top of page
369286.jpg

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยสุดหรู สวนทางความรู้สึกคนไทย


ตัวเลขเศรษฐกิจไทยของภาครัฐดูสวยหรู แต่ภาพสะท้อนจากชาวบ้านเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ราคาสินค้าภาคการเกษตรยังลุ่มๆ ดอนๆ ตัวเลขส่งออกสูงเป็นเหมือนภาพลวงตา เพราะโตจากฐานที่ต่ำเตี้ย ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีอเมริกาเป็นตัวแปรสำคัญ เหตุจากอเมริกาค้าขายกับใครก็แพ้ เลยป่วนไปทั่ว จนเป็นชนวนสงครามการค้าโดยเฉพาะกับจีน สร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศอัตราการเติบโตว่า เป็นตัวเลขที่มาจากการคำนวณการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนตัวเลขอัตราการบริโภคไตรมาส 1 ที่ภาครัฐประกาศว่าเพิ่มขึ้นนั้น ในรายละเอียดต้องไปดูว่าสภาพที่แท้จริงเป็นอย่างไร

“ตัวเลขของสภาพัฒน์คงไม่โกหกเรา แต่ทั่วไปที่ได้พูดคุยกันถือว่ายังไม่ค่อยดีนัก สินค้าเกษตรดูแล้วยังไม่ค่อยกระเตื้องเท่าไหร่ ยังต้องช่วยกันพยุงหลายอย่าง ก็ต้องดูว่าฤดูกาลนี้เป็นอย่างไร น้ำก็มาเยอะพอสมควร ราคาในต่างประเทศเป็นอย่างไรก็ต้องเฝ้าดูกันต่อไป คาดว่าในไตรมาส 1 ที่ผ่านมามีตัวเลขที่ดูดี แต่ก็ยังประมาทไม่ได้เพราะปัญหามีเยอะมาก โดยสิ่งที่ต้องระวังคือการส่งออก แม้ตัวเลขการส่งออกดี ที่ผ่านมาหลายไตรมาสโตมาตลอด 8-10% แต่ก็มาจากฐานที่ต่ำ”

ส่วนเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น นายพรศิลป์กล่าวว่ามีอัตราการเติบดีขึ้น อย่างสหรัฐถือว่าดีเพียงแต่ต้องดูนโยบาย โดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ เช่น จีนประกาศจะปรับขึ้นภาษีรถยนต์ประมาณ 25% ซึ่งจะสร้างความกังวลให้กับประเทศส่งออกอย่างสหรัฐค่อนข้างมาก อีกทั้งยังกระทบการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่น และบางประเทศในยุโรปเช่นเยอรมันที่เริ่มมีความกังวล

“คิดว่าสรุปโดยรวม ไทยยังไม่น่าเสียหาย น่าจะมีตัวเลขที่ยังเติบโตได้อยู่ แต่ผลกระทบจากการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศใหญ่อาจจะส่งผลกระทบกับไทยได้ อีกอย่างคือเรื่องราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับขึ้นไปถึง 80 เหรียญ แต่ก็มีข่าวดีว่ารัสเซียจะพยายามไม่ให้เพิ่มไปมากกว่านี้ โดยจะพยายามผลิตน้ำมันให้มากขึ้น ก็อาจทำให้ราคาไม่สูงไปกว่านี้ รวมถึงซาอุดีอาระเบียก็มีท่าทีจะไม่ทำให้สูงไปกว่านี้ ทำให้มีความสบายใจได้ สมมุติ 100% มีความสบายใจได้ 60%...

“ราคาน้ำมันไม่น่าเกิน 80 เหรียญฯต่อบาร์เรล เพราะมีแรงถ่วงอยู่ ประเทศที่อยู่นอกโอเปคอย่างรัสเซีย สหรัฐ ซึ่งในอนาคตจะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันมากที่สุดในโลก คิดว่าคงถ่วงน้ำหนักตรงนี้ คือถ้าแพงเกินไปเศรษฐกิจจะชะลอ เพราะประเทศที่ซื้อน้ำมันมีเยอะกว่าประเทศที่ผลิตน้ำมัน เพราะฉะนั้นจะมีรายได้หรือรวยจากการผลิตน้ำมันเพียงไม่กี่ประเทศ แต่จะมีปัญหากระทบกับประเทศที่กำลังพัฒนามากมายหลายประเทศ โดยรวมเศรษฐกิจโลกก็จะไม่ดี เพราะฉะนั้นก็ต้องดูตรงนี้ด้วย”

นอกจากนี้ นายพรศิลป์ยังกล่าวถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐว่า มี 2 ภาคด้วยกัน ภาคที่ 1 เริ่มต้นที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศปรับขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งส่งผลกระทบกับประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี เช่น ไทย ยุโรป ส่วนสงครามการค้าสหรัฐกับจีนภาคที่ 2 คือกรณีที่สหรัฐไปเจรจากับจีนในช่วงที่ผ่านมา โดยเป็นสินค้าอีกชุดหนึ่งที่สหรัฐต้องการจะปรับขึ้นภาษีเพิ่มประมาณ 60,000-100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อมีการพูดคุยกันแล้วมีการออกมาประกาศว่าจะยังไม่ใช้มาตรการนี้ในสงครามการค้าจริง

“แต่การปรับขึ้นภาษีก็ก็คือสงครามการค้า เพราะฉะนั้นเมื่อข่าวนี้ออกมาทุกคนก็สบายใจขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นสัญญาณชัดเจน มีอย่างหนึ่งที่จีนสัญญาว่าจะพยายามลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ กับจีนลงซึ่งเป็นตัวเลขสูงมากปีละ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะฉะนั้นวิธีการอาจจะเป็นจีนส่งออกน้อยลงหรือซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งแบบนี้คงยากเพราะไม่รู้ว่าจะนำสินค้าตัวไหนไปส่งออกน้อยลง คิดว่าคงทำไม่ได้เพราะจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปหมด แต่ถ้าหากจะซื้อเพิ่มขึ้นอาจจะใช้วิธีนี้ได้บ้าง ซึ่งต้องมาดูว่าจะซื้อสินค้าอะไรเพิ่ม เช่น การเปิดให้รถยนต์สหรัฐเข้าจีนด้วยการปรับลดภาษีที่ถูกลง เพราะสหรัฐมีการส่งออกรถยนต์ คือมีทั้งซื้อและขาย แต่บังเอิญว่าสหรัฐขายไม่เก่งเท่ากับซื้อ โดยเฉลี่ย 1 ปีสหรัฐมีตัวเลขนำเข้ามากถึง 170,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีตัวเลขการส่งออกเพียง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะฉะนั้นทั่วโลกยังเกยกัน 3 เท่า ถ้าจีนปรับลดภาษีรถยนต์ลงปล่อยให้สหรัฐส่งออกมาจีนมากขึ้น ขึ้นอยู่กับการซื้อขายและรสนิยมของผู้ซื้อ เพราะถ้าจีนเปิดตลาดด้วยวิธีการแบบนี้แล้ว แต่สหรัฐยังเข้าไม่ถึง ก็ช่วยไม่ได้แล้ว เพราะเวลาที่จีนเปิดตลาดภาษีลดลงเพราะตัวหลักคือภาษี แต่เวลาที่เปิดจะเปิดเฉพาะสหรัฐได้ เพราะอยู่ในวงจรการค้าโลก ทุกคนเป็นสมาชิกเดียวกัน จะแบ่งแยกไม่ได้ จะไปเปิดให้เฉพาะสหรัฐในอัตราภาษี 0% ได้ ไม่อย่างนั้นยุโรปก็จะต่อต้านกันหมด เพราะฉะนั้นถ้าจีนจะเปิดก็ต้องเปิดให้หมดทุกประเทศที่จะเข้าไป สุดท้ายสหรัฐก็ต้องไปแข่งขันกับประเทศอื่นเหมือนกัน ถ้าสหรัฐยังแข่งขันแล้วแพ้ก็โทษจีนไม่ได้แล้ว เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อนที่ญี่ปุ่นกับสหรัฐมีปัญหาเดียวกัน คือขาดดุลการค้ามาก แต่ตัวเลขน้อยกว่าจีนกับสหรัฐ ทำให้สหรัฐกดดันญี่ปุ่นเรื่องรถยนต์โดยให้เปิดตลาดรถยนต์มากขึ้น สุดท้ายญี่ปุ่นเปิดตลาด แต่ที่เข้าไปมากกลายเป็นรถยนต์เยอรมันทั้งหมด เพราะปัญหาหลักคือสหรัฐแข่งขันไม่ได้ สหรัฐต้องไปศึกษาตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นในอดีต วันนี้สหรัฐขาดดุลการค้าเสียเปรียบญี่ปุ่นและยังไม่สามารถแก้ได้ ปัญหาคือสหรัฐต้องทำตัวเองให้เก่งขึ้น ไม่ใช่บังคับให้คนอื่นแย่ลง เพราะเป็นแนวคิดที่ผิด ก็เป็นเรื่องของจิตวิทยาหรือการหาเสียงของนักการเมือง มองแล้วเป็นเรื่องยาก ซึ่งสหรัฐต้องขาดดุลการค้าต่อไป โดยต้องไปหาวิธีอื่นซึ่งไม่รู้ว่าจะทำอะไรไปได้มากกว่านี้ ส่วนไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐแต่สหรัฐไม่ค่อยมายุ่งกับไทยมากนักเพราะมีตัวเลขการขาดดุลจำนวนน้อย”

อย่างไรก็ตาม นายพรศิลป์กล่าวว่าสำหรับไทยนั้นยังคงถูกสหรัฐกดดันในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการกดดันให้ไทยนำเข้าหมูหรือชิ้นส่วนหมูจากสหรัฐ “เรื่องหมูไทยกับสหรัฐยังมีความน่ากลัวเหมือนกัน เพราะเรื่องหมูของไทยเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก เกษตรกรหรือวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่อยู่ ไทยอาจจะแข่งเรื่องต้นทุนไม่ได้เพราะไทยมีนโยบายให้สินค้าเกษตรไทยแพง เพราะฉะนั้นต้นทุนของผู้เลี้ยงก็ต้องไปอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกวัตถุดิบ เช่น ข้าวโพด พอวัตถุดิบแพงก็เป็นลูกโซ่ ดึงกันเป็นแถว และยังมีเรื่องพฤติกรรมการบริโภคที่ไทยยังเสียเปรียบ เพราะหมู 1 ตัวไทยกินทุกชิ้นทุกส่วน แต่ของสหรัฐ หมู 1 ตัวกินแต่เนื้อ แล้วจะส่งส่วนที่ไม่กินมาขายให้ไทย ตรงนี้เป็นสิ่งที่คุกคามอยู่ ทำให้ไทยต้องคิดวิธีลดต้นทุนและปรับตัวให้เก่งขึ้น”

14 views
bottom of page