top of page
379208.jpg

เหล็กไทยไม่กลัว Trump...ขอรัฐส่งเสริมให้เติบโตอย่างยั่งยืน


อุตสาหกรรมเหล็กไทยกระเตื้องดีขึ้น แต่ยังถูกตปท.เข้ามาทุ่มตลาดอยู่เนืองๆ มั่นใจ...มาตรการตั้งกำแพงภาษีของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กระทบอุตฯเหล็กไทยไม่มากนัก แต่จะให้ดีรัฐบาลไทยควรเร่งช่วยผู้ประกอบการอุตฯเหล็กให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการออกกฎหมายคุ้มครองการทุ่มตลาดจากตปท. ส่งเสริมอุตฯเหล็กต้นน้ำอย่างจริงจัง รวมทั้งกลั่นกรองโรงงานผลิตเหล็กจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ไม่ให้เข้ามาเป็นคู่แข่งกับโรงงานของไทยที่มีอยู่เดิม

นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยว่าที่ผ่านมาต้องเผชิญวิบากกรรมมาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติของอุตสาหกรรมนี้ เพราะเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการดูแลปกป้องอุตสาหกรรมเหล็ก หรืออุดหนุนช่วยเหลือด้วยวิธีการต่างๆ เพราะเหล็กเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาประเทศ

“สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กของไทยในขณะนี้ โดยเฉพาะในช่วงปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันค่อนข้างจะดีขึ้นเยอะ ก่อนหน้านี้มีปัญหาสินค้าจากจีนเข้ามาทุ่มตลาด ซึ่งรัฐบาลไทยก็ใจดีเข้าไปดูแล พอเข้าไปดูแล สถานภาพก็ดีขึ้น และจีนก็มีการควบคุมการส่งออกระดับหนึ่ง ทำให้ราคาเหล็กมีเสถียรภาพพอสมควร และหลายๆ บริษัทเริ่มที่จะฟื้นตัว มีกำไร”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมาตรการของรัฐที่มีอยู่โดยเฉพาะภาษีเซฟการ์ด ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อปกป้องสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นนั้น นายวิกรมกล่าวว่ารัฐบาลทำได้ค่อนข้างดี แต่ยังมีอยู่ 2-3 เรื่องที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กพยายามจะแจ้งภาครัฐก็คือ ปัญหาการทะลักของเครื่องจักรเก่าจากจีน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กังวล เพราะปัจจุบันการแข่งขันก็อยู่ในสภาพย่ำแย่กันอยู่แล้ว นอกจากนั้น หากมาตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นอีกและใช้เครื่องจักรที่ไม่เหมาะสมเข้ามา จะเป็นปัญหาในระยะยาวที่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยยิ่งลดลงไป

“อีกเรื่องหนึ่งคือ จะมีสินค้าบางตัวที่อาจจะยังไม่มีการดูแล อย่างพวกเหล็ก สังกะสี ตรงนี้อยู่ในเคสที่มีการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์ก็อยู่ในกระบวนการ คือถ้าคลอดออกมาได้ก็น่าจะโอเค แต่หากจะให้ขึ้นภาษีแบบสหรัฐอเมริกาทำคงเป็นไปไม่ได้ และคงลำบาก เพราะเราเองยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าหลายๆ ประเภท”

ส่วนกรณีล่าสุดที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศจะตั้งกำแพงภาษีในสินค้าเหล็กนั้น นายวิกรมกล่าวว่า ผลกระทบโดยตรงคงไม่มากนัก เพราะไทยมีการส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกาไม่มาก แต่อาจมีสินค้าบางตัวเช่น เหล็กรีดเย็น ท่อ ที่อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ส่วนตัวมองว่ายังถูกกระทบเพียงเล็กน้อย แต่ที่เป็นกังวลมากๆ จากที่ฟังข่าวคือมีโอกาสลุกลามไปเป็นสงครามการค้า ซึ่งถ้าลามไปถึงตรงนั้นแล้ว มาตรการปกป้องของประเทศต่างๆ ในการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กของแต่ละประเทศก็อาจจะมีผลกระทบต่อไทย เพราะอุตสาหกรรมเหล็กในไทยยังไม่แข็งแรงมากพอ

“เห็นเขาว่าถ้าสหรัฐตั้งกำแพงภาษีเรื่องเหล็ก อาจจะส่งผลให้จีนทุ่มเหล็กเข้ามาขายในตลาดเอเชียแบบถูกๆ มากขึ้น ตรงนี้ก็น่าเป็นห่วง แต่เราคงไม่ได้มองเรื่องจีนอย่างเดียว คือแทบจะทุกประเทศที่มีโอกาสที่จะส่งออกเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องรอดู เพราะเท่าที่เห็นทางอียูออกมาพูด รวมถึงทางแคนาดาที่มีการออกมาพูด ก็คงต้องดูว่าเขาจะทำกันอย่างไร”

ปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมเหล็กของไทยในขณะนี้นั้น นายวิกรมกล่าวว่าอยู่ที่หลายแสนล้านบาท หากมองเฉพาะตัวเลขนำเข้าจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมเหล็กถือเป็นฐานการผลิตวัสดุพื้นฐานที่นำไปใช้ในงานส่วนต่างๆ อาทิ งานก่อสร้าง รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเหล็กจะเป็นส่วนประกอบหลักทั้งนั้น ซึ่งการใช้เหล็กของไทย ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมาจากการผลิตในประเทศ

“ตรงนี้จะเป็นประเด็นที่มีปัญหาบ้าง เพราะมีสินค้าเหล็กจากต่างประเทศที่เข้ามาทุ่มตลาด ในช่วงระยะหลังก็จะมีมาจากจีนบ้าง จากเวียดนามบ้าง และก็มาจากตะวันออกกลาง ส่วนกลุ่มยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าก็มาจากญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และมีจีนบ้าง ซึ่งเหล็กจากจีนคุณภาพยังสู้ญี่ปุ่น และเกาหลีไม่ได้”

นายวิกรมกล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังไม่มีช่วงต้นน้ำ ที่ผ่านมาและในปัจจุบันมีแต่ช่วงกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งที่คาดว่าจะโดนกระทบมากจากนโยบายของสหรัฐอเมริกาคือช่วงปลายน้ำที่มีการแปรรูปและส่งออก แต่หากว่ามีอะไรที่เพิ่มขึ้นส่วนที่อยู่กลางน้ำก็อาจจะถูกกระทบมาก และจะส่งผลกระทบไปยังช่วงปลายน้ำที่มีการแปรรูปด้วย เพราะต้นทุนต่างๆ จะเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น

“ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กช่วงกลางน้ำและปลายน้ำของไทย จะมีคนไทยเป็นเจ้าของครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งจะเป็นต่างชาติที่เข้ามาร่วมลงทุน โดยภาคการผลิตเซ็กเตอร์ก่อสร้างจะเป็นผู้ประกอบการไทยเสียส่วนใหญ่ หากเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงในเซ็กเตอร์ยานยนต์ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติมาจากญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ ก็จะเป็นผู้ประกอบการไทย...

“ลองนึกถึงอย่างรถยนต์ ถ้าคนที่เอาเหล็กไปใช้ในรถยนต์ คือเอาชิ้นส่วนยานยนต์ไปส่งบริษัทไทย แต่ซัพพลายจะเป็นบริษัทต่างชาติ และคนใช้ก็เป็นคนต่างชาติเหมือนกัน เพราะเป็นบริษัทรถยนต์ ดังนั้น พวกชิ้นส่วนก็เหมือนถูกบีบหัวท้ายอยู่ ตรงนี้เราคิดว่าถ้าอยากจะพัฒนาคงต้องมาหาทางว่าจะช่วยผู้ประกอบการตรงนี้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการไทยที่อยู่กลางน้ำสามารถเข้าไปซัพพอร์ทตรงนี้ได้มากขึ้น ตรงนี้เขาก็น่าจะได้ประโยชน์”

อย่างไรก็ตาม นายวิกรมกล่าวถึงอุตสาหกรรมเหล็กปัจจุบันว่าต้องการให้ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือใน 2-3 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องความคุ้มครองที่กำลังดำเนินการอยู่ ยังไม่มีบทสรุปอย่างเป็นทางการ ส่วนเรื่องที่สองคือเรื่องซัพพลายของวัตถุดิบโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกอุตสาหกรรมต้นน้ำ

“จริงๆ เราอยากให้รัฐบาลส่งเสริมให้อุตสาหกรรมต้นน้ำเกิดขึ้นในประเทศ แต่ดูๆ แล้วอาการก็จะคล้ายๆ โรงไฟฟ้าที่มีเอ็นจีโอออกมาต่อต้าน ซึ่งก็เป็นปัญหาคาราคาซังจนมาถึงปัจจุบัน ถ้าเป็นอย่างนี้อยากให้รัฐบาลลองดูว่าถ้าเราอยากจะไปเป็นพันธมิตรกับประเทศที่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่แข็งแรง รัฐบาลจะมีมาตรการที่จะซัพพอร์ทเราอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในต่างประเทศก็เป็นเรื่องความเสี่ยงพอสมควร ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราพยายามจะพูดคุยกับทางภาครัฐอยู่...

“ถามว่า ถึงตรงนี้เราจำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำหรือไม่ คือมีดีกว่าไม่มี แต่ถ้าไม่มี มันก็จะมีออฟชั่น ซึ่งเราต้องหาทางสร้างความเชื่อมโยงเป็นพันธมิตรเพื่อให้มีซัพพลายของต้นน้ำที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม อย่างนี้หากเอกชนเดินเองก็ไม่ง่าย อาจจะต้องมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามากำกับ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย รัฐบาลจะเลือกแบบไหน จริงๆ การสร้างอุตสาหกรรมต้นน้ำในประเทศจะมีอานิสงส์หลายๆ อย่าง ซึ่งอย่าไปมองเฉพาะเรื่องเหล็กอย่างเดียว แต่มีโอกาสสำเร็จขนาดใหญ่ลงมา มันจะทำให้มีขนาดพอที่เราสามารถจะเอาตรงนี้ไปช่วย ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่นการสร้างอ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ป้องกันน้ำท่วม หรือการมีโรงไฟฟ้า แทนที่ต้องมานั่งทะเลาะกัน เพราะ by-product จากโรงเหล็กสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ด้วย ก็จะได้อินฟาสตรักเจอร์ตามมา ตรงนี้ยังรวมไปถึงการสร้างเมือง มีการกระจายความเจริญ แทนที่มันจะกระจุกตัวแค่ภาคตะวันออกหรือกรุงเทพฯ ก็ยังมีออฟชั่นอื่นๆ ซึ่งส่วนได้จะมีมากมายมหาศาล เพียงแต่ว่ามันไม่มีโอกาสได้พูดให้คนได้ฟัง โดยที่สมัยก่อนทางฟากการเมืองก็ไม่ค่อยอยากฟังเรื่องเหล่านี้สักเท่าไหร่..

ขณะเดียวกัน ในแง่ของการเอาไปใช้ประโยชน์ จริงๆ แล้วเหล็กส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทุกคนคงเห็นแล้วว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างปัจจุบันใช้แรงงานต่างด้าวเป็นส่วนใหญ่ และประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานจะต่ำมาก เพราะฉะนั้นถ้ารัฐมาช่วยผลักดันเรื่องมาตรฐาน ยกระดับผู้ประกอบการขึ้นมาให้เพิ่มภาษีที่เซ็กเตอร์ก่อสร้าง กระบวนการก่อสร้างมันจะใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่เกือบพร้อมใช้ มีการแปรรูปให้ไปเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเซ็กเตอร์ก่อสร้าง แต่จะทำอย่างนี้ได้จะมีเรื่องของมาตรฐาน เรื่องกฎระเบียบที่จะต้องมาช่วยส่งเสริมให้มีการใช้เหล็กในทิศทางที่เหมาะสม เหล่านี้เป็นมาตรการที่เราพยายามจะผลักดันอยู่”

ส่วนเรื่องสุดท้าย ที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลนั้น นายวิกรมกล่าวว่าคือเรื่องการลงทุนใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามา โดยควรจะเป็นการลงทุนผลิตในส่วนของสินค้าที่ไทยผลิตไม่ได้ เป็นสินค้าไฮเอนด์ ที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการไทยต่อไป

“ไม่ใช่ไปเอาโรงงานเก่าๆ ที่เขาถูกไล่มาจากที่อื่น แล้วมาอนุญาตให้ตั้งแบบเสรี ก็เป็นเรื่องที่พยายามผลักดันให้รัฐบาลดูแล”

48 views
bottom of page