่งค่อนข้างง่ายมาก โดยนักลงทุนที่ลงทุนใน ICO จะเน้นผลตอบแทนในเรื่อง Capital Gain แต่ความเสี่ยงค่อนข้างสูง แต่ ICO จะไม่ตอบโจทย์นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ เพราะส่วนใหญ่นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้จะหวังในเรื่องดอกเบี้ย ไม่ได้หวังเรื่องของ Capital Gain
“ส่วนการดูแลตอนนี้ทางก.ล.ต.ดูแลอยู่ สุดท้ายถ้ามีการซื้อขายในตลาดรองเข้าใจว่าทางตลาดหลักทรัพย์คงดูแล ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกในรูปที่เป็นตราสารหนี้”